วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี อาจจะคุ้นหูกับสโลแกนที่ว่า งดเหล้าเข้าพรรษา แต่จุดประสงค์จริง ๆ ของวันเข้าพรรษานั้นคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร เราจะมาไขข้อสงสัยนั้นให้กระจ่างในบทความนี้กัน
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
วันเข้าพรรษา 2563 ตรงกับวันที่ไหร่
วันจันทร์ 6 กรกฎาคม 2563
ความสำคัญของวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษาเป็นวันที่พระสงฆ์จะต้องอยู่จำพรรษาที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูฝน คำว่า “เข้าพรรษา” นั้น มีความหมายว่า การอยู่ประจำที่ของพระสงฆ์ตลอดระยะเวลา 3 เดือน พระสงฆ์ทุกรูปจะต้องจำพรรษา ซึ่งถือว่าเป็นธรรมเนียมทางพระวินัย การเข้าพรรษานั้นจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (หากเดือน 8 มีสองหนให้ยึดเดือน 8 หลัง) ของทุกปีและสิ้นสุดในขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลายคนอาจจะสงสัยว่าในช่วงนี้พระจะออกบิณฑบาตได้ไหม คำตอบคือได้ แต่ห้ามออกไปค้างแรมที่อื่นเท่านั้นเอง ความสำคัญของวันเข้าพรรษานั้นคือ
- พระสงฆ์จะได้อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเต็มที่ในขณะที่จำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน
- ให้พระพุทธศาสนิกชนได้มีโอกาาสถวายผ้าอาบน้ำฝน เทียนพรรษา เข้าวัด ทำบุญตักบาตร
- เป็นเทศกาล “งดเหล้าเข้าพรรษา” สำหรับพระพุทธศาสนิกชนให้ลดละเลิกสิ่งอบายมุขและของมึนเมา
- ให้พระสงฆ์ได้หยุดพักจากการไปเผยแพร่ศาสนาตามที่ต่าง ๆ และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดการเหยียบย่ำการปลูกพืชพันธ์ของชาวบ้านที่ปลูกไว้ในฤดูฝน
การเข้าพรรษาของพระสงฆ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
ตามพระวินัยของพระสงฆ์ได้แบ่งการเข้าพรรษาเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- การเข้าพรรษาแรก หรือ ปุริมพรรษา จะเริ่มวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (ในปีอธิกมาสจะมีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากนั้นพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน จะมีสิทธิในการรับกฐินในช่วงเวลาหนึ่งเดือน
- การเข้าพรรษาหลัง หรือ ปัจฉิมพรรษา จะใช้ในกรณีที่พระสงฆ์มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถกลับมาเข้าพรรษาแรกได้ จึงต้องรอเข้าพรรษาหลังในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 และไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 พระสงฆ์ที่จำพรรษาในวันออกพรรษาหลังนั้นจึงไม่มีสิทธิ์ได้รับกฐิน
พิธีทางศาสนาในวันประเพณีเข้าพรรษา
ประเพณีวันเข้าพรรษานั้นไม่ใช่เป็นแค่เพียงช่วงที่พระสงฆ์ถือศีลเข้าพรรษาเพียงฝ่ายเดียว แต่พุทธศาสนิกชนก็มีกิจกรรมและพิธีทางศาสนาที่จะต้องทำในประเพณีเข้าพรรษาด้วยเช่นกัน พิธีทางศาสนาที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายที่มักทำกันในช่วงวันเข้าพรรษา มีดังนี้
- หล่อและถวายเทียนพรรษา
เป็นอีกหนึ่งความสำคัญของวันเข้าพรรษาเลยก็ว่าได้สำหรับวันเข้าพรรษา นั่นคือการหล่อและถวายเทียนเข้าพรรษา กลายมาเป็นประเพณีแห่เทียนพรรษาที่โด่งดังที่สุดในประเทศไทยคือที่จังหวัดอุบลราชธานี ประชาชนจะได้ชมความสวยงามวิจิตรตระการตาของขบวนแห่เทียนพรรษา ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะเปลี่ยนมาถวายหลอดไฟฟ้า แต่ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาก็ยังคงอยู่ไว้เช่นเดิม
- การถวายผ้าอาบน้ำฝนและจตุปัจจัย
พิธีนี้จะทำในประเพณีเข้าพรรษา ซึ่งผ้าอาบน้ำฝนหรือผ้าวัสสิกสาฏก เป็นผ้าที่ใช้สำหรับเปลี่ยนสรงน้ำสำหรับพระสงฆ์ เหตุที่ต้องถวายผ้าอาบน้ำฝนเพราะเนื่องจากในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์มีผ้าสบงเพียงผืนเดียว จึงจำเป็นจะต้องเปลือยกายเวลาอาบน้ำ ทำให้ดูไม่งาม นางวิสาขาจึงทำการถวายผ้าอาบน้ำฝนให้พระสงฆ์เป็นคนแรก และทำเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวันเข้าพรรษาต่อ ๆ กันมาถึงปัจจุบัน
- ทำบุญตักบาตร รักษาศีล
เป็นอีกหนึ่งความสำคัญของวันเข้าพรรษาเลยก็ว่าได้ สำหรับการทำบุญตักบาตร รักษาศีล ใส่ชุดปฏิบัติธรรม ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีการตักบาตรดอกไม้เป็นประจำทุกปี จึงมีพุทธศาสนิกชนไปทำบุญ ตักบาตรดอกไม้กันอย่างคับคั่ง ส่วนในกรุงเทพฯ มีวัดใหญ่ ๆ ที่วัดบวรนิเวศฯ วัดเบญจมบพิตร วัดราชบพิธฯ ใครที่อยากลองตักบาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษาก็ลองไปที่วัดดังกล่าวได้
- ร่วมฟังเทศน์มหาชาติ
ประเพณีเทศน์มหาชาติจะจัดในเทศกาลเข้าพรรษา การเทศน์มหาชาติคือ การเทศนาเวสสันดรชาดก แบ่งการพรรณาออกเป็นตอน ๆ ทั้งหมด 13 กัณฑ์ เชื่อว่าหากใครที่ฟังเทศน์มหาชาติจบทั้งหมด 13 กัณฑ์จะได้ไปสุคติภูมิหรือเกิดบนสวรรค์ และการฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวจะได้รับอานิสงส์เป็นอย่างมาก
เนื่องในวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนจะได้ไปทำบุญตักบาตร และที่สำคัญอย่าลืมงดเหล้า เข้าพรรษา ตลอดระยะเวลา 3 เดือน หากคุณลดละเลิกสิ่งอบายมุขเหล่านี้ได้ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวคุณเอง นอกจากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างวันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันมาฆบูชา ฯลฯ แล้ว วันเข้าพรรษาก็เป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
ข้อมูลจาก thaitribune.org