ปัจจุบันจะเห็นว่าคนไทยรุ่นใหม่จะมีความใส่ใจในเรื่องของการดูแลสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริมที่บำรุงจากภายใน และเครื่องประทินโฉมต่าง ๆ ที่ช่วยให้ดูสวยและอ่อนเยาว์ ด้วยผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองเหล่านี้ หลาย ๆ ตัวมีส่วนประกอบมาจากสมุนไพรไทยโบราณ อย่างเช่นไพล สมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบสำคัญ ยด้วยสรรพคุณและประโยชน์ที่มากมาย บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ “ไพล” มากขึ้น
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ไพล ( Plai ) ชื่อวิทยาศาสตร์
Zingiber cussumunar Roxb.
ลักษณะของไพล
เป็นพืชที่มีหัวอยู่ในดินเรียกว่าเหง้า และแตกแขนงขนานไปกับผิวดิน เหง้าจะมีสีเหลืองแกมเขียวมีกลิ่นเฉพาะตัว เปลือกนอกจะมีสีน้ำตาลแกมเหลือง หน่อใหม่จะขึ้นด้านนอกสุด ต้นบนดินจะตายในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อน และจะงอกใหม่ในช่วงฤดูฝน ลำต้นจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 – 1.0 เซนติเมตร สูงประมาณ 80 – 150 เซนติเมตร มีกาบใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับออกเป็นสองแถว ดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ โผล่จากดิน ประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร
ไพล คือ
ไพล คือ พืชสมุนไพรที่ใช้เป็นองค์ประกอบในตำราแพทย์แผนโบราณ ที่มีการวิจัยถึงสรรพคุณต่าง ๆ และอาจจะใช้ไพลเพียงอย่างเดียว หรือใช้ผสมกับพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เพื่อรักษาอาการตามร่างกาย เช่น สมานแผล รักษาอาการอักเสบ เหน็บชา แก้เคล็ดขัดยอก กินเพื่อสมานลำไส้ เป็นยาขับลม แก้ปวด ขับประจำเดือน และมีฤทธิ์ระบายอ่อน ๆ จากการศึกษาวิจัยต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไพล ทำให้ได้รู้ว่า ไพลยังมีดีมากกว่านั้นมากมาย มีสรรพคุณเป็นทั้งยาภายในและภายนอก ที่ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบยาหลักในตำรับยาสมุนไพรที่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยม เช่นน้ำมันเหลือง ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย จะเห็นได้ว่าผู้ใหญ่หลาย ๆ คนก็มักจะพกติดตัวไว้
ไพล สรรพคุณของแต่ละส่วน
หัวไพล
- หัวไพลช่วยแก้การอาเจียนเป็นเลือด
- แก้อาการปวดฟัน
- หัวไพลยังช่วยในการขับเลือดร้าย ขับระดู
เหง้าไพล, เหง้าสด, เหง้าแห้ง
- ช่วยรักษาอาการเหน็บชา
- ช่วยลดอาการท้องผูก สะมานแผลในลำไส้ และแก้ลำไส้อักเสบ
- ช่วยลดอาการอักเสบ แก้ปวดบวม เส้นตึงตามร่างกาย
- ทำเป็นยารักษาเฉพาะที่ได้
- ช่วยแก้อาการผดผื่นคัน โดยการนำผงไพลมาผสมน้ำแล้วทาแก้อาการ
- ใช้ทาแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- สรรพคุณของเหง้า ยังช่วยดูดหนอง ช่วยรักษาฝีได้อีกด้วย
- มีประโยชน์กับหญิงหลังคลอดบุตรโดยการนำเหง้ามาต้มกับน้ำอาบหลังคลอดได้
ดอกไพล
- สรรพคุณดอกไพลช่วยกระจายเลือดเสียที่มีลักษณะเป็นลิ่มเป็นก้อน ขับโลหิต
ใบไพล
- มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามร่างกาย
ต้นไพล
- แก้ธาตุพิการต่าง ๆ อย่างอุจจาระพิการ ลักษณะของอุจจาระ สี กลิ่นผิดปกติ
ข้อควรระวังในการใช้ ไพล
- ควรจะรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และไม่รับประทานติดต่อกันเป็นเวลาที่นานเกินไปเพราะจะมีผลต่อการทำงานของตับ
- ในการใช้ครีมไพล ไม่ควรจะทาในบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลเปิด หรือบริเวณขอบตา
- ไม่ควรจะให้สตรีมีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรใช้ นอกจากการต้มกับน้ำแล้วอาบหลังคลอดบุตรเท่านั้น
น้ำมันไพล (น้ำมันเหลือง) สรรพคุณของน้ำมันไพล
บรรเทาอาการปวดเมื่อย ให้ผ่อนคลาย คลายกล้ามเนื้อ และข้อต่อต่าง ๆ จากอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำตามร่างกาย แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับเลือดเสีย ให้ประจำเดือนเป็นปกติ รักษาโรคผิวหนังต่างๆ เช่นผดผื่นคัน ใช้ต้านเชื้อรา และแบคทีเรีย ช่วยผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด ให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น (เป็นเพียงการบรรเทาอาการให้ดีขึ้นเท่านั้น)
วิธีใช้น้ำมันไพล ใช้นวดบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย บวม เคล็ดขัดยอก หรือใช้ในการสูดดมได้ตามต้องการ สามารถจะแบ่งใส่ขวดขนาดพกพาติดตัวไปได้ทุกที่
วิธีทำน้ำมันไพล
วัสดุอุปกรณ์
- ไพล 1 กิโลกรัม
- น้ำมันงาหรือน้ำมันมะพร้ำว 1 ลิตร
- การบูร 15 กรัม
- พิมเสน 15 กรัม
- เมนทอล 15 กรัม
- ดอกกานพลู 15 กรัม
วิธีทำและขั้นตอนการทำ
- หั่นไพลบาง ๆ ทอดในน้ำมันงา หรือน้ำมันมะพร้าวด้วยไฟอ่อน ๆ ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง จนเหลืองกรอบ
- ก่อนยกลงจากเตาไฟให้ใส่ดอกกานพลูลงไป ทิ้งไว้สักครู่
- นำกำรบูร พิมเสน เมนทอล น้ำมันไพล กวนผสมให้เข้ากัน
- บรรจุขวด (หากต้องการทำเป็นขี้ผึ้ง ให้ใส่วาสลีนผสม อัตราส่วน วาสลีน 1 กิโลกรัม ต่อน้ำมันไพล 1 กิโลกรัม โดยน้ำวาสลีนตั้งไฟอ่อน ๆ ให้ละลาย แล้วผสมน้ำมันไพลลงไป ยกลงแล้วกรอกใส่ขวดขณะร้อน ๆ ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วจึงค่อยปิดฝาขวด)
ไพล สรรพคุณต่อผิวหน้า
เป็นสมุนไพรขัดผิวหน้าที่จะช่วยขัดผิวให้ดูผุดผ่อง และป้องกันอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดสิว สิวอักเสบ ริ้วรอยและจุดด่างดำต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์
วิธีทำแป้งไพล
- นำเหง้าไพลมาหั่นแบบหยาบ ๆ 4 ช้อนโต๊ะ ใส่ลงในโถปั่น
- นำดินสอพอง 3 ถ้วยตวง ทุบให้พอแตก แล้วใส่ลงไปในเครื่องปั่น
- ปั่นจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน เติมน้ำต้มสุก 1 ถ้วยตวง และปั่นให้เข้ากันอีกครั้ง
- เมื่อได้ครีมเป็นเนื้อเดียวกัน นำมาปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิท
- เก็บไว้ใส่ขวด จะได้แป้งไพลที่นำมาใช้ขัดผิวได้
ในการทำแป้งไพลนี้ อาจจะนำแป้งไพลที่แห้งแล้วมาทุบให้ละเอียดและเก็บไว้ในภาชนะที่สะอาดเพื่อไว้ทาหน้าก่อนนอน สำหรับคนที่ติดแป้งฝุ่น จะต้องทาทุกวัน แบบนี้ก็จะช่วยลดอาการอักเสบของสิวได้อีกด้วย
วิธีใช้ แป้งไพลขัดหน้าและพอกหน้า นำแป้งไพล 2-3 ก้อนที่เตรียมไว้หรือไม่สะดวกที่จะทำแป้งไพล ก็สามารถหาซื้อตามร้านค้าสมุนไพรไทยโบราณได้ มาผสมกับน้ำเย็นแล้วนำมาพอกหน้าก่อนเข้านอน โดยพอกทิ้งไว้ 30 นาทีแล้วล้างออก หากต้องการให้แป้งไพลมีสรรพคุณเพิ่มจากเดิม อาจจะผสมกับนมสด โยเกิร์ต หรือน้ำผึ้งแท้ ผสมให้เข้ากันแล้วพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที จะยิ่งช่วยให้ผิวหน้าดูผุดผ่อง นุ่มชุ่มชื้นมากขึ้น จากเดิมที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการอักเสบของสิว หรือริ้วรอยต่าง ๆ
ไพล กับ ขมิ้น มีความแตกต่างกันอย่างไร
ขมิ้น จะมีลักษณะเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน และมีสีเหลืองเข้มออกไปทางสีแสดโดดเด่นที่แตกต่างจากว่านไพลอย่างชัดเจน ถ้าหากจะใช้ก็อาจจะต้องสังเกตุในเรื่องสีของทั้งไพลและขมิ้นให้ชัดเจน ขมิ้นยังมีรสชาติจัดจ้าน รสถูกปากคนไทยอย่างมาก คนไทยจึงนิยมนำไปปรุงอาหารไทยพื้นบ้าน เพื่อเพิ่มสีสันให้น่ารับประทาน และรสชาติที่อร่อย ในส่วนของสรรพคุณทางยา แก้อาการไข้เรื้อรัง แก้เสมหะ ขับกลิ่นและสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อได้
จะเห็นว่าสมุนไพรไทยโบราณ ในบ้านเรามีทั้งสรรพคุณและประโยชน์มากมายไม่แพ้สมุนไพรจากต่างประเทศเลย และนอกจากไพลแล้ว ยังมีสมุนไพรอื่น ๆ อีกหลายชนิด ที่สามารถจะนำมาใช้หรือนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ในคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ หรือคนที่มีสุขภาพร่างกายปกติ สมุนไพรก็จะช่วยให้แข็งแรงและไม่เจ็บป่วยได้ง่ายอีกด้วย
แหล่งข้อมูล : oae.go.th, organicfood.mju.ac.th
Feature Image credit : freepik