เริม (Herpes) โรคผิวหนังที่สามารถติดต่อได้หากไม่ระวัง ซึ่งพบได้บ่อยมาก และเมื่อเป็นแล้วหลายคนรู้สึกอายกับการไปโรงพยาบาลทั้งที่ความจริงแล้ว โรคเริม หรือเริมที่ปาก สามารถเกิดได้ทั้งหญิงและชายหากร่างกายอ่อนแอ และได้รับเชื้อเข้ามา วันนี้เราจึงขอนำทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคเริม รวมไปถึงสาเหตุ อาการ วิธีการรักษา ข้อควรปฏิบัติ และวิธีป้องกันเพื่อช่วยให้ห่างไกลโรค หรือรู้วิธีการรับมืออย่างถูกต้อง
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
เริมเกิดจาก
เริมที่ปาก คือโรคติดต่อทางผิวหนัง โดยเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus – HSV) จากรอยโรค หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยเริมคนอื่น ๆ ของผิวหนัง เช่น การดื่มน้ำ หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นช้อน ส้อม แก้วน้ำ ผ้าขนหนู ลิปสติก หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ทั้งภายในบ้าน หรือสถานที่สาธารณะทั่ว ๆ ไป รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัส ก็อาจได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายเช่นกัน
อาการของเริมที่ปาก
ถ้าพูดถึงเริมที่ปากในสมัยอดีตจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างรุนแรง รวมถึงผู้ที่เป็นจะรู้สึกอาย และเสียบุคลิกซึ่งเริมจะมีอาการ ดังต่อไปนี้
- จะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 วัน หรืออาจนานถึง 20 วัน โดยสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัยในระยะแรก
- ระยะแรกจะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำพองใส ๆ บริเวณเยื่อบุของริมฝีปาก เหงือก ลิ้น และเพดานปาก หากแตกจะมีลักษณะเป็นแผลตื้น อีกทั้งยังมีลักษณะอาการเหงือกบวมแดง รวมไปถึงอาจมีกลิ่นปาก
- จะมีลักษณะเป็นแผลบวมแดง ตุ่มพองด้านในเป็นน้ำใส ๆ และมักรู้สึกคันซึ่งบางคนอาจจะมีตุ่มด้านในช่องปากร่วมด้วย
- ช่วงประมาณ 4-5 วันแรกมักจะมีอาการระคายเคือง และเจ็บคอ รวมถึงอาการทั่วไปจะมีไข้ วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หรือปวดศีรษะรวมถึงเมื่อยตามตัว ซึ่งลักษณะอาการปวดจะไม่เจ็บเท่าบริเวณอวัยวะเพศ
- หากเป็นแผลก็สามารถหายไปเองประมาณ 7 -10 วัน สำหรับในผู้ป่วยบางรายแผลอาจจะเน่าเปื่อยภายในช่องปากซึ่งมักเรียกว่า “เริมในช่องปากชนิดเป็นซ้ำ” ทั้งนี้บางคนอาจจะมีแผลเริมขึ้นได้ที่จมูก และใบหน้า
- เริมสามารถหายได้เองในช่วงระยะเวลา 5-10 วันแต่อาจจะเกิดซ้ำได้หากได้รับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ เครียด หรือมีประจำเดือน รวมไปถึงเป็นไข้หวัดต่าง ๆ
ซึ่งลักษณะอาการของเริมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เมื่อหายแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถอยู่ในร่างกายได้ตลอดชีวิต หากไม่ทำการรักษาที่ถูกต้องแต่โดยปกติเมื่อเป็นซ้ำอาการจะไม่รุนแรงเท่ากับครั้งแรก ถ้าหากบุคคลใดเป็นภายซ้ำภายในระยะหนึ่งปีมากกว่า 6 ครั้งแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
วิธีการรักษาเริมที่ปาก
แม้จะเป็นโรคที่รักษาแล้วไม่หาย และอาจกลับมาเกิดโรคซ้ำได้ แต่สิ่งที่ดีคือการรู้จักปฏิบัติตน และดูแลรักษาแผลให้ถูกต้อง โดยมีวิธีในการรักษาโดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
วิธีการรักษาด้วยตนเอง
ซึ่งเป็นการปฏิบัติเพื่อดูแลตนเองเบื้องต้นโดยเริ่มที่
- การทำให้แผลแห้งอยู่เสมอ โดยการเช็ดด้วยผ้าขนหนูที่สะอาดหลังอาบน้ำทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้แผลชื้น
- พยายามไม่ไปแกะ หรือเกาบริเวณแผลซึ่งควรจะตัดเล็บให้สั้นอย่างสม่ำเสมอ
- น้ำเกลือ อย่างน้ำเกลือ klean & kare หรือน้ำต้มสุก สามารถนำมาใช้ในการเช็ดทำความสะอาดแผลได้
- หากมีการจับต้องแผลควรไปล้างมือโดยทันทีเพื่อป้องกันการนำมือไปสัมผัสกับบริเวณส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
วิธีการรักษาเริมที่ปากทางการแพทย์
เมื่อพบตุ่มใสซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของเริม แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อการวินิจที่ถูกต้องแน่นอนโดยการวินิจฉัยหาเริมที่ปากนั้นได้แก่ การวิเคราะห์ถึงลักษณะของผื่น การเพาะเชื้อ หรือการตรวจทดสอบด้วยวิธี Tznack test หากผลออกมาว่าเป็นเริมควรได้รับยาในการรักษาระยะเฉียบพลันโดยทันที ส่งผลให้หายเร็วกว่าปกติ ดังนั้นจึงควรมาพบเเพทย์เมื่อมีอาการ
โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคเริมที่ปาก
- อาจจะตาบอดได้หากได้เชื้อจากการสัมผัสสู่ดวงตา
- สามารถแพร่เชื้อไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงได้
- มีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผื่น หรืออาจจะกลับมาเป็นซ้ำ
- สำหรับผู้ที่มีความบกพร่อง หรือภูมิคุ้มกันกันต่ำเมื่อได้รับเชื้อเข้าไปอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้น จึงไม่ควรมองข้ามเมื่อสังเกตพบว่า ตนเองมีความรู้สึกคล้ายลักษณะอาการข้างต้นโดยแนะนำให้ไปพบแพทย์โดยทันทีเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว และมีอัตราโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้น้อยลง
ข้อควรปฏิบัติ และวิธีการป้องกันโรคเริม
เริมเป็นโรคที่กลับมาเป็นซ้ำได้ โดยบางครั้งไม่ได้มีอาการแสดงโดยทันทีทำให้อาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ จึงควรรู้จักวิธีป้องกัน และข้อควรปฏิบัติในการดูแลตนเองให้ปลอดภัย และห่างไกลโรคเริม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำเหลือง และน้ำลายจากการไอจาม หรือแผลของผู้ป่วย เช่น ตุ่มตามผิวหนัง หรือเยื่อเมือกต่าง ๆ
- ควรเลี่ยงการใช้งานสิ่งของ หรือเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จานชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า และมีดโกน
- ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ตลอดจนการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- การรับประทานยาต้านไวรัสทุกวันจะช่วยลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น แต่อาจจะส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- หลีกเลี่ยงการเที่ยวสถานบริการ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่มิใช่สามี หรือภรรยาของตนเอง หรือถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรมีการสวมใส่ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้ง และควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral-genital contact)
- ไม่แนะนำให้เจาะปากเนื่องจากเชื้อไวรัสอาจจะแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ จากสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย หรือเนื้อเยื่อภายในช่องปาก
เป็นเริมที่ปากห้ามกินอะไร
- เครื่องดื่มต่าง ๆ ทั้ง ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- ของแปรรูปต่าง ๆ เช่น ของหมักดอง รวมไปถึงอาหารกระป๋อง เบคอน เนยเทียม และชีส ฯลฯ
- อาหารทะเล และเนื้อสัตว์ ทั้ง หอย กุ้ง หมึก แมงดา ปลาทู ปลาซาบะ ไข่หอยเม่น เนื้อไก่ วัว รวมไปถึงเครื่องในของสัตว์ทุกชนิด
- ผัก และผลไม้ เช่น ทุเรียน ลองกอง เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ มะพร้าว หน่อไม้ กระถิน สะตอ ชะอม กะหล่ำปลี แครอท ฯลฯ
- อาหารรสจัดทุกชนิด
เราก็ได้รู้ไปแล้วว่าเริมเกิดจากอะไร เริมอาการอย่างไร จะเห็นได้ว่าเริมที่ปากเป็นโรคติดต่อที่สามารถเกิดซ้ำได้ และยังสามารถกระจายไปสู่ผู้อื่นจึงจำเป็นต้องรู้จักวิธีป้องกัน วิธีการปฏิบัติตนในการดูแลรักษาสุขภาพรวมไปถึงการสังเกตลักษณะอาการหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด สุดท้ายนี้ แม้ว่าเริมจะยังไม่มีวัคซีนในการรักษาแต่ก็สามารถลดอาการต่าง ๆ ลงได้โดยเริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการสร้างวินัยต่าง ๆ ด้วยตัวคุณเอง
แหล่งข้อมูล : bangkoksafeclinic, paolohospital, cheewajit, poonrada