พูดถึงเกลือทั่วไป คงไม่มีใครไม้รู้จัก แต่ถ้าพูกดถึงเกลือสีชมพูจากเทือกเขาหิมาลัยคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายคน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ “เกลือหิมาลายัน” ประโยนช์ของเกลือสีชมพูที่เริ่มเป็นที่นิยมในการนำมาทำอาหาร เครื่องดื่ม หรือเป็นส่วนผสมในครีมและเครื่องสำอางมากขึ้น เพราะนอกจากสีสันสวยงามแล้ว ยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุมากมายจากธรรมชาติ
ต้นกำเนิดของเกลือหิมาลายัน
ชื่อของ เกลือหิมาลายัน ได้มาจากแหล่งกำเนิดคือบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งพบมากบริเวณประเทศปากีสถาน ต้นกำเนิดของเกลือหิมาลายันต้องย้อนกลับไปเมื่อ 250 ล้านปีก่อน ในเหตุการณ์ที่แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวเขามาชนกันจนก่อให้เกิดเป็นเทือกเขาหิมาลัยที่สูงเสียดฟ้า และเกิดเป็นภูมิประเทศที่สวยงาม แต่ในระหว่างกระบวนการทั้งหมด แผ่นเปลือกโลกที่กำลังเคลื่อนตัว ได้กวาดเอาน้ำทะเลมาด้วยและทับถมเป็นเวลานานจนเกิดเป็นหินเกลือชนิดหนึ่ง มีผลึกสีชมพู เมื่อนำมาป่นเป็นก้อนเล็ก ๆ จึงได้ออกมาเป็น “เกลือหิมาลายัน” (Himalayan Salt) หรือบางคนอาจเรียกติดปากว่า “เกลือหิมาลัย”
ประโยชน์ของเกลือหิมาลายัน
ด้วยหน้าตาดูดีแถมมีสีชมพูของเกลือหิมาลายัน ทำให้หลายคนออกมาพูดถึงประโยชน์ของเกลือหิมาลายันที่แอบจะดูเกินจริงไปบ้าง เมื่อเทียบกับเกลือที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป นอกจากเกลือหิมาลายันจะเป็นหินเกลือตามธรรมชาติที่มนุษย์สร้างไม่ได้แล้ว ประโยชน์ของเกลือหิมาลายันยังมีอะไรอีกบ้าง และมีดีจริงหรือไม่?
- เกลือหิมาลายันมีแร่ธาตุหลายชนิด
ประโยชน์ของเกลือหิมาลายันข้อแรกเลยก็คือ เกลือหิมาลายันมีแร่ธาตุสูงถึง 84 ชนิด เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม ไอออน เป็นต้น แต่ก็ไม่ควรใส่เกลือหิมาลายันลงในอาหารมากกว่าเกลือทั่วไป เพราะกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ของเกลือชนิดนี้เป็นโซเดียม แปลว่าที่เหลือเพียง 2 เปอร์ซ็นต์เท่านั้นที่เราจะได้รับแร่ธาตุ 84 ชนิดของเกลือหิมาลายัน ซึ่งแร่ธาตในปริมาณเล็กน้อยอาจจะก่อให้เกิดผลลัพธ์มากมายกับสุขภาพร่างกายของเรา
- เกลือหิมาลายัน ให้โซเดียมต่ำกว่า
แน่นอนว่าแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายเราอย่างหนึ่งคือ โซเดียม แต่ต้องบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะด้วยเช่นกัน หลายคนจึงหันไปบริโภคเกลือหิมาลายันแทนดอกเกลือ หรือเกลือสมุทรทั่วไป เพราะเชื่อว่าหากใช้ในปริมาณที่เท่า ๆ กัน เกลือหิมาลายันจะให้โซเดียมน้อยกว่า จริง ๆ แล้วไม่ถูกต้อง เพราะเกลือหิมาลายัน มีปริมาณโซเดียมคิดเป็น 98 เปอร์เซ็นต์เทียบเท่าเกลือทั่วไป
ทั้งนี้ด้วยขนาดเม็ดเกลือหิมาลายันที่ค่อนข้องใหญ่ ทำให้เมื่อตักเป็นช้อนชาจึงมีปริมาณที่น้อยกว่าเกลือเม็ดละเอียดทั่วไป ปริมาณโซเดียมจึงลดลง ปัจจัยข้อนี้ไม่ได้เกิดจากประโยชน์ของเกลือหิมาลายันจริง ๆ แต่เกิดจากเราใช้เกลือน้อยลงต่างหาก ซึ่งปัจจุบันมีเกลือหิมาลายันที่ป่นละเอียดออกมาจำหน่าย ดังนั้นการใช้งานจึงควรระวังเรื่องของปริมาณมากยิ่งขึ้น
- เกลือหิมาลายัน เป็นเกลือธรรมชาติ
หลากหลายแหล่งข้อมูลต่างออกมาบอกว่า เกลือหิมาลายัน เป็นเกลือที่มีความบริสุทธิ์สูง และเป็นเกลือตามธรรมชาติกว่าเกลือที่เราใช้กันในครัวเรือน เนื่องจากเกลือหิมาลายันเป็นหินเกลือที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนเกลือสีขาวที่เราใช้กันทั่วไปเกิดจากการทำนาเกลือโดยมนุษย์ และมีการใส่สารที่ป้องกันการจับตัวเป็นก้อน อย่างโซเดียมอะลูมิโนซิลิเกต จากกระบวนการผลิตทำให้เกลือหิมาลายันเป็นเกลือบริสุทธิ์มากกว่านั่นเอง
- เกลือหิมาลายัน ช่วยคืนความชุ่มชื้น
ความนิยมในการใช้ประโยชน์ของเกลือหิมาลายันมีมากขึ้น โดยการนำไปใส่ในอาหารและเครื่องดื่ม เพราะเชื่อว่าจะสามารถคืนความชุ่มชื้นให้กับร่างกายได้ ซึ่งคุณสมบัติในการรักษาสมดุลของของเหลวในร่างกาย เป็นคุณสมบัติหนึ่งของเกลือทุกชนิด รวมทั้งเกลือหิมาลายันด้วยนั่นเอง
- เกลือหิมาลายัน กับประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย
ประโยชน์ของเกลือหิมาลัยที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ มีด้วยกันหลายประการ คือ
- ช่วยปรับค่า pH ในร่างกาย
- ช่วยเรื่องระบบทางเดินหายใจ
- ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการนอนหลับ
- ลดเลือนริ้วรอย
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
ในความเป็นจริงแล้ว “ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มารองรับ” และประโยชน์ของเกลือบางข้อ ก็เป็นคุณสมบัติที่พบได้ในเกลือทั่วไป
ตัวอย่างประโยชน์ของเกลือหิมาลายันที่ถูกพูดถึงว่า สามารถปรับค่า pH ในร่างกายได้ ซึ่งตามธรรมชาติแล้วปอดและไตของมนุษย์สามารถทำงานในส่วนนี้ได้โดยไม่ต้องใช้เกลือ หรือประโยนช์ของเกลือหิมาลายันต่อการนอนหลับ ซึ่งจากการศึกษาไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเกลือหิมาลายัน ดังนั้นคุณสมบัติข้อนี้จึงพบได้ในเกลือทุกชนิด
การทานเกลือมากเกินไป ส่งผลร้ายต่อร่างกายอย่างไร
ร่างกายของเราต้องการเกลือในปริมาณ 6 กรัมต่อวัน หรือประมาณหนึ่งช้อนชา และหากบริโภคเกลือมาเกินไปจะกลายเป็นผลเสียต่อร่างกายได้
ผลเสียหลัก ๆ คือ ทำให้ไตทำงานหนัก เมื่อเราบริโภคเกลือมากเกินไปทำให้สมดุลของโพแทสเซียมและโซเดียมของร่างกายไม่ปกติ ไตซึ่งมีหน้าที่ขับของเหลวทำงานได้น้อยลง ร่างกายจึงมีของเหลวสะสมมากขึ้นส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นด้วย นอกจากผลกระทบต่อไตแล้ว การบริโภคเกลือที่มากเกินไปยังส่งผลเสียต่อหัวใจ หลอดเลือด และสมอง
เราจะเห็นได้ว่า “เกลือหิมาลายัน” ที่มาจากเทือกเขาหิมาลัย เป็นเกลือที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุมากมาย ซึ่งประโยชน์ของเกลือหิมาลายันที่ได้ยินกันบ่อย ๆ นั้น ยังไม่มีการศึกษาหรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ รวมทั้งระดับของโซเดียมในเกลือหิมาลายันมีปริมาณพอ ๆ กับเกลือแกงที่เราใช้กันในบ้าน ดังนั้นแม้ว่าเราจะใช้เกลือหิมาลายันในการปรุงอาหาร ก็ควรควบคุมปริมาณเพื่อประโยชน์ต่อร่างกายที่แท้จริง
ที่มา: medicalnewstoday.com, healthline.com