การเป็นไข้นับเป็นความเจ็บป่วยของร่างกายรูปแบบหนึ่งที่แสดงถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย ในแบบที่บางครั้งอาการไข้ต่ำ ๆ เราแค่เพียงปล่อยเอาไว้ก็สามารถหายได้เอง แต่ก็อีกในหลายครั้ง อาการไข้นั้นเป็นตัวบ่งชี้แรก ๆ ของความเจ็บป่วยที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดในแบบที่หากปล่อยให้ไข้สูงนาน ๆ จะสามารถนำไปสู่อาการชักได้ ซึ่งคราวนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาการไข้-การเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ใกล้ตัว รวมถึงวิธีเช็ดตัวลดไข้ให้ไข้ลดได้ง่าย ๆ หรือใครที่เป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เมื่อลูกมีไข้จะมีวิธีเช็ดตัวลดไข้ให้ลูกอย่่างไรให้ถูกวิธี มาดูกัน
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
อาการไข้เกิดขึ้นได้อย่างไร
อาการไข้ หรือ ตัวร้อน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เกิดจากภาวะติดเชื้อ ทั้งจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด รวมทั้งเชื้อแบคทีเรีย เช่น อาหารเป็นพิษ ทั้งยังอาจเกิดได้จากการอักเสบในร่างกาย ร่างกายขาดน้ำ รวมถึงการตากแดดเป็นเวลานาน ๆ ในแบบที่เราเรียกว่าเป็นไข้แดดนั่นเอง หรือบางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้สาเหตุเลยก็ได้ ซึ่งอาการนี้มีโอกาสเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
การชี้วัดว่าอาการไข้ขนาดไหนถึงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เราอาจวัดได้จากอุณหภูมิที่หากสูงเกินกว่าอุณหภูมิร่างกายปกติที่ 37 องศาเซลเซียส ก็เรียกได้ว่าเริ่มมีอาการไข้ต่ำ ๆ แต่หากอุณหภูมิเริ่มสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียสแสดงว่าเริ่มมีไข้สูง และหากสูงเกิน 39.5 องศาเซลเซียสแสดงว่ามีไข้สูงมาก ควรไปพบแพทย์ทันที
อาการไข้สูงปล่อยไว้อันตรายแค่ไหน
จริงอยู่ที่อาการไข้ที่เราพบบ่อย ๆ หลายครั้งแค่กินยาก็สามารถหายได้เอง แต่ก็มีอาการไข้บางอย่างที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และเพื่อไม่ให้เราดูเบาอาการนี้ ลองมาดูกันต่อเลยว่าอาการไข้แบบไหนที่ควรต้องระวังกันบ้าง
- อาการไข้สูงที่มาพร้อมกับอาการเจ็บคอ ไอถี่ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตัว เป็นอาการของไข้หวัดใหญ่
- อาการไข้สูงที่มาพร้อมกับการปวหัว ปวดตัวมาก รับประทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย เป็นอาการของไข้เลือดออก
- อาการไข้สูงที่เกิดร่วมกับผู้ป่วยเบาหวาน ไต ปอด อาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
- อาการไข้สูงที่เกิดร่วมกับผู้ที่เดินย่ำน้ำ/น้ำท่วม อาจเป็นอาการของไข้มาลาเรีย โรคฉี่หนู
- หากมีไข้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์พร้อมอาการหนาวสั่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลด ปวดกระดูก อาจเป็นอาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว/ มะเร็งไขกระดูก
ดังนั้นอาการไข้ที่ดูเป็นเรื่องธรรมดา หลาย ๆ ครั้งก็เป็นสัญญาณของโรคอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งหากอาการไข้สูงไม่หายในเร็ววันควรไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำกว่าทั่วไป จึงมีโอกาสที่โรคจะลุกลามได้ง่ายกว่าปกติ
วิธีลดไข้อย่างง่าย
หากเกิดอาการไข้ที่ไม่สูงมาก อุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นจะทำให้ไม่สบายตัว การพักผ่อนให้มากพร้อมกับการลดไข้จึงเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรก ๆ ที่ต้องทำ และเหล่านี้คือลิสต์วิธีลดไข้อย่างง่ายที่สามารถทำเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายจากอาการไข้ได้
- ดื่มน้ำมาก ๆ อาจผสมเกลือแร่ได้ เพื่อปรับสมดุลในร่างกายและป้องกันการขาดน้ำ
- อาบน้ำอุ่น เช็ดตัว ใช้ผ้าเปียกหรือเจลความเย็นประคบหน้าผาก เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายลง
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
- สวมเสื้อผ้าที่หลวมและระบายอากาศได้ดี ถอดเปลี่ยนได้ง่ายหากเปียกชื้น
- รับประทานยาลดไข้แก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน แอดสไพริน ฯลฯ อย่างไรก็ดีห้ามใช้ยาพาราเซตามอลกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์, ไอบูโพรเฟน ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน และห้ามใช้แอสไพรินกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
เช็ดตัวลดไข้อย่างไรให้ไข้ลด
วิธีลดไข้ที่เรานิยมใช้เมื่อเป็นไข้ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็คือการเช็ดตัวนั่นเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดไข้แล้วยังทำให้ผู้ป่วยสบายตัวขึ้นด้วย ซึ่งการเช็ดตัวอย่างถูกวิธีก็จะช่วยทำให้ไข้ลดลงได้เร็ว ดังนั้นเรามาดูกันต่อเลยว่าหากต้องลดไข้ด้วยการเช็ดตัวแล้ว เราจะมีขั้นตอนการเช็ดตัวลดไข้กันอย่างไรบ้าง
- เริ่มจากปิดแอร์หรือพัดลมก่อนเริ่มเช็ดตัว เตรียมกะละมังน้ำอุ่นที่ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป แล้วถอดเสื้อผ้าของผู้ป่วยออกโดยใช้ผ้าคลุมหน้าอกไว้
- จากนั้นนำผ้าชุบน้ำบิดหมาดเริ่มเช็ดที่ใบหน้า ลำคอ หลังหู ทิ้งพักไว้ที่บริเวณซอกคอและหลังหูราว 1 – 2 นาที เพื่อซับอุณหภูมิความร้อนออกมา จากนั้นเปลี่ยนผ้าชุบน้ำบิดหมาดมาเช็ดบริเวณใบหน้า พักทิ้งไว้บริเวณหน้าผากราว 2 – 3 นาที ทำสลับกัน
- เริ่มเช็ดบริเวณแขน โดยเช็ดจากปลายแขนเข้าหาตัวเพื่อเปิดรูขุมขนให้ระบายความร้อนออกมา แล้วพักทิ้งไว้บริเวณรักแร้ประมาณ 2 – 3 นาทีเพื่อซับอุณหภูมิ ทำทั้งสองข้าง หมั่นเช็ดบริเวณฝ่ามือ ทิ้งผ้าให้กำไว้ราวข้างละ 2 – 3 นาทีเพื่อซับอุณหภูมิ
- จากนั้นเช็ดขาทั้งสองข้าง เช่นกัน เช็ดจากปลายเท้าเข้าสู่ลำตัวเพื่อเปิดระบายความร้อนผ่านรูขุมขน แล้วพักไว้ที่ขาหนีบและข้อพับใต้เข่าราว 2 – 3 นาที ทำทั้งสองข้าง เช็ดฝ่าเท้าหลาย ๆ ครั้ง
- ตะแคงตัวผู้ป่วยเพื่อเช็ดด้านหลัง โดยให้เช็ดซ้ำหลาย ๆ ครั้งตั้งแต่บริเวณลำคอจนถึงก้น
- ใช้ผ้าขนหนูแห้งเช็ดตัวให้แห้ง แล้วสวมเสื้อผ้าโปร่งที่ระบายความร้อนได้ดี แล้ววัดอุณหภูมิซ้ำว่าไข้ลดลงหรือไม่หลังจากเช็ดตัวไปแล้วประมาณ 30 นาที โดยต้องเช็ดซ้ำหากมีไข้สูง และหากไข้ไม่ลดก็ควรไปพบแพทย์วินิจฉัยสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ข้อสำคัญคือควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อปรับสมดุลและป้องกันการขาดน้ำ ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นทันทีหลังเช็ดตัว และควรเปลี่ยนน้ำหรือเปลี่ยนผ้าบ่อย ๆ แต่หากผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่นควรหยุดทำทันที
และเหล่านี้ก็คือข้อควรรู้เกี่ยวกับอาการไข้ ความเจ็บป่วยที่ใกล้ตัวและดูเหมือนธรรมดา แต่ก็ไม่ธรรมดาเสียทีเดียว อาการไข้ต่ำ ๆ หรือมีไข้สูงปานกลางสามารถรักษาเยียวยาได้ที่บ้านด้วยการเช็ดตัวลดไข้อย่างถูกวิธี แต่ที่สำคัญคือผู้ดูแลควรตระหนักเสมอว่าหากมีไข้สูงก็ไม่ควรดูแลรักษาเอง โดยเฉพาะเด็กน้อยและผู้สูงอายุที่ควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัย