ความเชื่อของคนไทยนั่นฝังรากลึกมาตั้งแต่ในอดีต โดยเฉพาะในการเริ่มต้นสิ่งต่างๆ คนไทยมักจะมีความเชื่อในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้การเริ่มต้นนั้นราบรื่น รวมไปถึงเรื่องฤกษ์ยาม ที่ก็ให้ความใส่ใจร่วมกันกับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้การเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างนั้นราบรื่น โดยคนไทยก็มักจะมีฤกษ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ ฤกษ์บวชและสึก หรือฤกษ์ลงเสาเอก ที่ต้องเช็กทั้งเวลาและมีขั้นตอนการทำพิธีที่ควรปฏิบัติตามเพื่อความสบายใจของผู้อยู่อาศัย และในเรื่องของรถยนต์ ก็มีในส่วนของความเชื่อเรื่องแม่ย่านาง ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองให้การขับขี่รถและเจ้าของรถนั้นปลอดภัย และใครที่กำลังจะออกรถใหม่ Shopee Blog มีวิธีการไหว้แม่ย่านางรถมาฝาก รวมไปถึงถ้าหากมีคำถามว่า ไหว้แม่ย่านางรถใช้อะไรบ้าง ในบทความนี้ก็เตรียมข้อมูลไว้พร้อมแล้ว มาดูรายละเอียดกันเลย
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
แม่ย่านาง คืออะไร?
แม่ย่านาง เป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนไทย โดยเชื่อกันว่ามีพื้นฐานมาจากความเชื่อของจีน ในเรื่องของเทวีแห่งท้องทะเล “องค์หม่าโจ้ว” หรือ ม่าโจ้ว หรือ มาจู่ ที่คอยปกปักษ์รักษาความปลอดภัยและความสงบให้กับคนที่กราบเคารพบูชา ชาวจีนจึงนิยมบูชาองค์หม่าโจ้วก่อนจะออกเดินทางในท้องทะเล และเป็นที่มาของแม่ย่านางเรือ โดยในช่วงที่ไทยนั้นติดต่อค้าขายกับจีนในอดีต คนไทยพบว่าคนจีนทำพิธีไหว้องค์หม่าโจ้วก่อนเดินทาง และอาจจะเป็นเหตุที่ทำให้ไทยรับพิธีกรรมนี้มา และปรับเปลี่ยนให้เป็น “แม่ย่านาง” ที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการเดินเรือตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อเวลาผ่านไป รถยนต์ที่เริ่มได้รับความนิยมในการใช้งานมากขึ้น คนไทยจึงมีการปรับเปลี่ยนและเริ่มมานับถือ “แม่ย่านางรถ” โดยมองว่าการใช้รถนั้นไม่ต่างจากการใช้เรือ ทำให้มีพิธีในการไหว้แม่ย่านางรถเมื่อออกรถใหม่ หรือเดินทางไกล เพื่อให้การขับขี่และคนขับนั้นปลอดภัย และเป็นนัยของการเริ่มต้นการเดินทางที่ดีไปกับรถยนต์คันนี้นั่นเอง
Credit : Freepik
ทำไมต้องไหว้แม่ย่านางรถ สำคัญอย่างไร
ตามความเชื่อของคนไทยนั้น อย่างที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่าคนไทยมักจะเชื่อเรื่องฤกษ์ยามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษในการเริ่มต้นกิจการหรือการกระทำอะไรสักอย่าง จึงทำให้ย่อมมีพิธีสำหรับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย ส่งเสริมกำลังใจให้กับผู้ทำพิธี กับรถยนต์ก็เช่นกัน การรับรถใหม่มาใช้งานนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปด้วยกับรถยนต์คันนี้ การไหว้แม่ย่านางรถจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะช่วยเสริมความสบายใจให้กับผู้ใช้งาน รวมไปถึงเป็นเครื่องเตือนสติในการขับขี่ทุกครั้ง ว่าให้ขับขี่อย่างถูกต้องเหมาะสม ขับรถอย่างสุภาพ ถูกต้องตามกฏหมาย ไม่กระทำสิ่งที่ไม่ดี เพื่อเป็นการเคารพแม่ย่านางของรถ และแม่ย่านางรถก็จะคอยคุ้มครองและปกปักษ์รักษาผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถให้มีชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการใช้งานรถคันนี้นั่นเอง หรือมองกันในภาพง่ายๆ ว่า แม่ย่านางรถก็เป็นเหมือนกับกุศโลบายอย่างหนึ่งให้ผู้ขับขี่รถทุกคนนั้นขับขี่อย่างปลอดภัย คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก และใช้ถนนอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยทั้งของตนเอง ครอบครัว และเพื่อนร่วมทางนั่นเอง
ไหว้แม่ย่านางรถวันไหนดี
ตามความเชื่อของคนไทยแล้ว การไหว้แม่ย่านางรถนั้น มักจะทำพิธีในวันที่เป็นมงคลต่างๆ เช่น วันพระ 15 ค่ำ หรือวันสำคัญต่างๆ เช่น วันปีใหม่ วันตรุษจีน วันสงกรานต์ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา หรือวันอาสาฬหบูชา หรือไหว้ตามฤกษ์ออกรถใหม่ ที่หลังจากรับรถกลับมาบ้านแล้ว ก็ทำการไหว้แม่ย่านางรถเพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นใช้งานรถคันนี้ แต่จริงๆ แล้ว ไหว้แม่ย่านางสามารถไหว้วันไหนก็ได้ที่เราสะดวก หรือไหว้ก่อนเดินทางไกล เพื่อสร้างความสบายใจให้กับเรา
นอกจากนั้น หากไม่สะดวกในวันมงคลต่างๆ ที่อาจจะไม่ตรงกับเสาร์อาทิตย์ ก็สามารถเลือกไหว้แม่ย่านางรถ ได้ตามเวลาดังนี้ของแต่ละเดือนได้เลย ซึ่งสามารถไหว้วันไหนก็ได้ที่เราสะดวกนะ
- เดือนมกราคม ช่วงเวลา 07.19 น. เป็นเวลาดี
- เดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเวลา 07.09 น. เป็นเวลาดี
- เดือนมีนาคม ช่วงเวลา 08.13 น. เป็นเวลาดี
- เดือนเมษายน ช่วงเวลา 09.09 น. เป็นเวลาดี
- เดือนพฤษภาคม ช่วงเวลา 08.45 น. เป็นเวลาดี
- เดือนมิถุนายน ช่วงเวลา 07.36 น. เป็นเวลาดี
- เดือนกรกฎาคม ช่วงเวลา 09.23 น. เป็นเวลาดี
- เดือนสิงหาคม ช่วงเวลา 07.49 น. เป็นเวลาดี
- เดือนกันยายน ช่วงเวลา 09.24 น. เป็นเวลาดี
- เดือนตุลาคม ช่วงเวลา 08.39 น. เป็นเวลาดี
- เดือนพฤศจิกายน ช่วงเวลา 07.57 น. เป็นเวลาดี
- เดือนธันวาคม ช่วงเวลา 08.09 น. เป็นเวลาดี
ไหว้แม่ย่านางรถใช้อะไรบ้าง ของไม่ควรใช้ไหว้มีอะไรบ้าง
Credit : Shutterstock
สำหรับการไหว้แม่ย่านางรถนั้น ก็จะมีของไหว้ต่างๆ ที่ใช้สำหรับบูชาแม่ย่านาง ร่วมไปกับคาถาและบทสวดต่างๆ เพื่อบูชา โดยของไหว้แม่ย่านางรถ ใช้อะไรบ้าง และของที่ไม่ควรใช้ไหวจะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลย
ไหว้แม่ย่านางรถใช้อะไรบ้าง
สำหรับของไหว้แม่ย่านางรถ ใช้อะไรบ้างนั้น เบื้องต้นโดยทั่วไปแล้ว จะแบ่งเป็น ของทั่วไป 9 รายการ และผลไม้มงคล 5 รายการ ดังนี้
ของทั่วไป ไหว้แม่ย่านางรถใช้อะไรบ้าง
- ธูป 9 ดอก
- เทียน 2 เล่ม
- น้ำแดง 1 ขวด
- น้ำเปล่า 1 ขวด
- ดอกไม้ 1 กำติดหน้ารถ
- ข้าวสุก 1 ถ้วย
- ขนมมงคล เช่น ขนมถ้วยฟู ทองหยิบ ทองหยอด ฯลฯ
- หมาก พลู และยาเส้นสีฟัน 3 คำ
- ยาสูบ 3 ม้วน
ผลไม้มงคล ไหว้แม่ย่านางรถใช้อะไรบ้าง
- กล้วยน้ำว้าสุก 2 หวี (จำเป็นต้องมี)
- ส้ม
- องุ่น
- สับปะรด
- ทับทิม
อย่างไรก็ตาม ลิสต์ของไหว้แม่ย่านางรถใช้อะไรบ้างนั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอย่างเสมอไป ให้เน้นหลักๆ ไปที่ธูป เทียน น้ำแดง ดอกไม้ ของมงคล และกล้วยน้ำว้าตามจำเป็น กับใจที่ศรัทธาต่อแม่ย่านาง ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการไหว้แม่ย่านาง
ของที่ไม่ควรใช้ไหว้แม่ย่านางรถ
สำหรับของที่ไม่ควรใช้ในการไหว้แม่ย่านางนั้น จะเป็นผลไม้ที่ชื่อไม่เป็นมงคล หรือเป็นผลไม้ที่มีสีดำ เช่น ระกำ, มังคุด, ระกำ, กระท้อน, ลูกจาก, มังคุด, ละมุด, องุ่นสีดำ และเชอรี่สีดำ เพราะเชื่อกันว่ามีความหมายที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก รวมไปถึง สีดำเป็นสีที่ไม่เหมาะกับงานมงคลด้วยนั่นเอง
ขั้นตอนการไหว้แม่ย่านางรถ มีอะไรบ้าง
Credit : Shutterstock
หลังจากรู้กันแล้วว่าไหว้แม่ย่านางรถใช้อะไรบ้าง ก็มาถึงขั้นตอนที่สำคัญกันแล้ว นั่นก็คือ การไหว้แม่ย่านางรถ ที่โดยคร่าวๆ แล้วจะมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
1. ตั้งโต๊ะของไหว้แม่ย่านางรถ
เป็นขั้นตอนสำคัญและขั้นตอนแรกของการไหว้แม่ย่านางรถ โดยให้เราเตรียมของไหว้แม่ย่านางรถใช้อะไรบ้างทั้งหมด และตั้งโต๊ะที่ด้านหน้าของรถยนต์ หลังจากนั้น ทำตามขั้นตอนดังนี้
- ติดดอกไม้ที่เตรียมมาบริเวณด้านหน้ารถ หรือพวงมาลัยรถ
- สตาร์ทรถ แล้วบีบแตรทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย
- จุดธูปทั้งหมด 9 ดอก และเทียน 2 เล่ม ที่เตรียมไว้
2. กล่าวคาถาบูชาแม่่ย่านางรถ
หลังจากที่จุดธูปเรียบร้อยแล้ว ให้กล่าวคาถาถวายของบูชาให้กับแม่ย่านางรถ ดังนี้
คาถาถวายของบูชาให้กับแม่ย่านางรถ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (ท่องทั้งหมด 3 จบ)
สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ
ทุติยัมปิ สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ
ตะติยัม สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ
ลูกขอถวายสิ่งเหล่านี้แก่แม่ย่านางรถ ขอท่านจงรับซึ่งสิ่งเหล่านี้เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ลูกทั้งหลายเทอญ สาธุ
หลังจากกล่าวคาถาถวายของบูชาเรียบร้อย ให้ปักธูปที่กระถาง และรอจนธูปหมด หลังจากนั้น จึงค่อยกล่าวคาถาต่อไป นั่นก็คือ คาถาลาของถวายแม่ย่านาง โดยกล่าวตามด้านล่าง ดังนี้
คาถาลาของบูชาแม่ย่านางรถ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (ท่องทั้งหมด 3 จบ)
พุทธังลา ธัมมังลา สังฆังลา
ข้าพเจ้าขอลาสิ่งของเหล่านี้เพื่อให้เป็นทานต่อไป และเพื่อเป็นยารักษาโรค อย่าให้เกิดโทษใดๆ เลย
เสสัง มังคะลายาจามะ
หลังจากกล่าวคาถานี้เสร็จแล้ว ให้นำของไหว้ทั้งหมดแจกจ่ายรับประทานในครอบครัว เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
ของเสริมมงคลตามวันเกิด สำหรับไหว้แม่ย่านางรถใช้อะไรบ้าง
Credit : Shutterstock
นอกจากของไหว้ตามลิสต์ที่เราแนะนำมาแล้ว ก็ยังมีของเสริมมงคลตามวันเกิด สำหรับไหว้แม่ย่านางรถใช้อะไรบ้างด้วย นั่นก็คือ พวงมาลัยนั่นเอง โดยที่วันเกิดแต่ละวันตามสัปดาห์นั้นก็มีพวงมาลัยเสริมมงคลในการไหว้แม่ย่านางที่แตกต่างกันออกไป มาดูกันดีกว่า ว่าแต่ละวันต้องใช้พวงมาลัยสีอะไรในการไหว้แม่ย่านางรถกันบ้าง
*พวงมาลัยทั้งหมดที่แนะนำ คือพวงมาลัยแบบ 2 ชาย จำนวน 3 พวง แขวนไว้ด้านในของรถยนต์
- คนที่เกิดวันอาทิตย์ เสริมสิริมงคลด้วยพวงมาลัยริบบิ้นสีเขียว
- คนที่เกิดวันจันทร์ เสริมสิริมงคลด้วยพวงมาลัยริบบิ้นสีม่วง
- คนที่เกิดวันอังคาร เสริมสิริมงคลด้วยพวงมาลัยริบบิ้นสีน้ำเงิน
- คนที่เกิดวันพุธ เสริมสิริมงคลด้วยพวงมาลัยริบบิ้นสีเหลือง
- คนที่เกิดวันพฤหัสบดี เสริมสิริมงคลด้วยพวงมาลัยริบบิ้นสีแดง
- คนที่เกิดวันศุกร์ เสริมสิริมงคลด้วยพวงมาลัยริบบิ้นสีชมพู
- คนที่เกิดวันเสาร์ เสริมสิริมงคลด้วยพวงมาลัยริบบิ้นสีฟ้า
แต่ถ้าหาสีประจำวันเกิดไม่ได้จริงๆ เลือกใช้พวงมาลัยริบบิ้นสีแดงหรือสีชมพูที่หาซื้อทั่วไปได้ง่ายก็ได้เช่นกันนะ
ครบถ้วนกันแล้วกับรายละเอียดการไหว้แม่ย่านางรถฉบับอัปเดตปี 2567 เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลที่เรานำมาฝากกัน หวังว่าเพื่อนๆ ที่กำลังจะออกรถใหม่จะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้กันนะ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะไหว้แม่ย่านางรถแล้ว ก็อย่าลืมใช้สติและความระมัดระวังทุกครั้งที่ขับขี่รถยนต์ เพราะบนถนนไม่ได้มีแค่รถของเราเพียงคันเดียว แต่ยังมีเพื่อนร่วมทางอีกมากมาย หากขับรถอย่างมีสติ ไม่ประมาท ระมัดระวังทุกครั้งที่ขับขี่ เราก็จะปลอดภัยได้แบบไม่ต้องรอพึ่งบารมีแม่ย่านางรถยนต์เพียงอย่างเดียว โดยเราสามารถขับขี่อย่างปลอดภัยได้ง่ายๆ ด้วยการรัดเข็มขัดขณะโดยสารหรือขับขี่รถยนต์ ไม่ดื่ม ไม่เมาแล้วขับ มองรอบตัวตลอด มีสติตื่นรู้ตลอดเวลา ไม่ใช้ความเร็วสูง ไม่ขับขี่แบบหวาดเสียว แค่เท่านี้ก็ทำให้การขับขี่ของเราปลอดภัยทั้งกับตัวเองและเพื่อนร่วมถนนแล้ว และสำหรับใครที่ชื่นชอบเรื่องราวมงคล ก็ลองมาดูฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ ฤกษ์บวชและสึก หรือฤกษ์ลงเสาเอก ที่เราจัดเต็มข้อมูลอัปเดตล่าสุดมาให้ใน Shopee Blog กันด้วยนะ