ตอนเด็ก ๆ เชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินคนพูดกันว่า หากแอบดูใครอาบน้ำระวังจะเป็นตากุ้งยิง เมื่อโตขึ้นเราถึงเข้าใจว่า คำพูดดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะแท้จริงแล้วตากุ้งยิง เป็นโรคชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนและส่วนใหญ่ไม่อันตราย ซึ่งในบทความนี้เราจะมาไขข้อข้องใจสมัยเด็ก ๆ ด้วยการตีแผ่ความรู้ว่าแท้จริงแล้วตากุ้งยิงเกิดจากอะไร ตากุ้งยิงรักษาอย่างไร เป็นอันตรายหรือไม่ เพื่อให้ทุกท่านได้รู้เท่าทันโรคและสามารถป้องกันตัวเองเบื้องต้นได้ นั่นเอง
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ตากุ้งยิงภาษาอังกฤษ
ตากุ้งยิงภาษาอังกฤษ เรียกว่า Stye , Sty หรือ Hordeolum
ตากุ้งยิงคืออะไร และอาการเบื้องต้นที่ควรรู้
ตากุ้งยิง เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณเปลือกตา ซึ่งอาการตากุ้งยิงสำหรับแต่ละท่านนั้นจะแสดงอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปริมาณการติดเชื้อแบคทีเรีย และภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละคน อย่างไรก็ตามโรคตากุ้งยิงโดยทั่วไปจะมีอาการเบื้องต้น คือ เกิดตุ้มฝีเล็ก ๆ คล้ายสิวที่ขอบเปลือกตา หรือบนเปลือกตา สามารถเป็นได้มากกว่า 1 จุดและเป็นได้ทั้งตาข้างเดียวหรือ 2 ข้าง โดยตุ้มเล็ก ๆ นี้จะมีขนาดไม่ใหญ่มากเพียง 0.2-1 เซ็นติเมตรเท่านั้น ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดตา ตาแดง หรือน้ำตาไหลร่วมด้วย โดยโรคตากุ้งยิง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
Credit: freepik
- ตากุ้งยิงเกิดขึ้นภายนอก โดยตากุ้งยิงประเภทนี้ไม่อันตรายและรักษาได้ง่าย เนื่องจากจะมีหัวฝีลักษณะคล้ายหัวสิวเกิดขึ้นที่บริเวณโคนเปลือกตา อาจมีอาการบวมแดง ปวดตาร่วมด้วยเล็กน้อย
- ตากุ้งยิงหลบในหรือตากุ้งยิงเกิดขึ้นภายใน โดยตากุ้งยิงประเภทนี้ เป็นการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตา ผู้ป่วยจะมีฝีลักษณะหัวสิวขึ้นอยู่ภายในเปลือกตาบนหรือตาล่าง อาจเป็นตุ่มเดียวหรือหลายตุ่มจนรวมกันเป็นก้อนแข็ง ๆ คล้ายซีสต์ เรียกว่า ตากุ้งยิงไม่มีหัว ผู้ป่วยอาจมีอาการเคืองตา หรือปวดตาเล็กน้อย พร้อมกับมีอาการน้ำตาไหลบางครั้ง
สาเหตุโรคตากุ้งยิง
อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ตากุ้งยิงไม่ได้มีสาเหตุจากการไปแอบดูใครอาบน้ำแต่อย่างใด แต่เกิดจากความสกปรกของนิ้วมือเราเอง ที่ปนเปื้อนเจ้าแบคทีเรีย ที่ชื่อ เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) และนำนิ้วมือนี้ไปขยี้ที่ตาทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบขึ้น โดยการอักเสบมักเกิดขึ้นบริเวณส่วนตาที่บอบบาง เช่น บริเวณท่อทางออกของสารต่าง ๆ จากต่อมต่าง ๆ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในต่อมเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดได้ ทำให้ท่อเกิดการอุดตัน จึงฟ้องออกมาเป็นการอักเสบ บวมแดง มีหนองสะสมจนเป็นตุ่มฝี หรือตุ่มคล้ายหัวสิว บวมเป็นก้อนนูน ก่อให้เห็นเป็นตุ่มฝีนั่นเอง โดยปัจจัยสำคัญที่มีอาการตากุ้งยิงเกิดจากปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้
- ความสกปรกของมือ ใบหน้าและเสื้อผ้า นอกจากนี้การใช้เครื่องสำอาง และสวมใส่คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่นก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคตากุ้งยิงได้เช่นกัน
- ผู้ที่มีปัญหาเรื่องผิวมันบนใบหน้า จะมีโอกาสเกิดโรคตากุ้งยิงมากกว่า เนื่องจากเกิดการสะสมและอุดตันของน้ำมันบนใบหน้าได้ง่ายนั่นเอง
- มีโรคประจำตัวเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ก็มีโอกาสเกิดโรคตากุ้งยิงได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ
- ร่างกายอ่อนแอ อันเนื่องมาจากการทำงานหนัก ภาวะความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อาจทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงและทำให้ร่างกายติดเชื้อ สแตฟีโลค็อกคัส อันเป็นต้นเหตุของโรคตากุ้งยิงได้ง่ายยิ่งขึ้น
ตากุ้งยิง ติดต่อไหม
หากท่านกำลังสงสัยว่าโรคตากุ้งยิงติดต่อไหม เป็นแล้วจะแพร่เชื้อให้คนอื่นหรือเปล่า เราคาดว่าท่านคงกำลังสับสนระหว่างโรคตาแดงและโรคตากุ้งยิงเป็นแน่ เพราะแท้จริงแล้วโรคตากุ้งยิงนั้น เป็นอาการอักเสบของท่อหรือต่อมบริเวณตาอันเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อกันได้ง่าย ๆ เว้นเสียแต่ว่าท่านสัมผัสพื้นที่เสี่ยงที่เต็มไปด้วยเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส และมาขยี้ตา ก็มีโอกาสติดเชื้อและกลายเป็นโรคตากุ้งยิงได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม อาการและโรคของตากุ้งยิงขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละบุคคล ดังนั้นแม้จะสัมผัสความเสี่ยงเช่นเดียวกันแต่ไม่จำเป็นต้องกลายเป็นโรคตากุ้งยิงเหมือนกัน หากร่างกายเราแข็งแรงเพียงพอ
วิธีรักษาตากุ้งยิงเบื้องต้น
โรคตากุ้งยิง ไม่ใช่อาการของโรคร้ายแรง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตากุ้งยิงรักษาได้ง่าย ๆ และสามารถหายเองได้ วิธีการรักษาตากุ้งยิงเร่งด่วน เพื่อให้อาการทุเลาลงอย่างรวดเร็ว มีหลักปฏิบัติง่าย ๆ ดังนี้
- เช็ดขอบตารอบ ๆ บริเวณที่เป็นให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หลังจากนั้นประคบตาด้วยน้ำอุ่น เพื่อบรรเทาอาการบวม
- ใช้ยาป้ายตาหรือยาหยอดตาปฏิชีวนะ เช่น ยาป้ายตาเทอรามัยซิน หรือยาหยอดตาอิริโทรมัยซิน (ในกรณีที่จะซื้อยามาใช้เอง ผู้ป่วยต้องได้รับการแนะนำจากเภสัชกรอย่างละเอียด)
- ถ้ามีอาการปวด ให้กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แม้ไม่ได้ใช้ยา อาการก็จะทุเลาและหายได้เอง ภายใน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากเลยช่วงระยะเวลาดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีก้อนนูนชัดเจน มีตุ่มน้ำเกิดขึ้นที่เปลือกตา เปลือกตามีแผลตกและมีเลือดออกจากแผล รวมทั้งมีอาการปวดตามาก ควรไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม หรือผ่าเอาหนองออก เพื่อบรรเทาอาการให้หายได้เร็วยิ่งขึ้น
ตากุ้งยิงกี่วันหาย
ซึ่งอาการตากุ้งยิงกี่วันหายนั้น ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้น ได้แก่ ได้แก่ การพักผ่อนอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการใช้สายตา งดใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาทุกชนิดและงดใส่คอนแทคเลนส์ เพียง 4-5 วันหนองที่บริเวณหัวฝีจะแตกออกมาเองและอาการบวมก็จะลดลง หลังจากนั้นผู้ป่วยก็จะมีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ จนหายเป็นปกติ
ตากุ้งยิงเป็นแล้วกลับมาเป็นอีกหรือไม่
แม้ว่าผู้ป่วยจะรักษาตาเป็นกุ้งยิงจนหายดีแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันชนิดถาวร กล่าวคือ โรคตากุ้งยิงยังสามารถกลับมาเป็นได้อีก ตราบใดที่ท่านยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งความสกปรกบนใบหน้า มือ และนิ้วมือ รวมทั้งภาวะความเครียด พักผ่อนน้อย และโรคประจำตัวต่าง ๆ ดังนั้น หากร่างกายอ่อนแอเมื่อใด อาการตากุ้งยิงก็พร้อมจะกลับมาหาท่านได้ทุกเมื่อควรล้างมือให้สะอาด และดูแลความสะอาดของร่างกายเสมอ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับโรคตากุ้งยิงทั้งสาเหตุ อาการและวิธีป้องกันที่เราได้แนะนำไป เห็นไหมคะว่า โรคตากุ้งยิงไม่ใช่โรคติดต่อ หรือโรคร้ายแรงที่น่ากลัวอย่างที่หลายคนวิตก แต่อย่างไรก็ตาม โรคชนิดนี้เกิดขึ้นที่บริเวณดวงตา ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายและไม่สามารถหามาทดแทนได้ ดังนั้น เริ่มดูแลดวงตาเราเสียตั้งแต่วันนี้ เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการล้างมือทุกครั้ง และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ท่านก็จะสบายใจได้ว่าอยู่ห่างไกลจากโรคตากุ้งยิง อย่างแน่นอน
แหล่งข้อมูล : doctor.or.th, th.wikipedia.org
Feature Image credit : freepik