การเพาะพันธุ์ปลาคราฟนั้นอาจเป็นเรื่องที่สนุก แต่ก็ต้องใช้เวลานานในการเลี้ยง โดยเฉพาะการเลี้ยงเพื่อผลกำไร เพราะราคาปลาคราฟก็ค่อนข้างสูงหากเทียบกับปลาเลี้ยงชนิดอื่นๆ ซึ่งสิ่งสำคัญในการเลี้ยงและเพาะพันธุ์เลยคือต้องดูแลบ่อให้สะอาด รวมถึงมีขั้นตอนและวิธีการต่างๆ มากมายในการเลี้ยง ทำให้มือใหม่อาจจะต้องเรียนรู้พื้นฐานของการเพาะพันธุ์ เพื่อให้ปลานั้นอยู่รอดและโตไว เลี้ยงอย่างไรให้เพาะพันธุ์ได้ มาดูเคล็ดลับดีๆ ที่เรามีมาฝากมือใหม่หัดเลี้ยงกัน
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
เลือกปลาคราฟอย่างไรในการเลี้ยง
Pic1 credit by unsplash.com
1. ก่อนที่เราจะเลี้ยงนั้น ควรรู้จักการเลือกปลาที่จะนำมาเลี้ยงกันก่อน ควรเลือกปลาที่มีอายุอย่างน้อย 3 ปี เพราะปลาคราฟญี่ปุ่นนั้นจะไม่โตเต็มที่จนกว่าจะอายุ 3 ปี เพื่อเพิ่มโอกาสในการผสมพันธุ์และผลิตลูกหลานที่มีคุณภาพ ซึ่งขนาดของปลาเมื่ออายุ 3 ปีนั้นจะมีความยาวประมาณ 10 นิ้ว หรือราวๆ 25 เซนติเมตร ส่วนราคาปลาคราฟจะขึ้นอยู่กับขนาด สายพันธุ์ และฟาร์มที่เลี้ยง
2. วางปลาตัวผู้และตัวเมียไว้ในบ่อเดียวกัน ในการเพาะพันธุ์เราจะต้องมีปลาตัวเมียอย่างน้อยหนึ่งตัวและตัวผู้หนึ่งตัว เพราะนั่นคือวิธีการทำงานของธรรมชาติ ปลาตัวผู้จะมีลักษณะของตัวที่เรียวยาวกว่า ในขณะที่ตัวเมียจะมีรูปร่างกลมกว่า และครีบของปลาตัวผู้ที่อยู่ใกล้หัวของมันจะมีความชัดเจนมากกว่าเมื่อเทียบกับตัวเมียที่มีครีบกลม และควรนำปลาออกจากบ่อหากไม่ต้องการผสมพันธุ์ สามารถสังเกตได้ง่ายๆ เมื่อมันเริ่มผสมพันธุ์ เนื่องจากตัวผู้จะไล่ตัวเมียไปรอบๆ บ่อ
3. เลือกปลาคราฟญี่ปุ่นที่มีคุณสมบัติอย่างที่เราต้องการ โดยพิจารณาคุณลักษณะที่เราต้องการสำหรับลูกหลานของมัน หากต้องการรูปทรงครีบให้เลือกปลาที่มีลักษณะนั้น หรือหากกำลังมองหาสีที่ต้องการ ให้เลือกพ่อแม่ปลาที่มีสีนั้นๆ อย่าลืมเลือกปลาที่มีอายุที่เหมาะสมด้วย ซึ่งอายุที่เหมาะสมที่สุดที่ปลาจะผสมพันธุ์คือประมาณ 3-6 ปี เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีแนวโน้มที่จะผสมพันธุ์และแพร่พันธุ์ได้
รู้จักสายพันธุ์ปลาคราฟที่นิยมเลี้ยง
Pic2 credit by unsplash.com
ปลาคราฟญี่ปุ่นมีมากมายกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่ดีที่สุด สวยงามที่สุด และเป็นที่นิยมในการเลี้ยงนั้นมีอยู่ 8 สายพันธุ์ ดังนี้
1. โกซันเกะ (Gosanke) คือชื่อเรียกปลา 3 สายพันธุ์ คือ Kohaku, Sanke และ Showa เป็นปลาสามสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงและได้ความนิยมมากที่สุด ผิวสีขาวแวววาว มีสีแดงและดำแต้มอยู่บนตัว มีให้เลือกหลายสีและมีความทนทาน ซึ่งราคาที่แพงที่สุดในโลกนั้นคือพันธุ์ Koharu เพราะถูกประมูลไปเกือบ 60 ล้านบาท
2. ฮิคาริมุจิ (Hikarimuji) เป็นปลาสีเดียวที่มีเกล็ดโลหะและสะท้อนแสง เหมาะที่สุดสำหรับคนที่มองหาปลาสีทึบเพื่อเน้นสีสันของตัวอื่นๆ
3. อุสึริโมโนะ (Utsurimono) เป็นหนึ่งในปลาคราฟที่สง่างามที่สุดที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน เนื่องจากมีลวดลายสีที่แปลกตาและสีของลำตัวที่โดดเด่น
4. คาวาริโมโนะ (Kawarimono) มักจะมีสีดำ และลวดลายแตกต่างจากพันธุ์อื่นๆ รวมถึงไม่มีความแวววาว
5. โคโรโม (Koromo) มีเกล็ดสีน้ำเงินอยู่ด้านบนของลวดลายปกติ และมีหลายพันธุ์ ที่พบมากที่สุดนั่นคือ Ai Goromo ที่มีความสง่างามด้วยผิวสีขาวราวกับคริสตัลและมีสีแดงเข้มสลับซ้อนกับสีน้ำเงินเข้มทั่วเกล็ด
6. เบคโกะ (Bekko) พันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่ง มีสีทูโทนและได้รับความนิยมมากที่สุดชนิดหนึ่ง และหาได้ยาก
7. อาซางิ (Asagi) ลวดลายมักจะไม่เป็นสีเดียวกับสมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ โดยทั่วไปจะแสดงเกล็ดสีน้ำเงินถึงฟ้าอ่อนที่ส่วนบนของร่างกาย
8. ชูซุย (Shusui) พันธุ์ผสมของเยอรมันและญี่ปุ่น หนึ่งในคุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดสำหรับพันธุ์นี้
วิธีเลี้ยงปลาคราฟ
Pic3 credit by unsplash.com
1. ปลาคราฟญี่ปุ่นมักจะผสมพันธุ์เมื่ออากาศอบอุ่นและอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมบ่อให้พร้อมเพราะปลาคราฟสามารถผลิตไข่ได้มากถึง 1 ล้านฟอง บ่อที่ใช้เลี้ยงควรเป็นบ่อซีเมนต์ที่มีขนาดลึก 3 ฟุต และ 6 ฟุต และกว้างประมาณ 8 ฟุต สำหรับการเลี้ยงปลา 5 ตัว หากมีจำนวนมากกว่านี้ก็ต้องมีบ่อที่ขนาดใหญ่ขึ้น
2. ใช้ระบบกรองเพื่อให้น้ำสะอาด บ่อน้ำที่สะอาดมีความสำคัญต่อสุขภาพของปลาและการวางไข่ ระบบกรองบ่อสามารถซื้อได้จากร้านขายสัตว์เลี้ยงหรือร้านขายปลาเฉพาะทาง ราคาจะอยู่ที่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น และหากบ่อสกปรกเป็นพิเศษหรือเต็มไปด้วยสาหร่ายหรือตะไคร่น้ำ ต้องทำความสะอาดให้หมด และอย่าลืมตรวจสอบให้แน่ใจว่าน้ำสะอาดและมีอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ อุณหภูมิที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 17-26 องศาเซลเซียส และควรใช้น้ำประปาจะดีที่สุด
3. ใช้กระชอนตาข่ายกำจัดเศษซากขยะต่างๆ หรือปลาอื่นๆ ออกจากบ่อเพื่อป้องกันการวางไข่ และเพื่อกำจัดสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อปลาของเราได้ หากมีแมวหรือนกเข้าใกล้บ่อปลา ให้คลุมบ่อด้วยตาข่ายขนาดใหญ่พอที่จะคลุมบ่อได้ทั่ว และยึดด้วยหินหนักๆ
4. ตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่าให้อาหารในช่วงเวลาที่ถูกต้อง แนะนำให้อาหารอย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง เนื่องจากปลาคราฟญี่ปุ่นต้องใช้พลังงานมากในการผสมพันธุ์ จึงจำเป็นต้องเติมพลังเพื่อที่มันจะได้ผลิตลูกที่มีคุณภาพในเวลาอันรวดเร็ว และควรป้อนอาหารให้มากที่สุดในเวลา 5 นาที อาหารที่แนะนำคือ ขนมปัง ข้าวสาลี รำ ผักกาด ข้าวโพด ล้วนเป็นตัวเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่อปลาทั้งสิ้น นอกจากนี้อย่าลืมเพิ่มปริมาณโปรตีนให้แก่ปลาด้วย เพราะจะช่วยสนับสนุนร่างกายของพวกมันสำหรับการผสมพันธุ์ อาหารเสริมโปรตีนสามารถซื้อได้จากร้านขายสัตว์เลี้ยง
5. ให้ความเป็นส่วนตัวกับปลา เช่นเดียวกับมนุษย์เพราะปลาเองก็ต้องการพื้นที่และความเป็นส่วนตัวในการผสมพันธุ์ ต้องใช้เวลาสักพักกว่าปลาจะผสมพันธุ์กันได้ ดังนั้น อย่าเพิ่งรีบร้อนควรให้เวลาและรออย่างใจเย็น
6. จัดหาสถานที่สำหรับการวางไข่ หากปลาหาที่วางไข่ไม่ได้พวกมันก็จะไม่ได้ผสมพันธุ์กัน แนะนำให้ใช้เสื่อญี่ปุ่นหรือแผ่นกรองโพลีเอสเตอร์วางไว้ในที่ที่เห็นได้ชัดที่ก้นบ่อ วิธีนี้ช่วยให้เราสังเกตเห็นไข่ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อปลาผสมพันธุ์แล้วเราจะเห็นฟองปรากฏขึ้นที่ด้านบนของน้ำ และไข่ของมันจะอยู่บนเสื่อกรอง รวมถึงอาจต้องเตรียมถังแยกสำหรับปลาที่โตเต็มวัย เพราะพวกมันจะกินไข่ได้
วิธีการดูแล
Pic4 credit by pexels.com
1. หมั่นตรวจสอบบ่อว่ามีฟองอยู่ด้านบนของน้ำหรือไม่ เพราะนี่แสดงว่าการวางไข่ได้รับการปลดปล่อยออกมาแล้ว และการวางไข่จะได้รับการปฏิสนธิทันทีโดยปลาตัวผู้ และไข่จะฟักเป็นตัวหลังจากนั้นประมาณ 4 วัน หากว่าคุณกำลังเพาะพันธุ์ปลาเพื่อขายเอากำไร ให้เอาพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อทันทีที่สังเกตเห็นไข่หรือฟองอยู่บนน้ำ
2. ให้อาหารเม็ดผงสำหรับลูกปลาหลังจาก 10 วัน โดยบดด้วยเครื่องปั่นหรือตำด้วยสากจนเป็นผงละเอียด และโรยผงให้ทั่วบ่อ และป้อนให้กินให้หมดใน 5 นาที ควรให้อาหารปลา 4 ครั้งต่อวัน และป้อนอาหารเม็ดลูกปลาต่อไปจนกว่าจะครบ 4 สัปดาห์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาราว 2-3 วันเพื่อให้ลูกปลาคุ้นเคยกับการกินอาหารผง และค่อยๆ เพิ่มขนาดอาหารเมื่อปลาอายุครบ 1 เดือน อาจต้องยังบดให้เป็นผง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นผงละเอียดอีกต่อไป
3. หากคุณมีบ่อขนาดเล็กและต้องการเพาะพันธุ์ปลาเพื่อผลกำไร จะต้องคัดปลาบางส่วนออก เลือกปลาที่มีขนาดเล็กมาก หรือมีความบกพร่องทางร่างกาย หรือไม่ใช่รูปแบบสีที่ต้องการ แต่ไม่จำเป็นต้องนำปลาไปทิ้ง ให้มอบให้กับคนอื่นๆ นำไปเลี้ยงต่อแทนจะดีกว่า ซึ่งปลาคราฟสามารถคัดได้ทุกเพศทุกวัย แต่ควรรอจนกว่าลวดลายจะออกมาดีที่สุด เพื่อที่เราจะได้เลือกเก็บปลาที่เป็นสีที่เราชื่นชอบ และให้ได้ปลาคราฟราคาดีที่สุด
สุขภาพปลาคราฟ(ปลาคาร์ป)และโรคทั่วไป
การรักษาสุขภาพของปลาคราฟ (ปลาคาร์ป) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ชื่นชอบปลาคราฟ ปลาสวยงามเหล่านี้มักติดโรคทั่วไปได้หลายอย่าง ซึ่งสามารถป้องกันได้หากดูแลและสังเกตอย่างถูกต้อง แต่เราได้รวบรวมมาแล้วว่าปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยที่สุดของปลาคราฟมีอะไรบ้างที่คุณควรรู้ไว้
Ichthyophthirius Multifiliis หรือ โรคจุดขาว (Ich หรือ โรคอิ๊ก)
มักเรียกกันว่า “โรคจุดขาว” โดยมีลักษณะเป็นจุดสีขาวคล้ายเกลือบนผิวหนัง ครีบ และเหงือกของปลา โรคนี้เกิดจากปรสิตและอาจติดต่อได้ง่าย การเพิ่มอุณหภูมิของน้ำเล็กน้อยและใช้ยาที่มีส่วนผสมของทองแดงสามารถรักษาโรค Ich ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ครีบเน่าหรือหางติดเชื้อ
การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ทำให้ขอบครีบหรือหางหลุดลุ่ยหรือสลายตัว ต้นเหตุอาจเป็นการสู้กันของเหล่าปลาคาร์ปทำให้บาดเจ็บก็เป็นได้ คุณภาพน้ำที่ไม่ดีมักทำให้ครีบเน่ามากขึ้น การรักษาคือการแยกบ่อ ให้ยาปฏิชีวนะ ปรับปรุงสภาพน้ำ ทายา เอาหางหรือครีบส่วนที่เน่าออกแล้วทายา รักษาแยกจนกว่าจะหาย
ไวรัสเริมปลาคาร์ป (KHV)
ไวรัสร้ายแรงนี้ส่งผลต่อปลาคาร์ปและปลาคาร์ปทั่วไป ทำให้เกิดจุดด่างบนเหงือก ลดความอยากอาหาร และมีเมือกเพิ่มขึ้น ไม่มีวิธีรักษาโรค KHV ดังนั้นการป้องกันโดยการกักกันและรักษาสภาพแวดล้อมที่ปลอดความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญ
การติดเชื้อรา
การเจริญเติบโตของขนสีขาวเคลือบบนผิวหนัง ครีบ หรือปากบ่งชี้ถึงการติดเชื้อรา ซึ่งมักเป็นผลจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น แผล การรักษา ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อราและปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพิ่มอุณหภูมิเล็กน้อยหรือเพิ่มอ็อกซิเจน อย่าลืมแยกปลาที่ป่วยออกมาจากบ่อกับเพื่อนปลาเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปอย่างน้อย 7-10 วัน
อาการปลาตาโปน
นี่ถือว่าเป็นอาการหรือโรคที่สังเกตง่าย เพราะปลาคราฟจะมีอาการตาโปนออกมาจากเบ้า ตาปูดอย่างค่อนข้างเห็นได้ชัด โดยสาเหตุมักเกิดจากสภาพแวดล้อมอย่างสภาพน้ำไม่เหมาะสม ควรทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อ รวมถึงใช้ใบหูกวางแช่ลงในน้ำ เพราะยางจากใบหูกวางจะมียางซึ่งช่วยรักษาอาการปลาคราฟตาโปนได้ อย่างไรก็ตามถ้า 3-4 วันแต่อาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาสัตวแพทย์
นี่เป็นเพียงบางโรคที่สามารถพบได้ในปลาคราฟเท่านั้น ปลาคราฟยังมีโรคที่เป็นได้อีกมากไม่ต่างจากคนและสัตว์ชนิดอื่น เพื่อป้องกันโรคเหล่านี้ คุณเจ้าของจำเป็นต้องตรวจสอบปลาคราฟของคุณเป็นประจำเพื่อดูว่ามีอาการหรือสภาพผิดปกติหรือไม่ รักษาสภาพน้ำให้เหมาะสม กักกันปลาใหม่ก่อนนำลงในบ่อเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
คุณภาพน้ำและการบำรุงรักษาบ่อ
คุณภาพน้ำในบ่อปลาคราฟไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อสุขภาพของปลาคราฟเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของปลาด้วย สภาพน้ำที่ไม่ดีอาจทำให้ปลาเครียด ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและเสี่ยงต่อโรคมากขึ้น ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพน้ำและการบำรุงรักษาที่คุณต้องคำนึงถึงมีดังนี้
ค่าสภาพน้ำ
ตรวจสอบว่าระดับ pH ของน้ำในบ่ออยู่ระหว่าง 7 ถึง 8.5 ระดับแอมโมเนียและไนไตรต์ควรเป็นศูนย์ ในขณะที่ไนเตรตควรอยู่ต่ำกว่า 20 ppm แนะนำให้ทดสอบด้วยชุดทดสอบน้ำเป็นประจำเพื่อรักษาค่าสภาพน้ำที่เหมาะกับปลาไว้ได้เสมอ
ระบบกรอง
ระบบกรองที่ดีมีความสำคัญในการรักษาความสะอาดของน้ำและออกซิเจน ตัวกรองเชิงกลจะกรองเศษขยะออก ในขณะที่ตัวกรองทางชีวภาพจะกรองแอมโมเนียและไนไตรต์ที่เป็นอันตรายให้เป็นไนเตรตที่เป็นอันตรายน้อยกว่า
การทำความสะอาดเป็นประจำ
กำจัดตะกอนและเศษขยะออกจากก้นบ่อ ซากใบไม้ต้นไม้เน่าเปื่อยที่อาจหล่นลงไปในบ่อสามารถปล่อยก๊าซที่เป็นอันตรายและส่งเสริมการเติบโตของแบคทีเรียและสาหร่ายที่ไม่ต้องการ ดังนั้นให้ตักเหล่าเศษใบไม้หรือซากสัตว์หรือแมลงออก
การเปลี่ยนน้ำ
เปลี่ยนน้ำบางส่วนทุกสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ โดยเปลี่ยนน้ำ 10-20% ของปริมาตรทั้งหมดเพื่อให้ความเข้มข้นของสารอาหารต่ำและคุณภาพน้ำสูง แต่ไม่แนะนำให้เปลี่ยนน้ำทั้งบ่อทีเดียวเพราะอาจทำให้ปลาเกิดอาการช็อกกับสภาพน้ำใหม่ทั้งหมดก็เป็นไปได้
การจัดการพืช
พืชน้ำสามารถช่วยดูดซับสารอาหารส่วนเกินและให้ร่มเงาแก่ปลาคาร์ป อย่างไรก็ตาม พืชที่เติบโตมากเกินไปอาจทำให้สูญเสียออกซิเจนในเวลากลางคืน และจำเป็นต้องได้รับการจัดการเพื่อรักษาสมดุล
การรักษาคุณภาพน้ำและความสะอาดของบ่อน้ำให้เหมาะสมนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนและมีสุขภาพดีสำหรับปลาคราฟของคุณอีกด้วย การบำรุงรักษาเป็นประจำสามารถป้องกันปัญหาทั่วไปหลายประการได้ และยังช่วยส่งเสริมสุขภาพโดยรวมของสัตว์เลี้ยงในน้ำที่คุณรักอีกด้วย
เป็นอย่างไรบ้างคะสำหรับมือใหม่หัดเลี้ยงปลาคราฟ ?
สำหรับคนที่กำลังสนใจที่จะเลี้ยงปลาคราฟ หรือต้องการเพาะพันธุ์ปลา ก็สามารถนำเอาเคล็ดลับต่างๆ นี้ไปใช้กันได้ เพราะการจะเลี้ยงปลาชนิดนี้ต้องใช้ความดูแลและเอาใจใส่อย่างมาก ยิ่งหากต้องการทำกำไรยิ่งต้องเลี้ยงดูให้ดี เพราะปลาคราฟราคาค่อนข้างสูงตามสายพันธุ์และการเลี้ยงดู แต่ถ้าหากต้องการเลี้ยงไว้ดูเล่น การรู้ถึงวิธีการเลี้ยงที่ถูกวิธี จะช่วยให้ปลาที่เราเลี้ยงมีอายุยืนยาว และออกลูกสวยๆ ให้เราได้เห็นนั่นเอง
ที่มา : wikihow.com , everythingkoi.com , aquariumstoredepot.com