หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อบทสวดกรณียเมตตสูตรมาบ้างแล้ว ทั้งจากพระอาจารย์หลายๆ ท่านและจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 20 แต่รู้จักและเข้าใจความหมายของ “กรณียเมตตสูตร” กันอย่างผ่องแท้แล้วหรือยัง วันนี้เรามาดูกันว่ากรณียเมตตสูตรนั้นคืออะไร
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
กรณียเมตตสูตรช่วยเรื่องใดได้
บทกรณียเมตตสูตร ได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบของคาถาเมตตามหานิยม คาถามหาเสน่ห์ทั้งหลายทั้งปวง การได้สวดบทสวดกรณียเมตตสูตรเป็นประจำจะทำให้มีเสน่ห์ เป็นที่รักของทั้งเทพเทวดา มนุษย์และปีศาจทั้งหลายทั้งปวง ศัตรูคู่แข่งจากไม่ชอบก็กลับกลายมาเป็นมิตร ไปไหนมาไหน ทำอะไรก็มีแต่ผู้คนเมตตา ช่วยให้ทำอะไรราบรื่น
บางครั้งบทสวดมนต์ กรณียเมตตสูตร ก็เรียกได้อีกชื่อว่า เมตตสูตร เพราะมีการใช้สวดเพื่อป้องกัน คุ้มครองจากภัยอันตรายต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ความเป็นมาของกรณียเมตตสูตร
กรณียเมตตสูตร ได้ถูกบรรยายไว้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 25 โดยกรณียเมตตสูตร มาจากคำว่า “กรณียะ” หมายถึง กิจที่ควรทำ ซึ่งได้มีการขยายความไว้ว่า สิกขา 3 หรือ ไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา และคำว่า “เมตตา”
กล่าวกันว่าในสมัยหนึ่งที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี พระพุทธองค์ทรงได้ประทานมนต์คาถาบทหนึ่งที่ชื่อว่า กรณียเมตตสูตร ให้แก่พระภิกษุกลุ่มหนึ่งที่ไปปักกลดปฏิบัติธรรมในป่าหิมวันต์แต่ถูกเทวดาเจ้าที่แปลงกายเป็นผีมากหลอกหลอน โดยทรงกำชับให้ภิกษุเหล่านั้นสวดบทกรณียกเมตตสูตรทุกวันเช้าเย็น หลังจากที่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เทวดาทั้งหลายที่รังเกลียดเหล่าภิกษุต่างก็เปลี่ยนเป็นเมตตา พากันออกมาปรนนิบัติรับใช้จนตลอดพรรษา ส่งผลให้เหล่าภิกษุปฏิบัติธรรมได้จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
หัวใจสำคัญของ กรณียเมตตสูตร (อย่างย่อ)
หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน เคยบอกไว้ว่า ถ้าหากจำบทเต็มไม่ได้ ในเวลาคับขันหรือก่อนและขณะขับรถสามารถท่องเฉพาะหัวใจสำคัญได้ว่า “เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง” ที่ถือว่าเป็นคาถาที่เป็นการเจริญเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งโลก และยังปรากฎอยู่ในวรรคหนึ่งของพระคาถา กรณียเมตตสูตร อีกด้วย
บทสวดกรณียเมตตสูตร ควรสวดตอนไหน
สามารถสวดบทกรณียเมตตสูตรได้เป็นประจำทุกวัน เหล่าพระภิกษุสงฆ์ในบางวัดก็มีการสวดบทสวดนี้ในการทำวัตรเย็นทุกวัน แต่สำหรับผู้ที่มีเวลาน้อยก็สามารถสวดในเวลาที่ต้องการสร้างขวัญและกำลังใจในเวลาคับขันได้ เช่น ในสถานการณ์ที่ต้องพบกับผู้ที่ไม่ค่อยชอบเรา เวลาสัมภาษณ์งานหรือเวลาพบลูกค้าเพื่อให้ผู้คนเมตตาชื่นชอบในตัวเราได้
บทสวดกรณียเมตตสูตร
กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ
สักโก อุชู จะ สุหุชู จะ สุวะโจ จัสสะ มุทุ อะนะติมานี
สันตุสสะโก จะ สุภะโร จะ อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติ
สันตินทริโย จะ นิปะโก จะ อัปปะคัพโภ กุเลสุ อะนะนุคิทโธ
นะ จะ ขุททัง สะมาจะเร กิญจิ เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุง
สุขิโน วา เขมิโน โหตุ สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ ตะสา วา ถาวะรา วา อะนะวะเสสา
ทีฆา วา เย มะหันตา วา มัชฌิยา รัสสะกา อะณุกะถูลา
ทิฏฐา วา เย จะ อะทิฏฐา เย จะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร
ภูตา วา สัมภะเวสี วา สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นัง กิญจิ
พยาโรสะนา ปะฏีฆะสัญญา นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ
มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข
เอวัมปิ สัพพะภุเตสุ มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง
ติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธ
เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ พรัหมะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุ
ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน
กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ
คำแปลบทกรณียเมตตสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่าดังนี้ว่า)
ผู้ฉลาดในประโยชน์มุ่งหวังบรรลุสันตบท ควรบําเพ็ญกรณียกิจควรเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน ไม่คะนอง ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย
อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใด ๆ ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตําหนิเอาได้ (ควรแผ่เมตตา ไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า) ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข มีความเกษม มีตนเป็นสุขเถิด คือ เหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคงขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน ขอสัตว์เหล่านั้น ทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี ภูตหรือ สัมภเวสีก็ดี ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกันเพราะความโกรธและความแค้น ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยัง สรรพสัตว์ ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณ กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด ทั้ง ชั้นบน ชั้นล่างและชั้นกลาง ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ควรตั้งสตินี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิมีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ กําจัดความยินดีในกามคุณได้แล้วก็จะ ไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
หมายเหตุ หากสวดเริ่ม เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง เป็นต้นไป ภาวนาเป็นประจำ จะทําให้เป็นที่รัก ของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
บทขัดกรณียเมตตสูตร พร้อมคำแปล
(ตั้งนะโม 3จบ)
ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง
ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต
สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ
เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
คําแปล
เพราะอานุภาพแห่งพระปริตต์ใด พวกยักษ์ทั้งหลายไม่แสดงอาการอันน่าสะพรึงกลัว อนึ่ง บุคคลไม่เกียจคร้าน เจริญพระปริตต์ใดเนืองๆ ทั้งกลางคืนและกลางวัน ย่อมหลับเป็นสุข ทั้งหลับแล้วก็ไม่ฝัน เห็นอารมณ์ชั่วร้ายไรๆ เราทั้งหลายจงสวดพระปริตต์นั้น อันประกอบด้วยคุณมีอย่างนี้เป็นต้นกันเถิด
นอกจากการสวดมนต์บทกรณียเมตตสูตรเป็นประจำจะช่วยให้เราเป็นที่รัก มีคนเมตตาแล้ว ต่อเจ้ากรรมนายเวร เทวดาทั้งหลาย สิ่งที่ควรทำคู่กับการสวดบทกรณียเมตตสูตรนั้นก็คือการที่เราปฏิบัติตนตามศีลธรรม มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เห็นแก่ส่วนรวม ไม่พูดจาทำร้ายจิตใจผู้อื่น ก็จะช่วยให้เราเป็าที่รักที่เมตตาต่อทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์ต่างๆ ได้
แหล่งที่มา https://www.lcbp.co.th http://pbs.mcu.ac.th http://www.kanlayanatam.com