การที่ทารกคนหนึ่งจะออกมาดูโลกจำเป็นจะต้องมีการปรับสมดุลย์ของร่างกายขนานใหญ่เลยนะคะ เพราะนับตั้งแต่ตัดสายสะดือลูกน้อยก็จะไม่ได้รับสารอาหารและอากาศจากครรภ์ของคุณแม่อีกต่อไป แต่ต้องเปลี่ยนไปเป็นการรับประทานผ่านน้ำนมและสูดหายใจด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้เราจะได้พบเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของลูกน้อยได้ง่าย โดยเฉพาะอาการเด็กตัวเหลือง ซึ่งหากคุณแม่คนไหนที่ยังกังวลใจเรื่องนี้อยู่ เราเตรียมข้อมูลและคำตอบไว้ให้อุ่นใจ
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ทำความรู้จักภาวะเด็กตัวเหลือง
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าอาการทารกตัวเหลืองนั้นพบได้บ่อยถึงร้อยละ 50 ของทารกแรกเกิด และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 80% ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดค่ะ ดังนั้นอาการนี้ส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องปกติธรรมชาติมาก และทารกคนอื่นก็มีโอกาสเป็นได้เหมือนกัน สาเหตุการเกิดภาวะเด็กตัวเหลืองนั้นมาจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงผ่านกระบวนการของตับทำให้เกิดสารสีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน แต่ไม่สามารถขับออกจากร่างกายทางอุจจาระและปัสสาวะได้หมด สารสีเหลืองตัวนี้จึงปะปนไปอยู่ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ และทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 – 3 หลังคลอด โดยมีวิธีสังเกตคือ อยู่ในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ แล้วใช้มือกดลงบนผิวหนัง ซึ่งโดยปกติแล้วรอยบุ๋มที่ไม่มีเลือดจากเส้นเลือดฝอยนั้นจะเป็นสีขาว แต่หากเป็นสีเหลืองนั่นแสดงว่ากำลังมีภาวะทารกตัวเหลือง
สาเหตุที่ลูกตัวเหลือง
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ลูกตัวเหลืองที่ทำให้มีสารบิลิรูบินในเลือดสูงนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ ตัวอย่างเช่น
- เม็ดเลือดแดงของเด็กมีอายุสั้นกว่าผู้ใหญ่ เมื่อหมดอายุแล้วกำจัดไม่ทัน ทำให้สารบิลิรูบินตกค้างในเลือดจำนวนมากและเกิดอาการตัวเหลืองได้ในระยะแรก ซึ่งเป็นภาวะปกติของทารกที่จะค่อย ๆ หายไปได้เองใน 1 – 2 สัปดาห์
- ภาวะหมู่เลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน มักพบกับคุณแม่ที่มีหมู่เลือดโอและลูกที่มีหมู่เลือดเอหรือบี กับ คุณแม่ที่มีหมู่เลือด Rh- และลูกน้อยมีหมู่เลือด Rh+ ซึ่งหมู่เลือดที่ต่างกันนี้จะทำให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงเพราะคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และเกิดสารบิลิรูบินในกระแสเลือดได้สูง ซึ่งถือเป็นภาวะไม่ปกติที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ทารกเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอนไซม์ G6PD ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกตัวได้ง่าย และเป็นหนึ่งในภาวะที่เป็นอันตรายที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น การทำงานขอตับ หรือ ท่อน้ำดีผิดปกติ ซึ่งจะมีอาการเด็กตัวเหลืองควบคู่กับอุจจาระสีซีด และต้องอาศัยกาวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยัน
ผลข้างเคียงของอาการตัวเหลือง ลูกตัวเหลืองน่ากังวลหรือไม่
แม้อาการเด็กตัวเหลืองจะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด แต่ก็ยังมีข้อที่ต้องระวังอยู่เหมือนกันนะคะ นั่นคือหากรับของบิลิรูบินในเลือดสูงมาก ๆ เจ้าสารตัวนี้จะไปจับกับเนื้อสมอง ทำให้ทารกมีอาการซึมตอบสนองได้ช้า ตัวอ่อน ดูดนมได้ไม่ดี และทำให้เกิดอาการชักและเกิดการทำลายเนื้อสมองอย่างถาวรได้
นอกจากนี้ในภาวะที่สารบิลิรูบินในกระแสเลือดสูงยังมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการพัฒนาของเด็กที่ช้าลง รวมทั้งระดับ I.Q. ต่ำกว่าปกติ และอาจทำให้เกิดภาวะผิดปกติทางการได้ยินในระยะต่อมาด้วย ดังนั้นหากเด็กมีอาการตัวเหลืองมาก ๆ หรือมีอาการตัวเหลืองเป็นเวลานานกว่า 1 – 2 สัปดาห์ และเหล่านี้คืออาการเด็กตัวเหลืองที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวัง
- เหลืองเร็ว คือ ภายหลังคลอดมาแล้ว 1 – 2 วันก็เริ่มมีอาการตัวเหลืองทันที
- เหลืองจัด คือ ทารกตัวเหลืองแบบที่ฝ่ามือฝ่าเท้าเหลืองชัดเจน
- เหลืองนาน คือ แม้จะเกิน 7 วันไปแล้วก็ยังมีอาการตัวเหลืองอยู่ โดยที่ไม่มีวี่แววว่าจะหายเลย
- อุจจาระมีสีซีด ปัสสาวะมีสีเข้มกว่าปกติ
- เด็กตัวเหลืองร่วมกับอาการอื่น เช่น มีไข้ อาเจียน ถ่ายเหลว
หากลูกน้อยมีอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
การป้องกันรักษาวิธีดูแลทารกตัวเหลือง
สำหรับทารกตัวเหลืองวิธีแก้ไม่สามารถใช้การดื่มน้ำมาก ๆ ได้ เพราะไม่ใช่วิธีการที่ช่วยกำจัดสารบิลิรูบิน ทั้งยังไม่สามารถรักษาอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุหลักของการทำให้ทารกตัวเหลือง เช่น เม็ดเลือแดงแตกตัวเร็วและมากเกินไป หรือภาวะตับหรือถุงน้ำดีผิดปกติ ซึ่งวิธีดื่มน้ำมาก ๆ จะเป็นการลดความอยากนมของทารกและทำให้กินได้น้อยแทน
เมื่อทารกตัวเหลืองวิธีแก้แบบที่เล่าต่อกันมานั้นใช้ไม่ได้ เราขอแนะนำวิธีดูแลทารกตัวเหลือง ดังนี้
- กรณีที่ทารกมีภาวะเด็กตัวเหลืองไม่มาก หรือเป็นตามธรรมชาติ คุณหมอจะไม่ให้การรักษาเพิ่ม เพราะร่างกายของทารกจะสามารถขับสารเหล่านี้ออกมาได้เองแต่สำหรับทารกที่ต้องการติดตามใกล้ชิด คุณหมออาจใช้วิธีการส่องไฟด้วยแสงที่มีความยาวคลื่นเหมาะสม ซึ่งแสงจะช่วยให้ทารกขับสารสีเหลืองนี้ออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระเอง
- ในกรณีที่ส่องไฟแล้วยังไม่ได้ผล อาจต้องมีการรักษาในชั้นต่อไป เช่น ใช้การเปลี่ยนถ่ายเลือดเพื่อแก้ปัญหาภาวะเลือดที่ไม่เข้ากันหรือเด็กตัวเหลืองที่มีสาเหตุมาจากปัญหาของเลือด หรือหากทารกมีสาเหตุของอาการตัวเหลืองแบบอื่น เช่น ภาวะผิดปกติของตับหรือถุงน้ำดี ก็จำเป็นต้องแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาโดยตรง
- การที่ลูกน้อยสักคนจะเกิดขึ้นมาในโลกนี้มีสิ่งให้คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตระแวดระวังอยู่หลายอย่างด้วยกันนะคะ ซึ่งแน่นอนว่าเนื่องจากช่วงวัยทารกเป็นช่วงแรก ๆ ที่ลูกน้อยได้ออกมาลืมตาดูโลก ยังคงต้องปรับสมดุลต่าง ๆ ในร่างกาย อาการเด็กตัวเหลืองก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกังวลมากจนเกินไป แต่การเฝ้าระวังและสังเกตอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เห็นภาวะทารกตัวเหลืองตั้งแต่แรก ๆ และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็เป็นสิ่งจำเป็น
- และวิธีหนึ่งที่เราแนะนำก็คือควรให้คุณหมอติดตามอาการทารกตัวเหลืองให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะกลับบ้าน เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยและความสบายใจของคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง
และนี่คือสาเหตุและวิธีสังเกตอาการของลูกน้อยว่าเป็นเ็กตัวเหลืองหรือไม่ หากลูกน้อยของคุณเข้าข่าย ควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด แต่ก็ไม่ควรเป็นกังวลมากเกินไป หรืออาจจะพาลูกไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ค่ะ
บทความแม่และเด็กที่น่าสนใจ :