หากไม่มีข่าวในปี 2016 ที่มีชาวบ้านนำหมึกชนิดนี้มาปิ้งขายในท้องตลาด ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถึงอันตรายที่ร้ายแรงจากหมึกชนิดนี้ อาจทำให้หลายท่านไม่รู้จักหมึกประเภทนี้เลยก็ได้ ดังนั้น ในบทความนี้เราจึงขอเป็นอีกหนึ่งสื่อที่จะนำเสนอเรื่องราวความสวยงามที่มาพร้อมกับอันตรายถึงชีวิตจากหมึกทะเลผู้รักสงบและมีสีสันสวยงาม แต่ทว่ามีพิษร้ายที่แฝงมาด้วยอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งหากเพื่อนคนไหนยังไม่รู้จักหมึกบลูริง ตามมาเรียนรู้ด้วยกันเลยค่ะ
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
หมึกบลูริงคืออะไร
หมึกบลูริง มีอีกชื่อหนึ่งว่าหมึกสายวงน้ำเงิน ในชื่อภาษาอังกฤษ (Blue-ringed octopus) เป็นปลาหมึกขนาดเล็กเท่าลูกกอล์ฟหากเปรียบเทียบกับปลาหมึกชนิดอื่นๆที่เรารู้จักกันดี เมื่อเต็มที่จะมีน้ำหนักเพียง 10 กรัมเท่านั้น และมีอายุขัยเพียง 1 ปี มีหนวดทั้งหมด 8 หนวด มักพบได้ในพื้นที่น้ำทะเลทั่วโลก โดยเฉพาะทะเลเขตร้อนแถบอินโดแปซิฟิกและพบได้ในน่านน้ำไทย ทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย โดยความโดดเด่นจนเป็นที่มาของชื่อหมึกบลูริง ก็คือสีสันตามลำตัวที่เป็นวงกลมคล้ายวงแหวน(Ring) โดยเป็นสีน้ำเงินหรือสีม่วง เมื่อโดนแสงแดดจะสามารถเรืองแสงได้ เป็นปลาหมึกชนิดหนึ่งที่มีสีสันสวยงามที่สุดในโลกเลยทีเดียว โดยหมึกบลูริง เป็นสัตว์ทะเลที่ชอบอาศัยอยู่ตามโขดหิน โขดปะการัง เนินทรายและตามโคลน หาอาหารด้วยการเคลื่อนที่ไปตามหน้าพื้นดิน แทนที่การว่ายน้ำเหมือนหมึกชนิดอื่น ๆ
อันตรายที่ควรรู้จากหมึกบลูริง
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าด้วยความตัวเล็กน่ารัก ประกอบกับสีสันสวยงาม ทำให้หมึกบลูริงเป็นหนึ่งในสัตว์ยอดนิยมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงามหรือสัตว์แปลกๆ หมึกบลูริงจึงถูกจับขึ้นมาบ่อยครั้งเพื่อการค้าขาย หรือแม้แต่การนำมาเป็นอาหารวางปะปนกับหมึกชนิดอื่นๆ ตามที่เป็นข่าวในช่วงปี 2016 ที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนไม่รู้ว่า แม้จะตัวเล็กเท่าลูกกอล์ฟแต่หมึกบลูริงมีพิษร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
โดยหมึกบลูริง จะสามารถปล่อยพิษสู่เหยื่อได้ ทั้งจากการกัดและการต่อยเหยื่อจากตัวมันเอง หรือแม้แต่เพียงสัมผัสที่ตัวหมึกบลูริงก็อาจะได้รับสารพิษจากตัวหมึกได้เช่นกัน โดยพิษร้ายของมันไม่ได้มีอยู่ที่บริเวณปากเท่านั้น แต่มีพิษแฝงอยู่ทั่วตัวชนิดที่ใครเผลอรับประทานเข้าไปก็ได้รับอันตรายเช่นกัน อย่างไรก็ตามพิษดังกล่าวนี้เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำลายของมัน ผู้ที่โดนหมึกบลูริงกัดจึงได้รับอันตรายมากกว่าการสัมผัสถูกตัวหรือการรับประทาน อย่างไรก็ตาม หมึกบลูริงถือว่าเป็นสัตว์ทะเลอันตรายที่ไม่ควรสัมผัสหรือเข้าใกล้ทั้งสิ้น
อาการของพิษหมึกบลูริงรุนแรงแค่ไหน
ว่ากันว่า หมึกบลูริงมีพิษร้ายแรงกว่างูทะเล หรืองูเห่าเป็น 10 เท่า อีกทั้งพิษของมันยังไม่สลายได้ง่ายๆแม้ว่าจะโดนความร้อนสูงกว่า 200 องศาก็ตาม หมึกบลูริงจึงนับว่าเป็นสัตว์น้ำที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งบนโลกเลยทีเดียว ซึ่งหากมีผู้โชคร้ายโดนหมึกบลูริงกัดหรือต่อย จะพบอาการได้ดังนี้
- พิษของหมึกบลูริงส่งผลต่อกล้ามเนื้อประสาทโดยตรงจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงลง
- ต่อมาเริ่มมีอาการกระบังลมเป็นอัมพาตในทันที ทำให้ไม่สามารถหายใจเข้าออกได้
- หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น
วิธีปฐมพยาบาลผู้ถูกพิษหมึกบลูริง
หากโดนหมึกบลูริงต่อยหรือกัด ร่างกายจะเป็นอัมพาตเกือบทันทีและหยุดหายใจทำให้เสียชีวิตเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น เพราะพิษของหมึกบลูริงทำหน้าที่ขัดขวางการสั่งงานของสมองที่จะไปยังกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจโดยตรง แต่ไม่มีผลต่อกล้ามเนื้อที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ คนที่ถูกพิษจึงมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก เนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมและหน้าอกไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถนำอากาศเข้าสู่ปอดได้ เป็นเหตุให้เสียชีวิต แต่หากสัมผัสพิษจากตัวมันหรือถูกเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการช้าๆ จะขยับไม่ได้ภายใน 5-10 นาที และหยุดหายใจใน 2 ชั่วโมง ซึ่งสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วยการทำ CPR หรือการปั๊มหัวใจและเป่าปาก เพื่อนำอากาศเข้าสู่ปอด จากนั้นผู้ป่วยจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจคงสภาพอยู่ใน ICU จนกว่าพิษสลายและสามารถหายใจได้เอง ทั้งนี้ พิษของหมึกบลูริงไม่มียารักษาโดยตรง ทำได้เพียงประคับประคองอาการเพื่อให้ภูมิคุ้มกันในต่างร่างกายต่อสู้กับแบคทีเรียจากพิษหมึกบลูริงเท่านั้น ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้ในที่สุด
วิธีสังเกตหมึกบลูริงง่ายๆ
รู้หรือไม่ว่า แม้ว่าหมึกบลูริงจะเป็นสัตว์ทะเลที่พิษร้ายและอันตรายเสี่ยงถึงตายสูง แต่ปรากฏว่าพบสถิติผู้ป่วยหรือเสียชีวิตจากพิษหมึกบลูริงในอัตราที่ต่ำมากๆ เพราะแท้จริงแล้วหมึกบลูริงเป็นสัตว์ทะเลที่รักสงบมาก ชอบหลบตามรู ตามโขดปะการัง อาศัยการเคลื่อนที่ด้วยการดันตัวเองนาบไปกับพื้นดินหรือทรายไม่ลอยเพ่นพ่านเช่นเดียวกับปลาหมึกชนิดอื่นๆหรือแมงกระพรุน ผู้คนจึงสัมผัสพิษร้ายจากหมึกชนิดนี้ได้น้อยมาๆ อย่างไรก็ตาม เราสามารถระมัดระวังตัวเองได้เพิ่มเติม จากการไม่รับประทานสัตว์ทะเลแปลกๆ ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และหากทำกิจกรรมทางน้ำโดยเฉพาะการดำน้ำด้วยสน็อคเกิลหรือสคูบ้า ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์น้ำทุกประเภท โดยเฉพาะหมึกบลูริง ซึ่งสามารถสังเกตุได้ง่ายๆ ดังนี้
- หมึกบลูริงเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ขนาดไม่เกินลูกกอล์ฟ และมีน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม
- หมึกบลูริงเป็นหมึกที่มีหัวเป็นทรงพุ่มครอบหนวดอยู่ด้านใต้ มีหนวดทั้งหมด 8 เส้น
- หมึกบลูริง มีเส้นวงกลมรอบตัว บ้างมีสีน้ำเงินหรือม่วง หากต้องแสงแดดจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวในบางขณะ
- หมึกบลูริง เคลื่อนที่ด้วยการดันตัวไปกับพื้น ไม่ลอยในน้ำจึงแยกจากหมึกชนิดอื่นๆได้ง่ายๆ
- หากพบหมึกบลูริง ถูกจำหน่ายปะปนกับอาหารทะเล สามารถสังเกตได้ง่ายๆที่หัวของหมึกบลูริงจะมีวงกลมหลายจุดเด่นชัด และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสและการรับประทาน
เป็นอย่างไรกันบ้างคะเพื่อนๆ คงเล็งเห็นอันตรายที่มาพร้อมกับความสวยงามของหมึกบลูริงกันแล้ว แต่อย่าได้ตื่นตระหนกไป เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าหมึกบลูริงเป็นสัตว์รักสงบ หากเราไม่ไปสัมผัสกกับมันโดยตรงหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ทะเลแปลๆ หรือซื้ออาหารจากร้านค้าที่ไม่ทราบที่มาที่ไป เพียงเท่านี้ ท่านก็จะปลอดภัยจากสัตว์ทะเลชนิดนี้อย่างแน่นอน
Feature Image credit : pixabay