ปัจจุบันที่กระแสรักสุขภาพกำลังมาแรง ของหวานก็เหมือนจะกลายเป็นตัวร้ายไปกลาย ๆ เนื่องจากมีงานวิจัยมากมายที่ออกมาบอกถึงผลเสียของน้ำตาลที่มีต่อร่างกาย แต่การจะเลิกเติมความหวานลงในอาหารเลยก็ดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และอาจทรมานจิตใจใครอีกหลายคน ดังนั้นสารสกัดจากหญ้าหวานจึงถูกนำมาใช้แทนที่ ด้วยผลิตภัณฑ์น้ำตาลหญ้าหวานที่ให้พลังงานน้อย แต่ได้ความหวานมากเสียยิ่งกว่าน้ำตาลในปริมาณที่เท่ากันเสียอีก ในเมื่อมีพืชที่น่าอัศจรรย์ช่วยเพิ่มความหวานให้ชีวิตเราได้ขนาดนี้ วันนี้เราจึงจะมาชวนเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับหญ้าหวาน สรรพคุณหลากหลายพืชตัวนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิมกัน
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ทำความรู้จักหญ้าหวาน (Stevia)
หญ้าหวาน หรือสเตเวีย-Stevia คือ พืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana Bertoni มักพบเห็นลักษณะต้นเป็นพุ่มสูง 30-90 เซนติเมตร แตกกิ่งสาขาตั้งแต่โคนต้น แต่ละกิ่งสาขาก็จะมีใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ แต่ละใบเป็นรูปหอกขอบใบหยักสีเขียวอ่อน มีสารที่ให้รสหวานอย่างสเตเวียโอไซด์ (Stevioside) ออกดอกเป็นช่อสีขาวนวลที่ปลายยอด มีแต่เฉพาะฤดูฝนเท่านั้นที่เราจะได้เห็นดอกของหญ้าหวานเป็นสีม่วง
มนุษย์รู้จักการนำหญ้าหวานมาใช้เป็นเวลานานแล้ว เดิมหญ้าหวานเป็นพืชพื้นถิ่นของประเทศแถบอเมริกาใต้ ชาวปารากวัยเรียกหญ้าหวานว่า kar-he-e ที่แปลว่าสมุนไพรหวาน ซึ่งทั้งชาวพื้นเมืองปารากวัยและบราซิลก็ได้นำหญ้าหวานมาปรุงอาหารรวมถึงผสมลงในชาดื่มมาเป็นเวลานานกว่า 1,500 ปีแล้ว ต่อมาชาวญี่ปุ่นก็ยังนิยมนำไปผสมอาหารเช่น เต้าเจียว ผักดอง ฯลฯ อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย เชื่อว่ามีการนำหญ้าหวานเข้ามาปลูกทางภาคเหนือตั้งแต่ปีพ.ศ. 2518 เพราะเป็นพืชที่ชื่นชอบอากาศเย็นประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส และปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ได้อนุญาตให้มีการใช้สารสเตเวียโอไซด์ที่สกัดได้จากหญ้าหวานมาใช้เพื่อการบริโภคได้แล้วด้วย เราจึงสามารถพบเห็นผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวาน อย่างน้ำตาลหญ้าหวานที่พบเห็นได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
สรรพคุณ หญ้าหวาน
ในหญ้าหวานมีสารให้ความหวานอย่างสเตเวียโอไซด์ (Stevioside) ที่เป็นสารที่ให้ความหวานได้มากกว่าน้ำตาลซูโครสจากอ้อยถึง 10-15 เท่า แต่ให้พลังงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ยังอุดมด้วยสารอาหารอย่าง ในหญ้าหวานอบแห้งที่ความชื้น 7% จำนวน 100 กรัม จะให้พลังงาน 2.7 กิโลแคลอรี ให้โปรตีน 10 กรัม ไขมัน 3 กรัม และไม่มีน้ำตาลเนื่องจากความหวานได้จากสารสเตเวียโอไซด์ (Stevioside) นอกจากนี้ในใบหญ้าหวานยังอุดมด้วยแร่ธาตุอย่างแคลเซียม โพแทสเซียม รวมถึงสารแทนนินเช่นเดียวกับกล้วย ที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย ขณะที่ยังให้ใยอาหารสูงถึง 18 กรัม ด้วยคุณสมบัติที่ให้ความหวานและใยอาหารสูง ขณะที่ให้พลังงานและไขมันต่ำแบบนี้ ทำให้หญ้าหวานมีสรรพคุณทางยาหลายประการ
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากความหวานที่ได้จากหญ้าหวานมาจากสารที่ไม่ใช่น้ำตาลและมีใยอาหารซึ่งจะเป็นตัวควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การรับประทานหญ้าหวานจึงช่วยทดแทนน้ำตาลในร่างกายและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลที่มีอยู่เดิมได้ จึงเหมาะสำหรับการใช้ควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ช่วยบำรุงตับอ่อน ลดไขมันในเส้นเลือดและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงและโรคอ้วนได้ ด้วยความที่หญ้าหวานให้พลังงานต่ำ โดยในหญ้าหวานอบแห้ง 100 กรัม จะให้พลังงานเพียง 2.7 กิโลแคลอรี่ ขณะที่สารทดแทนความหวานที่ใช้ในปัจจุบันอย่าง แอสปาแตม ในปริมาณที่เท่ากันให้พลังงานได้ถึง 4 กิโลแคลอรี่
- ช่วยสมานแผลทั้งภายนอกและภายใน ทำให้แผลหายไวขึ้นได้
ประโยชน์ของหญ้าหวาน
สารสเตเวียโอไซด์ (Stevioside) ที่เป็นสารให้ความหวานในหญ้าหวานนั้นเป็นสารประกอบพวกไดเทอร์พีนกลัยโคไซด์ (diterpene glycoside) สารสกัดบริสุทธิ์ของสเตเวียโอไซด์ (Stevioside) จะเป็นผลึกสีขาวบริสุทธิ์ ไม่มีกลิ่น มีรสหวาน ละลายน้ำได้ดี และเนื่องจากสารสเตเวียโอไซด์ไม่ใช่อาหารของเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราเหมือนน้ำตาล อาหารที่นำน้ำตาลหญ้าหวานไปเป็นส่วนประกอบจึงไม่บูดเน่าได้ง่าย ด้วยสรรพคุณของหญ้าหวานที่ช่วยทดแทนน้ำตาลด้วยความหวานที่มากกว่าน้ำตาลถึง 300 เท่า ขณะที่ให้พลังงานต่ำ และมีใยอาหารสูงที่เป็นตัวช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ทำให้มีการใช้หญ้าหวานเข้ามาทดแทนน้ำตลาดหลายชนิด
- ใบหญ้าหวานอบแห้ง นำไปใช้ให้ความหวานในชา โดยสามารนำใบหญ้าหวานอบแห้งใส่ลงไปต้มพร้อมส่วนผสมของชาเพื่อเติมความหวานได้ทันที
- น้ำตาลหญ้าหวาน นำไปใช้ปรุงอาหารต่าง ๆ แทนน้ำตาล
- ไซรัป นำไปใช้ผสมในเครื่องดื่มและของหวาน
ในอุตสาหกรรมนิยมนำหญ้าหวานมาแปรรูปเป็นสารสกัด Stevioside เช่น Stevia ST-AB เป็นสาร Stevioside 100% ลักษณะเป็นผงสีขาว, Histevia-500 เป็นสารประกอบของ Stevioside 50% นิยมใช้เป็นสารทดแทนความหวานในน้ำอัดลมหรือน้ำส้ม Low Sugar นอกจากนี้สารสกัด Stevioside ยังถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมใน หมากฝรั่ง และ อาหารแปรรูปอย่างผักดอง ซอส เพื่อลดการเติบโตของเชื้อจุลชีพในอาหารและในช่องปาก ทั้งยังนำมาเป็นส่วนผสมของไอศกรีมและโยเกิร์ตเพื่อลดน้ำตาลให้อาหารเหล่านี้ รวมถึงเป็นมิตรต่อร่างกายของผู้บริโภคได้มากขึ้น
แพ้หญ้าหวาน เป็นอย่างไร และข้อควรระวังในการรับประทาน
เคยมีข่าวว่าการรับประทานหญ้าหวานทำให้เป็นหมันหรือเป็นการลดจำนวนอสุจิลง แต่ในการวิจัยและเอกสารทางการแพทย์พบว่าการใช้หญ้าหวานไม่ได้มีผลดังกล่าวแต่อย่างใด แม้จะมีการทดลองกับหนูถึง 3 ชั่วอายุก็ไม่พบการกลายพันธุ์หรือเป็นหมัน จึงไม่ได้พบผลข้างเคียงที่เป็นพิษจากการรับประทานหญ้าหวาน ดังนั้นการรับประทานหญ้าหวานในปริมาณที่เหมาะสมก็ยังเป็นสิ่งที่ทำได้
แต่เนื่องจากหญ้าหวานเป็นพืชในตระกูลเดียวกับพืชอย่าง ดอกเบญจมาศ หรือดอกดาวเรือง ผู้ที่มีอาการแพ้พืชเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะมีการแพ้หญ้าหวานได้เช่นกัน จึงควรงดการรับประทานหญ้าหวานเพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นได้
วิธีกินหญ้าหวาน
ด้วยสรรพคุณ หญ้าหวานมากมาย รวมถึงปัจจุบันมีการนำหญ้าหวานมาแปรรูปและเป็นส่วนประกอบของอาหารหลายชนิดไม่ว่าเราจะทราบหรือไม่ ซึ่งนอกจากน้ำตาลหญ้าหวานหรือไซรัปหญ้าหวานที่เป็นที่นิยมเนื่องจากสามารถทดแทนน้ำตาลได้แล้ว การใช้ใบหญ้าหวานอบแห้งนำไปต้มผสมรวมกับเครื่องดื่มหรืออาหารก็ยังเป็นที่นิยมเช่นกัน
โดยอาจารย์วีรสิงห์ เมืองมั่น จาก รพ.รามาธิบดี ได้ทำการวิจัยและแนะนำว่าปริมาณหญ้าหวานที่ปลอดภัยสำหรับการรับประทานคือประมาณ 1-2 ใบต่อเครื่องดื่ม 1 ถ้วย หรือทั้งวันได้ไม่เกิน 7.9 กรัม/วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมากเทียบได้กับการให้ความหวานในกาแฟถึง 73 ถ้วย ดังนั้นการรับประทานหญ้าหวานในระดับที่ปลอดภัยนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
credit:kapook
นอกจากนี้เราอาจยังสังเกตผลิตภัณฑ์อย่างน้ำอัดลม หมากฝรั่ง หรืออาหารพลังงานต่ำที่ใช้หญ้าหวานเป็นสารให้ความหวาน โดยสังเกตที่ส่วนประกอบดังต่อไปนี้
- Stevia ST-AB ซึ่งเป็นสาร Stevioside 100%
- Histevia-500 เป็นสารที่มีส่วนประกอบของ stevioside 50%
- Histevia-100 เป็นสารที่มีส่วนประกอบของ stevioside 10%
- Licostevia A เป็นสารที่มีส่วนประกอบของ stevioside 2% และสารอื่น ๆ
- Licostevia S-L เป็นสารที่มีส่วนประกอบของ stevioside 10% และสารอื่น ๆ
- Licostevia S-2 เป็นสารที่มีส่วนประกอบของ stevioside 5% และสารอื่น ๆ
ด้วยข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้หวังว่าเพื่อน ๆ จะได้รู้จักกับพืชสมุนไพรอย่างหญ้าหวานและได้รู้จักการนำน้ำตาลหญ้าหวาน หรือสารที่มีส่วนประกอบของสตีเวียโอไซด์มาใช้งาน ซึ่งถือว่าแพร่หลายขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน และสามารถนำความรู้เหล่านี้มาดูแลสุขภาพของเราและคนที่เรารัก ให้แข็งแรงได้ต่อไป
แหล่งข้อมูล : puechkaset, disthai
Feature Image credit : Freepik