เคยไหมที่ปวดบนใบหน้าอย่างไม่รู้สาเหตุ และเมื่อสังเกตดูดี ๆ อาการนี้มักจะมาในช่วงอากาศเปลี่ยนหรือช่วงที่เพิ่งหายจากไข้หวัด นั่นอาจเป็นอาการของไซนัสอักเสบได้นะ และเนื่องจากโรคไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก คราวนี้เราลองมาทำความรู้จักโรคนี้เพื่อหาวิธีหลีกเลี่ยง และหาวิธีเยียวยาสำหรับผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบไปแล้ว
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ทำความรู้จักไซนัสให้มากขึ้นอีกนิด
ไซนัส ภาษาอังกฤษ (sinusitis) ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ด้านหลังโพรงจมูก กระจายไปตามจุดต่าง ๆ ภายในกระโหลกศีรษะ แต่ละคนจะมีโพรงไซนัสอยู่ด้วยกัน 4 คู่ คือคู่ที่ใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณโหนกแก้ม (maxillary sinus) อีกกลุ่มอยู่ระหว่างโคนจมูกและหัวตาแต่ละข้าง (ethmoidal sinuses) อีกคู่อยู่บริเวณหน้าผาก (frontal sinus) และฐานกะโหลกศีรษะ (sphenoidal sinus) ซึ่งการมีอยู่ของโพรงอากาศไซนัสนั้นมีไว้เพื่อให้เสียงที่เราเปล่งออกมามีความกังวานมากขึ้น และช่วยปรับความดันอากาศภายในโพรงจมูก
โรคไซนัสอักเสบนั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อยกว่าที่คิด เพราะประมาณกันว่าผู้เป็นโรคนี้จะมี 1 คนใน 8 คนของประชากรเลยทีเดียว และจะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงฤดูที่คนเป็นไข้หวัดกันมาก ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบคือ ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน และไซนัสอักเสบเรื้อรัง
- ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (acute rhinosinusitis) คืออาการไซนัสอักเสบที่มีระยะเวลาเป็นน้อยกว่า 12 สัปดาห์และหายสนิท
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic rhinosinusitis: CRS) คืออาการไซนัสอักเสบที่เป็น ๆ หาย ๆ นานกว่า 12 สัปดาห์และไม่มีช่วงที่หายขาดจากโรคเลย
สาเหตุของไซนัสอักเสบ
ปกติแล้วโพรงไซนัสจะมีช่องให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้ แต่ถ้าเกิดมีการอุดตันจากการขยายตัวของเยื่อบุที่อักเสบจากอาการหวัดหรือภูมิแพ้แล้วมีการติดเชื้อจากน้ำมูกที่คั่งค้างอยู่ภายในก็จะเกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงไซนัสขึ้นมา นอกจากการเป็นหวัดหรือภูมิแพ้แล้ว การเกิดไซนัสอักเสบยังอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง
- ฟันผุ การติดเชื้อบริเวณฟันกรามแถวบนมักส่งผลให้ไซนัสที่อยู่บริเวณนั้นอักเสบตามไปด้วยได้
- มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในโพรงจมูก
- อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นควัน หรือสารระคายเคือง
- มีการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศอย่างรวดเร็ว
- มีภาวะอุดตันหรือปัญหาเกี่ยวกับการระบายสารคัดหลั่งของไซนัส เช่น มีการบวมของเยื่อบุจมูกบ่อย ๆ มีก้อนเนื้อในโพรงจมูก ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจหรือสายอาหารในโพรงจมูกเป็นเวลานาน ฯลฯ
- การว่ายน้ำ/ดำน้ำขณะมีการติดเชื้อของทางเดินหายใจ อาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปในโพรงไซนัสและเกิดการอักเสบได้
ไซนัสอักเสบ อาการ
Credit: freepik
- น้ำมูกหรือเสมหะข้น สีเหลืองหรือเขียว
- หายใจไม่สะดวก รู้สึกอึดอัด
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น เนื่องจากการอักเสบหมักหมมของเนื้อเยื่อในโพรงไซนัส
- การรับรสแย่ลง
- ปวดบริเวณโพรงไซนัส เช่น บริเวณหัวตา โหนกแก้ม ระหว่างหัวคิ้ว และรอบ ๆ กระบอกตา
- อาจมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ ร่วมด้วย
ไซนัสอักเสบ อาการค่อนข้างคล้ายคลึงกับอาการหวัด เนื่องจากเป็นอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนเหมือน ๆ กัน ทำให้คนเข้าใจผิดกันได้บ่อย แต่แน่นอนว่าสองอาการนี้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว โดยควรสังเกตว่าหากมีอาการต่อไปนี้คงไม่ใช่แค่เป็นหวัดธรรมดาแล้ว แต่อาจมีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้
อาการแทรกซ้อนของไซนัสอักเสบ
การอักเสบของไซนัสนั้นไม่ได้มีผลแค่ทำให้ปวดศีรษะหรือรู้สึกระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนเท่านั้น แต่การติดเชื้ออาจลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ก่อให้เกิดการติดเชื้อในส่วนอื่น ๆ ร่วมด้วย
- การลุกลามไปยังทางเดินหายใจส่วนอื่น ทำให้เกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลาง เยื่อบุลำคอ กล่องเสียง และหลอดลม
- การลุกลามไปยังดวงตา ทำให้เนื้อเยื่อรอบดวงตาอักเสบ ตาบวม ปวดตา ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง
- การลุกลามไปยังสมอง จนอาจเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือฝีในสมองได้
- การลุกลามไปยังกระดูก การอักเสบของไซนัสคู่ที่อยู่บนหน้าผากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระดูกหน้าผาก และอาจลามไปยังสมองต่อไป
วิธีรักษาและบรรเทาอาการปวดหัวจากไซนัสอักเสบ
หลังจากที่พูดถึงอาการของไซนัสอักเสบกันไปแล้ว สำหรับผู้กำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคนี้หรือเปล่าเราขอแนะนำดังนี้
- ควรพบแพทย์เป็นอันดับแรก ผู้ที่ปวดไซนัสหรือสงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบควรไปพบแพทย์ให้วินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะสามารถหายเองได้ใน 2-3 สัปดาห์ แต่หากเป็นการอักเสบแบบเรื้อรังก็จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลและเฝ้าติดตามของแพทย์ที่จะต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่องต่อไป
- ยังมีอาหารที่ต้องหลีกเลี่ยง เนื่องจากการป่วยเป็นไซนัสอักเสบนั้นส่วนหนึ่งคือเกิดการอักเสบของร่างกาย ยังคงมีอาหารบางชนิดที่ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้อาการอักเสบรุนแรงขึ้น และอาหารที่ผู้ป่วยไซนัสควรหลีกเลี่ยงก็คือ น้ำตาล คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการอักเสบได้มากขึ้น
- ใช้วิธีสูดไอน้ำร้อนเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวข้าวขวาและกระบอกตาจากไซนัสอักเสบด้วยตัวเอง เป็นที่รู้กันดีกว่าอาการปวดหัวจากไซนัสอักเสบนั้นน่ารำคาญ สำหรับหลายคนอาจเข้าขั้นทรมานจนผู้ป่วยหลายคนบ่นถึงกันบ่อย ๆ ซึ่งวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการที่น่ารำคาญนี้ได้ก็คือวิธีการสูดไอน้ำร้อนที่ทำได้โดย เริ่มจากการเตรียมน้ำร้อนจัดใส่ลงในภาชนะปากกว้าง ให้ไอน้ำร้อนลอยตัวขึ้น จากนั้นให้อังใบหน้าเข้ากับไอน้ำร้อนโดยสูดหายใจตามปกติ อาจมีการเอาผ้าขนหนูคลุมด้านบนเพื่อไม่ให้ไอน้ำร้อนกระจายตัวออกไป ด้วยวิธีการนี้จะเป็นการเพิ่มอากาศที่อุ่นและชื้นเข้าสู่โพรงจมูก ช่วยทำให้เยื่อบุโพรงจมูกคงตัว ลดอาการแพ้ ลดการขยายตัวของหลอดเลือดบริเวณจมูกซึ่งจะช่วยให้จมูกหายบวมและหายใจโล่งขึ้น โดยอาจหยดน้ำมันหอมระเหยที่มีผลดีต่อระบบทางเดินหายใจลงไปพร้อมกันก็ได้ วิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดบวมของไซนัสได้
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ควรรู้สำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นไซนัสอักเสบหรือไม่ รวมถึงการรักษาดูแลตัวเอง แต่ถึงอย่างไรก็ดี การไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติของทางเดินหายใจส่วนบนยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะแพทย์จะมีวิธีวินิจฉัยและวิธีการดูแลติดตามอาการที่ครอบคลุม ให้เรามั่นใจได้ว่าการเป็นไซนัสอักเสบนั้นสามารถรักษาและควบคุมได้ไม่ลุกลามอย่างแน่นอน
แหล่งข้อมูล : bumrungrad, phyathai, siphhospital, si.mahidol
Feature Image credit : freepik