ขมิ้นชัน เป็นพืชและเครื่องเทศสมุนไพรไทยที่โด่งดังไกลไปทั่วโลก เนื่องจากนิยมนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายทั้งอาหารไทย ๆ เช่น ปลาทอดขมิ้น ไก่ต้มขมิ้น หมูสะเต๊ะ ฯลฯ รวมถึงอาหารนานาชาติ เช่น อาหารอินเดีย เครื่องเทศหมักสเต๊ก ฯลฯ ด้วยคุณสมบัติสีเหลืองทองและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้ขมิ้นชันเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรไทยที่ทั่วโลกให้ความสนใจและนำมาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณมากมาย ซึ่งเราจะนำเสนอสรรพคุณและประโยชน์ที่น่าสนใจของขมิ้นชันในบทความนี้ เพื่อให้คุณผู้อ่านทุกคนได้รู้จักสมุนไพร ขมิ้นชันมากขึ้น กับสรรพคุณสมุนไพรพื้นบ้านดีๆที่เป็นได้มากกว่าเครื่องเทศประกอบอาหารนั่นเอง
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ขมิ้นชัน ชื่อวิทยาศาสตร์
ขมิ้นชันมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa
ทำความรู้จักกับ “ขมิ้นชัน”
ขมิ้นชัน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Turmeric เป็นเครื่องเทศยอดนิยม ซึ่งบางครั้งเราก็เรียกว่าขมิ้นชัน บางครั้งเราก็เรียกหญ้าฝรั่งอินเดียหรือเครื่องเทศสีทอง เนื่องจากต้นกำเนิดของขมิ้นชัน เชื่อว่ามาจากชนพื้นเมืองอินเดีย ชาวภารตะที่นิยมนำพืชชนิดนี้มาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหารที่จะช่วยเพิ่มสีสันและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งต่อมาเมื่อขมิ้นชันถูกนำมาปลูกในประเทศไทย ก็พบเจอได้ง่ายเนื่องจากเป็นพืชล้มลุก ทนทาน ปลูกง่ายและขึ้นได้ทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ที่นิยมนำขมิ้นมาใส่ในอาหารประเภทแกงเผ็ดและอาหารจำพวกปลา เพื่อดับกลิ่นคาวและเพิ่มสีสันกลายเป็นเมนูอาหารไทยเลิศรส ที่นอกจากสีสันสวยงามอันเป็นเสน่ห์ของขมิ้นชันแล้วยังมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เฉพาะตัว แตกต่างจากเครื่องเทศและสมุนไพรอื่น ๆ พร้อมทั้งมีสรรพคุณเป็นยาป้องกันรักษาโรคและบำรุงร่างกายได้ดีอีกด้วย
ลักษณะ ขมิ้นชัน
Credit: freepik
ขมิ้นชันเป็นพืชล้มลุก ตระกูลเดียวกับขิงและข่า แต่มีอายุหลายปี มีความสูงไม่มากประมาณ 50-90 เซนติเมตรจากพื้นเท่านั้น ตัวของขมิ้นชันเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินขนาดกะทัดรัดรูปไข่แตกออกไปด้านข้าง ด้านบนมีใบเรียวยาวสีเขียวงอกทะลุเหง้าและทะลุพื้นดิน มีกลิ่นเฉพาะตัวทำให้สามารถแยกความแตกต่างระหว่างขมิ้น ขิง และข่าได้อย่างชัดเจน และยิ่งหากขุดเหง้าขึ้นมาจากดินจะพบว่าเป็นสีน้ำตาล เป็นมัน แข็งและเหนียว เมื่อเฉือนเนื้อจะพบสีเหลืองอมแดง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเหง้าขมิ้นชัน หากนำไปบดจะเป็นผงสีเหลืองปนน้ำตาล มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เพราะเคลือบด้วยน้ำมันหอมระเหยที่ผิว หากชิมรสชาติจะพบว่ามีรสขม ฝาดเฝื่อนและเผ็ดร้อนสักเล็กน้อย
ขมิ้นชัน สรรพคุณ และประโยชน์
ขมิ้นชันไม่เพียงเป็นพืชสมุนไพรใช้ประกอบอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาโรค และบำรุงร่างกาย ที่มีงานวิจัยศึกษาและยอมรับในวงกว้าง ซึ่งสรรพคุณของขมิ้นชันที่สำคัญ มีดังนี้
1.ขมิ้นชันบำรุงผิวพรรณ
ด้วยสรรพคุณหลักของขมิ้นชันที่มีส่วนสำคัญในการยับยั้งแบคทีเรียที่เจริญเติบโตอยู่บนผิวหนัง ทำให้ขมิ้นชันเป็นต้นตำรับเครื่องประทินผิวที่สำคัญมาแต่โบราณ โดยชาวบ้านจะนิยมฝนขมิ้นชันและผสมน้ำเล็กน้อย ทาหน้าก่อนนอน เพื่อบำรุงให้ผิวนวลเนียน ไร้สิวและผดผื่นคัน ซึ่งในปัจจุบันขมิ้นชันถูกพัฒนาให้เป็นส่วนประกอบสำคัญในครีมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ครีมบำรุงหน้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ขัดผิวกาย โดยมีหลายสูตรที่น่าสนใจ ดังนี้
- สูตรขมิ้นชันผสมดินสอพองผสมนมสด เป็นสูตรยอดนิยมของสาว ๆ ในยุคนี้เพราะหาซื้อวัตถุดิบได้ง่าย เมื่อนำทุกวัตถุดิบมาผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากัน และนำมาพอกผิวหน้าพร้อมผิวกายและนวดวนเล็กน้อยเป็นเวลา 5 นาที เมื่อล้างออกจะพบว่ามีความนุ่ม เรียบเนียน และสะอาดจนคุณรู้สึกได้
- สูตรขมิ้นชันผสมน้ำมะนาว เรียกว่าเป็นสูตรที่ค่อนข้างรุนแรงสักเล็กน้อย และไม่เหมาะกับการทาบนใบหน้าที่ผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย แต่นิยมนำมาพอกบริเวณหลัง ขา และแขน ที่มีสิวอุดตันหรือผดผื่นจำนวนมาก โดยสรรพคุณของขมิ้นชันผสมมะนาว จะช่วยชำระล้างแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี ทำให้สิวหายและผดต่าง ๆ ลดลงอีกด้วย
2.ขมิ้นชันแก้ปัญหาช่องท้อง
ในทางการแพทย์ปัจจุบัน นิยมนำขมิ้นชันมาเป็นสมุนไพรทางเลือกสำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง เนื่องจากโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ หรือลำไส้แปรปรวน เพราะขมิ้นชันมีสรรพคุณในการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อเช่นเดียวกับกระชาย จึงทำให้ผิวหนังบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้ระคายเคืองน้อยลง ซึ่งแพทย์นิยมนำมาใช้รักษาแทนยาเสตียรอยด์บางชนิด เพื่อป้องกันคนไข้ติดและช่วยป้องกันการทำงานหนักของตับในการขับของเสียอีกด้วย
3.ขมิ้นชันช่วยเสริมสร้างการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกาย
มีงานวิจัยกล่าวอ้างและสนับสนุนว่าขมิ้นชันมีสรรพคุณในการกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสการเกิดโรคเรื้อรังและโรคร้ายแรงในอนาคต นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลในร่างกาย มีส่วนช่วยในการบำรุงตับให้แข็งแรง ทำหน้าที่ในการขจัดสารพิษต่าง ๆ ในร่างกายให้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายทางอ้อม ทำให้ร่างกายแข็งแรงจากภายใน สดใสสู่ภายนอกอีกด้วย
โทษของขมิ้นชันและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าขมิ้นชันจะมีประโยชน์และสรรพคุณต่อร่างกายมากมาย แต่ด้วยฤทธิ์ของขมิ้นชันที่เป็นสมุนไพรฤทธิ์ร้อนจึงไม่ดีต่อร่างกายนักหากรับประทานในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบย่อยอาหารมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้โลหิตต่ำ เลือดออกได้ง่าย จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องเลือด หรือมีโรคเลือดเรื้อรัง อีกทั้งเด็ก สตรีมีครรภ์ก็ไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากขมิ้นชัน แต่สามารถรับประทานอาหารที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบได้ในปริมาณที่พอเหมาะ
ผลิตภัณฑ์จากขมิ้นชัน ที่น่าสนใจ
ปัจจุบันเรียกได้ว่าขมิ้นชัน เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่หาได้ง่ายในประเทศไทย ไม่ว่าจะตามชนบทหรือสังคมเมือง ก็มีผลิตภัณฑ์ของขมิ้นชันออกสู่ตลาดมากมาย เนื่องจากขมิ้นชันเป็นพืชล้มลุก ทนทาน ปลูกง่ายและไม่เกี่ยงสภาพอากาศ พร้อมทั้งแปรรูปได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการสกัดเป็นผงในรูปแบบขมิ้นชันแคปซูล ผงสำหรับประกอบอาหาร หรือการฝานเป็นแว่นตากแห้งและนำมาชงดื่ม นอกจากนี้ ขมิ้นชันยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของครีมบำรุงผิว และผลิตภัณฑ์ขัดผิวสำหรับผู้หญิง อย่างผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันอภัยภูเบศร โดยเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ผสมน้ำและขัดผิวได้ทันที หรือสบู่ขมิ้นชัน พร้อมสัมผัสผิวขาวเรียบเนียน สดใส ไร้สิวและริ้วรอย เลยทีเดียว
Credit: unsplash
เป็นอย่างไรกันบ้าง กับสมุนไพรไทยยอดนิยม และเชื่อว่าหลายคนรู้จักสมุนไพรขมิ้นชันนี้เป็นอย่างดี เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารไทยหลากหลายเมนู พร้อมสรรพคุณและประโยชน์มากมาย ทำให้มีการแปรรูปขมิ้นชันออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆที่หารับประทานได้ง่าย สะดวกพกพา และยังได้ประโยชน์แบบเต็ม ๆ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ 100% นั่นเอง
แหล่งข้อมูล : medherbguru, en.wikipedia, doctor
Feature Image Credit : freepik