เข้าใจหัวอกคุณพ่อคุณแม่ เวลาได้ยินเสียงร้องไห้ของลูกน้อย ที่ดั่งก้องไปถึงสุดขั้วหัวใจ เวลาถูกฉีดวัคซีนเด็ก คงเจ็บปวดหัวใจเสียจริง แต่จะไม่ฉีด ไม่รับวัคซีนก็คงไม่ได้ เพราะภูมิเด็กแรกเกิดยังต่ำมาก ๆ เป็นเซนซิทีฟต่อเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรียไปหมด เพราะฉะนั้นเพื่อลดโอกาสติดเชื้อให้มากที่สุด เด็ก ๆ ทุกคนจึงควรได้รับวัคซีนเด็กแรกเกิด ตั้งแต่เป็นเบบี๋ จะได้กระตุ้นภูมิต้านท้านและสร้างเกราะป้องกันโรคภัยต่าง ๆ ได้ วันนี้เราเลยมาบอกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวัคซีนในเด็ก ให้พ่อ ๆ แม่ ๆ ได้ทำความเข้าใจ ก่อนจะไปสู้กับไวรัสตัวร้ายกัน!
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
1. เรียนรู้และทำความเข้าใจ เกี่ยวกับวัคซีนเด็ก
สร้างภูมิคุ้มกันให้เจ้าตัวเล็ก ป้องกันลูกให้ห่างจากเชื้อโรค เพราะเด็กแรกเกิดที่พึ่งได้เกิดมาลืมตาดูโลกนั้น ภูมิเขาจะต่ำมาก ซึ่งอีกวิธีที่จะช่วยสร้างภูมิให้ลูก นอกจากการดื่มนมแม่ นั่นคือ การฉีดวัคซีนเด็กนั่นเอง พอเจ้าตัวเล็กได้รับวัคซีนเด็กแล้ว โอกาสที่จะป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ก็ต่ำตามไปด้วย อีกทั้งยังช่วยให้เด็ก ๆ มีสุขภาพแข็งแรง พร้อมเติบโตสู่โลกกว้าง และมีพัฒนาการอย่างสมวัยแน่นอน! ซึ่งวัคซีนเด็ก จะถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
วัคซีนหลัก หรือ วัคซีนพื้นฐาน
ถือเป็นวัคซีนที่เด็ก ๆ ทุกคนควรได้รับตั้งแต่แรกเกิด และควรฉีดให้ครบถ้วนกำหนด หากถามว่าจำเป็นต้องฉีดหรือไม่ บอกได้คำเดียวว่า เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็ก ๆ แล้ว ก็ถือเป็นอีกเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก เพราะการฉีดวัคซีนในเด็ก จะช่วยสร้างภูมิต้านทานของโรคให้แก่เด็กในระยะยาวได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย และควรศึกษาให้ดี หรือขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกรักของเรา
วัคซีนเสริม หรือ วัคซีนทางเลือก
วัคซีนเสริม เป็นวัคซีนที่ที่อยู่นอกเหนือแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จะเลือกฉีดหรือไม่ฉีดก็ได้ เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง ที่สามารถเลือกฉีดเสริมเพิ่มเข้าไป ก็เพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างวัคซีนเสริม เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันตับอักเสบ (HAV) วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส วัคซีนไอพีดี (IPD) เป็นต้น ใดใดคุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อประเมินว่าวัคซีนตัวนี้ มีความจำเป็นต่อลูกของเรามากน้อยเพียงใด หรือมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเน้นเฉพาะโรคใดเป็นพิเศษ
2. เช็คลิสต์! ตารางการฉีดวัคซีนเด็กสำหรับลูกน้อย
อายุ | วัคซีนพื้นฐาน | คำแนะนำ |
---|---|---|
เด็กแรกเกิด | วัคซีนป้องกันวัณโรค ( BCG Vaccine ) วัคซีนตับอักเสบบี ( HBV ) เข็มที่ 1 | ฉีดให้เด็กก่อนออกจากโรงพยาบาล ฉีดภายใน 24 ชั่วโมงหลังเด็กเกิด |
1 เดือน | วัคซีนป้องกันตับอักเสบ บี ( HBV 2 ) เข็มที่ 2 | – |
2 เดือน | วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค ( DTP-HB-Hib 1 ) เข็มที่ 1 วัคซีนโรต้า ( Rota ) เข็มที่ 1 วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน ครั้งที่ 1 ( OPV 1 ) | โรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งที่ 1 ในเด็กอายุมากกว่า 15 สัปดาห์ – |
4 เดือน | วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค ( DTP-HB-Hib 2 ) เข็มที่ 2 วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน ครั้งที่ 2 ( OPV 2 ) วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด ( IPV ) วัคซีนโรต้า ( Rota ) เข็มที่ 2 | โรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด 1 เข็ม ( IPV ) พร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ชนิดรับประทาน 1 ครั้ง ( OPV ) ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งสุดท้าย ในเด็กอายุมากกว่า 32 สัปดาห์ |
6 เดือน | วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค ( DTP-HB-Hib 3 ) เข็มที่ 3 วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน ครั้งที่ 3 ( OPV 3 ) วัคซีนโรต้า ( Rota ) เข็มที่ 3 | โรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ – ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งสุดท้าย ในเด็กอายุมากกว่า 32 สัปดาห์ ให้ยกเว้นการได้รับวัคซีนโรต้าครั้งที่ 3 ในเด็กที่ได้รับวัคซีน Rotarix มาแล้ว 2 ครั้ง |
9 เดือน | วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด – คางทูม – หัดเยอรมัน ( MMR 1 ) เข็มที่ 1 | หากไม่ได้ฉีดเมื่ออายุ 9 เดือน ให้รีบติดตามฉีดโดยเร็วที่สุด |
1 ปี | วัคซีนป้องกัน โรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (LAJE 1) เข็มที่ 1 | – |
1 ปี 6 เดือน | วัคซีนรวมป้องกัน 3 โรค ( DTP 4 ) วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน ครั้งที่ 4 ( OPV 4 ) | คอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน – |
2 ปี 6 เดือน | วัคซีนป้องกัน โรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (LAJE 2) เข็มที่ 2 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด – คางทูม – หัดเยอรมัน ( MMR 2 ) เข็มที่ 2 | – – |
4 ปี | วัคซีนรวมป้องกัน 3 โรค ( DTP 5 ) วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน ครั้งที่ 5 ( OPV 5 ) | คอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน – |
ประถมศึกษาปีที่ 5 (นักเรียนหญิง) | วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี ( HPV 1 และ HPV 2 ) | ระยะห่างระหว่างเข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน กรณีเด็กหญิงไทยที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาให้ฉีดที่อายุ 11-12 ปี |
ประถมศึกษาปีที่ 6 | วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก ( dT ) | – |
3. ข้อควรปฏิบัติสำหรับคุณพ่อคุณแม่
- คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกมารับวัคซีนเด็ก ตามที่แพทย์กำหยดอย่างสม่ำเสมอ และควรนำสมุดบันทึกการรับวัคซีนในเด็กมาด้วยทุกครั้ง
- ไม่ควรรับวัคซีนขณะที่มีไข้สูง หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน ยกเว้นเป็นหวัด ท้องเสียโดยไม่มีไข้สามารถรับ วัคซีนได้
- แจ้งแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อน หากลูกมีประวัติแพ้ยา แพ้อาหาร เพื่อความปลอดภัยของเจ้าตัวเล็ก
- หลังรับวัคซีนไม่ควรกลับบ้านทันที ควรรอสังเกตอาการยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที เพื่อดูว่าปฏิกิริยาแพ้ยาหรือไม่
- ในระยะเวลา 2-3 วัน หลังจากได้รับวัคซีน หากมีไข้ขึ้น งอแง ไม่สบายตัว เกิดความผิดปกติรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
- ในกรณีที่ไม่สามารถมารับวัคซีนเด็กตามกำหนดได้ ควรรีบเร่งดำเนินการต่อทันทีหรือโทรสอบถามข้อมูล
4. คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในเด็ก
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น หลังจากได้รับวัคซีนเด็ก
อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วัคซีนทุกชนิดสามารถเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น การที่เด็กบางคนอาจมีรอยแดงหรือบวมบริเวณรอบ ๆ มีไข้ต่ำ ๆ เพราะนี่ถือว่าเป็นสัญญาณ บ่งบอกว่าร่างกายได้รับวัคซีนแล้ว และกำลังทำงานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอยู่นั่นเอง แต่หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดกังวลต่ออาการที่เกิดขึ้น หรือกลัวรับมือไม่ไหว ก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้ทันที
- ทำอย่างไรดี ? ลืมพาลูกไปฉีดวัคซีนเด็ก จำเป็นต้องเริ่มฉีดใหม่หมดหรือไม่ …
หากไม่ได้มารับวัคซีนตามนัด หรือได้รับวัคซีนล่าช้า สามารถพาคุณลูกไปรับวัคซีนย้อนหลังได้เลย ไม่จำเป็นต้องนับใหม่ ให้ฉีดต่อจบครบได้เลย
- สรุปวัคซีนเสริมจำเป็นจริงไหม ?
ถ้าถามว่าจำเป็นทุกตัวไหม บอกได้เลยว่าไม่จำเป็นต้องฉีดครบทุกตัว แต่มีบทบาทสำคัญ เพราะการฉีดวัคซีนเสริม เป็นการเสริมภูมิต้านทานให้แข็งแกร่งมากขึ้น โดยแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถพิจารณาว่าลูกควรฉีดตัวนี้ดีหรือตัวนั้น โดยการปรึกษากุมารแพทย์ ซึ่งแพทย์เขาก็จะวิเคราะห์ความเสี่ยง ผลข้างเคียง รวมไปถึงประโยชน์ของวัคซีนแต่ละตัวได้กระจ่างแจ่มแจ้ง ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
เจ้าตัวเล็กหายห่วง เจ็บนิ๊ดเดียว แต่แข็งแรงไปจนโต!
สร้างภูมิต้านทานที่ดีให้ลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด ด้วยการฉีดวัคซีนเด็ก เพื่อพัฒนาการที่ดี ไม่มีติดขัด แถมเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรงตั้งแต่ก้าวแรกของชีวิต ซึ่งวัคซีนเด็กที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเป็นป้อมปราการใหญ่ให้ลูกของเรา เพราะฉะนั้น ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษา และไม่ควรละเลยในการพาลูกไปฉีดวัคซีน เจ้าตัวน้อยจะได้เผชิญโลกกว้างแบบไม่มีลิมิต ชีวิตเกินร้อย! ยังมีความรู้เกี่ยวกับแม่และเด็กอีกมากมายให้ได้ท่องไปด้วยกัน เช่น แพมเพิสยี่ห้ออะไรดี ที่จะช่วยแนะนำแพนเพิสยี่ห้อ Top 5 ที่คุณพ่อคุณแม่ควรมี และบทความเกี่ยวกับคุณแม่โดยเฉพาะ ถ้าท่อน้ำนมอุดตันทำอย่างไรดี ? เป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่มือใหม่มากๆ ตามดูกันโลด!
ข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข – ddc.moph.go.th