หากพูดถึงฮาร์ดดิสก์ หรือ HDD ขึ้นมาแล้ว ใคร ๆ ก็คงคิดถึงหน่วยความจำที่เราใช้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นอย่างแรกแน่ ๆ แต่ทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันความต้องการใช้ HDD นั้นแพร่หลายมาก เพราะอุปกรณ์ไอเทคหลาย ๆ ตัวยังคงต้องเก็บข้อมูลไว้บนเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ที่เรารู้จักดี หรือฮาร์ดดิสก์สำหรับใช้เก็บข้อมูลกล้องวงจรปิด รวมทั้งฮาร์ดดิสก์ที่ใช้สำหรับองค์กรหรือเป็นเซิร์ฟเวอร์ จากข้อมูลที่เรามีอยู่มากมายนี้จำเป็นต้องมีแหล่งบันทึกข้อมูลเก็บไว้ ซึ่งการเลือกซื้อ HDD เพิ่มอาจเป็นทางเลือกที่ทำได้ ซึ่งหากใครที่กำลังสงสัยว่า HDD คืออะไร ฮาร์ดดิสก์มีกี่แบบ แล้วเราจะเลือก Hard Drive ได้อย่างไรบ้าง คราวนี้เรามีคำตอบมาให้แล้ว
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
1. ชวนทำความรู้จัก HDD คืออะไร
หากเรามีโอกาสเปิดเคสคอมพิวเตอร์ดูจะพบกล่องสี่เหลี่ยมแบน ๆ หนึ่งกล่อง ซึ่งกล่องนี้เองที่เป็นตัวฮาร์ดดิสก์ หรือ Hard Disk Drive (HDD) ซึ่งการจะตอบคำถามที่ว่า HDD คืออะไรนั้นต้องมาดูกันตรงหน้าที่และความจำเป็นของเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ก่อน
Hard Drive คืออุปกรณ์บันทึกข้อมูลแบบถาวร ที่เมื่อมีการบันทึกข้อมูลลงไปแล้วข้อมูลนั้นจะไม่หายไปเมื่อเรารีสตาร์ทเครื่องใหม่ แต่จะลบได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งจากเราไปลบมันทิ้งเท่านั้น
ตัว HDD เป็นอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยดิสก์แม่เหล็ก ที่เรียกว่า แพลตเตอร์ มีรอบการหมุนเร็วระหว่าง 5,400 -15,000 รอบต่อนาที ซึ่งยิ่งตัวฮาร์ดดิสก์มีรอบการหมุนเร็วเท่าไหร่ ก็หมายถึงคอมพิวเตอร์สามารถอ่านหรือเขียนข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ได้เร็วเท่านั้น และตัวฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์นี้เองที่เป็นตัวจัดเก็บบันทึกข้อมูลของคอมพิวเตอร์ในระยะยาว รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับการลงโปรแกรมและระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์ด้วย ดังนั้นการเลือกใช้ HDD ที่มีขนาดใหญ่ (ความจุมาก) ก็จะหมายถึงความสามารถในการบันทึกข้อมูลและโปรแกรมในจำนวนมาได้ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันขนาดของฮาร์ดดิสก์ที่มีให้เลือกใช้มีอยู่ 2 ขนาด คือ ขนาด 2.5 นิ้ว และ ขนาด 3.5 นิ้ว ซึ่งขนาดของฮาร์ดดิสก์นั้นไม่มีผลต่อการใช้งาน แต่จะมีผลในการติดตั้งสำหรับคอมพิวเตอร์บางประเภทเท่านั้น โดยฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้วมักนำมาใช้ต่อกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ขณะที่ฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้วนิยมนำมาต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก
2. HDD หรือฮาร์ดดิสก์มีกี่แบบ
ฮาร์ดดิสก์ทั้งหมดที่อยู่ในตลาดตอนนี้เป็นฮาร์ดดิสก์ที่เป็นแบบจานหมุน ซึ่งยังสามารถแบ่งตามประเภทการต่อพ่วงได้เป็น 4 ชนิด ได้แก่ IDE, E-IDE, SCSI, และ SATA
1. แบบ IDE Hard disk – เป็นฮาร์ดดิสก์แบบเก่าที่เชื่อมต่อกับตัวเครื่องด้วยสายแพขนาด 40 เส้น สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้ 8.3 MB/วินาที ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว
2. แบบ E-IDE Hard disk – เป็นฮาร์ดดิสก์ที่พัฒนาต่อมาจากแบบ IDE ซึ่งจะเชื่อมต่อกับตัวเครื่องด้วยสายแพขนาด 80 เส้น สามารถถ่ายโอนข้อมูลได้ดีขึ้น แต่ก็เลิกใช้ไปแล้วเช่นกัน
3. แบบ SCSI Hard disk – เป็น hard disk ที่ต้องใช้การ์ด SCSI ควบคุมการทำงาน สามารถรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วถึง 320 MB/วินาที และมีราคาค่อนข้างสูง จึงนิยมนำไปใช้กับเครื่อง Server มากกว่าการใช้กับคอมพิวเตอร์ทั่วไป
4. แบบ SATA Hard disk (Serial ATA) – เป็น hard disk ที่ใช้งานแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากมีคุณภาพในการรับส่งข้อมูลสูง 150 MB/วินาที รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้หลากหลาย และมีราคาที่ไม่แพง จึงนิยมนำมาใช้เป็นมาตรฐานสำหรับคอมพิวเตอร์ทั่วไป
3. HDD vs RAM
หากพูดถึงหน่วยความจำ นอกจาก HDD แล้ว เราก็คงคิดไปถึง RAM ซึ่งเป็นอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญสำหรับการทำงานของคอมพิวเตอร์ แต่ชิ้นส่วนทั้งสองอย่างนี้มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ใช้แทนกันได้หรือไม่ เราคงต้องลองมาทำความรู้จักกับ RAM กันก่อน
RAM หรือ (Random Access Memory) คือ หน่วยความจำชั่วคราวที่ทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลหลักของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเราจะพบอุปกรณ์ชิ้นนี้อยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกซ์อื่น ๆ เช่น แท็บเล็ต หรือ มือถือ ด้วยเช่นกัน โดย RAM จะทำหน้าที่เป็นตัวส่งผ่านข้อมูลจากอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ เพื่อส่งให้กับ CPU เพื่อนำไปประมวลผล
ดังนั้นหากอุปกรณ์ตัวไหนมี RAM มาก ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลให้เครื่องคอมเร็วขึ้นได้ แต่ด้วยความที่อุปกรณ์ชิ้นนี้มีลักษณะที่เก็บข้อมูลแบบชั่วคราว ทุกข้อมูลที่บันทึกอยู่ใน RAM จึงจะหายไปเมื่อมีการรีสตาร์ทเครื่องใหม่
ด้วยเหตุนี้ ทั้ง RAM และ HDD จึงมีลักษณะที่คล้ายกันตรงที่เป็นหน่วยความจำเหมือน ๆ กัน แต่ความเหมือนนั้นก็ไม่น่าจะเรียกว่าเหมือนกันได้ เพราะข้อมูลที่บันทึกอยู่ใน HDD จะมีลักษณะของการเก็บข้อมูลที่ถาวร หากเราไม่ไปลบ ข้อมูลก็จะไม่หายไป ขณะที่ข้อมูลที่บันทึกใน RAM นั้นไม่ว่าอย่างไรก็จะหายไปแน่ ๆ ถึงอย่างนั้นอุปกรณ์ทั้งสองชนิดก็นับเป็นฟันเฟืองสำคัญสำหรับการทำงานของคอมพิวเตอร์แบบขาดอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้เลย
4. HDD vs SSD
สำหรับ SSD คืออะไร คำว่า SDD หรือ Solid State Drive เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลหรือหน่วยความจำถาวรคล้าย ๆ กับ HDD แต่ก็ยังมีรายละเอียดและคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป
การจัดเก็บข้อมูลของ SSD นั้นมีลักษณะเป็น Flash Memory Chip มีการทำงานคล้ายกับ Flash Drive ซึ่งแตกต่างจาก HDD ที่เป็นการบันทึกลงบนแม่เหล็กจานหมุน ทำให้การอ่านหรือบันทึกข้อมูลลงหน่วยความจำของ SSD มีความเสถียรกว่า และทำได้รวดเร็วกว่า โดยปัจจุบัน SSD ที่มีซื้อขายในท้องตลาดมีความจุตั้งแต่ 128 GB ไปจนถึงหลาย TB แต่ด้วยเทคโนโลยีที่นำมาใช้ก็ทำให้ SSD ยังคงมีราคาที่แพงกว่า HDD อยู่มาก และมีข้อจำกัดในการเขียนซ้ำข้อมูล
ดังนั้นเราจะเห็นว่าทั้ง HDD และ SSD ต่างก็เป็นหน่วยความจำถาวรในเครื่องคอมพิวเตอร์เหมือน ๆ กัน เมื่อมีการบันทึกข้อมูลลงไปแล้วก็จะไม่ลบไปไหน จนกว่าผู้ใช้จะมีคำสั่งลบมันออกไป แต่ทั้งสองยังคงแตกต่างกันที่คุณลักษณะและเทคโนโลยีการผลิตและนำมาใช้ ซึ่งเครื่องคอมเครื่องไหนที่ใช้ HDD อยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ SSD เพราะอุปกรณ์ทั้งสองชนิดนี้สามารถทดแทนกันได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ทั้งสองอย่างให้สิ้นเปลือง
5. วิธีเลือก HDD ให้ถูกใจ-ตอบทุกโจทย์การใช้งาน
สำหรับคำถามที่ว่าฮาร์ดดิสก์มีกี่แบบ และเราจะเลือก HDD ให้ถูกใจและเหมาะกับการใช้งานได้อย่างไรนั้น เรามีเคล็ดลับเล็ก ๆ สำหรับการเลือก HDD มาฝากกัน
- เลือกชนิด เพราะฮาร์ดดิสก์มีหลายแบบมาก ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์สำหรับการใช้งานทั่วไป ฮาร์ดดิสก์สำหรับกล้องวงจรปิด หรือฮาร์ดดิสก์คุณภาพสูงที่ไว้สำหรับใช้งานกับเซิร์ฟเวอร์ การเลือกชนิดให้ตรงกับการใช้งานจะช่วยให้เราประหยัดงบประมาณลงไปได้
- เลือกความจุ การประมาณปริมาณการใช้งานของเราและเลือกฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีเลือกฮาร์ดดิสก์ไม่ให้เกิดปัญหาเมมเต็มได้ง่าย ๆ แต่ก็ไม่เปลืองงบประมาณมากเกินไปเช่นกัน ปัจจุบันขนาดของ HDD ควรเลือกอย่างน้อย 1TB ขึ้นไป
- เลือกความเร็วการทำงาน ความเร็วหมุนรอบของฮาร์ดดิสก์ปกติอยู่ที่ 5400RPM-7200RPM แต่หากยิ่งฮาร์ดดิสก์มีความเร็วการหมุนรอบมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งอ่านและเขียนได้เร็วขึ้นเท่านั้น
- เลือกหน่วยความจำแคช เป็นเหมือนบัฟเฟอร์ ที่เป็นการเรียกข้อมูลขึ้นมาเป็นความจำชั่วคราว เพื่อไม่ให้ต้องเสียเวลากลับไปเรียกข้อมูลนั้นขึ้นมาใหม่ ยิ่งหน่วยความจำแคชมากก็จะยิ่งทำงานได้เร็วขึ้นเท่านั้น
- เลือกขนาด ปัจจุบันฮาร์ดดิสก์มีขนาด 3.5 นิ้วและ 2.5 นิ้ว ซึ่งใช้งานต่างกันตรงที่ขนาด 3.5 นิ้วมีไว้ใช้สำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และ ขนาด 2.5 นิ้วมีไว้ใช้สำหรับโน๊ตบุ๊คเป็นหลัก
HDD ยี่ห้อแนะนำ
1. Seagate HDD Ext 2TB Backup Plus Slim
เริ่มต้นด้วยฮาร์ดดิสก์ตัวเล็กที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติการใช้งานกับ Seagate HDD Ext 2TB Backup Plus Slim ฮาร์ดดิสก์แบบพกพาจาก Seagate ที่มาพร้อมกับการเชื่อมต่อผ่านสาย USB 3.0 ด้วยขนาดความจุสูงถึง 2TB ทำให้ผู้ใช้สามารถพกพาข้อมูลมากเท่าที่สามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเครื่องที่มีความหนาเพียง 1.7 เซนติเมตร และน้ำหนักเบาแบบสุด ๆ ทั้งยังสามารถใช้เป็นพอร์ตเชื่อมต่อสำหรับโน๊ตบุ๊คหรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ไม่ว่าจะใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวหรือแมค ได้แบบไม่มีปัญหา
นอกจากตัวอุปกรณ์ที่ให้ความจุมาแบบล้น ๆ แล้ว ความเร็วรอบก็นับว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานด้วยความเร็วจานหมุนที่ 5400 RPM ทำให้เป็นอุปกรณ์อีกชิ้นที่สายทำงานแบบรีโมท หรือต้องย้ายที่ทำงานไปมาโดยที่ไม่อยากพกพาเครื่องคอมพิวเตอร์ไปด้วย ก็สามารถพกพาเจ้าฮาร์ดดิสก์ตัวนี้ไปแทนได้แบบไม่ยาก นับว่าเป็นตัวฮาร์ดดิสก์ที่ให้ความสะดวกกับผู้ใช้ได้แบบสุด ๆ ไปเลย
คุณสมบัติ
- ความจุ: 2 TB
- แคช: n/a
- ความเร็ว: 5400 RPM
- ขนาด: 2.5 Inches
- สนับสนุนการเชื่อมต่อผ่าน USB: USB 3.0
- ราคา: ฿1,590 – ฿3,290
2. WD Elements External HardDisk 2 TB
อีกหนึ่งฮาร์ดดิสก์แบบพกพาที่คราวนี้เรานำตัวท็อปจากค่าย WD มาชวนให้รู้จัก กับรุ่น WD Elements External HardDisk ขนาด 2 TB ด้วยรูปลักษณ์สีดำดูคลาสสิคและดีไซน์โค้งมนให้ความรู้สึกทันสมัยน่าใช้แบบสุด ๆ ซึ่งใครเห็นก็คงตกหลุมรักในความสวยงามของดีไซน์ของเจ้าฮาร์ดดิสก์ตัวนี้ได้ไม่ยาก แต่นอกจากความสวยภายนอกแล้ว เจ้าฮาร์ดดิสก์แบบพกพาตัวนี้ยังอัดแน่นด้วยคุณสมบัติการใช้งานอีกเพียบทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักที่เบา ตัวอุปกรณ์หนาเพียง 1.5 เซนติเมตรในขนาดกะทัดรัด 2.5” ทำให้พกพาได้ง่ายและสะดวกแบบสุด ๆ และด้วยการเชื่อมต่อแบบ USB3.0 ช่วยให้สามารถถ่ายโอนข้อมูลได้รวดเร็วพร้อมเชื่อมต่อได้ทั้งกับระบบปฏิบัติการณ์ Window 10/ 8.1 หรือแม้แต่ MAC OS ได้แบบไม่มีปัญหา เรียกได้ว่าสามารถแครี่ข้อมูลทั้ง 2TB ไปทำงานในที่ต่าง ๆ กับ WD Elements External HardDisk ได้แบบสบาย ๆ ในงบเบา ๆ
คุณสมบัติ
- ความจุ: 2TB
- แคช: ไม่ระบุ
- ความเร็ว: ไม่ระบุ
- ขนาด: 2.5 Inches
- สนับสนุนการเชื่อมต่อผ่าน USB: USB 3.0
- ราคา: ฿1,199
3. WD HDD 1 TB BLUE 7200RPM SATA3
นอกจากฮาร์ดดิสก์แบบพกพาแล้ว ค่าย Western Digital หรือ WD ยังมีฮาร์ดดิสก์สำหรับการใช้งานทั่วไปที่น่าสนใจอีกหลายตัว เช่น WD HDD 1 TB BLUE 7200RPM SATA3 ที่เราจะนำมาแนะนำกันต่อในคราวนี้ ซึ่งเป็นลักษณะของฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้วที่ใช้สำหรับต่อกับคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะที่อัดแน่นด้วยการใช้งานที่จำเป็น จุสูงถึง 1TB ซึ่งบอกได้เลว่าเป็นขนาดที่เหลือ ๆ สำหรับการใช้งานแบบทั่วไป และอาจถึงขั้นบันทึกข้อมูลหนัก ๆ ได้อีกเยอะ
ด้วยความเร็วในการหมุนของจานแม่เหล็กขนาด 7200RPM ทำให้ฮาร์ดดิสก์รุ่นนี้มีความเร็วในการอ่านและบันทึกข้อมูลสูง เต็มเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพการใช้งาน จากเทคโนโลยี Intelliseek ช่วยคำนวณความเร็วในการค้นหาที่เหมาะสม ทำให้ฮาร์ดดิสก์ทำงานได้เงียบสนินทไม่เกิดความร้อน ช่วยให้การดึงข้อมูลได้เร็วรองรับการใช้งานได้หลากหลาย ที่สำคัญคือตัวฮาร์ดดิสก์ยังมีการรับประกันตัวอุปกรณ์นานถึง 3 ปี เรียกได้ว่าคุ้มแบบสุด ๆ
คุณสมบัติ
- ความจุ: 1TB
- แคช: 2MB – 16MB
- ความเร็ว: 7200RPM
- ขนาด: 3.5 Inches
- สนับสนุนการเชื่อมต่อผ่าน USB: no.
- ราคา: ฿980
4. Seagate Barracuda 7200RPM SATA3 (ST1000DM010)
มาถึงฮาร์ดดิสก์จาก SEAGATE ที่ได้รับความนิยมจากความทนทานและราคาที่ย่อมเยา และสำหรับ SEAGATE Barracuda เป็นฮาร์ดดิสก์แบบ SATA III รุ่นยอดฮิตในราคาที่ใคร ๆ ก็เอื้อมถึง ตัวฮาร์ดดิสก์พัฒนาขึ้นมาเพื่อการจัดเก็บข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือพีซีโดยเฉพาะ และมาพร้อมกับเทคโนโลยี Multi-Tier Caching Multi-Tier Caching ที่ช่วยให้การโหลดไฟล์ทำได้เร็วขึ้น
ตัวฮาร์ดดิสก์มีความจุตั้งแต่ 1TB โดยมีความเร็วการหมุนรอบในระดับสูง มาพร้อมประกันจากผู้ผลิตเป็นเวลา 3 ปีด้วยกัน และด้วยสนนราคาต่ำพัน ฮาร์ดดิสก์ตัวนี้จึงเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ ในการใช้งานของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไป เรียกได้ว่าคุ้มทั้งราคา และทนทานต่อการใช้งาน รวมทั้งยังจัดเก็บข้อมูลได้ในปริมาณมากแบบเพียงพอต่อการใช้งานที่บ้านแบบเบา ๆ ไปจนถึงหนักได้แบบไม่ยากเลย
คุณสมบัติ
- ความจุ: 1TB
- แคช: 64MB
- ความเร็ว: 7200RPM
- ขนาด: 3.5 Inches
- สนับสนุนการเชื่อมต่อผ่าน USB: No.
- ราคา: ฿933
5. Western Digital HDD USB-C My Passport Ultra 2 TB
ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งฮาร์ดดิสก์แบบพกพาที่มาพร้อมกับดีไซน์หรูหรา สีเมเทลิคที่มีให้เลือกทั้งสีน้ำเงิน-เงิน-ทอง ดูเลอค่าแบบสุด ๆ แต่ที่สุดกว่านั้นคือคุณสมบัติของตัวฮาร์ดดิสก์ที่มีดีมากกว่าการพกพาไปไหนต่อไหนและรูปร่างที่สวยงาม นั่นคือคุณสมบัติการจัดเก็บข้อมูลที่รวดเร็วและง่ายดายเพื่อการใช้งานกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแทบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือโน้ตบุ๊ค ใช้ระบบปฎิบัติการ Windows® 10, 8.1, 7 หรือ macOS (ผ่าน ไดรเวอร์ NTFS) ทั้งยังรองรับการเข้ารหัสฮาร์ดแวร์เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ภายใน
ตัวฮาร์ดดิสก์รองรับการจัดเก็บข้อมูลใน 2 รูปแบบคือ การจัดเก็บในไดรฟ์เพื่อรักษาชีวิตออนไลน์ให้เป็นส่วนตัว ขณะเดียวกัน WD Discovery ก็อนุญาติให้มีการนำเข้าเนื้อหาจากโซเชียลมีเดียเช่น Facebook Dropbox และ Google Drive ได้ด้วย และยังสามารถแบคอัปข้อมูลตามรอบการใช้งานที่กำหนดไว้ได้เช่นกัน ทั้งยังมีการรับประกันตัวฮาร์ดดิสก์อีกถึง 3 ปี เรียกได้ว่าครบสุด ๆ สำหรับทุกความต้องการในการจัดเก็บข้อมูลเลย
คุณสมบัติ
- ความจุ: 2TB
- แคช: ไม่ระบุ
- ความเร็ว: ไม่ระบุ
- ขนาด: 2.5 Inches
- สนับสนุนการเชื่อมต่อผ่าน USB: USB-C / USB 3.0
- ราคา: ฿2,190
และคราวนี้เราก็มาตอบคำถามที่ว่า HDD คืออะไร ซึ่งอุปกรณ์ที่เราคุ้นชื่อกันมานาน หากต้องลงมือเลือกจริง ๆ ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาก่อน แต่สำหรับข้อมูลเล็ก ๆ น้อยที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ที่ตอบคำถามที่ว่า Hard Drive คืออะไร หรือ ฮาร์ดดิสก์มีกี่แบบ เลือกยังไง ใช้งานได้อย่างไรบ้าง ก็น่าจะพอเป็นไอเดียให้เพื่อน ๆ ได้เลือกซื้อหาฮาร์ดดิสก์ได้ง่ายและตรงใจมากยิ่งขึ้น