PPH คือ ภาวะตกเลือดหลังคลอด (Postpartum hemorrhage) ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์สูงสุด ซึ่งเกิดจากภาวะขาดแคลนบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำคลอดและอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็เป็นส่วนหนึ่ง รวมทั้งการไม่มียาที่จำเป็นอย่างพอเพียง รวมไปถึงการขาดแคลนเลือดหรือแม้กระทั่งขั้นตอนการดูแลรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ภาวะตกเลือดหลังคลอด จะเป็นภาวะของการเสียเลือดภายหลังทารกคลอดทางช่องคลอด หรือการคลอดแบบธรรมชาติมากกว่า 500 มิลลิลิตร หรือการเสียเลือดมากกว่า 1,000 มิลลิลิตร ในกรณีผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง หรือการเสียเลือดหลังทารกคลอดเกินร้อยละ1 ของน้ำหนักตัวมารดา
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
สาเหตุของภาวะตกเลือดหลังคลอด
- การตกเลือดหลังคลอดระยะเฉียบพลัน คือภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด สาเหตุได้แก่
- กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวไม่ดี เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
- การฉีกขาดของช่องทางในการคลอด เช่น ปากมดลูก หรือช่องคลอด
- การมีเศษรกหรือเยื่อหุ้มทารกค้างในโพรงมดลูก
- การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- การตกเลือดหลังคลอดระยะหลัง คือ การที่มีเลือดออกตั้งแต่หลังจาก 24 ชั่วโมงไปจนถึง 12 สัปดาห์หลังคลอด สาเหตุได้แก่
- การติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุพบได้บ่อยที่สุด
- การมีเศษรก หรือเยื่อหุ้มทารกค้างในโพรงมดลูก พบเป็นได้ทั้งสาเหตุตกเลือดหลังคลอดเฉียบพลันและระยะหลัง
สังเกตอาการตกเลือดหลังคลอดในระยะหลัง
- สังเกตลักษณะของน้ำคาวปลา(lochia) แบ่งเป็น 3 ระยะ
- ระยะที่ 1 น้ำคาวปลาจะเป็นสีแดง ภายหลังคลอดบุตร 3-4 วันแรก เรียกว่า Lochia rubra
- ระยะที่ 2 น้ำคาวปลาจะเป็นสีแดงจาง ๆ ภายหลังคลอดบุตร 4-10 วัน เรียกว่า lochia serosa
- ระยะที่ 3 น้ำคาวปลาจะเริ่มเป็นสีเหลือง-ขาว ภายหลังคลอดบุตร 10 วันขึ้นไป เรียกว่า Lochia alba และอาจจะมีระยะเวลานานถึง 36 วัน
ลักษณะของน้ำคาวปลาผิดปกติจะเป็นสีแดงไม่จางและไม่เปลี่ยนสี และบางรายจะมีลักษณะเป็นลิ่มเลือด เป็นเลือดสีแดงภายหลัง 10 วันจากการคลอดบุตร ถือว่าเป็นอาการตกเลือดหลังคลอดในภายหลัง จึงควรรีบไปพบแพทย์
2. มดลูกไม่เข้าอู่ตามปกติ (Uterine Subinvolution)
มดลูกจะมีการหดรัดตัวเพื่อป้องกันการเสียเลือด และลดขนาดลงเหลือต่ำกว่าระดับสะดือเล็กน้อยโดยทันที หลังจากมีการคลอดบุตร และอาการของมดลูกไม่เข้าอู่ตามปกติมักพบว่าจะมีอาการร่วมกับการมีเลือดออก หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์
3. มีอาการของการติดเชื้อภายในโพรงมดลูก
หากมีอาการกดเจ็บบริเวณตัวมดลูกมาก ๆ ไปจนถึงอาการมีไข้หรือมีน้ำคาวปลาที่มีกลิ่นเหม็นมากจนผิดปกติ ซึ่งเกิดจากสาเหตุการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวก็ควรที่จะไปพบแพทย์ในทันที
ความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อ ได้แก่
- การผ่าตัดคลอดบุตร
- มีประวัติมีเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในช่องคลอดของสตรีตั้งครรภ์
- มีประวัติน้ำเดินก่อนคลอด หรือมีภาวะติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำก่อนคลอดบุตร
- มีภาวะทารกถ่ายขี้เทาในถุงน้ำคร่ำ
- การได้รับยาเร่งคลอดเป็นเวลานาน
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี
- สตรีตั้งครรภ์ทารกแฝด
- มารดามีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ
สตรีตั้งครรภ์ที่มีอาการผิดปกติหลังคลอดตามที่กล่าวข้างต้นควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยทั่วไปสำหรับการรักษาจะเป็นการให้ยาฆ่าเชื้อ ในกรณีที่มีไข้หรือรักษาด้วยยากินแล้วอาหารยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะมีการพิจารณาให้นอนโรงพยาบาล เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำ
เมื่อเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอด ควรทำอย่างไร
- ภาวะตกเลือดหลังคลอดเฉียบพลันเป็นระยะวิกฤตที่แพทย์ต้องให้ความช่วยเหลือด่วน
- ผู้คลอดต้องสังเกตตัวเอง ว่าเลือดออกทางช่องคลอดมากจนผิดปกติ หรือมีเลือดออกเป็นลิ่ม ๆ หรือไม่
- หากมีอาการหน้ามืด วิงเวียนคล้ายจะเป็นลมร่วมด้วย จะต้องรีบแจ้งแพทย์ หรือพยาบาลให้ทราบทันที
- ภาวะตกเลือดหลังจากออกจากโรงพยาบาล เมื่อมาพักฟื้นอยู่บ้านแล้ว หรือการตกเลือดหลังคลอดในระยะหลัง
- หากมีการติดเชื้อในโพรงมดลูก หรือมีเศษรกค้างในโพรงมดลูก ปริมาณเลือดที่ออกอาจจะยังไม่มาก จะเป็นเลือดสด ๆ ออกมาน้อย ๆ แล้วจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ กรณีให้กลับไปพบแพทย์ทันที
- มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น การมีไข้ มีอาการปวดท้องน้อย ปวดมดลูก โดยผู้คลอดต้องแยกภาวะเลือดออกผิดปกติกับน้ำคาวปลาหลังคลอดให้ได้
- ใน 2 – 3 วันแรก น้ำคาวปลาจะยังมีสีแดงแต่ปริมาณจะไม่มากจนเมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์หลังคลอด สีน้ำคาวปลาจะค่อย ๆ จางลงและจะไม่กลับมามีเลือดสีแดงสดออกมาอีก รวมทั้งจะไม่มีไข้หรือไม่มีอาการปวดท้องน้อย แบบนี้ถือว่าปกติ
- หากมีเลือดออกหลังคลอดในระยะหลังที่ไม่ใช่น้ำคาวปลาปกติออกมาอีก ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
การรักษาภาวะตกเลือดหลังคลอด
ภาวะตกเลือดหลังคลอดเฉียบพลัน หรือภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระยะวิกฤตที่ต้องให้ความช่วยเหลือด่วน โดยจะเกิดจากสาเหตุ เช่น
- หากช่องคลอดมีการฉีกขาด แพทย์จะทำการเย็บซ่อม
- กรณีที่มีเศษรก หรือเยื่อหุ้มเด็กคงค้างอยู่ในโพรงมดลูก จะต้องทำการขูดมดลูกใหม่
- หากเสียเลือดมากจะต้องทำการให้เลือด และให้สารช่วยในการแข็งตัวของเลือด
- ส่วนสาเหตุที่เกิดจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดี ที่พบบ่อยที่สุดนั้น การรักษาประกอบด้วย การให้น้ำเกลือ การให้เลือด การให้ยาช่วยการหดรัดตัวของมดลูก การนวดคลึงมดลูก
- จำเป็นต้องตัดมดลูก เพื่อรักษาชีวิตแม่ หากไม่สามารถจะหยุดเลือดได้ ถึงแม้ว่าจะรักษาด้วยยาหลายขนานแล้วก็ตาม
- ส่วนการตกเลือดหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว
- การติดเชื้อจากการมีเศษรกค้างในโพรงมดลูกไม่มาก เลือดที่ออกมักไม่มากเหมือนระยะหลังคลอดใหม่ๆ แพทย์จะทำการตรวจภายในและประเมินสภาพมดลูกก่อน จากนั้นจะทำการตรวจมดลูกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อดูว่ามีเศษรกค้างอยู่หรือไม่ หากมีค้างก็พิจารณาให้ยาปฏิชีวนะก่อน แล้วพิจารณาขูดมดลูกต่อไป
- หากไม่มีเศษรกค้างก็จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งให้ยากลับบ้านมารับประทาน
- หากเลือดออกมาก อาจให้นอนโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ และให้เลือดร่วมด้วย
อาการแทรกซ้อนจากภาวะตกเลือดหลังคลอด
- จะมีอาการซีด และอ่อนเพลีย
- ไม่มีน้ำนมแม่เลี้ยงดูบุตร เนื่องจากตอนเสียเลือดจนเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำมีเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนที่ควบคุมการสร้างน้ำนมไม่เพียงพอ
- เกิดภาวะไตวาย เลือดไม่แข็งตัว
- เกิดการเสียชีวิตได้
ภาวะตกเลือดหลังคลอด ก็มีโอกาสจะเกิดซ้ำอีกในครรภ์ถัดไป และจะมีโอกาสตกเลือดหลังคลอดได้มากขึ้นอีก 10 % ดังนั้นในทุก ๆ การฝากครรภ์จะต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพื่อที่แพทย์จะได้มีการเตรียมให้ป้องกันและให้คำแนะนำและดูแลเป็นกรณี ในระหว่างการฝากครรภ์ต้องรับประทานยาบำรุงครรภ์อย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการสร้างเม็ดเลือดแดงสำรองในยามที่ต้องเสียเลือดหลังคลอดจะช่วยลดอาการข้างเคียงจากการตกเลือดได้
ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลแมคคอร์มิค / พญาไท3