ตามปกติของชาวพุทธศาสนิกชน ที่ทุกๆ วันพระจะต้องทำกิจกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะไปวัด ทำบุญ ใส่บาตร ถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ฟังธรรมเทศนา หรือเวียนเทียน และเพื่อการเตรียมตัวให้พร้อม มาดูปฏิทินวันพระ ปี 2565 กันว่า วันไหนวันพระ และวันพระวันที่เท่าไหร่กันบ้าง
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ความสำคัญของวันพระ และประวัติความเป็นมา
ก่อนที่เราจะไปรู้ว่าวันไหนวันพระบ้างนั้น มารู้ถึงความสำคัญของวันพระกันก่อน วันพระ หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา ที่เรียกกันทั่วไปว่า “วันธรรมสวนะ” ซึ่งเป็นวันถือศีลและวันฟังธรรม โดยวันพระวันที่เท่าไหร่นั้นจะกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ วันขึ้น 15 คำ (วันเพ็ญ) วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14 ค่ำ)
แต่เดิมทีนั้นวันพระเป็นวันที่นักบวชนอกพระพุทธศาสนาจะมาประชุมกันเพื่อแสดงธรรมทุกๆ วัน 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงวางระเบียบในเรื่องนี้ไว้สำหรับพุทธศาสนา แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลว่านักบวชศาสนาอื่นได้มีวันกำหนดนัดหมายประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนในศาสนาของเขา แต่ศาสนาพุทธของเรายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน 8 ค่ำ และ 15 ค่ำขึ้นมา และอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันดังกล่าว และหลังจากนั้น พุทธศาสนิกชนจึงได้ถือเอาวันดังกล่าวนั้นเป็นวันธรรมสวนะสืบมา ซึ่งเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัดและมีการถือศีล สำหรับในประเทศไทยได้ปรากฏหลักฐานว่ามีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ส่วนวันพระในยุคปัจจุบันจะคงเหลือธรรมเนียมปฏิบัติอยู่เฉพาะประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เช่น ไทย ศรีลังกา พม่า ลาว และกัมพูชา โดยพุทธศาสนิกชนเถรวาทจะถือวันนี้เป็นวันสำคัญที่จะไปวัดเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และฟังพระธรรมเทศนา และมีการประพฤติและปฏิบัติธรรม มีการสมาทานศีล หรือถือศีลแปดหรือศีลอุโบสถในวันพระ ในขณะที่พระสงฆ์จะได้แสดงพระธรรมเทศนา หรือธรรมสากัจฉา รวมถึงมีการสนทนาธรรมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ที่นับว่าเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง นอกจากนี้ ชาวพุทธทั้งหลายยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใดๆ และจะถือศีลห้ากันในวันพระด้วย
นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมี “วันโกน” คือคำที่เรียกวันก่อนวันพระหนึ่งวันด้วย ด้วยเพราะปกติในวันขึ้น 14 ค่ำ ก่อนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำนั้น เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์ในประเทศไทยที่จะโกนผมในวันนี้นั่นเอง
ปฏิทินวันพระ วันไหนวันพระบ้างนั้น มาเช็กกันเลย
อย่างที่อธิบายไปข้างต้นว่าวันพระนั้นจะมีสัปดาห์ละ 1 วัน หรือเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ) วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ และเพื่อเตรียมตัวสำหรับชาวพุทธ รวมถึงตั้งเตือนว่าพรุ่งนี้วันพระเพื่อจะได้เข้าวัดทำบุญ มาดูปฏิทินวันพระกันเลย
วันพระเดือนมกราคม 2565
- วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม 2565 แรม 14 ค่ำ เดือนอ้าย (1) ปีฉลู
- วันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่ (2) ปีฉลู
- วันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ (2) ปีฉลู
- วันอังคารที่ 25 มกราคม 2565 แรม 8 ค่ำ เดือนยี่ (2) ปีฉลู
วันพระเดือนกุมภาพันธ์ 2565
- วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 แรม 15 ค่ำ เดือนยี่ (2) ปีฉลู
- วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนสาม (3) ปีฉลู
- วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสาม (3) ปีฉลู เป็นวันมาฆบูชา วันพระใหญ่
- วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 แรม 8 ค่ำ เดือนสาม (3) ปีฉลู
วันพระเดือนมีนาคม 2565
- วันพุธที่ 2 มีนาคม 2565 แรม 14 ค่ำ เดือนสาม (3) ปีฉลู
- วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนสี่ (4) ปีฉลู
- วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสี่ (4) ปีฉลู
- วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2565 แรม 8 ค่ำ เดือนสี่ (4) ปีฉลู
วันพระเดือนเมษายน 2565
- วันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2565 แรม 15 ค่ำ เดือนสี่ (4) ปีฉลู
- วันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนห้า (5) ปีขาล
- วันเสาร์ที่ 16 เมษายน 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้า (5) ปีขาล
- วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน 2565 แรม 8 ค่ำ เดือนห้า (5) ปีขาล
- วันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565 แรม 14 ค่ำ เดือนห้า (5) ปีขาล
วันพระเดือนพฤษภาคม 2565
- วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนหก (6) ปีขาล
- วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนหก (6) ปีขาล เป็นวันวิสาขบูชา วันพระใหญ่
- วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2565 แรม 8 ค่ำ เดือนหก (6) ปีขาล เป็นวันอัฏฐมีบูชา
- วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2565 แรม 15 ค่ำ เดือนหก (6) ปีขาล
วันพระเดือนมิถุนายน 2565
- วันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนเจ็ด (7) ปีขาล
- วันอังคารที่ 14 มิถุนายน 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนเจ็ด (7) ปีขาล
- วันพุธที่ 22 มิถุนายน 2565 แรม 8 ค่ำ เดือนเจ็ด (7) ปีขาล
- วันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2565 แรม 14 ค่ำ เดือนเจ็ด (7) ปีขาล
วันพระเดือนกรกฎาคม 2565
- วันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนแปด (8) ปีขาล
- วันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนแปด (8) ปีขาล เป็นวันอาสาฬหบูชา วันพระใหญ่
- วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2565 แรม 1 ค่ำ เดือนแปด (8) ปีขาล เป็นวันเข้าพรรษา วันพระใหญ่
- วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม 2565 แรม 8 ค่ำ เดือนแปด (8) ปีขาล
- วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม 2565 แรม 15 ค่ำ เดือนแปด (8) ปีขาล
วันพระเดือนสิงหาคม 2565
- วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนเก้า (9) ปีขาล
- วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนเก้า (9) ปีขาล
- วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2565 แรม 8 ค่ำ เดือนเก้า (9) ปีขาล
- วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 แรม 14 ค่ำ เดือนเก้า (9) ปีขาล
วันพระเดือนกันยายน 2565
- วันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนสิบ (10) ปีขาล
- วันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ (10) ปีขาล
- วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน 2565 แรม 8 ค่ำ เดือนสิบ (10) ปีขาล
- วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2565 แรม 15 ค่ำ เดือนสิบ (10) ปีขาล
วันพระเดือนตุลาคม 2565
- วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด (11) ปีขาล
- วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด (11) ปีขาล เป็นวันออกพรรษา วันพระใหญ่
- วันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2565 แรม 8 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด (11) ปีขาล
- วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม 2565 แรม 14 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด (11) ปีขาล
วันพระเดือนพฤศจิกายน 2565
- วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนสิบสอง (12) ปีขาล
- วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบสอง (12) ปีขาล
- วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2565 แรม 8 ค่ำ เดือนสิบสอง (12) ปีขาล
- วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2565 แรม 15 ค่ำ เดือนสิบสอง (12) ปีขาล
วันพระเดือนธันวาคม 2565
- วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนอ้าย (1) ปีขาล
- วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2565 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย (1) ปีขาล
- วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2565 แรม 8 ค่ำ เดือนอ้าย (1) ปีขาล
- วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2565 แรม 14 ค่ำ เดือนอ้าย (1) ปีขาล
- วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2565 ขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่ (2) ปีขาล
การเตรียมตัวไปวัดเพื่อทำบุญ
Credit : freepik.com
หลังจากที่เราได้รู้ปฏิทินวันพระ และเตือนตัวเองว่าพรุ่งนี้วันพระกันแล้วนั้น มาดูวิธีเตรียมตัวไปวัดเพื่อทำบุญและฟังธรรมกัน
1. การเตรียมกาย
เมื่อจะไปวัดเพื่อทำบุญ หรือไปฟังธรรมนั้น ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวเรียบ หรือเสื้อผ้าที่สีสันไม่ฉูดฉาดนัก และไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปมากจนเกินไป ไม่ประดับร่างกายด้วยเครื่องประดับต่างๆ และไม่ใช้เครื่องประทินผิว อย่าลืมกินอาหารแต่พออิ่ม และอย่าปล่อยให้หิว เพราะจะทำให้จิตใจไม่สงบและไม่สบาย
2. การเตรียมใจ
หลังจากเราเตรียมกายเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนในการเตรียมใจ ทำจิตใจให้ผ่องใสไม่มีความวิตกกังวลใดๆ ตัดเรื่องที่จะทำให้รู้สึกกังวลหรือขุ่นมัว
3. การเตรียมสิ่งของ
เมื่อกายและใจพร้อม ก็อย่าลืมเตรียมสิ่งของให้พร้อมก่อนไปวัดทำบุญเช่นกัน ให้จัดเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อบูชาพระ และเตรียมอาหารคาวและหวาน รวมถึงสิ่งของอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อไปถวายพระสงฆ์ โดยสามารถเตรียมได้ตามกำลังและความศรัทธา
กิจกรรมที่ควรทำในวันพระ
Credit : vecteezy.com
นอกจากเราจะไปวัดเพื่อทำบุญและฟังธรรมแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถทำในวันพระได้อีกด้วย ซึ่งเรียกว่าการทำบุญ 10 วิธี หรือ บุญกิริยาวัตถุ 10 ที่เป็นสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ 10 ประการ ได้แก่
1. การให้ทาน นอกจากเราจะทำบุญแล้ว การแบ่งปันผู้อื่นด้วยการทำทานด้วยสิ่งของนั้นก็ถือเป็นบุญเช่นเดียวกัน การให้ทานจะฝึกให้เราลดความเห็นแก่ตัว ความขี้เหนียว และความติดยึดในวัตถุ โดยสิ่งของที่เราแบ่งปันทำทานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลหรือชุมชนก็ได้เช่นกัน
2. รักษาศีล การรักษาศีลให้ได้ในวันพระนั้นก็ถือว่าเป็นบุญ เพราะเป็นการฝึกฝนให้เราลด ละ เลิก กระทำความชั่ว ไม่เบียดเบียนใคร และมุ่งที่จะทำแต่ความดี
3. เจริญภาวนา การภาวนาถือว่าเป็นการพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตใจสงบ ไม่มีกิเลส และเรื่องเศร้าหมอง ช่วยให้เรามองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง หากภาวนาอยู่เสมอจะส่งผลให้ชีวิตมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
4. แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อคนเราต่างอ่อนน้อมซึ่งกันและกัน ไม่ว่าผู้น้อยจะอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ หรือผู้ใหญ่แสดงความมีเมตตาต่อผู้น้อย ก็นับว่าเป็นการให้เกียรติและให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งถือว่าเป็นบุญ
5. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง การสละแรงกายและแรงใจเพื่อช่วยเหลือสังคม หรืองานส่วนรวม หรือแม้แต่ช่วยงานเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็นับว่าเป็นบุญเช่นกัน
6. เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญ การบอกบุญต่อผู้อื่นถือว่าเป็นการทำบุญ ร่วมไปถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือแม้แต่ในการทำงานก็เปิดโอกาสให้คนอื่นได้มีส่วนร่วม หรือแสดงความคิดเห็น
7. ยอมรับและยินดีในการทำความดีของผู้อื่น การชื่นชมยินดีเมื่อมีคนทำความดี หรืออนุโมทนาบุญเมื่อเห็นคนทำบุญ ไม่รู้สึกอิจฉา หรือระแวงสงสัยในการทำความดีของผู้อื่น นับว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง
8. ฟังธรรม การฟังธรรมะ หรือฟังเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี นับเป็นบุญและเป็นความดี ความงาม
9. แสดงธรรม การให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีกับผู้อื่น หรือนำธรรมะไปบอกกล่าวเพื่อเผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง แบ่งปันวิธีการดำเนินชีวิตที่ดีก็เป็นบุญ
10. ทำความเห็นให้ถูกต้องและเหมาะสม การไม่มีทิฐิ และรู้จักแก้ไข ปรับปรุง และทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม เป็นการพัฒนาปัญญาที่ถือเป็นบุญด้วยเช่นกัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิด จะต้องประกอบเข้ากับบุญ และกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้การทำบุญข้อนั้นๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมาย และได้ผลที่ถูกทาง
ชาวพุทธศาสนิกชนก็ได้รู้ถึงปฏิทินวันพระกันไปแล้ว ว่าวันพระวันที่เท่าไหร่บ้างในแต่ละเดือนของปี 2565 เพื่อที่จะได้รู้ก่อนและเตรียมตัว เตรียมกาย เตรียมใจ ให้พร้อม ในการไปวัดเพื่อทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ไปจนถึงทำกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมและควรทำในวันพระ ซึ่งหากเราสามารถทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนได้ครบถ้วนนั้น จะทำให้เราได้บุญ ได้กุศล จากการเข้าวัดทำบุญ และผลของการทำบุญก็จะส่งผลให้เรามีชีวิตที่ดี มีความสุขและความเจริญ ไม่มีความทุกข์และความมัวหมอง จิตใจสงบ สะอาด บริสุทธิ์ และผ่องใส เพราะการทำบุญมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เราเพิ่มพูนความดี ทำแต่กรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว กำจัดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ได้ ความอิจฉา และความริษยา ออกไปจากใจเรานั่นเอง