นอกจากกระต่ายแล้ว สัตว์ฟันแทะที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกหนึ่งชนิดก็คือ หนูแฮมสเตอร์ เหตุผลที่ทำให้หลาย ๆ คนเลือกที่จะเลี้ยงเจ้าหนูแฮมสเตอร์ คงหนีไม่พ้นรูปร่างอ้วนกลม ขนาดเล็กน่ารัก นิสัยเฉพาะตัว และสีสันที่หลากหลาย รวมไปถึงหนูแฮมสเตอร์เป็นสัตว์เลี้ยงที่ใช้พื้นที่น้อย ไม่ส่งเสียงรบกวน อย่างน้อยก็มีแค่เสียง จี๊ดๆๆ ดังบ้างเป็นระยะ ใครที่เริ่มมีใจอยากจะเลี้ยงเจ้าหนูแฮมสเตอร์แล้ว เรามาทำความรู้จัก และมาดูการเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์กันก่อนดีกว่า
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ประวัติหนูแฮมสเตอร์
เห็นหนูแฮมสเตอร์เป็นสัตว์ที่ตัวเล็ก ขนปุกปุยแบบนี้ แต่กลับเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย ถูกพบครั้งแรกที่ทะเลทรายซีเรียน ซึ่งเหตุผลที่เจ้าตัวเล็กได้ชื่อว่าแฮมสเตอร์ก็เพราะ คำว่า “แฮมสเตอร์” เป็นภาษาเยอรมันแปลว่า กระพุ้งแก้ม มาจากนิสัยของหนูแฮมสเตอร์ที่ชอบเก็บอาหารไว้ที่กระพุ้งแก้มนั่นเอง
ลักษณะนิสัยของหนูแฮมสเตอร์
- การกิน: หนูแฮมสเตอร์มักจะเก็บอาหารไว้ในกระพุ้งแก้ม นอกจากนี้กระพุ้งแก้มสำหรับแม่หนูแฮมสเตอร์ ยังเป็นที่เก็บลูก ๆ เมื่อรู้สึกถึงอันตราย รวมไปถึงหากอากาศร้อน หนูแฮมสเตอร์จะกินอาหารน้อยลง เนื่องจากมันคิดว่าไม่จำเป็นต้องสะสมไขมันในร่างกาย
- การนอน: หนูแฮมสเตอร์จะใช้เวลากลางวันในการนอน และตื่นมาทำกิจกรรมในตอนกลางคืน เนื่องจากตามธรรมชาติ หนูแฮมสเตอร์อาศัยอยู่ในโพรงดินกลางทะเลทรายที่มีอากาศร้อนตอนกลางวัน และออกหาอาหารตอนกลางคืน
- การออกกำลังกาย: หนูแฮมสเตอร์ใช้เวลาเยอะไปกับวิ่งการออกกำลังกาย สามารถวิ่งได้ถึง 30 ไมล์ต่อคืน หากหนูแฮมสเตอร์ไม่ได้วิ่งหรือออกกำลังกาย จะทำให้มีผลต่อสุขภาพได้
- การมองเห็น: หนูแฮมสเตอร์สายตาไม่ดี สามารถมองเห็นได้ไกล ๆ แต่ไม่ชัด และมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ จึงอาศัยการฟังและการดมกลิ่นเป็นตัวช่วยในการดำเนินชีวิตแทน
- การกัดแทะ: แน่นอนว่านิสัยกัดแทะ เป็นส่วนหนึ่งของสัตว์ชนิดนี้ โดยฟันของหนูแฮมสเตอร์จะยาวขึ้นเรื่อย ๆ หากหนูแฮมสเตอร์ไม่ได้กัดแทะหรือลับฟันให้สั้น จะทำให้ปากได้รับบาดเจ็บได้
หนูแฮมสเตอร์มีอายุเท่าไหร่
หนูแฮมสเตอร์สามารถมีอายุขัยได้นานถึง 3 ปีหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสุขภาพและการเลี้ยงดูของเจ้าของด้วย
หนูแฮมสเตอร์พันธุ์ต่าง ๆ
ตามธรรมชาติมีหนูแฮมสเตอร์อยู่หลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง มีอยู่ 5 สายพันธุ์ ดังนี้
ซีเรียน แฮมสเตอร์ หรือหนูแฮมเตอร์ ไจแอนท์
หนูแฮมสเตอร์สายพันธ์ซีเรียน หรือโกลเดน เป็นสายพันธุ์ที่มีการเลี้ยงมากที่สุด โดยธรรมชาติมีนิสัยอยากรู้อยากเห็น ขนยาว มีสีขนหลากหลาย ต้องการกรงที่มีพื้นที่ให้วิ่ง ตื่นมาเล่นช่วงเย็นจนถึงกลางคืน เป็นหนูที่ไม่ชอบสังคม ควรเลี้ยงตัวเดียวในกรง ไม่เช่นนั้นจะกัดกันจนบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้
- ขนาดตัว: 12.5 – 17.5 ซม.
- อายุเฉลี่ย: 2 – 3 ปี
- หนูแฮมสเตอร์ราคา: 100 – 300 บาท
แคมแบลล์ รัสเชียน แฮมสเตอร์
สำหรับหนูแฮมสเตอร์สายพันธ์นี้มีสีให้เลือกเยอะเช่นกัน มีสีหลัก ๆ อยู่ 4 สี คือ Normal, Satin, Wavy และ Rex แคมแบลล์ รัสเชียน แฮมสเตอร์มักจะตื่นตัวช่วงพลบค่ำและรุ่งเช้า สามารถเลี้ยงรวมกับตัวอื่นได้
- ขนาดตัว: 10 – 12 ซม.
- อายุเฉลี่ย: 1.5 – 3 ปี
- หนูแฮมสเตอร์ราคา: 100 – 200 บาท
วินเทอร์ ไวท์ รัสเชียน แฮมสเตอร์
วินเทอร์ ไวท์ รัสเชียน แฮมสเตอร์หรือที่รู้จักในชื่อไซบีเรียน แฮมสเตอร์ สีขนหลัก ๆ คือน้ำตาลสีเทา เมื่อถึงฤดูหนาวขนจะเปลี่ยนเป็นสีอ่อนลง เป็นที่มาของชื่อสายพันธุ์ สามารถเลี้ยงรวมกันได้
- ขนาดตัว: 8 – 10 ซม.
- อายุเฉลี่ย: 1.5 – 2 ปี
- หนูแฮมสเตอร์ราคา: 80 – 300 บาท
ไชนีส แฮมสเตอร์
ไชนีส แฮมสเตอร์สายพันธุ์นี้จะมีหางที่ยาวเล็ก หน้ายาว และเพรียวกว่าสายพันธุ์อื่น ตอนยังเด็กหนูแฮมสเตอร์พันธุ์นี้จะค่อนข้างขี้ตกใจ แต่เมื่อโตขึ้นจะใจเย็นและสงบ ในธรรมชาติมีเพียง 2 สีหลัก ๆ เท่านั้น คือน้ำตาลเทา และสีขาว พร้อมแถบสีเข้มคาดตามยาวหลัง
- ขนาดตัว: 10 – 12 ซม.
- อายุเฉลี่ย: 2 – 3 ปี
- หนูแฮมสเตอร์ราคา: 80 – 200 บาท
โรโบรอฟสกี้ แฮมสเตอร์
เป็นสายพันธุ์หนูแฮมสเตอร์ที่เล็กที่สุด แต่มีอายุเฉลี่ยยืนที่สุดในบรรดา 5 สายพันธุ์ และเป็นหนูแฮมสเตอร์ที่ไวที่สุด สีหลัก ๆ คือ สีน้ำตาลทอง ตรงช่วงหลัง มีสีขาวช่วงท้องและแต้มขาวบนดวงตา สามารถเลี้ยงรวมได้
- ขนาดตัว: 4.5 ซม. ขึ้นไป
- อายุเฉลี่ย: 3 ปีขึ้นไป
- หนูแฮมสเตอร์ราคา: 100 – 300 บาท
หนูแฮมสเตอร์ พันธุ์ เชื่องที่สุด
ซีเรียน แฮมสเตอร์ ถือเป็นหนูแฮมสเตอร์ที่เชื่อง ผ่อนคลาย และเป็นมิตรที่สุด เทียบกับสายพันธุ์อื่นเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นชิน รวมไปถึงขนาดตัวที่ใหญ่ ทำให้การดูแล หรือการจับทำได้ง่ายกว่าด้วย
การเลือกซื้อแฮมสเตอร์
- เช็กบริเวณทรายรองกรง ไม่ควรเปียก และต้องสะอาด
- จับหนูแฮมสเตอร์ที่ชอบขึ้นมาสำรวจ โดยรูปร่างของเจ้าหนูไม่ควรอ้วนหรือผอมเกินไป ขนฟู นุ่ม ดูสะอาด และไม่มีบริเวณที่ขนหลุด
- เช็กบริเวณหู ตา จมูก จะต้องสะอาด ขนรอบตา และจมูกต้องไม่หลุดร่วง หรือไม่ถูกย้อมสี
- เช็กฟัน ไม่ควรยาวเกินไป ควรมีฟันที่ขนาดพอดีกับปาก ในขณะเดียวกันให้เช็กขนบริเวณคางต้องไปเปียกชื้นเกินไป
- เช็กจังหวะ และเสียงหายใจ ควรเงียบสงบ ไม่ควรมีเสียงฟึดฟัด หรือเสียงหายใจติดขัด
- หลังจากนั้นให้วางหนูลง และสังเกตการเคลื่อนตัว ต้องดูตื่นตัว ไม่เชื่องช้าหรือดูอ่อนแอ
เลี้ยงหนูแฮมเตอร์ ต้องมีอะไรบ้าง
- กรงเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์: เป็นกรงแบบซี่ลวด ตู้กระจกแบบตู้ปลา หรือตู้อะคริลิคก็ได้
- จักรออกกำลังกาย: เลือกขนาดให้เหมาะกับสายพันธุ์
- ถ้วยอาหาร: แนะนำเป็นถ้วยเซรามิกขนาดเล็ก
- ขวดน้ำดื่ม: พร้อมน้ำสะอาด ควรเปลี่ยน 3 – 4 วันครั้ง
- ห้องน้ำหนูแฮมสเตอร์: สำหรับใส่ทรายเพื่อให้หนูแฮมสเตอร์คลุกตัวทำความสะอาด
- ทรายอาบน้ำ: เป็นทรายละเอียด ไม่ควรใช้ทรายสี เพราะจะทำให้เข้าตาและเกิดอาการแพ้ได้
- ที่รองกรง: มีทั้งแบบก้านปอ ทิชชู และทรายอนามัย
- ถ้วยดินเผา: สำหรับเมืองไทยที่อากาศร้อน ควรมีถ้วยดินเผาจะช่วยให้หนูแฮมสเตอร์นอนกลางวันแบบไม่ร้อนเกินไป
- ไม้ลับฟัน หรือลูกสน: เพื่อให้หนูแฮมสเตอร์ได้ลับฟันให้สั้นและคมตามธรรมชาติ
- บ้านหนูแฮมสเตอร์: เพื่อไว้เป็นที่หลบ และเอาไว้นอน
อาหารหนูแฮมสเตอร์
- อาหารสัตว์เล็กสำเร็จรูป หลัก ๆ จะเป็นธัญพืชหลากหลายชนิด แนะนำซื้อ 2 ยี่ห้อมาผสมกัน เพื่อให้หนูแฮมสเตอร์ได้รับสารอาหารครบถ้วน
- อาหารอื่น ๆ: แครอท แตงกวา แคนตาลูป แอปเปิล กล้วย พริกหวาน ผักกาด ขึ้นฉ่าย คะน้า กะหล่ำ บรอคโคลี และต้นหญ้าแดนดิไล ให้เป็นขนมสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง
อาหารที่ห้ามให้แฮมสเตอร์
- เปลือกและเมล็ดแอปเปิ้ล เมล็ดองุ่น กระเทียม หัวหอม มะเขือยาว ช็อกโกแลต ถั่วอัลมอนด์ ถั่วลิสง (ถั่วสองชนิดนี้ไม่เป็นพิษ แต่ทำให้น้ำหนักเกินได้)
หากอยากเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์ ต้องเรียนรู้นิสัยเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์ด้วย
ถึงแม้หนูแฮมสเตอร์จะน่ารักน่าเลี้ยงแค่ไหน แต่หนูแฮมสเตอร์ก็เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีนิสัยเฉพาะ พฤติกรรมบางอย่างที่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ทั้งอาหารการกิน เวลาการใช้ชีวิต และไม่ใช่หนูแฮมสเตอร์ทุกสายพันธุ์จะสามารถเลี้ยงรวมกันได้ ดังนั้นใครที่ตกหลุมรักเจ้าหนูแฮมสเตอร์แก้มตุ๋ยตัวนี้แล้ว ก็อย่าลืมสละเวลาศึกษาการเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์ เพื่อให้น้องอยู่กับเราได้นาน ๆ
ที่มา: theanimalfiles.com, thesprucepets.com