วันปิยมหาราช (Chulalongkorn Day) ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อเป็นการเชิดชูและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ความสำคัญของวันปิยมหาราช
นอกจากวันปิยมหาราชจะเป็นวันหยุดราชการประจำปีแล้ว วันปิยมหาราชยังเป็นวันที่เหล่าพสกนิกรชาวไทยนำดอกไม้ธูปเทียนพวงมาลาไปถวายบังคมต่อพระบรมราชานุสรณ์ขององค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือพระปิยมหาราช ณ พระบรมรูปทรงม้าซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม และทำบุญตักบาตรอุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ความเป็นมาของวันปิยมหาราช
วันปิยมหาราช ชื่อนี้มาจากพระสมัญญานามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และเนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 40 พรรษา ในปีพ.ศ. 2451 ประชาชนได้ร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายพร้อมกับพระสมัญญานาม
ต่อมาในวัน 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระปิยมหาราชทรงประชวรด้วยโรคพระวักกะ (ไต) ได้เสร็จสวรรคคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้งนั้นเป็นที่เศร้าเสียใจของประชาชนชาวไทยอย่างยิ่ง หลังจากนั้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันปิยมหาราช”
พระราชประวัติรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่สี่ในพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (พระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์” ซึ่งคำว่า “จุฬาลงกรณ์” นั้นแปลว่า เครื่องประดับผม อันหมายถึง “พระเกี้ยว” ที่มีรูปเป็นส่วนยอดของพระมหามงกุฎหรือยอดชฎา เมื่อพระชนมายุได้ ๙ พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น “กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ” ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น “กรมขุนพินิตประชานาถ”
พระราชประวัติรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับพระขนิษฐาและพระอนุชา
1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์
2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
3. สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
พระราชประวัติรัชกาลที่ 5 ด้านการศึกษา
ในด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เริ่มทรงอักษรภาษาไทย ภาษาเขมร รวมถึงโบราณราชประเพณีในสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดาหลังจากนั้นได้ทรงศึกษาต่อในสำนักเจ้านายและขุนนางอื่น ๆ ในด้านภาษาบาลี วิชาปืนไฟ มวยปล้ำ กระบี่กระบอง คชกรรม อัศวกรรม นอกจากนี้ยังมีวิชารัฐประศาสนศาสตร์ราชประเพณี และโบราณคดี ได้ทรงร่ำเรียนจากสมเด็จพระราชบิดา
นอกจากนี้สมเด็จพระบิดาของพระองค์ได้เล็งเห็นความสำคัญขององค์ความรู้อื่น ๆ ที่ยังไม่มีในภาษาไทย จึงได้ทรงจ้างครูชาวอังกฤษมาสอนภาษาอังกฤษให้แก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย ทำให้หลังจากการขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่สามารถตรัสภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี
พระราชประวัติรัชกาลที่ 5 การผนวช
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระปิยมหาราช) มีพระชนมายุครบ 20 พรรษา จึงผนวชเป็นพระภิกษุในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2416 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จไปประทับที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลา 15 วันแล้วจึงทรงลาสิกขา
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถึง 2 ครั้งด้วยกัน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตจากไข้ป่าขณะเสด็จออกทอดพระเนตรปรากฎการณ์สุริยุปราคา เมื่อสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ในที่ประชุมได้ลงมติเอกฉันท์ที่ทูลเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดา ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 ในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ดังนั้นจึงได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว”
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 หลังจากทรงลาสิขาแล้ว ได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พระราชกรณียกิจ ร.5
ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระปิยมหาราช พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงประเทศด้วยพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกล ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายครั้งแก่ประเทศ ทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าอย่างรอบด้าน
พระราชกรณียกิจ ร.5 ด้านการเลิกทาส
พระราชกรณียกิจ ร.5 ที่สำคัญอย่างแรกคือ การประกาศเลิกทาส ด้วยพระเมตตาของพระองค์ที่เห็นเหล่าทาสถูกนายเงินกดขี่ข่มเหง ทำงานหนัก และถูกลงโทษอย่างทารุณ พระองค์ทรงเห็นว่าไม่ยุติธรรมและเล็งเห็นว่าทาสเป็นเครื่องถ่วงความเจริญของชาติ ในปีพ.ศ. 2411 ได้ทรงตราพระราชบัญญัติลดทาส จนถึงปีพ.ศ. 2448 จึงทรงตราพระราชบัญญัติเลิกทาส
พระราชกรณียกิจ ร.5 ด้านปฏิรูประบบราชการ
ในปีพ.ศ.2431 สมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรงให้ยกเลิกระบบจตุสดมภ์ที่ปกครองแบบเวียง วัง คลัง นา เพื่อให้หน้าที่รับผิดชอบไม่ซ้ำซ้อนและมีมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงทดลองทำงานเป็นเวลาเหมือนประเทศตะวันตกคือ 8.30 – 16.00 น. ต่อมาในปีพ.ศ. 2435 ได้มีการขยายจากกรมเป็นกระทรวงทั้งสิ้น 12 กระทรวง เพื่อให้การทำงานชัดเจนมากขึ้น
พระราชกรณียกิจ ร.5 ด้านการศึกษา
หลังจากการประกาศเลิกทาส พระราชกรณียกิจ ร.5 ที่สำคัญตามมาคือด้านการศึกษา หลังจากที่ประชาชนเป็นไทมากขึ้น แต่ยังขาดความรู้ พระองค์ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเรียนหนังสือได้ และได้ตั้งโรงเรียนสามัญชนแห่งแรกของไทยชื่อว่า “โรงเรียนวัดมหรรณพาราม” รวมถึงมีการออกพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ ให้คนไทยในสมัยนั้นเรียนหนังสืออย่างน้อย 3 ปี และให้วัดเป็นสถานที่เรียนหนังสือ
พระราชกรณียกิจ ร.5 ด้านการปฏิรูประบบการเงินและคลัง
ในสมัยของสมเด็จพระปิยมหาราช ได้มีพระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ การปฏิรูประเบียบการเงินการคลัง โดยได้มีการจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ และมีการจัดระเบียบการจัดเก็บภาษีเสียใหม่เพื่อให้เกิดสมดุลในการปกครอง
พระราชกรณียกิจ ร.5 ด้านการต่างประเทศ
อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจ ร.5 ที่เด่นชัดเป็นที่ประจักษ์แก่คนทุกรุ่นคือ ด้านการต่างประเทศ ซึ่งในสมัยของพระองค์ เป็นยุคของการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระปิยมหาราช ทำให้แผ่นดินไทยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ถึงแม้จำเป็นต้องเสียแผ่นดินบางส่วนไปบ้าง
พระราชกรณียกิจ ร.5 ด้านการโทรศัพท์
ในปีพ.ศ.2424 สมัยรัชการของพระปิยมหาราช ทางกรมกลาโหมได้เริ่มนำโทรศัพท์เข้ามาทดลองใช้ที่กรุงเทพฯ ถึงสมุทรปราการ โดยกรมโทรเลขได้รับหน้าที่ในการจัดตั้งโทรศัพท์กลางเพื่อให้ประชาชนเช่าใช้
พระราชกรณียกิจ ร.5 ด้านสาธารณูปโภค
มีการวางระบบท่อประปาครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2452 พร้อมทั้งทรงให้กักเก็บน้ำจากแม่น้ำเชียงรากและขุดคลองเพื่อส่งน้ำอีกด้วย ในด้านการคมนาคม ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงให้มีการเริ่มสร้างรถไฟไปนครราชสีมา และเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – พระนครศรีอยุธยา อีกทั้งยังทรงให้สร้างสะพานและถนนอีกหลายสาย อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลศิริราช สร้างโรงงานไฟฟ้า และริเริ่มการไปรษณีย์
ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ถือเป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรือง ประเทศไทยพัฒนาในหลากหลายด้าน ด้วยพระปรีชาสามารถของพระปิยมหาราช ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รักของประชาชนชาวไทย ทุกวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี จึงถือเป็น “วันปิยมหาราช” ที่ทุกคนจะร่วมกันรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
อ้างอิงจาก: dmc.tv, finearts.go.th, silpa-mag.com
Feature Image credit : pantip