การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นวิธีการที่เหมาะกับคู่สมรสที่มีปัจจัยต่าง ๆ หรือความผิดปกติบางอย่างทางร่างกายที่ส่งผลให้มีบุตรยาก เช่น ฝ่ายหญิงมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ท่อนำไข่อุดตันหรือถูกทำลาย มีภาวะไม่ตกไข่หรือไข่ตกช้าเนื่องจากภาวะหรือโรคบางอย่างที่ทำให้ระบบฮอร์โมนผิดปกติไป และฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิ ได้แก่ จำนวนน้อย รูปร่างผิดปกติ เคลื่อนที่ไม่ดี เป็นต้น
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
เด็กหลอดแก้ว คือ
IVF (In vitro Fertilization) เด็กหลอดแก้ว คือ วิธีการรักษาโรคมีบุตรยากด้วยวิธีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ในหลอดทดลอง จากนั้นจึงนำตัวอ่อนที่ได้มาเพาะเลี้ยงต่อจนอายุ 3 – 5 วัน จึงนำกลับเข้าสู่ร่างกายฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการฝังตัวและเกิดการตั้งครรภ์ต่อไป
ทำเด็กหลอดแก้ว มีโอกาสสำเร็จมากแค่ไหน
การทำเด็กหลอดแก้วจะสำเร็จหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่นสภาพร่างกาย คุณภาพของไข่และอสุจิ อายุของฝ่ายหญิง โดยฝ่ายหญิงที่มีอายุน้อยจะมีไข่ที่แข็งแรงและมีโอกาสจะประสบความสำเร็จสูง ซึ่งช่วงอายุของฝ่ายหญิงที่ต่างกันจะมีโอกาสตั้งครรภ์ ได้แตกต่างกันอีกดังนี้
- ผู้หญิงอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับอายุ 34 ปี จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ถึง 40%
- ผู้หญิงที่มีอายุ 35 – 37 ปี จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 31%
- ผู้หญิงที่มีอายุ 38 – 40 ปี จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 21%
- ผู้หญิงที่มีอายุ 41 – 42 ปี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 11%
- ผู้หญิงที่มีอายุ 43 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 5%


การเตรียมตัวของพ่อแม่ที่ต้องการทำเด็กหลอดแก้ว
การปฏิบัติตนสำหรับฝ่ายหญิง
- การรับประทานอาหาร และการดื่มน้ำที่เพียงพอ เพื่อคุณภาพไข่ที่ดีควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 2 ลิตร และรับประทานโปรตีน ไม่น้อยกว่า 60 มิลลิกรัม
- ควรงดแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนก่อนเข้ารับการรักษา
- หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ทุกครั้งที่มีการรับยาเพื่อบรรเทาอาการป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- ออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป
- พักผ่อนอย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง
การปฏิบัติตนสำหรับฝ่ายชาย
- หลีกเลี่ยงการลงแช่อ่างน้ำอุ่นและการทำซาวน่า
- ไม่สวมใส่กางเกงชั้นในที่แน่นจนเกินไป
- งดสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ 3 เดือนขึ้นไปเช่นเดียวกับฝ่ายหญิง
- งดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 3 วันก่อนการเก็บเชื้ออสุจิ เพื่อตรวจหรือเพื่อนำไปใช้ผสมกับไข่
- ออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป
- พักผ่อนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียดจนเกินไป
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว


1. เริ่มต้นการกระตุ้นไข่
เริ่มต้นด้วยการพบแพทย์ การตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมน และทำอัลตร้าซาวด์ พร้อมกับฉีดฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ในวันที่ 2 หรือ 3 ของรอบเดือน จากนั้นแพทย์จะนัดตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อดูการเจริญเติบโตของไข่ และตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนเป็นระยะๆ โดยจะใช้เวลาในขั้นตอนนี้โดยประมาณ 8 – 10 วัน
2. ขั้นตอนการเก็บไข่
หลังจากมีการกระตุ้นไข่ด้วยฮอร์โมนจนไข่เจริญเติบโตจนได้ขนาดตามที่ต้องการแล้ว แพทย์จะทำการเจาะเก็บไข่จากรังไข่ โดยใช้เข็มดูดผ่านทางช่องคลอด โดยจะใช้การอัลตร้าซาวด์ช่วยบอกทิศทาง แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกระยะสั้นทางหลอดเลือด หรือวางยาสลบ เพื่อป้องกันความรู้สึกเจ็บปวดระหว่างขณะกำลังเก็บไข่ ซึ่งจะใช้เวลาเก็บไข่โดยประมาณไม่เกิน 20 – 30 นาที
ในขณะเดียวกัน ฝ่ายชายจะมีหน้าที่เก็บอสุจิใส่ภาชนะที่แพทย์ได้เตรียมไว้ให้ เพื่อนำมาคัดแยกเฉพาะอสุจิที่มีความสมบูรณ์ที่สุด เพื่อนำมาผสมกับไข่ในห้องทดลอง และตรวจดูการปฏิสนธิต่อไป กรณีที่ฝ่ายชายมีน้ำเชื้อน้อย หรือคุณภาพของอสุจิน้อยกว่ามาตรฐานมาก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่ไข่จะไม่ได้รับการผสม ควรใช้วิธีการคัดเลือกอสุจิเพียงตัวเดียวฉีดเข้าไปในไข่ โดยไม่ต้องรอให้ปฏิสนธิกันเองเรียกวิธีนี้ว่า อิ๊กซี่ (ICSI, Intracytoplasmic Sperm Injection)
3. การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน
เมื่อเกิดการปฏิสนธิไข่กับอสุจิจนเป็นตัวอ่อนแล้ว จะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการต่อจนเจริญเติบโต โดยมีแบ่งเซลล์เป็น 6 – 8 เซลล์ ใช้เวลาประมาณ 3 วันหลังปฏิสนธิ และเจริญเติบโตเข้าสู่ระยะบลาสโตซีสต์ ใช้เวลาประมาณ 5 วันหลังปฏิสนธิ
วิธีการย้ายตัวอ่อน มี 2 วิธี
คือการนำตัวอ่อนที่เตรียมไว้แล้วย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกด้วยการใช้เครื่องมือผ่านทางช่องคลอด เหมือนกับการตรวจภายใน ขั้นตอนนี้ไม่ต้องให้ยาระงับปวด หรือยานอนหลับ จะเป็นการใส่ตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก โดยจะอาศัยเครื่องอัลตร้าซาวด์ในการบอกตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะวางตัวอ่อนในโพรงมดลูก
1. ย้ายตัวอ่อนรอบสด EmbryoTtransfer (ET)
การย้ายตัวอ่อนในทันทีหลังจากเลี้ยงมาได้ อายุ 3 หรือ 5 วัน ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที โดยจะให้มาย้ายในวันที่ 6 ซึ่งก่อนหน้านั้นคุณแม่ก็จะได้รับประทานยาเตรียมโพรงมดลูกไว้เรียบร้อย
ข้อดีของการย้ายตัวอ่อนรอบสด
- ตัวอ่อน จะมีความสดใหม่และยังมีชีวิตอยู่
- ประหยัดกว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายในการระลายตัวอ่อนหรือแช่แข็งเพิ่มเติม
ข้อเสียของการย้ายตัวอ่อนรอบสด
- การย้ายตัวอื่นได้วิธีนี้จะไม่สามารถตรวจโครโมโซมได้ ทำให้ไม่ทราบความผิดปกติ
- ร่างกายคุณแม่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเพราะย้ายตัวอ่อนหลังเก็บไข่เพียง 6 วัน
- ฮอร์โมนร่างกายในคุณแม่อาจจะยังไม่คงที่ ซึ่งส่งผลต่อการรับตัวอ่อน
- จากสถิติการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีนี้มีอัตราสำเร็จที่น้อยกว่าอีกวิธี


2. ย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง Freeze Embryo transfer (FET)
หลังจากที่เลี้ยงตัวอ่อนเป็นระยะ 5 วันแล้ว แพทย์จะทำการนำตัวอ่อนทั้งหมดไปแช่แข็ง และเมื่อรอบเดือนถัดไปหรือเมื่อคุณแม่พร้อม ก็จะมาทำการละลายและย้ายตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูก
ข้อดีของการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง
- สามารถตรวจความผิดปกติของโครโมโซมได้
- คุณแม่มีโอกาสได้พักร่างกายจากการกระตุ้นไข่และเก็บไข่
- คุณแม่สามารถเลือกเดือนที่จะตั้งครรภ์ได้เพราะแช่เก็บไว้ หากต้องการตั้งครรภ์ปีหน้าก็สามารถมาย้ายตัวอ่อนในช่วงเวลานั้นได้
- การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีนี้มีโอกาสสำเร็จมากกว่า
ข้อเสียของการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง
- จะมีค่าใช้จ่ายการตรวจโครโมโซมและแช่แข็งเพิ่มเติม
- เฉพาะในบางสถานพยาบาลอาจคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการย้ายรอบแช่แข็ง
- เมื่อละลายตัวอ่อนมาแล้ว คุณภาพอาจลดลงแต่เพียงเล็กน้อย
- ต้องรอตรวจโครโมโซมและใส่ตัวอ่อนในรอบถัดไปไม่สามารถใส่ตัวอ่อนได้ทันที
ข้อปฏิบัติของคุณแม่หลังจากทำการย้ายตัวอ่อนจากการทำเด็กหลอดแก้ว
- ให้นอนพักประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง แล้วกลับไปพักต่อที่บ้านอีก 12 – 24 ชั่วโมง
- คุณแม่ที่ทำเด็กหลอดแก้วมาแล้ว จะต้องทำงานเบาๆ และจะต้องไม่เกร็งหน้าท้องหลังย้ายตัวอ่อนแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- ควรงดเพศสัมพันธ์ และไม่ควรสวนล้างช่องคลอด
- จากนั้นแพทย์จะนัดประมาณ 7 -10 วัน เพื่อตรวจการตั้งครรภ์อีกครั้ง
- ห้ามรับประทานยาอื่นๆ นอกเหนือจากที่แพทย์กำหนดให้เท่านั้น
- หากมีอาการผิดปกติ เช่นมีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องน้อยมาก ควรปรึกษาแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
การทำเด็กหลอดแก้ว มักจะเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้ครอบครัวหรือคู่สมรสที่มีลูกยาก ได้เป็นครอบครัวอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า คุณมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน สภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัว สภาพทางร่างกายและจิตใจ เพื่อจะได้พร้อมรับกับสมาชิกใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา แบบนี้ต้องซื้อของขวัญเด็กแรกเกิดไว้แล้วล่ะ
ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลวิชัยยุทธ / เปาโล / Beyondivf / Mamaexpert