วันเข้าพรรษา นับว่าเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พุทธศาสนิกชนรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งวันเข้าพรรษามักจะมาพร้อมกับสโลแกนที่หลายคนคุ้นหูนั่นก็คือ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการลดละเลิกการดื่มเหล้า เหมือนเป็นกุศโลบายเพื่อให้ร่างกายได้พักจากการดื่มเหล้าบ้างไรบ้าง โดยวันเข้าพรรษาจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี แล้วไปสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันออกพรรษา และวันเข้าพรรษา 2567 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2567 เมื่อรู้กันแล้ววันเข้าพรรษา 2567 ตรงกับวันที่เท่าไหร่ คราวนี้ลองมาดู ประวัติวันเข้าพรรษา ความสําคัญของวันเข้าพรรษา และกิจกรรมวันเข้าพรรษามีอะไรบ้าง ติดตามอ่านบทความได้ที่ Shopee
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ประวัติวันเข้าพรรษา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
สำหรับความเป็นมาและประวัติวันเข้าพรรษา เราขอเล่าประวัติแบบย่อ ๆ คือ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังไม่ได้กำหนดให้มีการจำพรรษาในวันเข้าพรรษา โดยพระสงฆ์ต่างพากันเดินทางออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามสถานที่ต่าง ๆ แบบไม่หยุดหย่อนไม่มีย่อท้อแม้แต่นิดเดียว ทั้งฤดูหนาว ฤดูฝน และฤดูร้อน แม้ต้องเดินทางไปในที่กันดานแค่ไหนก็ตาม การเดินทางบางครั้งต้องผ่านชุมชนบ้านเรือนของชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านพากันติเตียนพระสงฆ์ว่าจะไม่มีการหยุดเดินทางแม้แต่ช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านทำไร่ทำนา พระสงฆ์อาจจะไปเหยียบย่ำข้าวกล้า ที่เพิ่งงอกออกมาใหม่ ๆ จนทำให้เกิดความเสียหายได้
และเมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน พระพุทธเจ้าจึงได้วางระเบียบ โดยให้พระสงฆ์ประจำอยู่ที่วัดใดวัดหนึ่ง ในช่วงฤดูฝน ซึ่งที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน พระสงฆ์ที่เข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ หรือเรียกว่า “จำพรรษา” นั่นเอง แต่ถ้ามีเหตุธุระจำเป็นอันชอบด้วยพระวินัย สามารถเดินทางออกไปได้แต่จะต้องกลับมายังวัดเดิมภายใน 7 วัน ก่อนรุ่งสว่าง ถ้าหากกลับมาไม่ทันเวลาก็จะถือว่าพระสงฆ์รูปนั้น “ขาดพรรษา” ทั้งนี้ หากพุทธศาสนิกชนอยากจะฟังเทศน์ฟังธรรมก็ให้เข้ามาที่วัด
ทั้งนี้ กรณีที่พระสงฆ์ผู้ที่จำพรรษาสามารถออกไปค้างอื่นได้ ด้วยเหตุผลดังนี้
- พระสงฆ์เจ็บป่วยจะต้องไปรักษา หรือกรณีที่บิดามารดาที่เจ็บป่วย
- การเดินทางออกไปเพื่อระงับไม่ให้พระภิกษุสึก
- เพื่อออกไปทำกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การออกไปซื้ออุปกรณ์มาเพื่อซ่อมกุฏิที่ชำรุด
- กรณีที่ทายกนิมนต์ไปทำบุญ เพื่อไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขา (ทายก คือ ผู้ถวายจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร หากเป็นผู้หญิงจะเรียกว่าทายิกา)
ความสำคัญของวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจาก วันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนต่างเข้าวัดมาทำบุญ โดยความสำคัญของวันเข้าพรรษานั้นคือ
- พระสงฆ์จะได้อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเต็มที่ในขณะที่จำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน
- เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศล เช่น ถวายผ้าอาบน้ำฝน การหล่อเทียนพรรษา เข้าวัด ทำบุญตักบาตร รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม และยังได้มีโอกาสในการฟังเทศน์ฟังธรรมตลอดเวลาเข้าพรรษา
- เป็นเทศกาล “งดเหล้าเข้าพรรษา” สำหรับพระพุทธศาสนิกชน เพื่อให้ลดละเลิกสิ่งอบายมุขและของมึนเมา แล้วให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสบำเพ็ญทาน รักษาศีลฟังธรรม และเจริญภาวนามากยิ่งขึ้น
- ให้พระสงฆ์ได้หยุดพักจากการไปเผยแพร่ศาสนาตามที่ต่าง ๆ และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดการเหยียบย่ำการปลูกพืชพันธ์ของชาวบ้านที่ปลูกไว้ในฤดูฝน
- หลังจากที่พระสงฆ์ได้ออกเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 – 9 เดือน ในช่วงวันเข้าพรรษาจะเป็นช่วงที่ให้พระสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน
ประเภทของการเข้าพรรษาของพระสงฆ์
สำหรับการเข้าพรรษาตามพระวินัยของพระสงฆ์นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ปุริมพรรษา
การเข้าพรรษาแรก หรือ ปุริมพรรษา จะเริ่มวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (ในปีอธิกมาสจะมีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งหลังจากที่ได้ออกพรรษาแล้ว พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็จะมีสิทธิในการรับกฐินในช่วงเวลาหนึ่งเดือน
2. ปัจฉิมพรรษา
การเข้าพรรษาหลัง หรือ ปัจฉิมพรรษา จะใช้ในกรณีที่พระสงฆ์มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถกลับมาเข้าพรรษาแรกได้ จึงต้องรอเข้าพรรษาหลังในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 และไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 พระสงฆ์ที่จำพรรษาในวันออกพรรษาหลังนั้นจึงไม่มีสิทธิ์ได้รับกฐิน
กิจกรรมวันเข้าพรรษาของชาวพุทธ
ประเพณีวันเข้าพรรษาไม่ใช่เป็นแค่เพียงช่วงที่พระสงฆ์ถือศีลเข้าพรรษาเพียงฝ่ายเดียว แต่พุทธศาสนิกชนยังถือโอกาสได้บำเพ็ญกุศลด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการทำพิธีทางศาสนาที่จะต้องทำในประเพณีเข้าพรรษาด้วยเช่นกัน พิธีทางศาสนาที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายที่มักทำกันในช่วงวันเข้าพรรษา มีดังนี้
1. การหล่อและถวายเทียนพรรษา
การหล่อและถวายเทียนพรรษานั้น เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญและนิยมทำกันในช่วงวันเข้าพรรษาเลยก็ว่าได้ แม้ว่าปัจจุบันการหล่อเทียนพรรษานั้นอาจจะไม่ได้จำเป็นมากนัก แต่ยังเป็นกิจกรรมที่ได้รับการส่งเสริม และให้ถือว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีความสำคัญ สำหรับประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ที่ทำสืบกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งการหล่อและถวายเทียนเข้าพรรษา ได้กลายมาเป็นประเพณีแห่เทียนพรรษาที่โด่งดังที่สุดในประเทศไทยคือที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งประชาชนได้ชมความสวยงามวิจิตรตระการตาของขบวนแห่เทียนพรรษา ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะเปลี่ยนมาถวายหลอดไฟฟ้า แต่ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาก็ยังคงอยู่ไว้เช่นเดิม
2. การถวายผ้าอาบน้ำฝนและจตุปัจจัย
พิธีนี้จะทำในประเพณีเข้าพรรษา ซึ่งผ้าอาบน้ำฝนหรือผ้าวัสสิกสาฏก เป็นผ้าที่ใช้สำหรับเปลี่ยนสรงน้ำสำหรับพระสงฆ์ เหตุที่ต้องถวายผ้าอาบน้ำฝนเพราะเนื่องจากในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์มีผ้าสบงเพียงผืนเดียว จึงจำเป็นจะต้องเปลือยกายเวลาอาบน้ำ ทำให้ดูไม่งาม นางวิสาขาจึงทำการถวายผ้าอาบน้ำฝนให้พระสงฆ์เป็นคนแรก และทำเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวันเข้าพรรษาต่อ ๆ กันมาถึงปัจจุบัน
3. การเข้าวัดทำบุญใส่บาตร
การเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ถือเป็นกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยทุกคน มักจะทำในช่วงวันสำคัญทางพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นวันอะไรก็ตาม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็จะเป็น วันเข้าพรรษา 2567 ด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นการทำบุญต่อเนื่องกันสองวันต่อจากวันอาสาฬหบูชา โดยคนส่วนใหญ่ที่เข้าวัดในช่วงวันเข้าพรรษานั้นก็มักจะเข้าไปทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา หรือบางคนเลือกที่จะบวชพระภิกษุเพื่อ เพื่ออยู่จำพรรษตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน หรือที่เรียกว่า “การบวชเอาพรรษา” นั่นเอง สำหรับการรักษาศีล ใส่ชุดปฏิบัติธรรม ทำจิตใจให้ผ่องใส และกิจกรรมตักบาตรมีด้วยกันหลายวัด เช่น วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีการตักบาตรดอกไม้เป็นประจำทุกปี และวัดในกรุงเทพฯ เช่น วัดบวรนิเวศฯ วัดเบญจมบพิตร วัดราชบพิธฯ ฯ ใครอยากจะลองตักบาตรดอกไม้ในช่วงวันเข้าพรรษาก็ลองไปที่วัดดังกล่าวได้เลย
4. ร่วมฟังเทศน์มหาชาติ
นอกจากการเข้าวัดทำบุญตักบาตรแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมฟังเทศน์มหาชาติ ถือเป็นหนึ่งในประเพณีเทศน์มหาชาติจะจัดในเทศกาลวันเข้าพรรษา 2567 การเทศน์มหาชาติ คือการเทศนาเวสสันดรชาดก โดยจะแบ่งการพรรณาออกเป็นตอน ๆ ทั้งหมด 13 กัณฑ์ เชื่อว่าหากใครที่ฟังเทศน์มหาชาติจบทั้งหมด 13 กัณฑ์จะได้ไปสุคติภูมิ หรือเกิดบนสวรรค์ และการฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวจะได้รับอานิสงส์เป็นอย่างมาก
5. ละเว้น/งดเว้น อบายมุขต่าง ๆ
สำหรับการละเว้น งดเง้น และอบายมุขต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรม “งดเหล้าเข้าพรรษา” เป็นกิจกรรมที่หน่วยงานภาครัฐได้ให้การสนับสนุน จัดแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษา ถึงแม้ว่าการงดเหล้าจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ 3 เดือน อาจจะไม่เพียงพอต่อการงดเหล้า เพื่อให้ได้สุขภาพที่ดี แต่ยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเลิกเหล้าไปตลอดชีวิตก็เป็นได้
6. ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว
สำหรับวันเข้าพรรษา 2567 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2567 เนื่องในโอกาสเป็นวันสำคัญทางพระพุทธทางศาสนา ทุกคนควรพิจารณาใช้เวลาได้อยู่กับครอบครัว ทำกิจกรรมวันเข้าพรรษา เช่น ตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม ไหว้พระ สวดมนต์
อานิสงส์ในการถวายเทียน/หลอดไฟในวันเข้าพรรษา
สำหรับชาวพุทธที่ได้ถวายเทียนหรือหลอดไฟในวันเข้าพรรษานั้น จะได้รับอานิสงค์ดังนี้
- เจริญไปด้วยมิตรบริวาร
- เมื่อจากโลกนี้ไปย่อมมีกายทิพย์อันสว่างไสว
- เมื่อลาลับโลกนี้ไปแล้วย่อมนำไปสู่สุคติสวรรค์
- ย่อมเป็นที่รักของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รวมถึงเทวดาทั้งหลาย
- หากบารมีมากพอ ย่อมทำให้เกิดดวงตาจักษุ คือปัญญารู้แจ้งเข้าสู่พระนิพพาน
- ส่งเสริมให้ผู้ถวายเทียนมีความรุ่งเรืองด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ ชีวิตสว่างไสวรุ่งเรือง
- แสงเทียนหรือแสงไฟ เปรียบเสมือนเป็นแสงสว่างเพื่อให้เกิดปัญหา ทั้งชาตินี้และชาติหน้า
- ช่วยทำให้คลี่คลายเรื่องราวต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี สามารถจัดการปัญหาให้ร้ายกลายเป็นดี
และทั้งหมดนี้คือ ประวัติวันเข้าพรรษา ฉบับย่อ ๆ ช่วยให้พุทธศาสนิกชนได้รู้จักถึงความเป็นมาและประวัติของวันเข้าพรรษมากขึ้น โดยวันเข้าพรรษา 2567 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2567 เนื่องในโอกาสวันพระ ลองชวนครอบครัวเข้าวัดมาทำทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต หรือถ้าใครไม่มีเวลาก็สามารถสวดมนต์ นั่งสมาธิที่บ้านได้เช่นกัน รวมถึงการรักษาศีล ลดละเว้นพวกอบายมุขต่าง ๆ และงดเหล้าเข้าพรรษา ก็คือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง อ่านบทความเกี่ยวกับศาสนา เช่น เวียนเทียนวันอาสาฬหบูชาที่ไหนดี และเทศกาล วันสำคัญต่างๆ ได้ที่ Shopee Blog
ข้อมูลอ้างอิง : thaiblanket.com / thairath.co.th