วันเช็งเม้งหรือเทศกาลเช็งเม้ง คือเทศกาลที่ลูกหลานเชื้อสายจีนรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยที่ลูกหลานจะกลับมารวมตัวกันและเดินทางไปยังสุสานเพื่อกราบไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับที่ฮวงซุ้ย นอกจากเป็นการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษแล้ว นี่ยังเป็นโอกาสที่จะได้พบปะญาติ ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันหลังจากที่ไม่ได้เจอกันมานาน
เทศกาลเช็งเม้งในประเทศจีน เริ่มต้นประมาณวันที่ 4-5 เมษายน ไปจนถึง 19-20 เมษายน เทศกาลเช็งเม้งในไทยจะยึดวันที่ 5 เมษายนของทุกปี แต่บางปีก็จะเป็นวันที่ 4 อย่างเช่นปี 2567 นี้ คำว่า “เช็งเม้ง” มาจากภาษาจีนกลางว่า ชิงหมิง 清明节 (qing ming) แปลว่าช่วงเวลาที่อากาศสดชื่น ท้องฟ้าแจ่มใส ซึ่งในประเทศจีนช่วงเวลานี้จะเป็นฤดูใบไม้ผลิ อากาศจะสดชื่นเย็นสบาย และวันนี้ถือเป็น 1 ใน 8 เทศกาลสำคัญของชาวจีนอีกด้วย
Credit : Unsplash
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
วันเช็งเม้ง 2567 เริ่มวันไหน
วันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567
ตำนาน ประวัติความเป็นมาของวันเช็งเม้ง
เช็งเม้ง เป็นเทศกาลที่มีประวัติความเป็นมามากกว่า 2,000 ปีมาแล้ว ในยุคชินชิว องค์ชายฉงเอ๋อ แคว้นจิ้น ได้หนีออกจากแค้วน ไปมีชีวิตลำบากที่นอกเมือง โดยมีเจี้ยจื่อทุยเป็นผู้ติดตาม ระหว่างที่ใช้ชีวิตอย่างลำบาก เจี้ยจื่อทุยผู้มีจิตใจเมตตา ได้เชือดเนื้อที่ขาของตัวเองให้องค์ชายกินเพื่อประทังชีวิต เมื่อองค์ชายได้กลับมายังแคว้นและได้ขึ้นครองแคว้น นามจิ้นเหวินกง ได้ตอบแทนขุนนางทุกคนที่คอยช่วยเหลือตนยามลำบากยกเว้นเจี้ยจื่อทุย
หลังจากนั้นมีคนมาเตือนจิ้นเหวินกงถึงบุญคุณของเจี้ยจื่อทุยที่ลืมไป พอนึกขึ้นได้จึงจัดสรรสวัสดิการบ้านเรือนให้มารดาและเจี้ยจื่อทุยอยู่อย่างสบาย แต่ถึงกระนั้นเจี้ยจื่อทุยได้ปฏิเสธไป จิ้นเหวินกงจึงคิดแผนเผาภูเขาเพื่อที่จะให้เจี้ยจื่อทุยและมารดาอพยพออกจากบ้าน แต่โชคร้ายที่ทั้งสองคนนั้นเสียชีวิตในกองเพลิง จิ้นเหวินกงเสียใจมาก และได้สั่งให้ทุกวันนั้นของทุกปีไม่ให้มีการก่อไฟ ให้รับประทานแต่อาหารสด ๆ และเย็น ๆ เป็นที่มาของเทศกาลวันกินอาหารเย็น หรือ เทศกาลหันสือเจี๋ย (寒食节) ซึ่งเป็นวันสุกดิบก่อน 1 วัน และคนโบราณนิยมถือปฏิบัติตามประเพณีวันหันสือเจี๋ยต่อเนื่องไปจนถึงวันไหว้เช็งเม้ง นานวันเข้าเทศกาลทั้งสองก็รวมเป็นวันเดียวกัน การไหว้เจี้ยจื่อทุยจึงค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นการไปไหว้บรรพบุรุษแทนในที่สุด
อาหารไหว้เช็งเม้ง ต้องเตรียมอะไรบ้างสำหรับการไหว้บรรพบุรุษ
ในวันนี้ แน่นอนว่าต้องมีอาหารไหว้เช็งเม้ง ซึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมในการไหว้แบ่งออกเป็น 5 หมวด ได้แก่
- อาหารคาว ได้แก่ ไก่ต้ม หมูสามชั้นที่มีขนาด ½ กิโลกรัมขึ้นไป เส้นบะหมี่สด
- อาหารหวาน ได้แก่ เต่เหลี่ยว ข้าวเหนียวกวน ขนมเต่า (ขนมกู้) ขนมถ้วยฟู (ฮวดโก้ย) น้ำชา
- ผลไม้มงคล 5 อย่าง เช่น สัปปะรด กล้วย องุ่น ขนุน ส้ม แอปเปิ้ล
- กระดาษเงินกระดาษทอง ธูปเทียน
- ของตกแต่งฮวงซุ้ย เช่น ธงประดับหลากสี
ไหว้เช็งเม้งเวลาไหน
ต้องไหว้ในช่วงเช้าก่อนเที่ยง โดยให้ผู้อาวุโสเป็นผู้นำกราบ ควรไหว้ศาลแป๊ะกงก่อน จากนั้นจึงไปถึงขั้นตอนการทำความสะอาดฮวงซุ้ย ปัดกวาดเศษหญ้า ปลูกต้นไม้ให้สวยงาม ทาสีป้ายหลุมศพให้ดูใหม่ ประดับตกแต่งด้วยรุ้งประดับหลากสี เมื่อเสร็จพิธีแล้วครอบครัวจะมานั่งรับประทานอาหารร่วมกันหน้าหลุมศพ
ข้อห้าม ข้อที่ควรรู้และปฏิบัติในเทศกาลไหว้เช็งเม้ง
- ห้ามวางสิ่งของบริเวณแท่นหน้าเจียะปี (ป้ายหินที่สลักชื่อบรรบุรุษไว้) เพราะเชื่อว่าเป็นที่เข้าออกวิญญาณบรรพบุรุษ
- ควรจุดประทัดทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห้ามจุดทางทิศตะวันตกเด็ดขาด
- ไม่ควรนำธงแหลมไปปักลงหลังเต่าของสุสาน
- หญิงที่ตั้งครรภ์และมีประจำเดือนไม่ควรไปที่สุสาน
- ไม่ควรแต่งตัวสีสดไป เนื่องจากจะเป็นการไม่ให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่
เทศกาลเช็งเม้งเป็นวันที่ให้ลูกหลานระลึกถึงคุณความดีของบรรพบุรุษที่ได้ทำไว้ ให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต ช่วยเตือนสติว่าความตายต้องเกิดขึ้นกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร อีกทั้งยังเป็นการรวมตระกูลหรือเป็นอีกหนึ่งวันรวมญาติเพื่อให้ทุกคนมาพบปะกันนั่นเอง