ในแต่ละปีนั้น ประเทศไทยจะมีวันสำคัญต่างๆ มากมายในตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมของทุกปี ที่หลายคนอาจจะชื่นชอบเป็นพิเศษ เพราะว่าจะมีวันหยุดราชการเยอะเป็นพิเศษ และอย่างยิ่งในปี 2567 นี้ ที่วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันเสาร์ที่ 20 ทำให้ในสัปดาห์นั้นหลายๆ คนจะได้หยุดกันต่อเนื่องยาว 3 วัน เพราะวันจันทร์ที่ 22 จะเป็นวันหยุดชดเชย ทำให้ได้ใช้ชีวิตกับครอบครัว หรือพักผ่อนอย่างเต็มที่ และได้ใช้วันหยุดไปในการทำบุญในวันพระใหญ่ และก็มักจะไปเวียนเทียน ที่ไหนดี ที่เป็นวัดใกล้บ้าน โดยวันอาสาฬหบูชานั้น ก็เป็นวันหนึ่งที่สำคัญมากในศาสนาพุทธ Shopee Blog เล็งเห็นความสำคัญของวันนี้ ในบทความนี้เลยจะมาบอกเล่าประวัติวันอาสาฬหบูชา ความเป็นมา ความสำคัญ พร้อมสิ่งที่ควรทำในวันอาสาฬหบูชา ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง พร้อมแนะนำว่าปีนี้ จะไปเวียนเทียน วัดไหนดี ในกรุงเทพ ที่สะดวก และได้บุญแบบเต็มๆ ตามมาดูกันเลย
Credit: Freepik
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ประวัติวันอาสาฬหบูชา ที่มาเกิดจากอะไร
สำหรับประวัติวันอาสาฬหบูชานั้น มีตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยถือเอาวันนี้ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา ที่เกิดขึ้นจากการตรัสรู้ด้วยตนเองขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นครั้งแรกให้กับเบญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย และเรียกได้ว่าวันนี้นี่เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยธรรมเทศนาที่เกิดขึ้นในวันนี้นั้น ถูกเรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ที่มีความหมายว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร นอกจากนี้ในวันเดียวกัน หลักจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงปฐมเทศนาแล้ว ได้มีหนึ่งในปัญจวัคคีย์ คือ ท่านโกณฑัญญ ได้เกิดธรรมจักษุ (ดวงตาแห่งธรรม) และขอบรรพชาเป็นพระภิกษุ ได้สมญานามว่า “พระอัญญาโกณฑัญญะ” ถือเป็นพระภิกษุองค์แรกในพระพุทธศาสนา
ประวัติวันอาสาฬหบูชา หลักธรรมปฐมเทศนา
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชานั้น หลักธรรมที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์นั้น มีทั้งหมด 2 ประการ คือ
- มัชฌิมาปฏิปทา หรือการเดินทางสายกลาง เป็นการปฏิบัติตนที่ไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ โดยหลีกเลี่ยงกามสุขัลลิกานุโยค (การหมกมุ่นในกามารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง) และอัตตกิลมถานุโยค (การบำเพ็ญตบะหรือปฏิบัติธรรมอันสร้างความลำบากแก่ตน) ด้วยการปฏิบัติตามอริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่
- สัมมาทิฏฐิ คือการมองโลกดี ตามความเป็นจริง
- สัมมาสังกัปปะ คือคิดดี คิดในสิ่งที่ถูกต้อง
- สัมมาวาจา คือการใช้วาจาที่ดี กล่าวคำสุจริต
- สัมมากัมมันตะ คือการประพฤติดี สุจริต
- สัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพที่ดี และสุจริต ไม่ผิดกฏหมาย
- สัมมาวายามะ คือความเพียรที่ชอบ ที่ถูกต้อง
- สัมมาสติ คือการมีสติ รับรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูกต้อง
- สัมมาสมาธิ คือการตั้งจิตให้ชอบ แน่วแน่ ตั้งมั่น
- อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ เป็นหลักในการหาสาเหตุ วิธีการแก้ไข และหนทางในการดับทุกข์ ซึ่งมีองค์ประกอบทั้งหมด 4 ประการ ได้แก่
- ทุกข์ คือความทุกข์ การมีอยู่ของความทุกข์ เป็นการค้นหาสิ่งที่ทำให้ตนเองนั้นไม่สบายใจ
- สมุทัย คือเหตุแห่งทุกข์ เป็นการค้นหาสาเหตุในการเกิดเรื่องทุกข์
- นิโรธ คือความดับทุกข์ เป็นการค้นหาวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้ความทุกข์นั้นถูกแก้ไขที่ต้นเหตุ
- มรรค คือหนทางไปสู่การดับทุกข์ ซึ่งก็คือมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง
Credit: Freepik
ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา
ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชานั้น คือการระลึกถึงพระพุทธเจ้า พร้อมปฐมเทศนา ที่เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิตของพุทธศาสนิกชนทุกคน เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เดินทางสายกลาง ไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง รวมไปถึงการใช้ชีวิตเพื่อการตรวจสอบตัวเอง ในเรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์ เรียนรู้หาวิธีแก้ไขและทำให้ตนเองนั้นพ้นความทุกข์ไป โดยเป็นหนึ่งในหลักธรรมที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกคน
วันอาสาฬหบูชา 2567 ตรงกับวันไหน
วันอาสาฬหบูชา 2567 นั้น ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567 (วันขึ้น 15 คํ่า เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ)
ทําบุญวันอาสาฬหบูชา เตรียมอะไรบ้าง
การทำบุญในวันอาสาฬหบูชานั้น สิ่งที่ควรเตรียมตัวไปนั้น คือ
- ของทำบุญในช่วงเช้า โดยปกติแล้วในวันอาสาฬหบูชาจะมีการทำบุญตักบาตรกันในช่วงเช้าเหมือนกันวันพระใหญ่อื่นๆ โดยของที่สามารถเตรียมไปทำบุญนั้น มีทั้ง ข้าวสาร อาหารแห้ง กับข้าวสุกพร้อมข้าวสวย หรือถ้าจะให้ดี เตรียมชุดสังฆทานที่มีชุดยารักษาโรค น้ำดื่ม อาหารแห้ง หลอดไฟ หรือวัตถุปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถมอบและสร้างประโยชน์ให้แก่พระภิกษุสงฆ์ได้
- ดอกไม้ถวายพระ ควรเตรียมดอกบัว 1 หรือ 3 ดอก พร้อมธูปจำนวน 3 ดอก และเทียน 1 เล่ม เพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย
- ดอกไม้สำหรับเวียนเทียน ควรเตรียมดอกไม้ถวายพระ เช่น ดอกบัว ดอกดาวเรือง กล้วยไม้ จำนวน 1 คู่ หรือพวงมาลัยถวายพระ จำนวน 1 พวง พร้อมธูป 3 ดอก และเทียน 1 เล่ม เพื่อใช้ในการเวียนเทียน
กิจกรรมที่มักจะปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา
หลังจากเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติวันอาสาฬหบูชากันไปพอสมควรกันแล้ว มาดูกันต่อเลยว่า กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนหลายคนนั้นมักจะปฏิบัติกัน ก็มักจะหนีไม่พ้น
- การตักบาตร ทำบุญ ทำทาน
- การฟังธรรมเทศนา
- การรักษาศีล
- การปฏิบัติธรรม
โดยมักจะปฏิบัติกันที่วัดใกล้บ้านหรือวัดใหญ่ประจำอำเภอ เขต หรือจังหวัด และแน่นอนว่า มีอีกกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในวันพระใหญ่แบบนี้ นั่นก็คือ “การเวียนเทียน” นั่นเอง ซึ่งการจะเวียนเทียน วัดไหนดีนั้น ส่วนมากก็จะเวียนเทียนกันในวัดเดียวกับที่ไปทำบุญกันตอนเช้า หรือวัดใหญ่ในตัวจังหวัด ตัวเมือง หรือในกรุงเทพ
การเวียนเทียนคืออะไร
การเวียนเทียนนั้น เป็นหลักปฏิบัติตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชน โดยเป็นการเดินเวียนขวารอบศาสนสถานหรือศาสนวัตถุ เช่น พระอุโบสถ วิหาร หรือพระพุทธรูป ทั้งหมด 3 รอบ ระหว่างเดินนั้นก็จะถือธูปเทียน และใช้การเดิน 3 รอบนั้นเพื่อระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ทำไมต้องเวียนเทียน
การเวียนเทียนตามธรรมเนียมของชาวอินเดียสมัยพุทธกาล (ดินแดนชมพูทวีป) มีความเชื่อว่าการเดินเวียนขวานั้นถือเป็นการให้ความเคารพอย่างสูง รวมไปถึงการเดินเวียน 3 รอบนั้น เป็นกุศโลบายของพระพุทธศาสนาเพื่อให้พุทธศาสนิกชนนั้นระลึกถึง “สังสารวัฏ” หรือการเวียนว่ายตายเกิด ว่าจะเกิดขึ้นอย่างนี้วนไป ไม่มีวันจะสิ้นสุด คล้ายกับการเดินวนเป็นวงกลมนั่นเอง
เวียนเทียน วัดไหนดี ในกรุงเทพมหานคร
สายมูห้ามพลาด! เตรียมเช็คพิกัดพร้อมรับแต้มบุญกันแบบจุก ๆ ได้เลย หากใครยังไม่รู้ว่าจะไปวันอาสาฬหบูชาจะไปเวียนเทียน วัดไหนดีล่ะก็ ต้องไม่พลาดบทความนี้ เพราะ Shopee Blog จะมาแชร์พิกัดแนะนำสถานที่ที่จะให้ชาวพุทธทุกคนได้ไป เวียนเทียน วัดไหนดี ในวันอาสาฬหบูชา แต่จะมีวัดอะไรบ้าง มาดูกัน เลย
1. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
Credit : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เวียนเทียน วัดไหนดีวัดแรก ขอแนะนำ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า วัดไตรมิตร มีชื่อเดิมว่า “วัดสามจีน” มาจากความเชื่อเล่าต่อกันมาว่ามีชาวจีน 3 คน ช่วยกันก่อสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ โดยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมากก็คือ “พระมหามณฑป” และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ หลวงพ่อทองคำ อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
- ที่ตั้ง : 661 ถนนตรีมิตร กรุงเทพมหานคร
- พิกัด : Google Maps
- เวลาเปิด – ปิด : ทุกวัน 07.00 – 18.00 น.
- วิธีเดินทาง
- รถไฟใต้ดิน ลงสถานีหัวลำโพง จากนั้นเดินไปที่วัดเลยก็ได้ หรือจะนั่งรถ Taxi
- รถเมล์ประจำทาง สาย 4, 53, 5, 73 หรือ 507
2. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือ วัดภูเขาทอง
Credit : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เวียนเทียน วัดไหนดีวัดถัดมา ก็จะมาถึงคิว วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือ วัดสระเกศ เป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยวัดแห่งนี้มีจุดเด่น คือ “พระบรมบรรพต” หรือที่หลายคนจะเรียกกันว่า “เจดีย์ภูเขาทอง” เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้กราบไหว้สักการะ และด้านบนยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้แบบ 360 องศากันเลย โดยวันสำคัญทางพุทธศาสนาต่าง ๆ จะเปิดให้มีการจัดกิจกรรม เวียนเทียน วันอาสาฬหบูชา 2566
- ที่ตั้ง : 344 ถนนจักรพรรดิพงษ์ แขวง บ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
- พิกัด : Google Maps
- เวลาเปิด – ปิด : ทุกวัน 08.00 – 18.00 น.
- วิธีเดินทาง
- รถเมล์ประจำทาง สาย 8, 15, 37, ปอ. 37, 47เเละ 49
- เรือโดยสารคลองเเสนเเสบ โดยลงที่ท่าผ่านฟ้าลีลาศ แล้วเดินทางไปที่วัดภูเขาทองได้เลย
3. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร
Credit : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นเอก โดยมีชื่อเดิมว่า “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” ภายในวัดยังมีสถานที่ที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศาลาสี่สมเด็จ พระที่นั่งทรงธรรม หอระฆังบวรวงศ์ พระอุโบสถ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อีกทั้งยังมีประติมากรรมที่สวยงาม
- ที่ตั้ง : 69 ถนนพระรามที่ 5 แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
- พิกัด : Google Maps
- เวลาเปิด – ปิด : ทุกวัน 08.30 – 17.30 น.
- วิธีเดินทาง
- รถไฟใต้ดิน สายสีน้ำเงิน MRT สถานีสามยอด ออกทางประตู 1 แล้วนั่ง Taxi
- รถเมล์ประจำทาง สาย 157 (ปอ.) (AC), 16, 503 (ปอ.) (AC), 505 (ปอ.) (AC), 509 (ปอ.) (AC), 72
4. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์
Credit : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระนอนองค์ใหญ่ (พระพุทธไสยาสน์) อันงดงาม พร้อมด้วยพระพุทธเทวปฏิมากรให้ประชาชนได้เข้ามากราบไหว้ นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์ รูปปั้นฤๅษีดัดตน ที่อยู่บริเวณรอบวัดให้ได้ชมความสวยงาม
- ที่ตั้ง : 2 ซอยมหาราช ถนนสนามไชย กรุงเทพมหานคร
- พิกัด : Google Maps
- เวลาเปิด – ปิด : ทุกวัน 08.00 – 17.00 น.
- วิธีเดินทาง
- รถไฟใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล MRT BLUE LINE ลงที่ลงสถานี สนามไชย
- รถเมล์ธรรมดา สาย 1, 3, 6, 9, 12, 25, 32, 43, 44, 47, 48, 51, 53, 82, 103
- รถเมล์ปรับอากาศ สาย ปอ.1, ปอ.6, ปอ.7, ปอ.8, ปอ.12, ปอ.44
5. วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
Credit : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือเรียกสั้น ๆ กันว่า “วัดอรุณ” เป็นวัดเก่าแก่โบราณที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาอย่างช้านาน ด้วยความโดดเด่นทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมที่งดงาม ตั้งเด่นเป็นสง่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นสัญลักษณ์ความสวยงาม และแลนด์มาร์กของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
- ที่ตั้ง : 34 ซอยวังเดิม ถนนอรุณอมรินทร์ กรุงเทพมหานคร
- พิกัด : Google Maps
- เวลาเปิด – ปิด : ทุกวัน 08.00 – 17.00 น.
- วิธีเดินทาง
- ทางเรือโดยสาร สามารถนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าวัดอรุณฯ ได้เลย หรือจะนั่งมาลงที่น่าเตียน แล้วนั่งเรือข้ามฟากมาลงเรือหน้าวัดอรุณฯ ก็ได้เช่นกัน
- รถเมล์ประจำทาง สาย 19 , 57
6. วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร (บางเขน)
Credit : Shutterstock
วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร หรือวัดพระศรีบางเขน เป็นอีกหนึ่งวัดที่ชาวพุทธศาสนิกชนนิยมมาทำบุญตักบาตรกันมาก โดยเฉพาะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งทางวัดก็จัดกิจกรรม เวียนเทียน วันอาสาฬหบูชา 2566 ให้ประชาชนได้เดินเวียนเทียน รอบพระเจดีย์ศรีมหาธาตุ วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน
- ที่ตั้ง : 149 ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220
- พิกัด : Google Maps
- เวลาเปิด – ปิด : ทุกวัน 08.00 – 20.00 น.
- วิธีเดินทาง
- รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว มาลงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
- รถเมล์ประจำทาง สาย 150 (ปอ.) (AC), 520 (ปอ.) (AC), 543ก (ปอ.) (AC), 95ก
7. วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
Credit : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ปิดท้ายด้วย วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร หรือชื่อเดิม “วัดกลางนา” ตั้งอยู่บนถนนข้าวสาร เป็นอีกหนึ่งวัดที่ชาวพุทธนิยมมาทำบุญ ซึ่งเป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา และขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก โดดเด่นในด้านการช่วยเหลือให้สามารถเอาชนะศัตรู และอุปสรรคต่าง ๆ ได้มาตั้งแต่สมัยในอดีต
- ที่ตั้ง : แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
- พิกัด : Google Maps
- เวลาเปิด – ปิด : ทุกวัน 08.00 – 17.00 น.
- วิธีเดินทาง
- รถเมล์ประจำทาง สาย 3, 6, 9, 15, 30, 32, 33, 43, 53, 64, 65, 82, 123 และ 509
- เรือด่วนเจ้าพระยา มาลงท่าพระอาทิตย์ จากนั้นก็ให้เดินทางที่วัดประมาณ 800 เมตร
เชื่อว่าถ้าสายมูได้อ่านบทความนี้ จะต้องได้รับแต้มบุญไปเต็ม ๆ อย่างแน่นอน ถ้าหากวันอาสาฬหบูชาปีนี้ ใครยังไม่ได้มีแพลนว่าจะไปเที่ยวที่ไหน ก็ลองชวนครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน ๆ เข้าวัดบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา ตกเย็นก็ไป เวียนเทียน วัดไหนดี โดยเลือกจากรายชื่อวัดในกรุงเทพฯ ที่สะดวกได้เลย หรือถ้าใครไม่รู้ว่าจะไปเวียนเทียน วัดไหนดี ในต่างจังหวัด ก็แนะนำว่าลองไปวัดใหญ่ประจำจังหวัดหรือวัดใกล้บ้าน ก็จะมีการจัดงานเวียนเทียนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้แล้วการทำบุญอาจไม่จำเป็นจะต้องทำเฉพาะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา สามารถทำบุญได้ทุกที่ทุกเวลาอยู่บ้านก็สามารถนั่งสมาธิ สวดมนต์ได้เหมือนกัน สำหรับใครอยากได้บทสวดมนต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บทสวดพาหุง บทสวดอิติปิโส บทสวดมนต์ก่อนนอน บทสวดกรณียเมตตสูตร หรือคาถาบทสวดอื่น ๆ เข้ามาอ่านบทความได้ที่ Shopee Blog
ขอบคุณข้อมูลจาก : bookplus / thairath.co.th