เคยสงสัยหรือสังเกตกันหรือไม่ว่า เวลาที่มีพิธีการทางศาสนาต่าง ๆ และก่อนจะเริ่มสวดมนต์ในพิธีนั้น จะมีบทสวดที่สวดขึ้นก่อนบทสวดอื่น ๆ เสมอ และสวดขึ้นก่อนที่พระจะเจริญพระพุทธมนต์ บทสวดที่เราได้ยินกันนั้นคือ “บทสวดชุมนุมเทวดา” ซึ่งบทชุมนุมเทวดา จำเป็นหรือไม่ และใช้สวดตอนไหน สวดอย่างไร มาดูบทสวดมนต์ที่ว่านี้กัน
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
บทสวดชุมนุมเทวดา สวดตอนไหน จำเป็นหรือไม่ที่ต้องสวด
บทชุมนุมเทวดา จะเป็นบทสวดที่พระสงฆ์จะทำการสวดก่อนที่จะสวดเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อเป็นการเชิญเหล่าเทวดาให้มารับฟังธรรมในกาล เพื่อบอกกล่าวถึงเทวดาในสถานที่นั้นว่ากาลนี้เป็นเวลาฟังธรรม เสมือนเชื้อเชิญให้มาฟังบทสวดต่าง ๆ เช่น สวดบทพระธรรมจักร เป็นต้น ซึ่งการสวดนี้นิยมใช้ในการสวดที่เป็นทางการ หรือมีพิธีการทางศาสนา และจะต้องสวดอันเชิญมาและอันเชิญกลับ หากการงานที่เป็นพิธีก็มีความจำเป็นที่จะต้องสวด แต่หากเป็นการสวดมนต์อยู่กับบ้าน หรือเป็นการสวดมนต์ประจำวัน ไม่จำเป็นต้องสวดคาถาชุมนุมเทวดาแต่อย่างใด นั่นหมายถึง จะสวดหรือไม่ก็ได้
บทสวดชุมนุมเทวดา ที่มีมาอย่างไร
คาถาชุมนุมเทวดา หรือการสวดพระปริตร ว่ากันว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศลังกา ราว พ.ศ. 500 โดยชาวลังกาที่นับถือพระพุทธศาสนาได้ประสงค์ให้พระสงฆ์ทำการสวดมนต์และคาถาเพื่อป้องกันอันตรายให้แก่ตน และเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลด้วย ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์ลังกาจึงคิดวิธีสวดพระปริตรขึ้น นั่นคือ เลือกพระสูตร หรือคาถาที่สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย มาสวดเป็นบทสวดมนต์ และเมื่อผู้คนนิยมมากขึ้นก็คิดค้นพระสูตรต่าง ๆ มาสวดเป็นพระปริตรมากขึ้นเป็นลำดับ และเกิดเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน
ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า เหล่าเทพเทวดาจะชอบฟังเสียงสวดมนต์เป็นจำนวนมาก และเมื่อมีการสวดเชื้อเชิญคาถาชุมนุมเทวดาทั้งจาก 16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน จากผู้มีศีล เทวดาจะมาชุมนุมฟังกันอย่างมากมาย และเมื่อเหล่าพรหมเทพได้เข้ามาห้อมล้อมรอบตัวผู้สวด มีความเชื่อว่าภัยและอันตรายจะไม่สามารถกล้ำกลายหรือรุกล้ำแก่ผู้สวดมนต์และอาณาบริเวณนั้นได้ เปรียบเสมือนการมีเกราะป้องกันภัยจากเหล่าเทพเทวดาทั้งหลายที่มาปกปักษ์คุ้มครองอยู่นั่นเอง
บทสวดชุมนุมเทวดา สมันตา สวดอย่างไร
บทชุมนุมเทวดานั้นปัจจุบันมีด้วยกัน 2 แบบ คือ บทสวดชุมนุมเทวดา 7 ตำนาน และ 12 ตำนาน โดยสามารถสวดได้ ดังนี้
1. บทชุมนุมเทวดา 7 ตำนาน
สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง ปะริตตังนุภาโว สะทา รักขะตูติ ผะริตวานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ
สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต
ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ
ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา
2. บทชุมนุมเทวดา 12 ตำนาน หรือบทสมันตา
สะมันตา จักกะวาเฬสุ อัต๎ราคัจฉันตุเทวะตา สัทธัมมัง มุนิราชัสสะ สุณันตุ สัคคะโมกขะทังฯ
สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต
ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ
ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา
คำแปลคาถาชุมนุมเทวดา
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้มีเมตตา จงแผ่เมตตาจิต ด้วยคิดว่า ขออานุภาพพระปริตร จงรักษาพระราชาผู้เป็นเจ้าแห่งนรชน พร้อมด้วยราชสมบัติ พร้อมด้วยราชวงศ์ พร้อมด้วยเสนามาตย์ อย่ามีจิตฟุ้งซ่าน ตั้งใจสวดพระปริตรเถิด
ขอเชิญเหล่าเทพเจ้าซึ่งสถิตย์อยู่ในสวรรค์ชั้นกามภพก็ดี รูปภพก็ดี และภุมมเทวดา ซึ่งสถิตย์อยู่ในวิมานหรือยอดเขาและหุบผา ในอากาศก็ดี ในเกาะก็ดี ในแว่นแคว้นก็ดี ในบ้านก็ดี ในต้นพฤกษาและป่าชัฏก็ดี ในเรือนก็ดี ในที่ไร่นาก็ดี
เทพยดาทั้งหลาย ซึ่งสถิตย์ตามภาคพื้นดิน รวมทั้งยักษ์ คนธรรพ์ และพญานาค ซึ่งสถิตย์อยู่ในน้ำ บนบก และที่อันไม่ราบเรียบก็ดี ซึ่งอยู่ในที่ใกล้เคียง จงมาประชุมพร้อมกันในที่นี้ คำใดเป็นของพระมุนีผู้ประเสริฐ ท่านสาธุชนทั้งหลาย จงสดับคำข้าพเจ้านั้น
ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาแห่งการฟังธรรม
ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาแห่งการฟังธรรม
ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาแห่งการฟังธรรม
ขั้นตอนสวดมนต์ชุมนุมเทวดา
ขั้นตอนในการสวดมนต์และสวดชุมนุมเทวดานั้นมีความสำคัญมาก เพราะการสวดมนต์ได้อย่างถูกต้อง มีความตั้งใจ และมีความเชื่อ จะส่งผลทันทีเมื่อสวดเสร็จ โดยมีขั้นตอนในการสวดมนต์ที่ถูกต้อง ดังนี้
- อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด
- กินอาหารให้เรียบร้อย หากถือศีล 8 ให้ดื่มน้ำปานะ หรือดื่มน้ำเปล่า เพื่อให้มีแรงในการสวดมนต์
- สถานที่สวดมนต์ให้อยู่ห่างไกลจากผู้คนและความบันเทิง ควรเป็นสถานที่ที่เงียบสงบและเหมาะสม เช่น ห้องพระ ห้องนอนส่วนตัว
ลำดับการสวด
- บทบูชาพระรัตนตรัย (อิมินา)
- บทกราบพระรัตนตรัย (อะระหังสัมมา)
- บทสวดคาถาชุมนุมเทวดา
- บทนอบน้อมพระพุทธเจ้า (นะโมตัสสะ)
- บทไตรสรณคมน์ (พุทธังสะระณังคัจฉามิ)
- บทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย (อิติปิโส)
- บทสวดมนต์ เช่น บทธรรมจักร, บทพระมหาจักรพรรดิ, บทพระสูตร
หากเราต้องการสวดมนต์ หรือสมาทานศีลอยู่ที่บ้านนั้น สามารถเริ่มต้นบทสวดต่าง ๆ ด้วยบทสวดชุมนุมเทวดาดังที่กล่าวไป เพื่อเชิญให้เทวดามารับฟังบทสวดมนต์นี้ ซึ่งอานิสงส์ของการสวดชุมนุมเทวดานั้น จะทำให้เราเกิดพลังแห่งบุญจากการสวดมนต์ และเหล่าเทวดาก็จะให้พรกับผู้ที่สวดมนต์ และช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัยจากสิ่งที่ไม่ดีนั่นเอง นอกจากนี้หลังการสวดมนต์อย่าลืมนั่งสมาธิ แผ่เมตตา และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ให้ตนเอง สัมภเวสี เจ้าที่เจ้าทางด้วย เพื่อให้การสวดมนต์นั้นสัมฤทธิ์ผลในทันที
ข้อมูลจาก so-lot.com lcbp.co.th