เชื่อว่าในหลาย ๆ ครอบครัวที่กำลังจะมีสมาชิกใหม่ ก็จำเป็นจะต้องเตรียมตัวเตรียมความพร้อมทางร่างกาย สภาพจิตใจ เพื่อที่จะได้น้ำหนักเด็กทารกให้ได้ตามเกณฑ์ และมีสุขภาพดีเมื่อแรกคลอด ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายต่าง ๆ ที่จะได้เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ หากน้ำหนักเด็ก ที่ไม่ได้ตามเกณฑ์ก็อาจจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งก็จะต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง
น้ำหนักเด็กที่ดี ควรจะเป็นไปตามเกณฑ์แผนผังการเจริญเติบโต (Growth Chart) เป็นหลัก โดยแผนผังจะแสดงถึงกราฟ (Graph) การเจริญเติบโตของเด็กแต่ละช่วงอายุโดยจะเปรียบเทียบน้ำหนักและส่วนสูง หากเป็นเด็กทารกจะใช้ความยาวของร่างกาย เพื่อระบุว่าเด็กมีการเจริญเติบโตที่ปกติหรือไม่ โดยเด็กแรกคลอดที่อายุครรภ์ครบกำหนดจะมีน้ำหนักเด็กทารกเฉลี่ยประมาณ 3,000 กรัม หรืออยู่ในช่วง 2,500-4,000 กรัม ซึ่งปกติแล้วหลังจากทารกเกิดได้ 5-7 วัน น้ำหนักทารกจะลดลงเล็กน้อย
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
อัตราการลดลงของน้ำหนักเด็กแรกเกิด
จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
- น้ำหนักเด็กทารกที่ดื่มนมแม่ จะลดลงโดยประมาณ 7-10% จากน้ำหนักเมื่อแรกเกิด
- น้ำหนักเด็กทารกที่ดื่มนมผสม จะลดลงประมาณ 5% จากน้ำหนักเมื่อแรกเกิด
เมื่อมีอายุ 10-14 วันขึ้นไป น้ำหนักเด็กจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และใกล้เคียงกับน้ำหนักทารกแรกเกิด แต่ถ้าหากเด็กมีอาการเจ็บป่วย หรือเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนดก็จะต้องใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นไป กว่าน้ำหนักเด็กจะกลับมาเทียบเท่ากับเมื่อครั้งแรกเกิดอีกครั้ง
ช่วงเวลาที่ควรชั่งน้ำหนักเด็กและวัดส่วนสูงเป็นประจำ
- เมื่อเด็กมีอายุ 2 สัปดาห์-6 เดือน เดือนละ 1 ครั้ง
- เมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน-12 เดือน 1 ครั้ง ต่อ ทุก 2 เดือน
- เมื่อเด็กมีอายุ 12 เดือนขึ้นไป 1 ครั้ง ต่อ ทุก 3 เดือน
ปกติแล้วในทุก ๆ เดือนผู้ปกครองพาเด็กไปรับวัคซีนเด็กเข็มแรกที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว และจะต้องมีการชั่งน้ำหนักเด็กและวัดส่วนสูงเพื่อติดตามและประเมินการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางร่างกายของเด็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการจดบันทึกลงสมุดสีชมพูที่ทางโรงพยาบาลออกให้ตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ครั้งแรก โดยจะมีกราฟบันทึกน้ำหนักและส่วนสูงเพื่อให้เปรียบเทียบว่าการเติบโตเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่
น้ำหนักส่วนสูงเด็กเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ซึ่งหากเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ก็จะแสดงให้เห็นว่าเด็กแต่ละคนมีการเจริญเติบโตที่เป็นไปอย่างสมวัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ถ้าหากมีน้ำหนักเด็กน้อยกว่า หรือมากกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ก็จะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติทางด้านร่างกาย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต อีกทั้งยังอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ หรืออาจจะมีโรคที่แฝงตามมา
ความเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเด็กต่ำกว่าเกณฑ์
เด็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น
- ปัญหาด้านการเจริญเติบโต ภาวะขาดสารอาหาร
- สติปัญญาและพฤติกรรม
- ผลต่อคุณภาพชีวิตเมื่อเป็นผู้ใหญ่
- ภูมิต้านทานหรือภูมิคุ้มกันลดลง
- เจ็บป่วย หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ มีโอกาสเป็นโรคเรื้อรัง
ความเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเด็กมากกว่าเกณฑ์
เด็กที่มีน้ำหนักเกินส่งผลโดยตรงให้เด็กมีลักษณะที่อ้วนกว่าเด็กในวัยเดียวกัน อีกทั้งยังก่อให้เด็กเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ ได้
- ไขมันในเลือดสูง ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่
- ความดันโลหิตสูง
- เบาหวานที่เกิดจากความอ้วน
- โรคหอบหืด หยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
- ภาวะไขมันพอกตับ
- ขาดวิตามินดี
- เกิดปัญหาสุขภาพจิต ขาดความมั่นใจในตัวเอง ถูกเพื่อนล้อและอาจมีอาการซึมเศร้าและมีปัญหาในการเข้าสังคมกับผู้อื่น
ผู้ปกครองจะต้องติดตามระดับน้ำหนักเด็กอยู่เสมอว่ามีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานโดยเฉลี่ยของน้ำหนักส่วนสูงเด็กในวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี มีดังต่อไปนี้
- ทารกแรกเกิด น้ำหนัก 3-3.5 กิโลกรัม
- อายุเด็ก 3 เดือน น้ำหนัก 5.5-7 กิโลกรัม
- อายุเด็ก 6 เดือน น้ำหนัก 7-8.5 กิโลกรัม
- อายุเด็ก 9 เดือน น้ำหนัก 8-9.5 กิโลกรัม
- อายุเด็ก 1 ปี น้ำหนัก 9-10 กิโลกรัม
- อายุเด็ก 2 ปี น้ำหนัก 11-13 กิโลกรัม
- อายุเด็ก 3 ปี น้ำหนัก 13-13.5 กิโลกรัม
น้ำหนักเด็กชายและเด็กผู้หญิงอาจมีค่าเฉลี่ยต่างไปจากข้างต้นเล็กน้อย เนื่องจากเด็กชายนั้นจะมีแนวโน้มน้ำหนักมากกว่าเด็กผู้หญิงไปจนถึงอายุ 5 ปี ก่อนที่อัตราการเพิ่มของน้ำหนักเด็กจะเริ่มปรับเปลี่ยนอีกครั้ง
Credit : Pixabay
ปัจจัยที่มีผลต่อน้ำหนักเด็ก
นอกจากในเรื่องของอาหารและโภชนาการตั้งแต่แรกเกิด น้ำหนักทารกจะอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งยังต้องมีปัจจัยอื่น ๆ ด้วย
- สภาพแวดล้อม สถานที่อยู่อาศัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกจนทำให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย หรือสถานที่ไม่สามารถจะออกกำลังกายได้ก็อาจทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป
- พันธุกรรม สำหรับครอบครัวที่มีร่างกายอ้วนหรือเป็นโรคอ้วน ก็มีแนวโน้มที่เด็กจะอ้วนตาม ซึ่งเด็กก็อาจจะมีปัญหาสุขภาพที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมได้อีก
- โรคและการใช้ยา อาการเจ็บป่วยหรือการใช้ยาบางชนิดส่งผลโดยตรงต่อน้ำหนักเด็กได้ ซึ่งในกรณีนี้ผู้ปกครองจะต้องสังเกตอย่างใกล้ชิดและแจ้งต่อแพทย์ทันที
เด็กสุขภาพดี Credit : Pixabay
ทำอย่างไรให้น้ำหนักเด็กเป็นไปตามเกณฑ์สมวัย
ผู้ปกครองคือหนึ่งในผู้ช่วยคนสำคัญที่จะช่วยให้น้ำหนักส่วนสูงเด็กเป็นไปอย่างเหมาะสมกับวัย โดยผู้ปกครองจะต้องวางแผนและดูแลเรื่องอาหารการกิน และการออกกำลังกายของเด็กอย่างใกล้ชิด โดยควรจะปฏิบัติดังนี้
- ผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก เด็กเล็กที่อยู่ในวัยนี้ถือว่าอยู่ในช่วงที่ชอบเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ปกครอง ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงควรเป็นตัวอย่างให้แก่เด็กโดยการชักชวนให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากทำได้เป็นประจำก็จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง และมีน้ำหนักดีตามเกณฑ์
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในวัยเด็กควรออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 60 นาที โดยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างจริงจังหรือต่อเนื่อง เช่น การขี่จักรยาน การวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น หรือการเล่นเครื่องเล่นต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ ในระหว่างวันก็จะช่วยให้เด็กได้ออกกำลังกายมากขึ้นโดยที่ไม่รู้สึกเบื่อ
- ดูแลเรื่องการรับประทานอาหารของเด็ก เด็กจะอยู่ในช่วงกำลังเจริญเติบโต ก็ควรจะได้รับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และมีสารอาหารครบถ้วนเพียงพอ ควรให้เด็กรับประทานผักผลไม้เป็นประจำจะช่วยให้น้ำหนักเด็กอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและยังช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย พยายามหลีกเลี่ยงของหวาน เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือขนมหวาน และควบคุมการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว
- ให้เด็กมีการพักผ่อนอย่างเพียงพอและเป็นเวลา การนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญของการเจริญเติบโต ควรให้เด็กได้นอนหลับอย่างเพียงพอ ไม่นอนดึกจนเกินไป และควรหลีกเลี่ยงให้เด็กดูทีวี หรืออยู่กับหน้าจอสมาร์ตโฟน และแท็บเล็ตเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เด็กไม่ยอมนอน หรือส่งผลให้เด็กหลับไม่เต็มอิ่มได้
การดูแลน้ำหนักเด็กเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรละเลย
สำหรับผู้ปกครองหรือคุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยดูแลน้ำหนักเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องกับส่วนสูงด้วย นอกจากพันธุกรรมที่เด็กจะได้รับจากพ่อกับแม่แล้วน้ำหนักส่วนสูงเด็กที่เหมาะสม จะมีความสำคัญและส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่ดี ดังนั้นไม่ควรควบคุมน้ำหนักเด็ก หรือจำกัดในเรื่องต่าง ๆ หรือเข้มงวดจนเกินไป ให้ใช้สมุดฝากครรภ์เพื่อเป็นเกณฑ์ในการติดตามพัฒนาการ และปรับแก้ไขเพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหาในด้านการเจริญเติบโต และเกิดเป็นปัญหาสุขภาพในเด็กได้