ปลาเงินปลาทอง ปลาสวยงามที่คนนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่น ที่เลี้ยงไม่ยากแต่ถ้าเลี้ยงไม่ถูกวิธีก็ตายง่ายๆ ได้เหมือนกัน และหากต้องการเพาะพันธุ์ปลาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับปลาของคุณ และการค้นหาคู่ผสมพันธุ์นั้น ล้วนเป็นขั้นตอนสำคัญในการเพาะพันธุ์ปลา ทำให้อาจต้องใช้เวลานานและมีต้นทุนสูง ดังนั้น หากต้องการเลี้ยงปลาทองให้เพาะพันธุ์ได้ดีและมีอายุยืนด้วยนั้น ต้องมาดูเทคนิคต่างๆ ที่เรานำมาฝากกันในบทความนี้
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
รู้จักปลาเงินปลาทองแต่ละสายพันธุ์
credit by pixabay.com
ปลาทอง คือหนึ่งในชนิดของปลาที่คนไทยนิยมเลี้ยง ทั้งเลี้ยงไว้ดูเล่น และเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ เพราะมีความสวยงามและน่าเลี้ยง รวมถึงมีสายพันธุ์ที่หลากหลายให้เลือกมากกว่า 200 สายพันธุ์ทั่วโลก แต่ที่คนนิยมเลี้ยงจะมีอยู่ประมาณ 33 สายพันธุ์ด้วยกัน และสายพันธุ์ที่คนไทยให้ความสนใจและนิยมกันมากที่สุดคือ ปลาทองฮอลันดา และปลาทองสิงห์
1. ปลาทองฮอลันดา
credit by pixabay.com
ปลาทองฮอลันดา หรือ ออรันดา (Oranda) ปลาทองหัววุ้นที่เราคุ้นเคย มีลักษณะคล้ายพันธุ์ปลาทองสิงห์ แต่มีความแตกต่างตรงครีบหลัง หากมีครีบหลังคือพันธุ์ออรันดา เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในไทยมาก เพราะสวยและมีราคาไม่แพง เลี้ยงง่าย ให้สีสันที่สวยงาม จุดเด่นของพันธุ์นี้นอกจากมีหัววุ้นแล้ว ครีบทุกครีบจะยาวและใหญ่ ตั้งตรง ลำตัวจะยาวกว่าสายพันธุ์ริวกิ้นและสิงห์ ซึ่งปลาทองฮอลันดานั้นยังจำแนกออกเป็นอีก 3 สายพันธุ์คือ ฮอลันดาปักกิ่ง, ฮอลันดากลาง และฮอลันดายักษ์ สายพันธุ์นี้มีระดับการดูแลปานกลางถึงยาก และอาหารที่ดีที่สุดคือ อาหารเม็ดที่ลอยน้ำได้ เนื่องจากปลาเหล่านี้ว่ายน้ำได้ไม่ดี นอกจากนี้ควรเสริมด้วยอาหารสดหรือแช่แข็ง เช่น หนอนเลือด หรือกุ้งน้ำเกลือ ปลามีขนาดเฉลี่ยประมาณ 2-4 นิ้ว สำหรับปลาอายุน้อย และความยาว 7-9 นิ้วเมื่อโตเต็มวัย ขนาดของภาชนะหรือถังที่เลี้ยงขั้นต่ำคือน้ำ 10 แกลลอนสำหรับปลาเด็ก และ 15-20 แกลลอนสำหรับปลาที่โตแล้ว
2. ปลาทองสิงห์
credit by pexels.com
ปลาทองสิงห์ (Lionhead) เป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม มีลักษณะคล้ายกับ Ranchu แต่มีส่วนหลังที่เรียบกว่าและหางคู่แบบคลาสสิก มีหัววุ้นที่โดดเด่นแต่ไม่มีครีบหลัง ตัวกลมขนาดกะทัดรัด มีระดับการดูแลค่อนข้างยาก อาหารที่ดีที่สุดคือ อาหารเม็ดที่ลอยน้ำได้เพราะว่ายน้ำได้ไม่ดี และควรเสริมด้วยอาหารสดหรือแช่แข็งเช่นกัน ขนาดเฉลี่ยของตัวคือ 1-2 นิ้วสำหรับปลาเด็ก และความยาว 5-8 นิ้วเมื่อโตเต็มวัย ใช้ขนาดภาชนะหรือถังขั้นต่ำคือน้ำ 10 แกลลอนสำหรับปลาเด็ก และ 15-20 แกลลอนสำหรับปลาที่โตแล้ว ปลาทองสิงห์สามารถแบ่งออกได้เป็น สิงห์จีน, สิงห์ญี่ปุ่น, รันชู, สิงห์ลูกผสม และสิงห์สยาม ซึ่งรันชูนั้นได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มานานกว่า 200-300 ปีในประเทศญี่ปุ่น โดยพัฒนาต่อเนื่องมาจากสายพันธุ์สิงห์จีน มีความงดงามและเป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุด ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งปลาทอง” ในญี่ปุ่นอีกด้วย เนื่องจากมีมูลค่าสูงมาก
เทคนิคและวิธีการเพาะพันธุ์
credit by happypetsspace.com
หากต้องการเพาะพันธุ์ปลาเงินปลาทอง ต้องมีการวางแผนล่วงหน้านานพอสมควร เพราะต้องใช้เวลานานในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ และอาจต้องซื้อปลาล่วงหน้าเกือบหนึ่งปี เดือนกรกฎาคมและสิงหาคมเป็นเดือนที่ดีที่สุดในการซื้อปลา เนื่องจากมันชอบผสมพันธุ์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เพื่อให้ปลาได้รับการปรับสภาพแวดล้อมให้เข้ากับที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสมและไม่เครียดก่อนฤดูผสมพันธุ์
สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับการผสมพันธุ์ปลา
1. ทำความสะอาดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ซื้อมาใหม่ ด้วยการเติมฟอร์มาลดีไฮด์ 80 หยด, คอปเปอร์ซัลเฟต 6 หยด และเทอรามัยซินเพียง 1 หยด เพื่อทำความสะอาดปลาและภาชนะที่เลี้ยงเพื่อให้ปลามีสุขภาพแข็งแรง
2. สร้างสภาพแวดล้อมของภาชนะที่เหมาะสม ภาชนะที่วางแผนจะเพาะพันธุ์ควรมีน้ำอย่างน้อย 20 แกลลอน หรือประมาณ 75.7 ลิตร นอกจากนี้ควรเพิ่มอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับที่อยู่อาศัยของปลาที่ดูเป็นธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติจะรวมถึงพืชพุ่มตามธรรมชาติด้วย เพราะเมื่อตัวเมียวางไข่มักจะยึดไว้กับสิ่งที่เป็นของแข็ง หากจะปล่อยให้ผสมพันธุ์ตามธรรมชาติจะต้องมีสภาพแวดล้อมที่เขียวชอุ่ม
3. ให้อาหารในปริมาณเล็กน้อยแต่บ่อยครั้ง ประมาณ 3 ครั้งต่อวัน และระวังอย่าให้อาหารมากเกินไป เพราะการให้อาหารปลาเยอะเกินนั้น เศษที่เหลือที่ปลายังไม่ได้กินจะจมลงไปที่ก้นภาชนะและทำให้น้ำเน่าเสียได้ อย่าลืมบี้อาหารให้เล็กพอที่จะเข้าปากปลาได้ด้วย
4. เนื่องจากประเทศไทยไม่มีฤดูใบไม้ผลิ จึงจำลองด้วยการลดอุณหภูมิให้อุ่นขึ้นเรื่อยๆ โดยลดอุณหภูมิลงระหว่าง 10-12 องศาเซลเซียส จากนั้นเมื่อปลาพร้อมที่จะผสมพันธุ์ให้เพิ่มอุณหภูมิขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียสต่อวัน จนกระทั่งอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 20-23 องศาเซลเซียส
5. อย่าลืมเปลี่ยนถ่ายน้ำบางส่วนเมื่อน้ำที่ใช้เลี้ยงมีความสกปรก เพราะมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของปลาเงินปลาทองและช่วยกระตุ้นสภาพการผสมพันธุ์โดยเฉพาะ ควรกำจัดน้ำในภาชนะเลี้ยงให้ได้มากถึง 20% ต่อวัน แต่อย่าให้เกินนี้ และควรเติมยาปรับสภาพน้ำหลังจากเปลี่ยนถ่ายน้ำปลาทุกครั้ง เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดด่างให้เหมาะกับสภาพที่ปลาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
ขั้นตอนการเพาะพันธุ์ปลาเงินปลาทอง
1. เลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดีที่สุด ปลาที่อายุน้อยจะเหมาะอย่างยิ่งเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์และแรงขับทางเพศสูง สำหรับตัวเมียให้มองหาปลาที่มีบริเวณหลังและหน้าอกขนาดใหญ่ สำหรับตัวผู้ให้หาตัวที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 4-6 นิ้วที่ว่ายน้ำเร็ว สำหรับการผสมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดให้พยายามแยกตัวผู้ที่ดีที่สุดสามตัว และตัวเมียที่ดีที่สุดสองตัว
2. แนะนำให้นำปลาทั้งห้าตัวลงในภาชนะเลี้ยงเดียวกัน และให้มันวางไข่ตามธรรมชาติ โดยจะสังเกตเห็นได้ว่าตัวผู้จะมีสีอ่อนกว่าบริเวณท้องของพวกมันและว่ายน้ำอย่างรวดเร็วรอบๆ ภาชนะ โดยปกติแล้วจะไล่กัดตัวเมีย ส่วนตัวเมียจะทิ้งไข่ลงบนพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง และตัวผู้จะกระจายอสุจิไปที่ไข่เพื่อทำการผสมพันธุ์
3. เมื่อผสมพันธุ์และปฏิสนธิแล้ว อย่าลืมแยกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออกจากไข่ เพราะมีแนวโน้มที่จะกินไข่เกือบทั้งหมด ไข่จะใช้เวลาในการฟักเป็นตัวภายใน 4-7 วันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ เมื่อฟักออกมาเป็นตัวแล้วสามารถให้อาหารแบบเดียวกับที่ให้ตัวโตเต็มวัยได้
วิธีเลี้ยงปลาทองให้อายุยืน
credit by pixabay.com
สำหรับคนที่เลี้ยงเพื่อความสวยงามนั้น ก็มีเทคนิคในการเลี้ยงและมีข้อควรระวังต่างๆ เพื่อให้ปลาของเรามีอายุยืน ทั้งยังมีสีที่สวยงามและสุขภาพดีด้วย ดังนี้
1. ไม่ควรจับปลาขึ้นมาดูด้วยมือเปล่า เพราะจะทำให้ช้ำได้ ควรใช้กระชอนหรือตาข่ายตักขึ้นมา จะปลอดภัยต่อตัวปลามากที่สุด และไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคจากบาดแผลอีกด้วย
2. หากมีปลาตัวใดตัวหนึ่งป่วย ควรแยกออกมาจากเพื่อน เพราะปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ไวต่อสภาพอากาศ และมีโอกาสที่จะป่วยได้ง่าย การแยกปลาที่ป่วยออกมารักษาเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาตัวอื่นๆ ป่วยด้วยนั่นเอง
3. หากเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ไม่ควรเลี้ยงให้แน่นตู้ที่เลี้ยง เพราะจะทำให้ปลาทำร้ายกันเอง แย่งอาหาร แย่งออกซิเจนได้ ดังนั้น จึงควรเลี้ยงในจำนวนที่เหมาะสมกับภาชนะที่เลี้ยงด้วย
4. ไม่ควรเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่นๆ ในตู้เดียวกัน แม้ว่าโดยนิสัยจะเข้ากับปลาชนิดอื่นๆ ได้ดีก็ตาม แต่ก็มีปลาบางชนิดที่ห้ามเลี้ยงร่วมกัน เพราะฉะนั้น เลี้ยงแยกกับปลาอื่นๆ จะดีที่สุด
การเลี้ยงปลาทองนั้น ไม่ว่าจะเลี้ยงไว้ดูเล่น หรือเลี้ยงไว้สำหรับเพาะพันธุ์ ก็สามารถเลี้ยงและดูแลได้ไม่ยากหากรู้จักเทคนิคและวิธีการเลี้ยง เพื่อให้ได้ปลาสีสวยงาม ตัวโต และสมบูรณ์ มีอายุยืนและอยู่กับเราไปนานๆ
ที่มา : wikihow.com , tankarium.com