สำหรับสาวไทยเมื่อพูดถึงการคลอดลูกแล้ว คำที่มักจะได้ยินตามมาติด ๆ ก็คงหนีไม่พ้นการอยู่ไฟที่เรามักจะติดภาพการทำการบำบัดด้วยสมุนไพรไทยในวิธีการแบบโบราณ ๆ แต่ขอบอกเลยว่าปัจจุบันการอยู่ไฟนั้นได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปมากแล้ว ทำให้แม้คุณแม่ที่คลอดบุตรในสังคมสมัยใหม่ในปัจจุบันก็เข้าถึงการรักษาแบบนี้ได้ และหากคุณแม่ท่านไหนที่กำลังลังเลว่าควรอยู่ไฟหลังคลอดนั้นเป็นยังไง จะอยู่ไฟหลังคลอดดีหรือเปล่า ต้องอยู่ไฟหลังคลอดกี่วัน จะใช้การอบสมุนไพรหลังคลอด จะเลือกสมุนไพรหลังคลอดอย่างไร เรามีคำตอบเตรียมไว้ให้แล้ว
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
การอยู่ไฟหลังคลอดคืออะไร ทำไมคุณแม่หลังคลอดถึงควรอยู่ไฟ
สำหรับแพทย์แผนไทยได้ชื่อว่าเป็นแขนงหนึ่งของการรักษาที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน และมีภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายวนาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้สมุนไพรหรือการกดจุดนวดประคบ ซึ่งทั้งหมดนี้เราก็จะพบได้ในภูมิปัญญาในการฟื้นฟูร่างกายของคุณแม่หลังคลอด ที่เรียกว่าการอยู่ไฟหลังคลอดนี้ด้วย
เนื่องจากภายหลังการคลอด ไม่ว่าจะเป็นการคลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด คุณแม่จะมีสรีระร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการปรับสมดุลย์ฮอร์โมน การปรับสมดุลย์ภายใน ที่อาจต้องใช้เวลานานในการกลับเข้าสู่สภาพเดิม ซึ่งการอยู่ไฟจะเข้ามาช่วยเยียวยากล้ามเนื้อที่ถูกใช้อย่างหนักจากการอุ้มท้อง รวมถึงปัญหาการปรับสมดุลย์นีร่างกายเหล่านี้ให้เข้าที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยการใช้ความร้อนและสมุนไพรต่าง ๆ เข้าช่วย ทั้งยังช่วยลดอาการหนาวสั่นทั้งสำหรับคุณแม่ในช่วงหลังคลอด ไปจนถึงช่วงวัยหมดประจำเดือนทีเดียว
1. การอยู่ไฟหลังคลอดแบบไทยโบราณ
ในสมัยโบราณมักจะมีการสร้างกระท่อมเล็ก ๆ ไว้เพื่ออยู่ไฟโดยเฉพาะ โดยคุณแม่ที่อยู่ไฟจะนอนผิงไฟอยู่บนกระดานแผ่นเดียวในกระท่อมนั้น หากพื้นกระดานยกสูงแล้วใส่กองไฟก่อไว้ใต้กระดานโดยมีแผ่นสังกะสีรองใต้กระดานอีกทีจะเรียกว่าการอยู่ไฟญวน หรือการอยู่ไฟแคร่ หากนอนบนกระดานที่อยู่ระดับพื้น และก่อกองไฟไว้ข้าง ๆ บริเวณท้อง จะเรียกว่า การอยู่ไฟไทย หรือ อยู่ไฟข้าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการอยู่ไฟแคร่จะร้อนเกินไป จึงมักพบเห็นการอยู่ไฟข้างเสียเป็นส่วนมาก สำหรับคนทางอีสานจะเรียกการอยู่ไฟหลังคลอดว่าอยู่กรรม ซึ่งคุณแม่คนใดที่ไม่ผ่านการอยู่ไฟจะมีผิวพรรณผอมแห้ง น้ำนมขาด กินผิดสำแดงได้ง่าย ซึ่งนับว่าการอยู่ไฟหลังคลอดเป็นสิ่งที่คุณแม่สมัยก่อนต้องเจอกันมาเป็นเรื่องปกติทีเดียว
2. การอยู่ไฟหลังคลอดแบบร่วมสมัย
สำหรับการอยู่ไฟหลังคลอดแบบร่วมสมัย สาวไทยยังคงได้รับอิทธิพลจากภูมิปัญญาโบราณโดยประยุกต์อุปกรณ์ของใช้ให้กลายเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายและอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น โดยอาจไม่ต้องสร้างกระท่อมใหม่ แต่อาศัยห้องที่สามารถเก็บความร้อน และอาจเปลี่ยนจากการให้ความร้อนแบบอบตัวเหมือนคนสมัยโบราณ ให้กลายมาเป็นการให้ความร้อนเฉพาะจุดที่ตรงกับโจทย์มากกว่า
การอยู่ไฟหลังคลอดแบบร่วมสมัยยังประกอบด้วยกรรมวิธีหลากหลายที่นำมาใช้ช่วยเสริมประสิทธิภาพการรักษา เช่น
- การนวดประคบ ที่ใช้ลูกประคบค่อย ๆ กดความร้อนเข้าสู่จุดที่ต้องการรักษาโดยตรง พร้อมกับการซึมของตัวยาที่ได้จากสมุนไพรหลากหลายชนิดที่จะค่อย ๆ ซึมเข้าเยียวยาผิวพรรณ กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นได้อย่างตรงจุด ช่วยลดอาการปวดเมื่อยและเจ็บแผลหลังคลอด
- การเข้ากระโจมและอบสมุนไพร เป็นวิธีที่จำลองการอยู่ไฟแบบโบราณมาไว้ ด้วยอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคุณแม่สมัยใหม่มากยิ่งขึ้น ช่วยให้ร่างกายขับของเสีย ขับน้ำคาวปลา และช่วยลดอาการหนาวสั่นได้ด้วย
- การนาบหม้อเกลือ เป็นการนำหม้อเกลือร้อน ๆ มาประคบหน้าท้องและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ต้องการให้กล้ามเนื้อคลายตัว ต้องการให้รูขุมขนเปิดเพื่อขับของเสียออกมา นอกจากนี้ยังช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้นอีกด้วย
- การประคบ-นั่งอิฐหรือนั่งถ่าน การนั่งอิฐเป็นการนำอิฐย่างร้อน ๆ ห่อด้วยใบพลับพลึงและผ้าหลาย ๆ ชั้นมาประคบร่างกาย หรือใช้อิฐย่างร้อน ๆ หรือถ่านมาอังบริเวณปากช่องคลอด เพื่อให้แผลแห้งและหายเร็วขึ้น ช่วยกระตุ้นต่อมน้ำเหลืองและเลือดลมให้หมุนเวียนได้ดี
อยู่ไฟหลังคลอดกี่วัน
สำหรับคำถามที่ว่าอยู่ไฟหลังคลอดกี่วัน คำตอบคือคุณแม่ที่อยู่ไฟจะต้องใช้เวลาอยู่ในกระท่อมอยู่ไฟหลังคลอดนาน 7 – 15 วันโดย ห้ามอาบน้ำเย็น ห้ามสระผม ห้ามดื่มน้ำเย็น ห้ามรับประทานอาหารแสลง
การอบสมุนไพรหลังคลอด ใช้สมุนไพรอยู่ไฟหลังคลอดอะไรบ้าง
การอยู่ไฟหลังคลอดแบบร่วมสมัยยังอาศัยการอาบ – อบ – ประคบ สมุนไพรควบคู่กันไปด้วย เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษาและเยียวยาร่างกายของคุณแม่หลังคลอด และวิธีที่ได้รับความนิยมสูงก็หนีไม่พ้นการอบสมุนไพรหลังคลอด ที่มีการใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยาหลากหลาย ซึ่งหากคุณแม่สงสัยว่ามีการใช้สมุนไพรอยู่ไฟหลังคลอดอะไรบ้าง เหล่านี้คือลิสต์สมุไพรที่เรามักจะได้เจอในการอยู่ไฟหลังคลอดค่ะ
- สมุนไพรอยู่ไฟหลังคลอดสำหรับการทำลูกประคบ เช่น ตะไคร้ ใบส้มป่อย ขมิ้น การบูร ฯลฯ ที่ช่วยลดการปวดเมื่อยและคลายกล้ามเนื้อ
- สมุนไพรอยู่ไฟหลังคลอดสำหรับการอบตัวและทำน้ำต้มอาบ เช่น ตะไคร้ ขมิ้น ไพล ลูกมะกรูด ใบส้มป่อย ใบมะขาม ช่วยคืนความสดชื่น ให้ความรู้สึกกะปรี้กะเปร่า
ซึ่งจากที่กล่าวมาเราจะพบสมุนไพรอยูไฟหลังคลอดที่ใช้บ่อย เช่น มะกรูด ตะไคร้ ที่ช่วยกระตุ้นระบบทางเดินหายใจ, ไพล ช่วยลดการปวดเมื่อกล้ามเนื้อ, ขมิ้นชัน ช่วยบรรเทาอาการเคล็ดขัดยอก, การบูร พิมเสน, หัวหอมแดง, ใบมะขาม, ใบส้มป่อย, ซึ่งล้วนดีต่อการขับของเสียออกจากร่างกาย เยียวยาและบรรเทาความปวดเมื่อย และคืนความสดชื่นให้กับร่างกายของคุณแม่ได้เป็นอย่างดี
เป็นอย่างไรบ้างคะกับภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยกับการอยู่ไฟหลังคลอด ซึ่งไม่เพียงแต่เยียวยา ช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายหลังจากอุ้มท้องมายาวนานกว่า 9 เดือน ยังเป็นการกระตุ้นการทำงาน ปรับสมดุลย์ เพิ่มน้ำนมและขับของเสียออกจากร่างกาย ช่วยให้คุณแม่กลับสู่ร่างกายที่พร้อมขึ้นเร็วกว่าเดิม นอกจากนี้สมุนไพรต่าง ๆ ที่นำมาใช้ยังเป็นตัวยาที่ดีต่อร่างกายทั้งสิ้น เรียกว่าการอยู่ไฟในปัจจุบันเป็นทางเลือกที่คุณแม่หลังคลอดควรต้องได้ลองสักครั้งนะคะ