การออมเงินเป็นเป้าหมายที่หลายๆ คนปรารถนาที่จะบรรลุ ไม่ว่าคุณจะต้องการสร้างกองทุนฉุกเฉิน วางแผนสำหรับการช้อปปิ้งของชิ้นใหญ่ราคาแพง วางแผนเที่ยว วางแผนเรียนต่อ หรือเพียงเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน การหา วิธีเก็บเงินให้อยู่และมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญ ในบทความนี้ เราจะสำรวจ 11 สูตรการออมเงิน ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ว่าทริคออมเงินเหล่านี้เวิร์ค ใช้แล้วมีเงินเก็บเป็นก้อนได้ในระยะยาว และไม่ลำบากจนเกินไป
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
11 วิธีออมเงิน แบบใช้ได้จริง เก็บตังอยู่
1. ทริคเก็บเงิน แบงค์ 50 บาท
สำหรับหลายคนที่ยังนิยมพกเงินสดไว้ใช้จ่าย เมื่อใดก็ตามที่คุณได้รับธนบัตร 50 บาทเป็นเงินทอน ให้เก็บไว้ใส่ลงในขวดหรือกระปุกออมทรัพย์ที่กำหนด เมื่อเวลาผ่านไป การออมธนบัตร 50 บาทไว้แม้จะดูเล็กๆ น้อยๆ อาจรวมกันเป็นจำนวนเงินก้อนที่มีนัยสำคัญได้ สาเหตุที่คนนิยมเลือกออม แบงค์ 50 บาทนั้นเป็นเพราะเป็นมูลค่าที่ไม่เยอะจนเกินไปเหมือนแบงค์ 100 บาท และ ไม่น้อยจนเกินไปและสะดวกใช้แบบ แบงค์ 20 บาท
2. เก็บเงินจากเงินทอนหรือส่วนลด
ทริคเก็บเงิน นี้เหมาะสำหรับคนชอบใช้เงินสดในชีวิตประจำวันเช่นกัน คือการตั้งกฎว่าหากใช้เงินสดจ่ายเมื่อจับจ่ายใช้สอย และได้เงินทอนหรือส่วนลดจากการซื้อครั้งนั้นมา ต้องเก็บเงินทอนหรือส่วนลดเหล่านั้นแยกลงในกระเป๋าเงินแยกสำหรับออมทันที เมื่อเวลาผ่านไปซักหนึ่งปี เงินทอนที่ดูจำนวนไม่มากเหล่านั้นก็จะกลายเป็นเงินเก็บก้อนใหญ่ที่คุณจะต้องภูมิใจ
3. สร้างกระปุกออมเงิน แยกตามจุดมุ่งหมาย
วิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดเงินคือการตั้งค่าบัญชีออมทรัพย์แยกกัน หรือ กำหนด “ถัง” หรือ ส่วนของกระเป๋าตังค์ แยก สำหรับเป้าหมายทางการเงินที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจรวมถึงกองทุนฉุกเฉิน กองทุนเที่ยว กองทุนช้อปปิ้งของแพง กองทุนการศึกษา กองทุนเงินลงทุน หรือกองทุนเกษียณอายุ สิ่งนี้ช่วยให้คุณจัดสรรเงินเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะและป้องกันไม่ให้คุณถลุงเงินออมโดยไม่ได้ตั้งใจ เราแนะนำให้คุณเปิดบัญชีและโหลดแอปของธนาคารและแบ่งเก็บในแอปที่ทำโดยธนาคาร เช่น ฟีเจอร์ CLOUD บน MAKE by KBank คือธนาคารกสิกรไทย หรือ KEPT จากแอป KMA โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา วิธีนี้จะทำให้คุณเข้าแอปมาเห็นอย่างชัดเจนว่า เป้าหมายของคุณแต่ละอัน มีเงินเก็บมากเพียงพอต่อการซื้อ ซึ่งก็คือเป้าหมาย อยู่เท่าไหร่ และห่างอยู่อีกกี่บาท การเห็นตัวเลขที่ชัดเจนจะทำให้คุณมีแรงใจในการทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นและระยะห่างจากเป้าหมายลดลงเหมือนกับการเล่นเกม
4. แบ่งเงินใช้ในแต่ละวันเป็นงบประมาณจำกัด
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ชอบใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ลองคำนวณดูว่าแต่ละวันโดยเฉลี่ย คุณจะใช้เงินในหนึ่งวันอย่างประหยัดได้ในงบประมาณกี่บาท เช่น คุณมีค่าเดินทางและอาหารต้องใช้วันละ 200 บาท สมมุติว่าในหนึ่งเดือนคุณทำงานทั้งสิ้น 23 วัน ก็ให้ถอนเงินสดออกมาประมาณ 4,600 บาทและแบ่งเป็นกองไว้กองละ 200 บาท ทุกเช้าก่อนออกมาทำงานก็ให้หยิบเงิน 200 บาทของวันออกมาใช้เท่านั้น และพยายามไม่ใช้การโอนเงินออนไลน์ บัตรเครดิต หรือยืมเงินคนอื่นให้ได้มากที่สุด หากเหลือเงินจากงบประมาณต่อวันก็เอาใส่กระปุกเก็บออม ด้วยวิธีนี้คุณจะคิดว่าในแต่ละวันจะอยู่รอดด้วยเงิน 200 บาทอย่างไร ค่าใช่จ่ายไหนที่ต้องจ่ายโดยเลี่ยงไม่ได้ และค่าใช้จ่ายที่ทำให้ถูกลงได้ในบางการซื้อคืออะไร ลองทำดูสัก 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน และมีวันเสาร์อาทิตย์ให้พักผ่อนและกินใช้ตามใจอยากได้บ้าง เพื่อให้คุณใช้ทริคเก็บเงินนี้ได้ต่อในระยะยาว หรือถ้าคุณใช้ชีวิตอยู่ในย่านที่ค่าครองชีพแพงก็เพิ่มงบประมาณต่อวันเป็น 300 หรือ 400 บาทต่อวัน รับรองว่า ด้วยวิธีเก็บเงินนี้คุณจะประหยัดเงินไปได้มากทีเดียว หรือหากการตั้งงบต่อวันจะยุ่งยากและอาจลืมหยิบในตอนเช้า ก็ลองตั้งงบสำหรับสัปดาห์ก็ได้เช่นกัน
5. ทริคเก็บเงินด้วย กฎ 10%
สร้างนิสัยในการออมเงิน โดยตั้งกฎว่าคุณจะโอนเงิน 10% ของรายจ่ายในทุกครั้งที่คุณไปช้อปปิ้ง ไปยังบัญชีหรือกระเป๋าออมเงิน เช่น ช้อปปิ้งเสื้อผ้า 1,000 บาท ก็โอนเงิน 100 บาทเข้าบัญชีเงินออมทันที โดยหากคุณมีเงินไม่ถึง 1,100 บาท คุณก็จะไม่สามารถซื้อของสิ่งนั้นได้เนื่องจากงบประมาณไม่ครอบคลุมถึงเงินเก็บที่คุณตั้งกฎไว้ แนวทางการเก็บออมนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าคุณจะจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้ในอนาคตอย่างสม่ำเสมอ และไม่ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายจนหมด มีเงินเก็บไว้ใช้ได้ยามฉุกเฉิน
6. ตั้งเวลาออมอัตโนมัติ
ทริคเก็บเงินอันนี้เหมาะกับมนุษย์เงินเดือนมาก ให้คุณทำการตั้งค่าการโอนเงินอัตโนมัติจากบัญชีเงินฝากของคุณที่ทางบริษัทหรือนายจ้างโอนเงินเดือนเข้า ไปยังบัญชีออมทรัพย์ของคุณ ทุก 1 วันหลังจากวันเงินเดือนเข้า หรือประมาณวันที่ 1 ของทุกเดือน ทริคนี้ทำให้แน่ใจได้ว่าคุณจะออมเงินส่วนหนึ่งของรายได้ทุกเดือนโดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเองเพราะเมื่อตั้งค่าแล้วครั้งหนึ่ง ธนาคารจะตัดและโอนเงินให้อัตโนมัติในทุกๆเดือน เราแนะนำให้เริ่มต้นจากยอดเงินเก็บประมาณ 10% ของรายได้ และค่อยๆเพิ่มขึ้นเมื่อคุณทำได้อย่างดีแล้ว
7. ทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย และ ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
วิธีเก็บเงินให้อยู่ และเป็นพื้นฐานที่ทุกคนควรทำ คือทำการจดบันทึกและตรวจสอบรายรับ-รายจ่าย เพราะเช็คค่าใช้จ่ายรายเดือนและระบุรายการที่ไม่จำเป็นที่คุณสามารถตัดทิ้งได้ในเดือนต่อไป ซึ่งอาจรวมถึงบริการสมัครสมาชิก การรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือการซื้อแบบกระทันหัน เพราะมีคนจำนวนมากที่เมื่อทำบัญชีรวมยอดแต่ละประเภทแล้วก็จะค้นพบว่า “โห เราใช้เงินกับสิ่งนี้มากขนาดนี้เลยหรือ”
8. ช้อปอย่างชาญฉลาดและใช้คูปอง
เมื่อซื้ออาหารเครื่องดื่มหรือสิ่งของในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นจากร้านน้ำใกล้ที่ทำงาน ร้านข้าวใกล้บ้าน หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ซื้ออาหารและของใช้ตุนเข้าบ้านประจำ ให้มองหาคูปอง ส่วนลด และการลดราคา การใช้โปรแกรมสะสมคะแนนยังช่วยให้คุณประหยัดเงินได้ในระยะยาวอีกด้วย อย่าดูถูกพวกโปรแกรมเมมเบอร์ชิพหรือส่วนลดท้ายใบเสร็จที่ดูเล็กน้อย เพราะหากคุณช้อปปิ้งเพราะสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และในหนึ่งครั้งคุณจะได้ส่วนลดมูลค่า 50 บาทโดยเฉลี่ย ก็เท่ากับคุณประหยัดเงินไปได้ถึง 78,000 บาทในเวลา 30 ปี ซึ่งไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับการช้อปบน Shopee ก็มีส่วนลดให้กดเก็บมากมาย เช่น โค้ดส่วนลด โค้ดส่งฟรี หรือ โค้ดรับเงินคืน อย่าลืมหาคูปองเก็บก่อนช้อปปิ้งทุกครั้ง
9. ปฏิบัติตามกฎ 30 วัน
เราต้องยอมรับว่าเราเป็นมนุษย์ที่มีกิเลส เห็นใครหรือเห็นโฆษณาสินค้าน่าใช้ก็กดซื้อทันที ก่อนที่จะได้สินค้ามาและเสียใจภายหลังเพราะไม่มีความต้องการใช้งานสินค้านั้นเท่าไหร่และไม่คุ้มค่าการซื้อเลย ดังนั้น ก่อนทำการซื้อสินค้าแปลกใดก็ตาม ให้หยิบสินค้าใส่ตะกร้าเอาไว้ (add to cart) และอดใจรอ 30 วัน หากคุณยังคงต้องการสินค้าหลังจากช่วงเวลาดังกล่าวผ่านไป ให้พิจารณาซื้อมัน แต่ถ้าความต้องการซื้อหายไป คุณก็จะได้วิธีเก็บเงินซึ่งใช้ประหยัดได้จริงอีกวิธี กฎนี้ช่วยป้องกันการซื้อแบบไม่ยั้งคิด (Impulse Buying)
10. วิธีเก็บเงินตามเลขท้าย 3 ตัว
เพื่อสร้างสีสันให้กับการเก็บเงิน ให้คุณลองตกลงกับตัวเองว่าจะเก็บเงินเป็นจำนวนเดียวกับ เลขท้ายสามหลัก ที่ออกในแต่ละงวด วิธีเก็บเงินให้อยู่แบบนี้รับรองว่าถูกใจสายหวย เพราะไม่เพียงลุ้นหวยแต่ละงวดว่าจะถูกหรือไม่ ยังได้ลุ้นด้วยว่า คุณจะโอนเงินไปออม ในหลักหน่วย หรือหลักเกือบ 1,000 บาท เช่น 986 บาท ในทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน
11. แข่งกันเก็บเงินกับเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว
สำหรับคนรักการแข่งขัน หรือคนที่ถูกผลักดันได้ด้วยแรงกดดันจากคนสนิทรอบข้าง ให้ตกลงกันกับคนรักหรือเพื่อนว่าจะแข่งกันเก็บเงิน อาจเป็นการร่วมมือกันเก็บเงินในส่วนของตนเดือนละ x บาท เพื่อไปเที่ยวด้วยกันกับเพื่อนๆในแก๊งค์ก็เป็นได้ หรือหากเป็นคนรักคุณก็อาจพิจารณาเปิดบัญชีร่วม และตกลงกันว่าจะออมเงินเดือนละ 5,000 บาทในทุกๆเดือน เพื่อเก็บเป็นค่าทริปไปฮันนีมูน หรือ เป็นค่าเทอมลูก ก็ได้ทั้งสิ้น วิธีเก็บเงินวิธีนี้ จะทำให้มีกลุ่มคนช่วยกันเตือน เพื่อให้คุณไม่ลืมโอนเงินไปเก็บในที่ๆตกลงกันไว้ รวมถึงไม่เอาเงินกองกลางที่เก็บร่วมกันมาออกมาใช้หากไม่ฉุกเฉินจริงๆ
จะใช้ทริคเก็บเงินได้อย่างไรเมื่อต้องใช้เงินแบบเดือนชนเดือนอยู่?
ตอบ: หากคุณมีงบประมาณจำกัด ให้เริ่มด้วยการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย และจำแนกว่ารายจ่ายไหนจำเป็นต้องจ่ายจริงๆ เช่น ค่าไฟโดยเฉลี่ย ค่าเทอม หรือ ค่าเดินทางไปทำงาน จากนั้นลองตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่เหลือทั้งหมดของคุณ มองหาจุดที่คุณสามารถลดและจัดลำดับความสำคัญของการออมได้ เช่น เลือกลดค่าอาหารโดยทำอาหารและห่อมาทานที่ที่ทำงานเองเพราะทำเองมักมีราคาถูกกว่าซื้อร้านข้าวทาน อีกทางหนึ่งของวิธีการเก็บเงิน คือ ลองหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม แม้ว่าจะเป็นงานพาร์ทไทม์หรือขายของทั่วไปก็ตาม เพราะการออมและการสร้างกองทุนฉุกเฉินถือเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าคุณจะสามารถเก็บออมเงินได้เพียงเล็กน้อยในแต่ละเดือนก็สมควรทำทั้งสิ้น
สูตรการออมเงิน มีมากมายและง่ายกว่าที่คิด เพียงเลือกตั้งกฎและลองทำตาม
สรุปแล้ว การออมเงินเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุความมั่นคงทางการเงินและการบรรลุเป้าหมายทางการเงินของคุณ ด้วยการใช้ทริคเก็บเงินที่ได้รับการพิสูจน์แล้วทั้ง 11 ข้อเกี่ยวกับวิธีการประหยัดเงิน คุณสามารถควบคุมการเงินของคุณและสร้างอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินอัตโนมัติ การช็อปปิ้งอย่างชาญฉลาด หรือการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เคล็ดลับเหล่านี้สามารถช่วยให้คุณประหยัดเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทุกก้าวเล็กๆ ที่คุณทำเพื่อเก็บเงินนั้นเป็นก้าวสำหรับการค่อยๆเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง