แต่ละเดือนในปฏิทินของเราก็จะมีวันพระอยู่แล้ว แต่สำหรับวันพระใหญ่นั้นในปี ๆ หนึ่งจะมีอยู่แค่ไม่กี่วัน ซึ่งแต่ละวันก็มีตำนานประวัติความเป็นมาและเรื่องเล่าที่แตกต่างกันออกไป วันพระสำคัญ ๆ ที่เรารู้จักกันดีก็คือวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา วันพระเหล่านี้ยังถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดประจำปีของพวกเราด้วย คราวนี้เราจะมาทำความรู้จักกับวันมาฆบูชาก่อนเลยว่าคือวันอะไร มีประวัติวันมาฆบูชาและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอะไรที่เราควรรู้กันบ้าง รวมทั้งวันมาฆบูชาวันที่เท่าไหร่สำหรับปีนี้ ตามมาดูได้เลย
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
วันมาฆบูชาวันที่เท่าไหร่
ปีนี้วันมาฆบูชาวันที่เท่าไหร่? วันมาฆบูชา 2567 ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งในปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 แต่เนื่องจากตรงกับวันเสาร์ จึงมีการหยุดชดเชยในวันจันทร์ถัดไปที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567
Cr: shutterstock
ประวัติวันมาฆบูชามีที่มาอย่างไร
“วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระอรหันต์จำนวน 1250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย” นอกจากนี้ประวัติวันมาฆบูชายังมีความสำคัญที่เกิดเหตุการณ์พิเศษ 4 ประการในวันเดียวกัน คือ
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปฏิโมกข์แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร แห่งกรุงราชคฤห์
- พระภิกษุสงฆ์ทั้ง 1250 รูป นั้น ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือ ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า
- พระภิกษุสงฆ์ทั้ง 1250 รูป นั้นล้วนบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วทั้งสิ้น
- เป็นวันที่ พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
ทั้ง 4 เหตุการณ์พิเศษด้านบนนี้เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ทำให้เรามักเรียกวันมาฆบูชาว่า วันจาตุรงคสันนิบาตด้วย
พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ในคืนวันมาฆบูชาหมายถึงอะไร?
คำว่า มาฆะ หรือ มฆา เป็นชื่อของกลุ่มดาวฤกษ์ในราศีสิงห์ ที่มีชื่อในภาษาล้านนาว่า ดาวงู หรือ ดาวสาวน้อย ซึ่งตรงกับภาษาไทยว่า ดาวลิง ดาวงูเลื้อย ดาวงูตัวผู้ ซึ่งโดยปกติแล้วโลกของเรานั้นจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ และมีดวงจันทร์โคจรล้อมรอบโลกอีกที พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ นั้นคือปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์โคจรผ่านกลุ่มดาวมาฆะ นี้ซึ่งมักจะตรงกับ เดือน ที่ 3 ของทุกปีในปฏิทินจันทรคติ จึงกลายเป็นชื่อเรียกของวันมาฆบูชานั่นเอง
วันมาฆบูชามีกิจกรรมอะไรน่าทำบ้าง?
Cr: shutterstock
ประเพณีการเวียนเทียนในวันมาฆบูชา
โดยปกติแล้ว วันสำคัญทางพุทธศาสนา อย่างเช่น วันมาฆบูชา วันวิสาฆบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวัน อาสาฬหบูชา ซึ่งตามวัดต่าง ๆ ก็จะมีการจัดงาน เวียนเทียน ขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ระลึกถึงสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิด และ ทำจิดใจให้สงบ
ประเพณีการเวียนเทียนนั้นเริ่มต้นมาจากประเทศอินเดีย ที่เป็นการเดินเวียนทางขวาบริเวณรอบปูชนียสถาน เช่นโบสถ์หรือเจดีย์ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งนั้น ๆ อย่างสูงสุด ต่อมาได้มีการเผยแพร่มายังประเทศไทยมีการบันทึกในพงศวดารว่ามี ประเพณีการเวียนเทียนมาตั้งแต่ในสมัยทวารวดีแล้ว
ทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน
การทำบุญตักบาตรในวันพระ โดยเฉพาะวันพระใหญ่อย่างวันมาฆบูชาถือเป็นการเสริมสร้างสิริมงคลให้กับผู้ทำ และเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมไม่ว่าจะในวาระมงคลใด ๆ ของพุทธศาสนิกชน ซึ่งการร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตรก็จำเป็นต้องตรวจสอบรายละเอียดของสถานที่ที่เราต้องการไปร่วมกิจกรรมว่าเป็นการตักบาตรอาหารสด หรือ การตักบาตรอาหารแห้งซึ่งจะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน เพื่อให้ตรงตามจุดประสงค์ที่เจ้าของงานต้องการ และหากต้องการถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์ที่วัดก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถทำได้เช่นกัน
ฟังธรรม หรือ ปฏิบัติธรรม
ในฐานะพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่ไม่ได้มีเวลาในการศึกษาพระธรรมคำสอน ในวาระวันสำคัญทางพุทธศาสนาเช่น วันมาฆบูชา จึงถือเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำบุญด้วยการฟังธรรม หรือ ปฏิบัติธรรม เพื่อให้ได้แง่มุมและหลักในการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธศาสนา ซึ่งอาจหาไม่ได้ในโอกาสวันสำคัญอื่น ๆ
ถือศีล นั่งสมาธิ
การถือศีล ไม่ว่าจะศีล 5 หรือ ศีล 8 รวมถึงการนั่งสมาธิ เป็นกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนใช้โอกาสในวันสำคัญทางศาสนาในการนำมาปฏิบัติ ซึ่งกล่าวกันว่าการถือศีลในวันพระใหญ่นั้นมีอานิสงส์มาก และถือเป็นการขัดเกลาฝึกความอดทนอดกลั้นของตัวเองด้วยในอีกทางหนึ่ง
ทำทาน
เป็นกิจกรรมที่ชาวพุทธรู้จักและทำได้บ่อยไม่ว่จะในโอกาสใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำทานเนื่องในวันเกิด วันขึ้นปีใหม่ วันอุปสมบทพระ ฯลฯ ซึ่งวันพระใหญ่เช่นวันมาฆบูชาก็นับเป็นอีกหมุดหมายที่พุทธศาสนิกชนจะสามารถทำทานได้ นับเป็นการสร้างบุญและส่งมอบความสุขไปสู่มือผู้ให้ด้วยในตัว
ความเชื่อเกี่ยวกับการทำบุญในวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชานั้น ตามวัดต่าง ๆ จะมีการจัดงานเวียนเทียนขึ้น เพื่อให้พุทธศาสนิกชนนั้นตระหนักถึงคำสั่งสอนในพุทธศาสนา โดยเฉพาะคำสอนใน โอวาทปาติโมกข์ ใน พระพุทธพจน์คาถาที่สอง ที่กล่าวถึงความสำคัญ 3 อย่าง คือ
- การไม่ทำบาปทั้งปวง
- การทำกุศลให้ถึงพร้อม
- การทำจิตใจให้บริสุทธิ์
ตามวัดวาอารามต่าง ๆ ก็ได้มีการจัดงาน เวียนเทียน และอำนวยความสะดวกให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสสักการะและทำความเคารพพระไตรปิฏกและคำสอนทางพุทธศาสนาที่ถืออาจจะไม่ได้มีโอกาสทำได้บ่อยนัก
นอกจากนี้วันมาฆบูชา 2566 นั้นยังถือว่าเป็นวันพระใหญ่อีกหนึ่งวัน ซึ่งมีความเชื่อที่ถูกบอกต่อกันมาแต่โบร่ำโบราณว่า การทำบุญในวันพระใหญ่นั้น ผลบุญที่จะส่งผลไปยังเจ้ากรรมนายเวรหรือญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะ มีความเชื่อว่า วันพระ เป็นวันที่ ประตูนรกเปิดและสัตว์นรกต่าง ๆ จะได้รับการละเว้นโทษทำให้ได้รับผลบุญทันที ในฝั่งของสวรรค์ก็มีความเชื่อว่าวันพระนั้นจะมีประชุมของเทวดา บรรดาเทวดาที่คอยบันทึกการทำความดีของมนุษย์ จะนำข่าวการสร้างบุญไปให้เหล่าเทวดาได้อนุโมทนาบุญร่วมกันในวันพระ
คำถามถามบ่อยเกี่ยวกับวันมาฆบูชา
Cr: shutterstock
นอกจากคำถามที่เรามักสงสัยอยู่เสมอและถูกถามบ่อยว่าวันมาฆบูชาวันที่เท่าไหร่ เราก็ยังมีคำถามที่มักจะสงสัยกันอยู่เสมอและถูกถามเข้ามาบ่อย เช่น
ถาม: วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดธนาคารไหม แล้วธนาคารและสถาบันการเงินจะหยุดในวันมาฆบูชาหรือเปล่า?
ตอบ: วันมาฆบูชาถือเป็นวันหยุดราชการและเป็นวันหยุดประจำปีของภาคธนาคาร ดังนั้นธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ จะปิดทำการในวันนี้
ถาม: วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดไปรษณีย์ไหม ยังไปส่งของที่ไปรษณีย์ได้หรือเปล่า?
ตอบ: วันมาฆบูชาถือเป็นวันหยุดราชการและไปรษณีย์จะปิดทำการเช่นเดียวกัน
ถาม: มาฆบูชาคือวันอะไร เวียนเทียนไหม? แล้วการเวียนเทียนในวันวันมาฆบูชาเริ่มกี่โมง?
ตอบ: วันมาฆบูชาคือวันพระใหญ่ และปกติแล้วในทุกวันสำคัญของศาสนาพุทธจะมีการเวียนเทียนด้วย การเวียนในวันมาฆบูชาและวันพระอื่น ๆ จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเย็น ๆ คือ ราว 5 โมงไปจนถึงช่วงค่ำ แล้วแต่ความสะดวกและลำดับการจัดงานของแต่ละวัด
ถาม: วันมาฆบูชา เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ว่าอย่างไร?
ตอบ: สามารถใช้ทับศัพท์ โดยเขียนว่า Magha Puja หรือใช้คำว่า Buddhist All Saints’ Day ที่หมายถึง วันจาตุคสันนิบาต ได้เลย
คราวนี้เราก็คงไม่ต้องสงสัยกันอีกแล้วว่า วันมาฆาบูชาวันที่เท่าไหร่ หรือวันมาฆบูชาคือวันอะไร เวียนเทียนไหม? รวมถึงประวัติของวันมาฆาบูชาและกิจกรรมที่เรา ๆ ในฐานะพุทธบริษัทสามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งสำหรับใครที่ยังไม่มีแผนว่าวันมาฆบูชาปีนี้จะไปไหนก็สามารถแวะเวียนไป ไหว้พระ ทำบุญ ถวายสังฆทาน สวดมนต์ตามหนังสือสวดมนต์ ฟังเทศน์ฟังธรรม เพื่อเป็นสิริมงคลแต่ตัวเองได้ อ่านบทความที่น่าสนใจ เช่น 10 หนังสือสวดมนต์และวิธีสวดมนต์ที่ถูกต้อง ได้เลยที่ Shopee Blog