ตะไคร้เป็นสมุนไพรไทยที่เรารู้จักกันดีมาช้านาน ซึ่งนอกจากตะไคร้จะมีสรรพคุณทางยาและช่วยปกป้องผิวแล้ว ตะไคร้ก็ยังมีกลิ่นที่ช่วยไล่แมลงได้อีกด้วย ด้วยจุดเด่นที่กลิ่นหอมสดชื่นเป็นเอกลักษณ์แบบนี้ทำให้เรามักจะเห็นพืชสมุนไพรตัวนี้เป็นส่วนผสมทั้งในอาหาร-เครื่องดื่ม รวมถึงเครื่องหอมใกล้ตัวอยู่บ่อยครั้ง และกลายเป็นกลิ่นหนึ่งที่เราคุ้นเคยเมื่อเดินเข้าสปา แต่สรรพคุณของตะไคร้นั้นมีมากมายกว่ากลิ่นหอมที่เราคุ้นเคย ดังนั้นคราวนี้เราจึงชวนมารู้จักพืชสมุนไพรตัวนี้ให้มากขึ้นอีกนิดกัน
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ตะไคร้หอม ชื่อวิทยาศาสตร์
มีตะไคร้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cymbopogon citratus
ทำความรู้จักตะไคร้
ตะไคร้ คือ พืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดในเอเชียและอเมริกาใต้จัดเป็นพืชล้มลุกในตระกูลเดียวกับหญ้า นอกจากนี้มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นของไทย เช่น จะไคร ไคร คาหอม เชิดเกรย ฯลฯ และด้วยความที่ตะไคร้เป็นพืชที่มีกลิ่นหอมและมีสรรพคุณทางยา คนไทยจึงนิยมนำต้นและหัวของตะไคร้ไปประกอบอาหาร คนอินเดียนิยมนำมาเป็นพืชสมุนไพร และยังถูกนำมาอบแห้งผสมน้ำดื่มเป็นน้ำชาในแถบแอฟริกาและอเมริกาใต้อีกด้วย ในประเทศไทยสามารถแบ่งตะไคร้ออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ตะไคร้บ้านหรือตะไคร้แกง และตะไคร้หอม
ตะไคร้บ้านหรือตะไคร้แกง
ต้นตะไคร้บ้านหรือตะไคร้แกง (Cymbopogon citratus (DC.) Stapf) มีจุดสังเกตคือจะมีลำต้นทรงกระบอกเกลี้ยง ข้อปล้องส่วนที่ติดกับรากจะสั้นมาก มีกาบใบสีขาวนวลหรือขาวปนม่วง กลิ่นหอมฉุน นิยมนำไปรับประทานโดยใช้เหง้าและลำต้นมาผสมในเครื่องแกงและต้มยำ
สรรพคุณของตะไคร้บ้านตามตำราไทยมีฤทธิ์ขับลม แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ช่วยเจริญอาหาร ลดความดันโลหิต แก้ไข้หวัด ขับประจำเดือนและระดูขาว ทั้งการศึกษาทางเภสัชวิทยายังพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้บ้านยังมีฤทธิ์แก้ปวดและมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ อย่างเชื้อเราและเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย
ประโยชน์ของตะไคร้บ้าน
สรรพคุณของตะไคร้บ้านนั้นสามารถรับประทานได้และมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ มีสรรพคุณตะไคร้ที่หลากหลาย จึงนิยมนำมาใช้รับประทานด้วยประโยชน์เช่น
- เพิ่มกลิ่นและความน่ารับประทานให้กับอาหาร คนไทยนิยมใช้ตะไคร้เป็นส่วนประกอบของอาหารหลายชนิด เช่น ต้มยำ ต้มข่า ฯลฯ และใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงอีกหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตะไคร้สามารถใช้ดับกลิ่นคาวปลาได้เป็นอย่างดี
- ใช้บำรุงประสาท เนื่องจากตะไคร้เป็นสมุนไพรที่มีไนอะซินสูงถึง 2.2 มิลลิกรัมต่อตะไคร้สด 100 กรัม หรือคิดเป็น 33% ของปริมาณไนอะซินที่ร่างกายต้องการต่อวัน ซึ่งสารไนอะซินหรือวิตามินบี 3 นั้นมีส่วนช่วยในการเผาผลาญโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตมาเป็นพลังงานในร่างกาย และยังช่วยควบคุมการทำงานของระบบสมองและประสาทด้วย
- ช่วยให้เจริญอาหาร ตะไคร้เมื่อนำมารับประทานยังมีสรรพคุณช่วยย่อย ลดจุกเสียด ขับลม ช่วยให้เจริญอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น
- ใช้บรรเทาอาการหวัดและภูมิแพ้ ตะไคร้ ประโยชน์แก้ไข้หวัด จึงนิยมนำมารับประทานหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อบรรเทาอาการหวัดและภูมิแพ้
- ใช้แก้อาการเมา ตะไคร้ยังมีสรรพคุณแก้อาการเมา โดยใช้ต้นสดโขลกเอาน้ำมาดื่มจะช่วยให้ผู้ที่มีอาการเมามาก ๆ สร่างเมาได้เร็วขึ้น
การประยุกต์ใช้ตะไคร้ : ชวนทำสูตรน้ำตะไคร้ใบเตย
การรับประทานตะไคร้หรือน้ำคั้นจาตะไคร้สดอาจะเป็นเรื่องที่ฝืนใจใครหลาย ๆ คน แต่เพื่อไม่ให้พลาดคุณประโยชน์ดี ๆ เหล่านี้เราจึงขอแนะนำสูตรน้ำตะไคร้ใบเตย ซึ่งเป็นการแปรรูปตะไคร้อย่างง่ายที่ใครก็ทำได้ ทั้งยังเป็นเครื่องดื่มที่นอกจากให้ความสดชื่นระหว่างวันแล้วก็ยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมายจากตะไคร้อีกด้วย
ส่วนประกอบ
- ตะไคร้ เลือกลำต้นโดยตัดใบทิ้ง 5 ต้น
- ใบเตยแก่ 9-10 ใบ
- น้ำ 1 ลิตร
- เกลือและน้ำตาลไว้ตัดรสตามชอบ
- ขิง (ตามชอบ)
วิธีทำ
นำตะไคร้และใบเตยมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาทุบและหั่นเป็นท่อน ๆ เมื่อตั้งไฟให้น้ำเดือดแล้ว ก็ใส่ใบเตยและตะไคร้ลงไป ต้มต่อไปด้วยไฟอ่อนประมาณ 15-20 นาที หากต้องการใส่ขิงก็ใส่ลงไปต้มได้พร้อมกัน เมื่อได้น้ำตะไคร้เรียบร้อย เวลาเสิร์ฝสามารถรับประทานได้ทั้งร้อนและเย็น โดยเติมรสเป็นน้ำตาลและเกลือได้ตามชอบ แต่นิยมปรุงให้มีรสหวานเพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน เพียงเท่านี้น้ำสมุนไพรมากคุณค่าก็พร้อมรับประทานด้วยรสชาติกลมกล่อมแล้ว
ตะไคร้หอม
ตะไคร้หอม (Cymbopogon nardus Rendle.) คือตะไคร้อีกสายพันธุ์หนึ่งซึ่งให้กลิ่นหอมฉุนกว่าตะไคร้บ้าน นิยมนำราก เหง้าและใบมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ตะไคร้หอมจะมีลำต้นเป็นข้อ ๆ เห็นชัดเจน รูปใบจะยาวกว่าตะไคร้บ้าน โดยกาบใบจะเรียงซ้อนกันแน่นเป็นสีเขียวปนม่วงแดง ส่วนปลายใบจะมีสีเขียวมีลักษณะยาวและนิ่มกว่าตะไคร้บ้าน และเนื่องจากตะไคร้หอมจะมีกลิ่นหอมฉุนมากจนรับประทานไม่ได้ เราจึงมักนิยมนำตะไคร้หอมมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยแต่ไม่นำมารับประทาน ขณะที่ตะไคร้บ้านจะนิยมนำมารับประทานเพียงอย่างเดียว
สรรพคุณทางยาของตะไคร้หอมคือ สามารถใช้เหง้าเป็นยาบีบมดลูก ขับประจำเดือน บำรุงไฟธาตุ แก้เลือดลมไม่ปกติ สามารถนำเหง้าและใบมาสกัดน้ำมันหอมระเหยใช้เป็นเครื่องหอม กันแมลง และเนื่องจากตะไคร้หอมมีสรรพคุณเป็นยาบีบมดลูกทำให้แท้งบุตร จึงเป็นอันตรายต่อสตรีมีครรภ์และไม่ควรนำมารับประทาน
ประโยชน์ของตะไคร้หอม
ตะไคร้หอมนิยมนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งนำมาใช้ได้ทั้งการนวดทาภายนอก และการผสมเป็นเครื่องหอมให้กลิ่นผ่อนคลาย ซึ่งน้ำมันหอมระเหยของตะไคร้นั้นมีประโยชน์คือ
- ใช้ลดความเครียดแก้อาการนอนไม่หลับ กลิ่นของตะไคร้มีลักษณะเฉพาะที่ให้กลิ่นสดชื่นชวนผ่อนคลายและทำให้รู้สึกสงบ กลิ่นตะไคร้จึงเป็นหนึ่งในกลิ่นยอดนิยมที่เรามักจะได้พบในสปาต่าง ๆ การพ่นไอน้ำผสมน้ำมันหอมระเหยตะไคร้หรือการจุดเทียนอโรมากลิ่นตะไคร้ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากความตึงเครียด คลายความเหนื่อยล้า และทำให้นอนหลับง่ายขึ้น
- ใช้ไล่แมลง เนื่องจากตะไคร้มีสารออกฤทธิ์อย่าง Citral และสารไล่แมลงอย่าง Geraniol ในปริมาณสูง ทำให้เราสามารถใช้น้ำมันตะไคร้ไล่แมลงจำพวก ยุง มด หรือแม้แต่สามารถนำมาทำเป็นยากำจัดแมลงศัตรูพืชได้อีกด้วย ทั้งยังเป็นสารธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย
- ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพบนผิวหนัง งานวิจัยพบว่าน้ำมันตะไคร้สามารถยับยั้งการเติบโตของจุลชีพอย่างแบคทีเรียแลเชื้อราได้ น้ำมันตะไคร้จึงเป็นอีกส่วนผสมหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย อย่างเจลอาบน้ำหรือโลชั่น เพื่อปกป้องผิวจากปัญหาที่เกิดจากเชื้อจุลชีพเหล่านี้ อย่างโรคกลาก / เกลื้อน
- ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ตะไคร้มีสรรพคุณช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตและลดการกระตุกของกล้ามเนื้อ จึงช่วยคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการหดเกร็ง การปวดกล้ามเนื้อ และตะคริวได้ น้ำมันตะไคร้จึงเป็นอีกส่วนผสมหนึ่งที่นิยมนำมาผสมในน้ำมันนวดผิวและกล้ามเนื้อด้วย
การประยุกต์ใช้ตะไคร้หอม: ชวนทำสูตรสเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง
ด้วยสารพัดคุณประโยชน์ของตะไคร้หอม เพื่อน ๆ สามารถใช้น้ำมันตะไคร้หอมเพื่อประโยชน์ดังที่กล่าวมาได้โดยตรง แต่หากไม่สามารถหาน้ำมันสกัดตะไคร้ก็สามารถนำตะไคร้สดมาใช้ปรุงสูตรสเปรย์หอมไล่ยุงได้เหมือนกัน
ส่วนประกอบ
- ตะไคร้
- ผิวมะกรูด
- ผ้าขาวบาง
- เอทิลแอลกอฮอล์
- การบูร
- ขวดโหลแก้ว
วิธีทำ
นำตะไคร้และผิวมะกรูดมาซอยแล้วห่อด้วยผ้าขาวบางหย่อนลงในโหลแก้ว เติมเอลิทแอลกอฮอล์และการบูรตามลงไป แล้วปิดฝาโหลให้แน่น หมักไว้ 7 วันก็สามารถนำมาบรรจุขวดเสปรย์ใช้ฉีดพ่นไล่ยุงได้
ตะไคร้เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่ใกล้ตัวคนไทยมาก ๆ เรามักพบเห็นหรือได้กลิ่นพืชชนิดนี้อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน ซึ่งตะไคร้ก็มีประโยชน์ในหลากหลายแง่มุมมากกว่าที่เราคิด และคราวนี้หากได้พบน้ำมันตะไคร้หรือส่วนประกอบของตะไคร้จากที่ไหน ก็วางใจได้เลยว่านั่นคือประโยชน์มากมายที่เราจะได้ ไม่ว่าจากทั้งอาหาร หรือ น้ำมันหอมระเหยที่เราได้กลิ่นก็ตาม
แหล่งข้อมูล : librarygreenthailand, disthai, korboonherbs
Feature Image credit : pixabay