อาการปวดหัว เรียกได้ว่าเป็นอาการสามัญประจำบ้าน ที่ทุกคนจะต้องเคยประสบพบเจออาการแบบนี้ไม่มากก็น้อยในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัวทั้งศีรษะ อาการปวดหัวข้างเดียว อาการปวดจี๊ด ๆ ปวดหัวที่หัวด้านหลัง และอาการปวดหัวในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งหลายท่านคิดว่าอาการปวดหัวเกิดขึ้นได้เป็นประจำและไม่อันตราย เพียงนอนหลับสักงีบ หรือวิธีง่ายสุดก็เลือกรับประทานยาแก้ปวด ก็น่าจะหายแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยความคิดเหล่านี้ คิดว่าปวดสักพักเดียวเดี๋ยวก็หายแล้ว อาจทำให้หลายท่านละเลยสัญญาณอันตรายที่นำมาซึ่งโรคร้ายได้ เพราะอาการปวดหัวบ่อย ๆ บางประเภท อย่างอาการปวดหัวซีกซ้าย ปวดหัวข้างซ้ายอย่างเดียว ปวดหัวข้างซ้ายท้ายทอย เป็นสิ่งที่ทุกท่านไม่ควรมองข้าม ซึ่งในบทความนี้เราจะนำเสนอข้อควรระวังจากอาการปวดหัวข้างซ้ายธรรมดา ที่อาจไม่ธรรมดาเสมอไป
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
การปวดศีรษะเกิดขึ้นจากอะไร
อาการปวดหัว ไม่ว่าจะเป็นปวดหัวทั้งศีรษะ ปวดท้ายทอย หรือปวดหัวด้านซ้าย เราจะรู้สึกได้เมื่อเส้นประสาทบริเวณนั้น ๆ ได้รับแรงกระแทก แรงกดดัน หรือมีปัจจัยทำให้เส้นประสาทหรือเส้นเลือดเจ็บปวด ทำให้อาการเจ็บเหล่านี้ส่งตรงไปยังสมองส่วนกลาง สมองก็จะทำหน้าที่ตอบสนองความรู้สึกให้กับร่างกายรับรู้เป็นอาการปวดศีรษะ โดยอาการปวดหัวทั้งศีรษะ หรือปวดบริเวณท้ายทอย อาจไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะอาจเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ภาวะความเครียด ออฟฟิศซินโดรม แต่หากมีอาการปวดหัวข้างซ้ายอย่างต่อเนื่อง นั่นอาจเป็นสัญญาณการเกิดโรคร้ายได้เช่นกัน
สาเหตุของอาการ ปวดหัวข้างซ้ายเป็นอะไร โดยทั่วไป
อาการปวดหัวส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอาการปวดหัวข้างเดียวข้างซ้าย หรืออาการปวดหัวข้างซ้ายท้ายทอย เป็นอาการที่พบได้บ่อย และมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลาย ๆ ด้านดังนี้
- ปัจจัยจากการใช้ชีวิตประจำวัน
กล่าวคือ การใช้ชีวิตประจำวันแบบหนักๆหรือผิดธรรมชาติ เช่น ใช้ร่างกายหนัก ใช้สายตาจ้องหน้าจอคอมฯ หรือมือถือย่างหนัก ทำงานภายใต้ความกดดันความเครียด หรือดื่มเหล้า/เครื่องดื่มแอลกฮอลล์เป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือแม้แต่อาการติดกาแฟ หรือใส่หมวกที่คับศีรษะมากจนเกิดไป อาจก่อให้เกิดอาการปวดหัวซีกซ้ายได้แบบไม่ต้องสงสัย แต่สาเหตุรูปแบบนี้ มักสังเกตได้ง่ายจากพฤติกรรมของเราเอง และมักมีอาการไม่นานและไม่ต่อเนื่องหลาย ๆ วัน
- ปัจจัยจากการเจ็บป่วยของร่างกาย
สาเหตุของอาการปวดหัวข้างเดียวข้างซ้าย ที่มาจากการเจ็บป่วยของร่างกาย เป็นเรื่องที่ทุกท่านไม่ควรมองข้าม เพราะอาการปวดหัวซีกซ้าย เชื่อมต่อระบบประสาททั้งใบหน้าและท้ายทอย อาจเป็นสัญญาณการเกิดโรคร้ายแรงได้ ทั้งโรคเนื้องอกในสมอง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคไขสมองอักเสบ หรือแม้แต่โรคเรื้อรังบางประเภท อย่างโรคภูมิแพ้ โรคไข้หวัด ซึ่งเมื่อใดก็ตามเรามีอาการปวดหัวข้างซ้ายแบบรุนแรง หรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ให้พึงระวังว่าอาจมีสาเหตุจากโรคเหล่านี้และรีบเข้าพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน
- ปัจจัยจากการใช้ยาบางประเภท
รู้หรือไม่ว่า ยาตระกูลแก้ปวด ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวดตามใบสั่งแพทย์ ยาแอสไพริน ยาพาราเซตามอลที่หาซื้อได้ทั่วไป หรือแม้กระทั่งยาคุมกำเนิดบางประเภทสำหรับบางคน ยาเหล่านี้อาจมีอาการข้างเคียงต่อผู้ป่วยที่เลือกใช้ยาติดต่อกันมากกว่า 2-3 วัน ต่อสัปดาห์ ดังนั้น การใช้ยาแก้ปวดระงับอาการปวดมากเกินไปอาจส่งผลให้ท่านรู้สึกปวดหัวซีกซ้ายขึ้นมาได้เช่นกัน อาจพูดคร่าวๆว่าเกิดอาการดื้อยาและยาแก้ปวดที่กินทำให้ได้ผลน้อยลงก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรเพิ่มโดสยาเอง หรือเปลี่ยนตัวยาให้แรงขึ้นเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ควรพบแพทย์และตรวจให้แน่ใจถึงสาเหตุและรักษาจากต้นเหตุเพื่อหายจากอาการปวดหัวข้างซ้ายอย่างยั่งยืน
อาการ ปวดหัวข้างซ้าย ที่ไม่ควรมองข้าม
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อาการปวดหัวด้านซ้ายมีหลายสาเหตุและหลายปัจจัยกระตุ้น ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเพียงอาการออฟฟิศซินโดรม ภาวะความเครียด หรืออาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยธรรมดา กินยาสักพักก็หาย แต่ทว่าอาการปวดหัวข้างซ้ายบางประเภทกับเป็นสัญญาณเตือนที่เราไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะ 5 อาการปวดหัวข้างซ้าย ดังต่อไปนี้
- ปวดหัวข้างซ้าย หลังหู
อาการปวดหัวข้างซ้ายหลังหู อาจเป็นอาการสามัญสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือโรคทางเดินหายใจ เพราะหากระบบไซนัสอักเสบ ที่บริเวณจมูกอาจมีอาการปวดหัวบริเวณทั่วขมับ ข้างใดข้างหนึ่ง ลามไปบริเวณหลังหูได้
- ปวดหัวข้างซ้าย กระบอกตา
อาการปวดหัวข้างซ้ายกระบอกตา มักเป็นอาการข้างเคียงจากผู้ป่วยที่ปวดหัวไมเกรน โดยจะมีอาการปวดขมับด้านใดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะด้ายซ้าย ปวดร้าวมาจนถึงกระบอกตาซ้าย ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าในสมอง กระทบกับการไหลเวียนของเลือด เกิดเป็นการอักเสบขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดหัวข้างซ้ายแบบตุ๊บ ๆ ร้าวมาที่กระบอกตา เป็นระยะเวลานาน ๆ
- ปวดหัวข้างซ้าย พร้อมอาการปวดฟัน
อาการปวดหัวข้างซ้าย เชื่อมต่อมาบริเวณฟัน หรือขากรรไกร ส่วนใหญ่ไม่อันตรายมากนัก เนื่องจากอาจเป็นอาการปวดหัวจากโรคฟันในช่องปาก ระบบขากรรไกร หรือระบบกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ผู้ป่วยสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เอง ด้วยการรับประทานอาหารอ่อนๆ หรือรับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วยได้
- ปวดหัวข้างซ้าย แบบปวดระบมท้ายทอย
อาการปวดหัวข้างซ้าย บริเวณท้ายทอย อาจเกิดได้หลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภาวะความเครียด ท่านั่งเดิม ๆ เป็นเวลานาน ๆ หรือภาวะออฟฟิศซินโดรมที่ทำให้เกิดการอักเสบ ตึง บริเวณบ่าและหลัง ปวดร้าวไปบริเวณท้ายทอยและศีรษะด้ายซ้าย ซึ่งส่วนใหญ่หากได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ หรือหลีกเลี่ยงภาวะความเครียด อาการเหล่านี้อาจหายไปเองได้
- ปวดหัวข้างซ้ายข้างเดียวแบบนาน ๆ
อาการปวดหัวข้างซ้ายแบบรุนแรง กะทันหันและเป็นระยะเวลาต่อเนื่องหลายชั่วโมง พร้อมด้วยการมองเห็นผิดปกติ ภาพซ้อน มีอาการวิงเวียนศีรษะอยากอาเจียนหรือมีอาการกล้ามเนื้อชาร่วมด้วย ให้สันนิษฐานว่า เป็นอาการที่ควรรีบพบแพทย์โดยทันที เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ/แตก โรคเนื้องอกสมอง หรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบก็เป็นได้
ปวดหัวข้างซ้าย วิธีแก้และปฐมพยาบาล คืออะไร
แม้ว่าอาการปวดศีรษะด้านซ้ายบางประเภทอาจรุนแรงและเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย แต่อาการปวดหัวซีกซ้ายส่วนใหญ่ไม่อันตรายและสามารถแก้และปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ เช่น การงีบหลับพักผ่อน ประคบอุ่นร้อนหรือเย็นบริเวณขมับหรือลำคอ และแม้แต่การรับประทานยาแก้ปวดธรรมดาอย่าง ยาพาราเซตามอล ก็สามารถบรรเทาอาการและรักษาอาการปวดหัวด้านซ้ายให้หายได้ อย่างไรก็ตามหากต้องรับประทานยาแก้ปวด ควรรับประทานเมื่อจำเป็น พร้อมทำตามคำแนะนำของฉลาก แพทย์ หรือเภสัชกร อย่างเคร่งครัด ซึ่งหากทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น หรือมี 5 อาการปวดหัวเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจและวินิจฉัยโดยทันที
5 อาการปวดหัวที่ควรรีบพบแพทย์
- อาการปวดศีรษะทุกครั้งหลังตื่นนอน
- อาการปวดหัวรุนแรงและเฉียบพลันพร้อมความสามารถในการมองเห็นลดลง
- อาการปวดศีรษะข้างซ้ายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น หลายสัปดาห์
- อาการปวดศีรษะพร้อมมีไข้ หนาวสั่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- อาการปวดศีรษะเพียงข้างเดียว และลามไปปวดถึงอวัยวะข้างเคียง
การรักษาอาการปวดหัวทั่วไป
1. ยาที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์
- ยาแก้ปวด: ยาอย่างอะเซตามิโนเฟน ไอบูโพรเฟน หรือแอสไพรินสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ ระวังอย่าใช้ยาแอสไพรินร่วมกับแอลกอฮอล์หรือกับผู้ป่วยโรคหอบหืด สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยไช้เลือดออก
- ยาแก้ปวดแบบผสม: ยาที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์บางชนิดที่แก้ปวดหัวไมเกรน เช่น คาเฟอกอต มีการผสมผสานยาแก้ปวดเข้ากับคาเฟอีน ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดหัวบางประเภทได้ อย่างไรก็ตาม อย่าผสมยา หรือกินยากับกาแฟด้วยกันเองเพราะคิดว่ามันเข้ากันเสมอไป เพราะยาแต่ละชนิดเมื่อผสมกับคาเฟอีน อาจมีผลทั้งทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และทำให้ผลของการดูดซึมยาบางชนิดลดลง
2. ยาที่ควรให้แพทย์สั่ง
- Triptans: ยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ เช่น sumatriptan สามารถช่วยบรรเทาอาการไมเกรนปานกลางถึงรุนแรงได้โดยการหดตัวของหลอดเลือดและปิดกั้นเส้นทางความเจ็บปวดในสมอง เป็นยาที่ต้องถูกสั่งใช้โดยแพทย์และใช้โดยการฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังเพื่อระงับการปวดหัวไมเกรนเฉียบพลัน
- Ergot ยากลุ่มเออร์กอต: ยาเหล่านี้ใช้ได้ผลกับคนบางคนและมักใช้รักษาไมเกรน ต้องให้แพทย์สั่ง และระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับยากลุ่ม Triptans (Credit: รพ.จุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย)
- ยาป้องกัน: สำหรับอาการปวดศีรษะเรื้อรังหรือรุนแรง แพทย์อาจสั่งยาป้องกัน เช่น ยาเบต้าบล็อคเกอร์ ยาแก้ซึมเศร้า หรือยาต้านอาการชัก
3. การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต
- รูปแบบการนอนปกติ: กำหนดตารางการนอนหลับให้สม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะได้นอนหลับอย่างเพียงพอในแต่ละคืน
- การจัดการความเครียด: ฝึกเทคนิคการผ่อนคลายความเครียดให้กับทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น การหายใจลึกๆ โยคะ การทำสมาธิ หรือการยืดเหยียดผ่อนคลายกล้ามเนื้อแบบต่อเนื่องเพื่อลดความเครียด พิลาทิสก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการคลายกล้ามเนื้อเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโรคออฟฟิศซินโดรม
- การเปลี่ยนแปลงการบริโภคอาหาร: หลีกเลี่ยงอาหารกระตุ้นกระปวดหัวได้ เช่น คาเฟอีน ช็อคโกแลต ชีสบ่ม และเนื้อสัตว์แปรรูป รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่โดยการรับประทานอาหารที่สมดุล หลากหลาย อย่างสม่ำเสมอ
- การให้น้ำ: รักษาร่างกายให้ชุ่มชื้นโดยการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้วในแต่ละวัน
4. การรักษาทางเลือก
- การฝังเข็ม: บางคนสามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะเรื้อรังได้ด้วยการฝังเข็ม ซึ่งเป็นเทคนิคการแพทย์แผนจีนโดยการแทงเข็มบางๆ เข้าไปในจุดเฉพาะบนร่างกาย
- การดูแลเกี่ยวกับไคโรแพรคติกหรือกายภาพบำบัด: การปรับกระดูกสันหลังและการจัดการโดยหมอนวดจัดกระดูกบางครั้งสามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะจากความตึงเครียดได้
- การรักษาด้วยสมุนไพร: แพทย์แผนไทยเองก็มีการรักษาเฉพาะตัว เช่น น้ำมันหอมระเหย หรือ ยาหอม ที่ทำจากสมุนไพรไทยชนิดต่างๆ ยาหอมแต่ละสูตรอาจใช้รักษาอาการปวดศีรษะแต่ละแบบต่างกันออกไป (Credit: มหาวิทยาลัยมหิดล)
- การรักษาอาการปวดหัวด้วยการฉีดโบท็อกซ์: ใช่ โบท็อกซ์หัวไม่ได้มีจุดประสงค์ทำให้หัวสวยแต่อย่างใด แต่โบท็อกซ์ามารถเข้าไปยับยั้งปลายประสาทที่เป็นตัวกลางในการส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปที่สมองได้ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวและลดอาการปวดหัวลง (Credit: รพ.กรุงเทพฯ)
- การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS): การปวดหัวอย่างไมเกรน บางครั้งก็มาจากการที่เซลล์สมองตื่นตัวมากเกินไป ดังนั้นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้น จึงช่วยลดอาการปวดหัวได้ (Credit: รพ.นครธน)
วิธีการป้องกันการปวดหัวข้างซ้ายในระยะยาว
1. ระบุและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการปวดหัว
1.1 บันทึกเพื่อหาสาเหตุอาการปวดหัว: กระตุ้นให้บุคคลเก็บบันทึกอาการปวดหัวไว้เพื่อระบุสิ่งกระตุ้น เช่น อาหาร เครื่องดื่ม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือความเครียด
1.2 หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น: เมื่อชี้ชัดได้แล้วว่าสาเหตุของอาการปวดหัวคืออะไร คุณควรพยายามอย่างมีสติเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นเหล่านี้
2. การออกกำลังกายเป็นประจำ
2.1 การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ้: การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ้ คือให้หัวใจเต้นแรงขึ้นเป็นประจำ เช่น การเดิน วิ่งจ๊อกกิ้ง หรือว่ายน้ำ สามารถช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น และลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดศีรษะได้
3. เทคนิคการจัดการความเครียด
3.1 Biofeedback: เทคนิคนี้ช่วยควบคุมการทำงานทางสรีรวิทยาของผู้ป่วย และลดความเครียดด้วยการให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการทำงานของร่างกาย เช่น ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและอัตราการเต้นของหัวใจ
3.2 การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา (CBT): Cognitive Behavioral Therapy (CBT) สามารถช่วยให้บุคคลระบุและเปลี่ยนแปลงรูปแบบความคิดและพฤติกรรมเชิงลบที่ทำให้เกิดความเครียดและอาการปวดหัวได้ วิธีนี้จะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีความเครียดหรือเป็นโรคซึมเศร้า
4. กายภาพบำบัด
4.1 การออกกำลังกายคอ บ่า และไหล่: นักกายภาพบำบัดสามารถแนะนำการออกกำลังกายเฉพาะเพื่อปรับปรุงท่าทางและลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อคอและไหล่ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวได้
5. รักษาร่างกายให้ชุ่มชื้นและรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
5.1 การดื่มน้ำ: ดื่มน้ำเป็นประจำตลอดทั้งวันอย่างเพียงพอเพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเหมาะสม
5.2 อาหารที่สมดุล: เลือกทานอาหารที่สมดุล หลากหลาย อุดมไปด้วยผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และโปรตีนไร้ไขมัน หลีกเลี่ยงการกินไม่อาหารตามมื้อ เนื่องจากหากน้ำตาลในเลือดต่ำอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวได้
6. การพักผ่อนและนอนหลับเป็นประจำ
6.1 เทคนิคการผ่อนคลาย: ฝึกออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลาย เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง การหายใจลึกๆ หรือจินตภาพเพื่อลดความเครียด
6.2 รูปแบบการนอนที่สม่ำเสมอและไม่ดึกเกินไป: รักษาตารางการนอนให้สม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งระยะเวลาและคุณภาพการนอนหลับนั้นเพียงพอ ทำให้สมองของคุณไม่เหนื่อยล้าและทำงานหนักมากเกินไปในวันรุ่งขึ้น
เห็นมั้ยคะว่า อาการปวดหัว แม้ว่าจะเป็นอาการธรรมดา ๆ แต่บางครั้งอาจไม่ธรรมดาเสมอไป โดยเฉพาะอาการปวดศรีษะด้านซ้ายแบบต่อเนื่องหรือรุนแรง ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดหัวเกิดขึ้นเมื่อใด หมั่นใส่ใจตนเอง สังเกตอาการ และเข้าพบแพทย์ทันทีหากพบความผิดปกติ จะเป็นแนวทางช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
แหล่งข้อมูล : rama.mahidol, .phyathai