ผักโขม ผักชนิดหนึ่งที่เรามักจะเห็นเป็นส่วนประกอบในอาหารตะวันตกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกพาสต้าหรือผักโขมอบชีส ก็ล้วนเป็นเมนูที่ผู้คนชื่นชอบทั้งสิ้น แต่ไม่เพียงแค่กินอร่อยเท่านั้นเพราะผักใบเขียวอย่างผักโขมยังอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายหลากหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา ซึ่งจำเป็นมากสำหรับผู้ที่ต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจอโทรศัทพ์นาน ๆ และคราวนี้เราจะพาไปทำความรู้จักผักโขมหลากชนิด รวมถึงเมนูทำง่ายรับประทานอร่อยให้เพื่อน ๆ ได้ลองไปทำกัน
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ผักโขม ภาษาอังกฤษ
ผักโขม ภาษาอังกฤษเรียกว่า Amaranth หรือ Amaranth green แต่ใครหลายคนอาจคุ้นเคยชื่อภาษาอังกฤษของผักโขมที่ว่า spinach ซึ่งนั่นก็คือชื่อของผักโขมหนึ่งในสายพันธุ์ผักโขมกว่า 70 สายพันธุ์ทั่วโลก
ทำความรู้จักผักโขม
ผักโขมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Amaranthus lividus Linn. และมีชื่อเรียกในภาษาไทยที่แตกต่างไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ผักขม ผักโหม ผักหม กะเหม่อลอเดอ ฯลฯ ซึ่งผักโขมที่คนไทยคุ้นเคยและใช้รับประทานกันในทุกวันนี้เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระจายไปในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว กัมพูชา โดยมีลักษณะเป็นวัชพืชที่พบเห็นได้ทั่วไปตามแปลงเกษตร รวมถึงพื้นที่รกร้างริมทาง คนไทยนิยมนำยอดและใบมาปรุงอาหารจำพวกแกงจืด ผัดไข่ ผัดน้ำมันหอย หรือนำไปลวกจิ้มน้ำพริกก็มี
ลักษณะของผักโขม
ผักโขมเป็นพืชล้มลุกปีเดียว มีอายุสั้น ลำต้นอวบน้ำ มีใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ใบมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมหัวกลับ ปลายใบค่อนข้างแหลมกว่าโคนใบ ต้นสูงได้ถึง 80 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด นิยมนำใบหรือยอดมารับประทาน ผักโขมบางชนิดยังสามารถรับประทานได้ทั้งต้น
ชนิดของผักโขม
จริงอยู่ที่ผักโขมนั้นมีอยู่มากมายหลากสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่เราคุ้นเคยและนิยมนำมารับประทานนั้นมีอยู่ไม่กี่อย่างสายพันธุ์
1. ผักโขมแดง/ ผักโขมสวน/ ผักโขมสี
(ว. Amaranthus tricolor L.) หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Red amaranth เป็นผักโขมที่มีลักษณะโดดเด่นที่สุดด้วยใบสีม่วงเข้มจนเกือบแดง ทำให้ปกติแล้วผักโขมแดงมักถูกใช้ในการเป็นไม้ประดับ แต่เนื่องจากคุณค่าทางอาหารจากแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่มีอยู่ในพืชสีแดง ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระเช่นเดียวกับแครอท ที่ช่วยลดการตกตะกอนของเกล็ดเลือด ทำให้ผักโขมแดงสามารถป้องกันโลกที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดและหัวใจได้ด้วย
2. ผักโขมหัด/ ผักโขมไทย/ ผักโขมบ้าน
(ว. Amaranthus viridis L.) หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Slender amaranth, Green amaranthus viridis จัดเป็นพืชล้มลุกประเภทวัชพืช พบได้ทั่วไปในประเทศไทย เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 15-60 เซนติเมตร มีต้นและใบเขียวตลอด ลำต้นเป็นเหลี่ยมมน มีขนอ่อน ๆ ขึ้นอยู่ประปราย ผิวใบเกลี้ยง นิยมนำเฉพาะยอดอ่อนไปลวกจิ้มน้ำพริก
3. ผักโขมหนาม
(ว. Amaranthus spinosus L.) หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Spiny amaranth, Spiny pigweed เป็นพืชล้มลุกประเภทวัชพืชเช่นกัน มีอายุสั้น มีลักษณะคล้ายผักโขมหัด แต่ลำต้นจะมีผิวเรียบเป็นร่องตามความยาวของลำต้น และมีความสูงมากกว่าผักโขมหัด โดยมีความสูงเฉลี่ยได้ถึง 1 เมตรทีเดียว นิยมนำใบ ยอดอ่อน ดอก และลำต้นที่ลอกเปลือกไปประกอบอาหารพวกเกงจืด ผัด หรือลวกรับประทานกับน้ำพริก
4. ผักโขมจีน
(ว. Amaranthus dubius) หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Chinese Spinach คือ พืชล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุสั้นเพียงปีเดียว มีลำต้นเดี่ยว ทรงพุ่มเตี้ยแตกกิ่งก้านสาขา มีก้านใบยาว ใบทรงรีโคนใบกว้างปลายแหลม มีกลิ่นเหม็นเขียว คนจีนอาจรู้จักกันดีในชื่อผักชุนฉ่ายที่นิยมนำใบมาต้มจืดกระดูกหมู หรือทำต้มจับฉ่ายก็ได้เช่นกัน
5. ผักโขมฝรั่ง/ ปวยเล้ง/ ผักโขมแก้ว
(ว. Spinacia oleracea) หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Spinach คือ ผักชนิดหนึ่งที่มีความเข้าใจผิดว่าเป็นผักโขมสกุล Amaranthus ที่เป็นกลุ่มเดียวกับพืชจำพวกบานไม่รู้โรย แต่ผักโขมฝรั่งหรือ Spinach นั้นอยู่ในสกุล Spinacia ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับผักโขมอย่างสิ้นเชิง แต่เราก็นิยมเรียก Spinach ว่าผักโขมไปแล้ว สำหรับพืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในเอเชียกลาง เป็นพืชล้มลุก ต้นสูงได้ถึง 30 เซนติเมตร รูปใบกลมรี นิยมนำใบมารับประทานเป็นอาหาร
ประโยชน์ของผักโขม
ผักโขมมีสรรพคุณทางยาในการแก้โลหิตเป็นพิษ ทั้งสรรพคุณของรากผักโขมยังสามารถนำมาต้มน้ำดื่มใช้ดับพิษร้อน แก้ไข้ แก้ไอ ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ส่วนใบใช้ขยำนำมาพอกรักษาฝีหนองแผลพุพองได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ผักโขมที่รู้จักกันดีคือ
- ผักโขมมีวิตามินเอและวิตามินซีสูงมาก โดยในผักโขมสด 100 กรัมประกอบด้วยวิตามินเอ 88% วิตามินซี 47% ของปริมาณวิตามินที่ร่างกายต้องการต่อวัน ทำให้ผักโขมมีประโยชน์ในแง่ของการบำรุงสายตาและเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ทั้งยังช่วยบำรุงผิวพรรณได้ด้วย
- ผักโขมช่วยลดระดับไขมันในเลือด จากการทดลองกับหนูในห้องทดลองพบว่าหนูที่กินอาหารพร้อมสารสกัดจากผักโขมมีระดับคลอเรสตอรอลต่ำกว่าหนูที่ไม่ได้รับสารสกัดจากผักโขม
- ผักโขมช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ มีการพบว่าผงสกัดจากผักโขมช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้
- ผักโขมมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง จากการทดลองหยดสารสกัดสควอลีนจากผักโขมลงบนเซลล์มะเร็งพบว่าสารสกัดจากผักโขมมีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของมะเร็งได้
โทษของผักโขม
ด้วยคุณประโยชน์มากมายขนาดนี้ การรับประทานผักโขมก็ยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากผักโขมมีสารมีสารออกซาเลต (Oxalate) อยู่มาก จึงไม่ควรกินสดในปริมาณมาก เพราะสารตัวนี้จะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมกระดูก ซึ่งนอกจากจะยับยั้งการเสริมสร้างกระดูกและฟันแล้ว ยังอาจเป็นสาเหตุให้เกิดนิ่วในปัสสาวะได้ด้วย แต่การนำผักโขมไปผ่านการปรุงด้วยความร้อนก่อนจะสามารถลดสารออกซาเลตได้มากถึง 80% ดังนั้นแม้ผักโขมจะเป็นอาหารที่ให้คุณค่ามาก แต่ก็ต้องรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมด้วย
จบไปแล้วกับสารพัดสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับผักโขม ผักใบเขียวมากคุณประโยชน์ที่คนไทยนิยมรับประทาน และอย่างที่ได้ทราบกันว่าผักโขมนั้นมีอยู่หลากหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีรสชาติและคุณค่าทางอาหารแตกต่างกันไป ต่อไปนี้เราก็สามารถเลือกรับประทานและแยกแยะผักโขมแต่ละประเภทได้ โดยไม่ต้องเข้าใจผิดอีกต่อไปแล้ว
แหล่งข้อมูล : disthai, allkaset, thai-thaifood, veggiepedia.greenery
Feature Image credit : pixabay