วันอัฏฐมีบูชา คือ วันที่ชาวพุทธระลึกถึงคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากพระเพลิงเผาไหม้พระพุทธสรีระแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องราววันอัฏฐมีบูชา การปฏิบัติตนที่ชาวพุทธควรทำ รวมไปถึงประวัติต่าง ๆ ที่เราได้เรียนในวิชาพระพุทธศาสนา ไปเจาะลึกเกี่ยวกับวันอัฏฐมีบูชา ความสําคัญ คืออะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไรในพุทธกาล ไปดูกัน!
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
วันอัฏฐมีบูชา ประวัติความเป็นมาในพุทธกาล
Credit : Shutterstock.com
วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 8 วัน มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วยพระมหากัสสปะเถระ พระภิกษุสงฆ์ และชาวพุทธ ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดี แห่งกรุงกุสินารา ซึ่งถือเป็นวันที่ชาวพุทธโศกเศร้าและสลดเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ
ในพิธีเจ้ามัลลกษัตริย์ จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิดที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด 7 วัน โดยทำตามวิธีปฏิบัติพระสรีระตามที่พระอานนท์เถระบอก คือ ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด จากนั้นอัญเชิญ พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน สระสรงเกล้า และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจทำให้ไฟติดได้
พระอนุรุทธะ พระเถระ จึงได้แจ้งว่า “เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอ พระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้” และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูปโดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด แต่การเผาไหม้นี้ กลับไม่มีควันหรือเขม่าใด ๆ ฟุ้งขึ้นเลย
และภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว กษัตริย์ และผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ได้ส่งทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ โดยตกลงกันให้โทณะพราหม์เป็นผู้จัดการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้แก่แคว้นต่าง ๆ โดยเท่ากัน ซึ่งโทณะพราหมณ์ได้รับทะนานทองที่ใช้ในการตวงพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่ระลึก
ความสําคัญของวันอัฏฐมีบูชา?
Credit : Shutterstock.com
วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเป็นวันที่ชาวพุทธต้องวิปโยค และสูญเสียพระบรมสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง โดยสามารถสรุปวันอัฏฐมีบูชา ความสําคัญ คือ 4 เหตุการณ์ดังนี้
- วันอัฏฐมีบูชา คือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
- เกิดการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ กษัตริย์และพราหมณ์จาก 7 แคว้น ได้ส่งทูตและกองทัพมาเพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ณ กรุงกุสินารา โดยแบ่งออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กัน
- เกิดการทำปฐมสังคายนา หลังจากพระพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน เหตุเนื่องจากพระภิกษุชื่อสุภัททะ ผู้เป็นศิษย์ของพระมหากัสสปะ กล่าวดูหมิ่นพระธรรมวินัย ทำให้พระมหากัสสปะเรียกประชุมสงฆ์อรหันต์ 500 รูป ร่วมกันทำสังคายนา เพราะเกรงว่าพระธรรมวินัยจะเสื่อมสูญ
- เป็นวันที่ควรระลึกถึงพระพุทธคุณให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศล
หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่องในวันอัฏฐมีบูชา คืออะไร?
Credit : Shutterstock.com
ในวันที่พระพุทธเจ้าทรงประชวรหนัก ก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อมเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคต จักมีในไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ฯ”
ยังเป็นการเตือนสติให้ดำรงตนอยู่ในหลักธรรมเรื่อง “ความไม่ประมาท ไม่เที่ยงของชีวิต” คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ล่วนเป็นสิ่งธรรมดาที่อยู่กับมนุษย์ ไม่เว้นแต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครหนีพ้น อย่างหลักธรรม “ขันธ์ 5 หลักไตรลักษณ์” คือ อนิจจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและทรงเน้น จึงควรยึดหลักธรรมที่เกี่ยวเนื่องในวันอัฏฐมีบูชา คือ “สุจริต 3” ในการปฏิบัติตนทั้งทางกาย วาจา และใจ
- ทางกาย เรียกว่า กายสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีที่แสดงออกทางกาย ได้แก่ การเว้นจากการฆ่าสัตว์
- ทางวาจา เรียกว่า วจีสุจริต หมายถึง ความประพฤติที่เกิดทางวาจา ได้แก่ การเว้นจากการพูดโกหก การเว้นจากการพูดส่อเสียด
- ทางใจ เรียก ว่า มโนสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีทีเกิดทางใจ ได้แก่ การไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น และเห็นถูกต้องตามธรรมนองคลองธรรม
การปฏิบัติตนช่วงเช้า – เย็นของพุทธศาสนิกชนในวันอัฏฐมีบูชา
การปฏิบัติตนช่วงเช้า | การปฏิบัติตนช่วงเย็น |
---|---|
ทำบุญตักบาตร กรวดน้ำ แล้วรับอุโบสถศีล ฟังเทศน์ตามวัดที่ใกล้เคียง | ร่วมพิธีเวียนเทียนโดยมาพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ ในขณะที่เวียนเทียนให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย |
เจริญจิตภาวนา บำเพ็ญจิตภาวนาด้วยการไหว้พระสวดมนต์ | นั่งสมาธิ พิจารณาความหมายของการเว้นทำชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง |
การถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ | บางวัดมีพิธีการจำลองถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าร่วม เช่น วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์ |
ทำบุญ ทำทาน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล | อาจจะมีการแสดงพระธรรมเทศนาตลอดทั้งคืน |
รักษาศีล สำรวมกายและวาจาด้วยการรักษาศีล 5 หรือศีล 8 |
เรียกได้ว่าวันอัฏฐมีบูชา ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวันทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ แม้หลายคนจะไม่คุ้นเคยนัก แต่ก็ถือเป็นวันที่ลืมไปไม่ได้ เพราะเป็นถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน) และเป็นวันที่สะท้อนหลักธรรมเรื่องความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน สอนให้เราไม่ยึดติดอยู่กับทั้งความสุขและความทุกข์ นอกจากเราเรื่องที่เราควรรู้ว่าวันอัฏฐมีบูชา คืออะไร? มีความสําคัญอย่างไร? และวันอัฏฐมีบูชา การปฏิบัติตนของชาวพุทธควรทำอะไรแล้ว ก็ยังมีเรื่องหลักธรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงอีกด้วย และอย่าลืมมาศึกษาเกี่ยวกับวันสำคัญอื่นๆ ทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น วันพระ 2567 วันวิสาขบูชา หรือร่วมเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีด้วยการหา ฤกษ์บวช 2567 ใน Shopee Blog ได้เลยนะ