ประสบการณ์การเป็นร้อนในในช่องปาก ที่สร้างความเจ็บปวดและความรำคาญใจอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้รับประทานอาหารยากแล้ว ยังต้องคอยระวังเรื่องการแปรงฟันอีกด้วย บอกเลยว่าเป็นร้อนในทีนึงมันทรมานเหลือเกิน แบบนี้ต้องมาหาวิธีแก้ร้อนในหน่อยแล้ว ทนต่อไปก็มีแต่จะเจ็บ ทานอะไรก็อร่อย แสบปากไปหมด คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าอะไรทำให้เกิดอาการแผลร้อนใน ? สาเหตุร้อนในคืออะไร แล้วหากอยากให้ร้อนในในปากหายไว ๆ ต้องทำอย่างไร Shopee บอกต่อ วิธีแก้ร้อนใน ปกติแล้วแผลร้อนในจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ใครที่ทนไม่ไหวต้องตามไปดูวิธีแก้ร้อนในกันเลย
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
วิธีแก้ร้อนใน สาเหตุของการเป็นร้อนใน ต้องทำอย่างไรถึงจะหาย
แผลร้อนในเกิดจากอาการที่เยื่อบุอ่อนภายในช่องปากอักเสบ มีลักษณะจุดศูนย์กลางสีขาวหรือเหลือง ขอบเป็นสีแดง สามารถเกิดขึ้นได้หลายจุดในช่องปาก เช่น ด้านในริมฝีปาก กระพุ้งแก้มหรือลิ้น ความเจ็บนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของแผล แต่ส่วนใหญ่แผลร้อนในคล้ายเริมนั้นเป็นประเภทมีลักษณะรูปร่างไม่แน่นอน หากเป็นร้อนในในปากแล้วเวลารับประทานอาหารเผ็ดหรือร้อนจะรู้สึกแสบเป็นอย่างมาก
อาการร้อนในเกิดจากอะไร?
สาเหตุของการเป็นร้อนในในปากมีอยู่หลายปัจจัยรวมกัน จึงยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มักพบในคนที่มีอารมณ์เครียดอยู่เสมอ อาหารไม่ย่อย หรือท้องผูกบ่อย ๆ หรือในคนที่ร่างกายอ่อนแอภูมิต้านทานต่ำโดยปัจจัยที่พบได้ทั่วไปคือ
- การตอบสนองต่อแบคทีเรียในปาก
- ทานอาหารรสจัด อาหารที่มีฤทธิ์ร้อนมากเกินไป
- การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดในช่องปาก
- ได้รับบาดเจ็บในช่องปาก เช่น กัดลิ้นขณะเคี้ยวอาหาร การกระแทกจากการเล่นกีฬา
- การขาดสารอาหาร ขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด ได้แก่ วิตามินบี 12 กรดโฟลิก หรือภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
- พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อย
- แพ้สารบางชนิดในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก
- อาจติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด เช่น Helicobacter pylori และ โรคเริม
- มีความเครียด ความกังวลสะสม
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะช่วงมีประจำเดือนของผู้หญิง
- เกิดจากการใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของโซเดียมรอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate : SLS) ทำให้เป็นแผลในปาก
ชนิดของแผลร้อนใน
สำหรับบริเวณแผลร้อนใน ส่วนใหญ่มักพบได้บริเวณ กระพุ้งแก้ม พื้นช่องปาก ริมฝีปากด้านใน ด้านข้างลิ้นหรือใต้ลิ้น เป็นต้น ลักษณะของแผลในระยะเริ่มแรกจะเป็นจุดแดงขึ้นมาก่อนประมาณ 1-2 วัน จากนั้นจะค่อย ๆ กลายเป็นแผล ซึ่งอาจจะเจ็บมากหรือเจ็บน้อยในช่วงระยะเวลา 2-3 วันแรก ทำให้รู้สึกเคือง ๆ ทานอาหารลำบาก ยิ่งหากเป็นแผลร้อนในขนาดใหญ่ ก็ทวีคูณความเจ็บปวดไปอีก ซึ่งหลังจากหายแล้วแผลร้อนในก็สามารถเกิดขึ้นใหม่ซ้ำได้อีก โดยส่วนมากวิธีการรักษาแผลร้อนใน สิ่งที่ทำได้ คือ การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการที่เป็น ส่วนใหญ่จะเป็นการลดอาการอักเสบ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น แต่ใดใดก็ต้องดูประเภทแผลร้อนในด้วย ว่าในกรณีแบบไหนที่ควรพบแพทย์ ซึ่งแผลร้อนในแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะตามความรุนแรงของโรค คือ แผลเปื่อยไมเนอร์ (Minor ulcer) แผลเปื่อยเมเจอร์ (Major ulcer) และแผลเปื่อยเฮอร์เพติฟอร์ม (Herpetiform ulcer) ดังนี้
1. แผลเปื่อยไมเนอร์ (Minor ulcer) หรือ แผลร้อนในขนาดเล็ก
เป็นแผลเปื่อยที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 80% ของแผลร้อนในทั้งหมด มักพบบริเวณเยื่อเมือกด้านริมฝีปาก ด้านแก้ม กระพุ้งแก้ม และขอบของลิ้น พบได้บ่อยในกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 15-45 ปี จะพบเป็นแผลเปื่อยขนาดเล็ก มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร และเป็นแผลตื้น ๆ แผลมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ และเมื่อแผลหายมักไม่เกิดพังผืด มีอาการเจ็บปวดในช่วงสั้น ๆ แต่เมื่อเยื่อบุผิวในช่องปากฉีกขาด จะเป็นแผลซึ่งมีลักษณะกลมรี มีสีเหลืองอ่อนและมีความเจ็บปวดมากขึ้น
2. แผลเปื่อยเมเจอร์ (Major ulcer) หรือ แผลร้อนในขนาดใหญ่
พบได้ประมาณ 10-15% ของแผลร้อนในทั้งหมด ลักษณะแผลมีจะมีขนาดใหญ่มากกว่า 1 เซนติเมตร แผลจะลึกกว่าแผลขนาดเล็กและมีอาการเจ็บที่รุนแรงมากกว่า แต่แผลร้อนในขนาดใหญ่จะพบได้น้อยกว่าแผลขนาดเล็ก มักเกิดในตำแหน่งเนื้อเยื่อที่เคลื่อนไหวได้ของช่องปาก เช่น ด้านข้างของลิ้น เพดานอ่อนและบริเวณทางเชื่อมระหว่างปากและคอหอย พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่เลยวัยรุ่นไปแล้ว แผลจะอยู่นานกว่า 2-3 สัปดาห์ ใครที่แผลอยู่นานเป็นเดือน ควรรีบไปโรงพยาบาล เพื่อปรึกษาแพทย์ เพื่อแยกจากแผลอักเสบติดเชื้อ หรือแผลมะเร็งโดยเฉพาะเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หลังหายแล้วมักจะมีรอยแผลเป็นหลงเหลืออยู่ ช่วงที่เป็นผู้ป่วยจะมีความเจ็บปวดการทานอาหาร การพูด หรือการกลืนน้ำลายจะยากลำบาก
3. แผลเปื่อยเฮอร์เพติฟอร์ม (Herpetiform ulcer)
เป็นแผลร้อนในที่พบได้ประมาณ 5-10% เป็นแผลร้อนในที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าทั้งสองชนิดที่กล่าวแล้ว โดยแผลจะมีหลายแผล อาจสิบกว่าแผลเลยก็เป็นได้ แต่ลักษณะแผลจะมีขนาดเล็ก กระจายได้ทั่วทั้งช่องปาก ขนาดเล็กๆ 1-3 มม. อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นแผลตื้น ๆ พบได้บ่อยบริเวณใต้ลิ้น เพดานอ่อน ริมฝีปากด้านใน แผลเปื่อยเฮอร์เพติฟอร์ม เป็นแผลที่เกิดขึ้นมาแล้ว ต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแผลมาก จนอาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น กลืนลำบาก น้ำหนักลด เนื่องจากรับประทานอาหารลำบากและไม่เพียงพอ แต่หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง แผลสามารถหายในระยะเวลาน้อยกว่า 1 เดือนได้ และมักไม่เกิดเป็นพังผืดหรือแผลเป็น
การรักษาแผลร้อนใน วิธีแก้ร้อนใน
- บ้วนด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง โดยอัตราส่วนเกลือต่อน้ำเปล่า 1 ส่วน เพื่อลดแบคทีเรียในช่องปาก
- ใช้ยาป้ายแผลในปากวันละ 2-4 ครั้งต่อวัน จนกว่าร้อนในในปากจะหาย
- ใช้หลอดดูดแทนการดื่มน้ำจากแก้วตรง ๆ เพื่อลดการเสียดสีกับแผล
- ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่ม และเปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันเด็กเพื่อความอ่อนโยนต่อช่องปาก
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน
- ดื่มน้ำอุณหภูมิห้องให้มาก ๆ ไม่ควรดื่มน้ำเย็น
- เลี่ยงทานอาหารรสจัด อาหารที่มีฤทธิ์ร้อน
- หลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- ไม่ทานอาหารที่มีอุณหภูมิเย็นจัดหรือร้อนจัด
- หากรักษาทุกวิธีแล้วไม่หายภายใน 3 สัปดาห์ควรไปพบแพทย์
- ทายาในบริเวณที่เป็นแผล เช่น Triamcinolone (ไตรแอมซิโนโลน) เป็นยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์
- ใช้แผ่นแปะแก้ร้อนใน ช่วยให้แผลการสัมผัสน้ำลาย ฟัน หรืออาหารน้อยลง
11 สมุนไพรแก้ร้อนใน ช่วยดับร้อนในร่างกายได้อีกด้วย
- ใบบัวบก : นอกจากรักษาอาการช้ำในได้แล้ว ยังช่วยรักษาอาหารร้อนใน รักษาแผลในปากได้เป็นอย่างดี จะทานเป็นแคปซูลหรือคั้นน้ำสด ๆ มาดื่มก็ได้
- จับเลี้ยง : เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น 10 อย่าง ประกอบด้วยดอกเก๊กฮวย ดอกงิ้วแดง เมล็ดเพกา เหม่ากิง แชตี่ กำเช่า โหล่เกง เทียงฮวยฮุ่ง แห่โกวเช่า และหล่อฮังก๊วย จับเลี้ยงจะช่วยบรรเทาอาการร้อนใน
- รางจืด : ใช้รากและเถาของรางจืดมาตากให้แห้ง แล้วนำมาชงดื่ม จะช่วยลดความร้อนในร่างกาย
- ชะเอมเทศ : ให้นำรากชะเอมเทศผสมกับชาสมุนไพรชนิดอื่น แล้วบ้วนปาก ไม่ควรนำมารับประทานโดยตรงเพราะอาจผลข้างเคียงคือความดันโลหิตสูง
- เก๊กฮวย : ให้ต้มดอกเก๊กฮวยแล้วเอามาดื่มแก้กระหาย รักษาแผลร้อนในก็ได้เช่นกัน
- ว่านหางจระเข้ : ให้คั้นน้ำว่านหางจระเข้แล้วนำมาบ้วนปากครั้งละ 1-3 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง
- มะตูม : นำมะตูมตากแห้งมาต้มดื่ม อาจจะเพิ่มน้ำตาลลงไปนิดหน่อยเพื่อความอร่อย
- ชาดอกคาโมมายล์ : ให้นำชาดอกคาโมมายล์มาบ้วนปากวันละ 3-4 ครั้ง ช่วยรักษาร้อนในได้
- ฟ้าทะลายโจร : นำใบฟ้าทะลายโจรมาต้มดื่มหรือหากทนความขมไม่ไหว สามารถทานเป็นแคปซูลได้
- ใบย่านาง : จะช่วยลดความร้อนในร่างกายลงได้ ให้นำใบมาคั้นสดแล้วดื่ม
- รากบัว : มีรสหวาน สามารถกินทั้งชิ้นหรือต้มกินก็ได้ แก้ร้อนใน ทำให้สดชื่น
สารพัดเรื่องควรรู้เกี่ยวกับวิธีรักษาร้อนใน
แผลร้อนใน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แม้จะเป็นอาการที่ไม่หนักและหายเองได้ แต่แผลร้อนในบางกรณีที่รักษาเองแล้วไม่หายและมีอาการลุกลาม อาจเป็นสัญญาณของของบางอย่าง เช่น มะเร็งในช่องปาก โรคโครห์น โรคแพ้กลูเตน โรคไลเคนแพลนัส โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอชไอวี ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด ฉะนั้น การดูแลตนเองระหว่างเป็นแผลร้อนใน และสังเกตชนิดของแผลร้อนใน จึงมีส่วนช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น รวมไปถึงการทราบวิธีแก้ร้อนใน สาเหตุ พร้อมสมุนไพรแก้ร้อนในก็ช่วยได้มาก ใครที่กำลังประสบปัญหาร้อนในในปาก ต้องลองเอาวิธีเหล่านี้ไปรักษากันเลย แต่หากไม่หายจริง ๆ ควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน นอกจากรักษาตามวิธีเหล่านี้ ยังมีอาหารแก้ร้อนใน ผลไม้แก้ร้อนใน ตามไปอ่านได้ที่ Shopee Blog
อ้างอิง: