ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีแหล่งผลิตน้ำมันดิบ แต่รู้หรือไม่ว่าปริมาณที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้งานภายในประเทศทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศมากลั่นสำเร็จรูปมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างราคาน้ำมัน โดยในวันนี้ Shopee Blog จะพาไปคลายข้อสงสัยว่า ทำไมน้ำมันแพง มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อการขึ้น-ลงของราคาน้ำมันและแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันในปี 2568 จะเป็นอย่างไรไปดูกันเลย!
รู้จักโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศไทย มีอะไรบ้าง
รู้หรือไม่ว่าโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันแต่ละประเทศไม่เหมือนกันซึ่งในประเทศไทยราคาน้ำมันจะผ่านผู้เกี่ยวข้อง 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
- ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (Oil Cost) จะเป็นต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตมาจากโรงกลั่น ซึ่งจะมีความผันผวนไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
- ภาษี (Tax) มีการจัดเก็บออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่
- ภาษีสรรพสามิต จะจัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต โดยจะนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ
- ภาษีเทศบาล จะจัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจะมีการจัดส่งให้กับกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่เรารู้จักกันว่า VAT 7% ซึ่งจะจัดเก็บอยู่ที่ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด
- กองทุน (Fund) จะมีการจัดเก็บอยู่ด้วยกัน 2 กองทุนใหญ่ ๆ ได้แก่
- เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะเป็นการจัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อช่วยในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวนทางการเงิน
- กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จะจัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทนในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน
- ค่าการตลาด (Marketing Fee) ซึ่งจะอยู่ในส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่ายและกำไรของธุรกิจค้าปลีกของน้ำมันทั้งระบบตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันไปยังสถานีบริการต่าง ๆ และยังรวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน
Credit: Freepik
ทำไมน้ำมันแพง ปัจจัยใดบ้างส่งผลกระทบ
หากสังเกตดี ๆ จะมีการแจ้งราคาน้ำมันล่วงหน้าว่าวันพรุ่งนี้น้ำมันแต่ละชนิดจะแพงขึ้น หรือถูกลง เช่น ราคาน้ำมัน E20 ในวันพรุ่งนี้จะปรับราคาเพิ่มขึ้นจาก 35.94 เป็น 36.34 (+0.40 บาท) ที่มีผลให้น้ํามันขึ้นราคา เพราะปัจจัยหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- สภาพเศรษฐกิจโลก จะเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมัน เพราะหากเศรษฐกิจเติบโต ความต้องการใช้น้ำมันก็ย่อมสูงขึ้น แต่ในทางกลับกันหากเศรษฐกิจถดถอย ราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มที่จะปรับราคาลงซึ่งก็สอดคล้องตามหลักอุปสงค์และอุปทานนั่นเอง
- กำลังการผลิต หากผู้ผลิตไม่สามารถผลิตน้ำมันได้เพียงพอกับความต้องการก็ย่อมส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับราคาสูงขึ้น แต่หากความต้องการน้ำมันดิบลดลง หรือน้อยกว่ากำลังการผลิตก็ทำให้ราคาน้ำมันลดลงตามไปด้วย หรือหากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (กลุ่ม OPEC) ได้มีการตกลงโควต้าการผลิตน้ำมันดิบก็ย่อมส่งผลให้ทุกประเทศทั่วโลกเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นเดียวกัน
- สภาพภูมิอากาศ ฤดูกาล หรือสภาพอากาศเปลี่ยนก็มีผลต่ออุปสงค์การต้องการใช้น้ำมัน เช่น ในฤดูหนาวแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะมีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มความอบอุ่น หรือในช่วงที่สภาพอากาศเลวร้าย มีพายุรุนแรงก็อาจส่งผลต่อการผลิตที่อาจจะต้องหยุดชะงักซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัวได้
- ภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทราบกันดีว่าแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือนั้นเป็นภูมิภาคหลักของผู้ผลิตน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งหากบริเวณดังกล่าวไม่สงบ มีเหตุขัดแย้งไม่ว่าจะทางทหาร หรือการเมืองก็ย่อมส่งผลต่อราคาน้ำมันในช่วงนั้น ๆ และยังรวมถึงอุปสรรคในการขนส่งที่ส่งผลให้ราคาน้ำเพิ่มสูงขึ้นได้
- อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกจะซื้อขายกันด้วยเงินตระกูลดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar) ซึ่งหากเกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะส่งผลต่อต้นทุนในการซื้อน้ำมันของแต่ละประเทศที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราคาไปตามอัตราการแลกเปลี่ยน
- การเก็งกำไรของตลาด น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจะสามารถทำการขายในรูปแบบตลาดเปิดได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้เหล่าบรรดานักลงทุนมีความสนใจเพิ่มขึ้นจึงไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรของตลาดได้ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันผันผวนได้
- พลังงานทดแทนและการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงาน พลังงานทดแทนต่าง ๆ เช่น แสงอาทิตย์ (โซลาเซลล์) ไฟฟ้า ไฮโดรเจน ที่เริ่มถูกนำเข้ามาใช้แทนน้ำมันซึ่งหากในอนาคตสามารถผลิตออกมาในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการและราคาแข่งขันกับราคาน้ำมันได้ก็อาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงได้
Credit: Freepik
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันปี 68
ทิ้งท้ายด้วยการวิเคราะห์แนวโน้ม ราคาน้ำมันในอนาคตปี 2568 ที่อ้างอิงมาจากรายงานฉบับเดือน ส.ค. 67 ของ IEA ซึ่งได้มีการคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2567 ที่เพิ่มขึ้น 0.97 MMBD YoY อยู่ที่ 103.06 MMBD ซึ่งคงที่จากคาดการณ์ครั้งก่อนและได้มีการคาดการณ์อุปสงค์ในปี 2568 ว่าจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจาก 0.95 MMBD YoY อยู่ที่ 104.01 MMBD ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึันได้ในอนาคต แต่ถึงอย่างไรก็อาจจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ขณะนั้นร่วมด้วยเพื่อสะท้อนราคาน้ำมันที่แท้จริง
credit: Freepik
และจากที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะช่วยตอบข้อสงสัยว่า ทำไมน้ำมันแพง เพราะปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อต้นทุนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่จะกระทบราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มซึ่งประเทศไทยยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีและกองทุนต่าง ๆ รวมถึงค่าการตลาดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน แต่ก็มีในส่วนของภาครัฐที่จะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นส่วนในการบริหารจัดการราคาน้ำมันขายปลีกในไทยให้มีความเสถียรภาพของราคาไม่ให้กระทบกับประชาชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ
โดยหากสังเกตจะพบว่าในปัจจุบันมีคนใช้รถไฟฟ้ามาทดแทนรถน้ำมันกันมากขึ้นเนื่องจากค่าไฟฟ้าที่ชาร์จแล้วนำไปใช้งานแต่ละครั้งถูกกว่าและยังหาซื้ออุปกรณ์เสริมได้ง่าย ๆ ที่ Shopee นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีรถไฟฟ้าหลายรุ่นหลายยี่ห้อให้เลือกทั้งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นมินิ หรือหลายที่นั่งที่สามารถเข้ามาอ่านเกร็ดความรู้ วิธีการใช้งานของรถไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ที่ Shopee Blog โดยได้รวบรวมเอาสาระดี ๆ มาอัปเดตให้ทราบก่อนใคร
อ้างอิง: บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)