ยังมีเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่เราคุ้นเคยกลิ่นของมันดีในอาหารคาวอย่าง พะโล้ มัสมั่น เนื้อตุ๋นหรือไก่ตุ๋น ในขณะที่เครื่องเทศตัวเดียวกันนี้ก็ยังถูกนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารหวานได้อย่างเข้ากัน อย่างขนมปังซินนาม่อน นำมาโรยหน้ากาแฟ หรือนำมาเป็นส่วนผสมในชา ด้วยกลิ่นหอม ๆ ที่ช่วยให้เจริญอาหารทั้งยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำให้เครื่องเทศตัวนี้ถูกนำมาใช้ปรุงในอาหารอย่างแพร่หลาย และวันนี้เราจะมาลองสำรวจเครื่องเทศตัวนี้กันว่ามาได้อย่างไร อบเชยสรรพคุณมีอะไรบ้าง และเราจะนำมันมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ทำความรู้จักอบเชย
อบเชย หรือ Cinnamon คือ เครื่องเทศชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอม ทำมาจากเปลือกไม้ชั้นในที่แห้งแล้วของต้นอบเชย ลักษณะของอบเชยจึงมีลักษณะเป็นแท่งไม้แห้ง ๆ สีน้ำตาล มีลักษณะม้วนงอเล็กน้อยเนื่องจากการคดงอจากการทำให้แห้ง มีรสหวานและมีกลิ่นฉุนเป็นเอกลักษณ์ นิยมนำมาทำอาหารให้แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ รวมทั้งนำมาทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้มีกลิ่นหอม ทั้งยาสีฟัน สบู่ เครื่องสำอาง ต้นอบเชย มีอยู่ด้วยกันอยู่หลากหลายสายพันธุ์ ได้แก่
1. อบเชยลังกา (Cinnamomum zeylanicum) หรือ “อบเชยเทศ” เป็นอบเชยที่มีคุณภาพสูงและมีราคาแพงที่สุด
2. อบเชยชวา (Cinnamomum burmanii Blume) มีคุณภาพรองลงมาแต่ราคาไม่แพงเท่าจึงได้รับความนิยมนำมาใช้สูงในปัจจุบัน
3. อบเชยญวน (Cinnamomum loureirii Nees) อบเชยชนิดนี้ไม่ค่อยหอมแม้จะมีรสหวานก็ตาม จึงอาจไม่เป็นที่นิยมนำมาปรุงอาหารนัก
4. อบเชยจีน (Cinnamomum cassia Nees ex. Blume) มีเปลือกหนาและเนื้อหยาบ นิยมนำเปลือกมาเป็นส่วนผสมในยาจีนที่ช่วยขับเหงื่อ แก้หวัด กระตุ้นกระเพาะอาหาร
5. อบเชยไทย (Cinnamomum bejolghota) สามารถพบในป่าในประเทศไทย มีเปลือกหนากว่าอบเชยชนิดอื่น ๆ ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนำมารับประทานนัก
สำหรับอบเชยชนิดที่ให้คุณภาพดี มีราคาแพงและเป็นที่นิยมนำมารับประทานกันทั่วไปคือ อบเชยเทศหรืออบเชยลังกา ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum verum J.Presl นิยมเรียกทั่วไปว่า Cinnamon Tree เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นจะสูงได้ตั้งแต่ 4-10 เมตร เปลือกและใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามกัน เส้นใบเรียงเป็นลักษณะพิเศษจากโคนไปยังปลายใบจำนวน 3 เส้น มีการออกดอกเป็นช่อสีเหลืองขนาดเล็กที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ นิยมนำเปลือกลำต้นมาทำเป็นเครื่องเทศที่เรียกว่าอบเชย หรือนำมาป่นเป็นผงเพื่อให้ง่ายต่อการใช้ในรูปแบบอบเชยป่น
อบเชย สรรพคุณเป็นอย่างไร
อบเชยสรรพคุณทางสมุนไพรมีฤทธิ์อุ่นร้อน ช่วยขับเหงื่อ ให้ความสดชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย น้ำมันสกัดจากอบเชยยังใช้เป็นยามีสรรพคุณช่วยขับลม ยังมีการนำอบเชยผงมาทำยานัตถุ์ แก้ปวดศรีษะ
ส่วนใบสามารถนำน้ำมันมาใช้แต่งกลื่น เนื่องจากใบของต้นอบเชยก็มีกลิ่นหอม หรือนำมาสกัดใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราและเชื้อจุลินทรีย์ แต่มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดการระคายเคืองได้มากกว่าน้ำมันสกัดที่ได้จากเปลือกของต้นอบเชย
ประโยชน์ของอบเชย
นอกจากสรรพคุณทางสมุนไพรของอบเชย เครื่องเทศชนิดนี้ยังมีคุณประโยชน์ในแง่โภชนาการและนำมาใช้อีกมากมาย การศึกษาล่าสุดได้เน้นย้ำถึงศักยภาพในการเป็นสารต้านการอักเสบ สารต้านอนุมูลอิสระ และแม้แต่ความสามารถในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้ การวิจัยที่กำลังดำเนินอยู่ยังชี้ให้เห็นว่าอบเชยอาจมีคุณสมบัติในการปกป้องระบบประสาท ซึ่งให้ประโยชน์ในการต่อสู้กับโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท คุณสมบัติที่น่าสนใจ มีดังนี้
- ในอบเชยมีสารแทนนิน (Tannins) เป็นสารที่มีรสขมในพืช มีคุณสมบัติในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ การรับประทานอาหารที่มีแทนนินอย่างอบเชยจึงสามารถช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย
- ในอบเชยมีสารประกอบฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอักเสบ ช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังช่วยให้บรรเทาอาการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย และช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นสรรพคุณที่คล้ายกับมะระขี้นกนั่นเอง
- ในอบเชยอุดมด้วยสารโพลีฟีนอล (Polyphenolics) ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จากงานวิจัยพบว่าอบเชยมีฤทธิ์ควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานทั้งประเภท 1 และประเภท 2 รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้ด้วย
- น้ำมันสกัดจากเปลือกอบเชยมีฤทธิ์เป็นยาต้านจุลชีพ ซึ่งทำให้อบเชยมีประโยชน์ต่อผิวในแง่ของการทำความสะอาดและยับยั้งการเติบโตของเชื้อจุลชีพเช่น แบคทีเรีย และเชื้อราบนผิวหนังได้
- อบเชยได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นตัวช่วยการจัดการโรคเบาหวาน เพราะสามารถเพิ่มความไวของอินซูลินและลดระดับน้ำตาลในเลือด เลียนแบบผลของอินซูลิน จึงช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- การบริโภคอบเชยเป็นประจำมีความเชื่อมโยงว่าสามารถลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ สารประกอบซินนามัลดีไฮด์อาจช่วยลดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อโรคหัวใจ
- นอกจากนี้ยังเชื่อว่าอบเชยยังอาจรักษาหรือลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งได้ด้วย
ด้วยคุณประโยชน์มากมายของอบเชยแบบนี้จึงทำให้เครื่องเทศชนิดนี้กลายมาเป็นที่นิยมนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารของคนเอเชียมายาวนาน คนจีนนิยมนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องยา และฝั่งยุโรปยังนิยมนำมาผสมในขนมหวาน เบเกอร์รี่ และชากาแฟอีกด้วย ทั้งนี้โทษของอบเชยยังอาจเป็นสิ่งที่ต้องระวัง เนื่องจากการรับประทานอบเชยในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทางเดินปัสสาวะ จนอาจทำให้ท้องเสีย อาเจียน วิงเวียนศีรษะได้
วิธีกินอบเชยผง
Credit: pixabay
การนำ ผงอบเชย หรือ ผงชินนาม่อน มาเป็นส่วนผสมในอาหารยังคงเป็นวิธีการที่สะดวกและปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งมีหลากหลายวิธีในการประยุกต์ใช้เพื่อให้ได้อาหารที่น่ารับประทานและให้ร่างกายได้รับคุณประโยชน์จากอบเชยอย่างครบถ้วน
- นำผงอบเชยมาปรุงกับอาหารหลัก โดยเฉพาะนำมาปรุงกับเนื้อสัตว์เพื่อดับกลิ่นเนื้อและเพิ่มกลิ่นหอมน่ารับประทานให้กับอาหาร ทั้งยังช่วยย่อยอาหารได้อีกด้วย
- นำผงอบเชยมาเป็นส่วนผสมในเบเกอร์รี่ อย่างการโรยหน้าบานอฟฟี่ การโรยหน้าขนมปังและของหวาน รสหวานของอบเชยจะช่วยเพิ่มความกลมกล่อมให้กับของหวานได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเติมความหวานจากน้ำตาลมากจนเกินไป ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่รักสุขภาพและต้องการลดน้ำตาล
- นำผงอบเชยมาใส่ในน้ำผลไม้ การปรุงม็อคเทล ค็อกเทล หรือน้ำผลไม้บางสูตร ยังมีการเพิ่มอบเชยลงไปเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมและความหวาน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรับประทานอบเชยผงที่ง่ายและสะดวก
- อบเชยกับกาแฟ ยังคงเป็นทางเลือกในการรับประทานอบเชยผงที่ได้รับความนิยม ด้วยการนำอบเชยผงโรยหน้ากาแฟร้อนเพื่อเพิ่มความหวานและกลิ่นหอม ช่วยให้กาแฟมีรสละมุนอุ่นสบายท้องมากยิ่งขึ้น
- ชาอบเชย สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชา ยังคงนำอบเชยมาทำเป็นชาอบเชยดื่มได้เช่นกัน โดยนำไม้อบเชยมาต้มรวมกับน้ำประมาณ 30 นาที เพื่อให้คุณค่าและสารต่าง ๆ ออกฤทธิ์ได้ดี ซึ่งจากความหวานและกลิ่นหอมของอบเชยก็ทำให้สามารถดื่มได้โดยไม่ต้องเติมน้ำตาลเลย
- อบเชยแคปซูล สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลา หรือไม่ต้องการสรรหาวิธีรับประทานอบเชยให้พิถีพิถันนัก ปัจจุบันเรายังคงมีทางเลือกที่ง่าย สบาย และสะดวกอย่างยิ่งอย่างการรับประทานอบเชยแคปซูล ที่แม้อาจไม่ได้ทำให้ผู้รับประทานได้รับกลิ่นรสจากเครื่องเทศตัวนี้ แต่ก็สามารถได้รับคุณประโยชน์จากอบเชยได้อย่างครบถ้วนเช่นกัน
ตัวอย่างเมนูอบเชย สรรพคุณมากมาย หอมอร่อยด้วย
ในแวดวงการทำอาหาร เชฟและพ่อครัวที่บ้านต่างก็ค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการนำอบเชยหรือผงอบเชยมาผสมผสานกับอาหารคาวและหวาน เพื่อให้ได้กลิ่นหอมหวานเป็นเอกลักษณ์ ตั้งแต่เครื่องดื่มผสมอบเชย เช่น ชาและกาแฟ ไปจนถึงเครื่องดื่มรสเผ็ดสำหรับเนื้อสัตว์ ความอเนกประสงค์ของอบเชยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ต่อไปนี้คือเมนูตัวอย่างที่นิยมใช้อบเชยเป็นส่วนผสมหลักในประเภทเมนูอาหารแบบต่างๆ
ประเภทเมนู | เมนูที่ใช้อบเชย |
เครื่องดื่ม | กาแฟอบเชย, ชาอบเชย, Chai Tea |
ของคาว | เนื้อแกะอบอบเชย, แกงอบเชย |
ของหวาน | ซินนามอนโรล, พายแอปเปิ้ลอบเชย |
เครื่องปรุง | น้ำผึ้งอบเชย, น้ำตาลอบเชยโรย |
Cr. Unsplash
Cr. Unsplash
ประวัติศาสตร์โลกกับอบเชย
อบเชยมีประวัติความเป็นมาย้อนกลับไปในสมัยอียิปต์โบราณ ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างสูงในกระบวนการดองศพเนื่องจากกลิ่นหอมและคุณสมบัติในการกันบูด เครื่องเทศยังเป็นสัญลักษณ์ของสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมและถูกเผาเป็นธูปในวัด ในยุโรปยุคกลาง เป็นส่วนหนึ่งของการค้าเครื่องเทศที่นำเครื่องเทศต่างๆ จากเอเชียไปยังตะวันตก ทำให้เป็นสินค้าที่มีราคาแพงและเป็นที่ต้องการอย่างมาก
ยุค | การใช้อบเชย |
อียิปต์โบราณ | การดองศพ การปรุงน้ำหอม และเป็นเครื่องบูชา |
จักรวรรดิโรมัน | เครื่องเทศปรุงอาหารและยารักษาโรค |
ยุโรปยุคกลาง | การค้าสินค้าที่ใช้ในการถนอมอาหาร |
ยุคโมเดิร์น | การทำอาหาร อาหารเสริมสุขภาพ สบู่ เครื่องสำอาง และอโรมาเธอราพี |
Cr. Unsplash, Unsplash, Unsplash
ทั้งหมดนี้ก็คือ อบเชย เครื่องเทศที่เราคุ้นเคยกลิ่นและรสกันมานานจากอาหารต่าง ๆ ที่รับประทานในชีวิตประจำวัน โดยที่เพื่อน ๆ บางคนอาจไม่ได้สังเกตเห็นเลยมาก่อนหน้านี้ และนี่คือคุณประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการรับประทานอบเชย หรือ ชินนาม่อน ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแม้แต่การรับประทานของหวานหรือกาแฟในชีวิตประจำวัน เราก็สามารถเพิ่มคุณประโยชน์จากเครื่องเทศตัวนี้ให้ดีต่อสุขภาพได้อย่างง่าย ๆ เลย
Feature Image Credit : freepik