ทุกวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันอาสาฬหบูชา หนึ่งในวันสำคัญทางพุทธศาสนา หรือหากในปีนั้นเป็นปีอธิกมาส (ปีที่มี 13 เดือน คือเดือน 8 สองครั้ง) วันอาสาฬหบูชาจะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง และหลังจากวันอาสาฬหบูชา ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ก็เป็นวันเข้าพรรษาอีกด้วย พุทธศาสนิกชน และพุทธบริษัทหลากหลายกลุ่มต่างออกไปทำบุญ ทำกิจกรรมทางศาสนากันในวันนี้
Shopee แนะนำ
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันที่
ในปีนี้วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2564
ประวัติวันอาสาฬหบูชา และความเป็นมาที่น่าสนใจ
วันอาสาฬหบูชา ย่อมาจาก อาสาฬหบูรณมีบูชา แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 8 ประวัติวันอาสาฬหบูชาเริ่มขึ้นหลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองในรุ่งเช้าเดือน 6 ใต้ร่มมหาโพธิ หลังจากนั้นได้ทรงเสวยวิมุตติสุข (ความสุขที่เกิดจากการหลุดพ้น) เป็นระยะเวลา 7 สัปดาห์ ในระหว่างนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงทบทวนหลักธรรมที่ได้ตรัสรู้ และพบว่าหลักธรรมเหล่านี้ยากและลึกซึ้งเกินกว่าที่ผู้อื่นจะรู้ตามได้ ตอนนั้นท้าวสหัมบดีพรหมผู้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า กังวลว่าพระพุทธองค์จะไม่ทรงแสดงธรรม จึงได้ขออาราธนาให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่หมู่เวไนยสัตว์ (สัตว์ผู้ควรแก่การแนะนำสั่งสอน) จึงไปเชิญพรหมและเทพมาชุมนุมและกล่าวทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรม
แต่ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงธรรม ได้ใช้ญาณของพระองค์เองพิจารณาเวไนยสัตว์ ว่าจะสามารถรับธรรมที่พระองค์จะแสดงได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ปัญญา วาสนา บารมี และอุปนิสัยที่สร้างสมกันมาด้วย พระพุทธองค์จึงแบ่งเหล่าเวไนยสัตว์ออกเป็นดอกบัว 4 เหล่า
- ดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำแล้ว เป็นดอกบัวที่รอเพียงแสงอาทิตย์ก็พร้อมจะเบ่งบาน เปรียบกับกลุ่มที่มีปัญญาเฉลียวฉลาด
- ดอกบัวปริ่มน้ำ เป็นดอกบัวที่รอวันเบ่งบานในวันพรุ่งนี้ เปรียบกับกลุ่มที่มีปัญญาปานกลาง
- ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ เป็นดอกบัวที่ยังไม่บานในเร็ววัน เปรียบดั่งกลุ่มที่มีสติปัญญาน้อย แต่หากได้รับการแนะนำสั่งสอนธรรมบ่อย ๆ จะสามารถเข้าใจได้
- ดอกบัวที่อยู่ในโคลนตม เป็นดอกบัวที่ยังไม่พ้นอันตรายจากเต่า ปลาทั้งหลาย เปรียบดั่งกลุ่มไร้สติปัญญา หรือไร้ความศัทธาและความเพียร
เมื่อได้แบ่งกลุ่มเวไนยสัตว์ออกเป็นดอกบัว 4 เหล่าแล้ว ก็ทรงรับคำอาราธนาให้แสดงธรรมของท้าวสหัมบดีพรหม และด้วยต้องการจะแสดงธรรมแก่ผู้ที่พร้อมจะเรียนรู้ธรรมโดยเร็วก่อน จึงนึกถึงอาฬารดาบสและอุทกดาบส แต่ทั้งสองได้สิ้นชีวิตไปแล้ว หลังจากนั้นพระพุทธองค์จึงนึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ โดยพระพุทธองค์ได้เดินทางไปแสดงปฐมเทศนา (เทศนาครั้งแรก) ในรุ่งเช้าวันเพ็ญเดือน 8 จึงเป็นที่มาและประวัติวันอาสาฬหบูชา
ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา
จากที่รู้ประวัติวันอาสาฬหบูชาไปแล้ว ในวันอาสาฬหบูชา วันเพ็ญเดือน 8 ในปีนั้น ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาขึ้น 4 อย่างด้วยกัน ซึ่งเป็นความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาอีกด้วย
- เหตุการณ์แรกคือ ในวันอาสาฬหบูชา เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระพุทธศาสนา
- เหตุการณ์ที่สองคือ เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนา ซึ่งธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ได้เทศนาเรียกว่า “ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม
- เหตุการณ์ที่สามคือ เป็นวันแรกที่มี คือพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก และได้พระพุทธองค์อุปสมบทให้เป็นพระภิกษุรูปแรกในศาสนาพุทธ
- เหตุการณ์ที่สี่คือ ในวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีครบเป็นวันแรก รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย
กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา ที่พุทธศาสนิกชนปฏิบัติ
แน่นอนว่าสถานศึกษา สถานที่ราชการ และบริษัทเอกชนหลายแห่งให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันหยุดเพื่อให้ทุกคนได้ออกไปร่วมกิจกรรมวันอาสาฬหบูชา มาดูกันว่ากิจกรรมวันอาสาฬหบูชามีอะไรบ้าง
- กิจกรรมวันอาสาฬหบูชาอย่างแรกคือ ในตอนเช้าจะเป็นการทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน เข้าวัดไปฟังธรรม
- นอกจากนี้ พุทธศานิกชนยังนิยมทำเทียนพรรษา เพื่อใช้ในวันเข้าพรรษาอีกด้วย
- กิจกรรมวันอาสาฬหบูชาในช่วงค่ำ จะมีการเวียนเทียน โดยจุดธูปเทียนพร้อมถือดอกไม้ สำรวมที่หน้าพระอุโบสถที่ประดับไปด้วยธงธรรมจักรโดยพร้อมกันสำรวมจิต ก่อนจะเวียนเทียน 3 รอบนำโดยพระภิกษุสามเณร
- หลังจากเวียนเทียนเสร็จเรียบร้อย กิจกรรมวันอาสาฬหบูชาที่สำคัญอีกอย่างคือ การแสดงพระธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตรโดยพระสังฆเถระ
- เมื่อฟังธรรมเทศนาจบ จะเป็นการเจริญภาวนา หรือทำวิปัสสนาตามอัธยาศัยของพุทธศาสนิกชน
นอกจากวันอาสาฬหบูชาจะเป็นวันหยุดประจำปีที่หลายคนรู้จักกันแล้ว วันอาสาฬหบูชายังเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกด้วย หากใครไม่ได้เข้าวัดทำบุญในวันนี้ เราก็สามารถอยู่บ้าน รักษาศีล และยังเป็นโอกาสดีที่พุทธศานิกชนจะได้ตระหนักถึงการดำเนินชีวตของตัวเองในทุกวัน โดยสามารถนำหลักธรรมต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองอีกด้วย ทั้งนี้ใครไม่ได้ไปไหนก็อย่าลืมกลับบ้านไปใช้เวลาร่วมกับครอบครัวกันด้วยนะ
ข้อมูลจาก: phuttha.com, dhammathai.org