ส่าไข้ คือ อาการที่เด็กมีไข้สูงหรือส่าไข้เด็กเมื่อไข้เริ่มลดลงจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัวและหลังซึ่งเรียกอีกชื่อว่าหัดกุหลาบเกิดจากเชื้อไวรัสจะมีลักษณะเหมือนเป็นหัด โรคนี้จะพบได้บ่อยในเด็กเล็กลักษณะอาการจะเหมือนมีไข้และเริ่มงอแงมีน้ำมูกไหล เจ็บคอ กินข้าวได้น้อยลง บางรายหากมีไข้สูงมากอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วยซึ่งจะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดในอาการที่ไม่รุนแรงอาการจะหายไปเองภายใน 3-4 วัน หากไม่มีอาการอื่นแทรกซ้อน
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ส่าไข้ เกิดจากอะไร และติดต่อกันอย่างไร
เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีในเสมหะและน้ำลายของผู้ป่วย สามารถติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือติดต่อโดยการสัมผัส ซึ่งเชื้ออาจติดอยู่ที่มือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เมื่อคนปกติมาสัมผัสถูกมือผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อก็จะติดมากับมือของคนนั้น เมื่อใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูกเชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายได้โดยจะมี จุดสังเกตดังนี้
- ส่าไข้เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสในกลุ่มโรคเริมที่ชื่อว่า Human Herpesvirus 6(HHV-6)
- อาจเกิดจากเชื้อไวรัส Human Herpes Virus 7 (HHV-7) ซึ่งจะสามารถแพร่กระจายได้
- เกิดจากการสัมผัสโดนสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย เช่น น้ำลายหรือน้ำมูกเมื่ออยู่ใกล้กัน
- ช่วงของการแพร่กระจายของเชื้อจะเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการ ซึ่งอาจจะหลีกเลี่ยงได้ยาก
- เมื่อเกิดผื่นแดงขึ้นตามตัวแล้วหลังจากไข้ลดลงก็จะไม่ติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้อีก เมื่อถึงช่วงนี้ก็สามารถจะใช้ชีวิตได้ปกติ
ส่าไข้ จะมีอาการอย่างไรบ้าง
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 39.5-40.5 องศาเซลเซียส เกิดขึ้นอย่างฉับพลันระยะฟักตัวของเชื้อจะอยู่ในช่วง 5-15 วัน และจะแสดงอาการออกมาภายใน 1-2 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อหากอาการของโรคไม่ค่อยรุนแรงก็มักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้สูงเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่มีผื่นขึ้นหรืออาจมีผื่นขึ้น จึงทำให้วินิจฉัยได้ไม่แน่ชัด
- ในช่วงก่อนที่จะเกิดผื่นขึ้นจะพบว่าไข้สูงก่อนในระยะนี้ประมาณ 39.5-40.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหากสูงมากอาจจะมีอาการชักในเด็กได้
- อาจมีลักษณะตัวร้อนตลอดเวลาหากเป็นส่าไข้เด็กอาจจะยังร่าเริงและดื่มนม ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารได้ดีเป็นปกติ
- อาจมีอาการหงุดหงิด งอแง หรือเบื่ออาหารเล็กน้อย
- อาจมีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกใส หรือท้องเดินเล็กน้อย
- ช่วงที่ไข้สูงมากอาจพบมีต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณหลังหู ท้ายทอย มีหนังตาบวมเล็กน้อยและเยื่อบุตาแดงอาจจะมีอาการอักเสบที่แก้วหูร่วมด้วย
- ระยะที่ไข้เริ่มลดจะพบผื่นสีแดงขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ผื่นบางจุดอาจมีลักษณะนูนเล็กน้อยขึ้นตามลำตัว และแขนขา
- เด็กแถบเอเชียอาจพบมีแผลบริเวณด้านหลังของเพดานอ่อนติดกับลิ้นและลิ้นไก่ด้วย
ส่าไข้ จะมีวิธีดูแลและรักษาอย่างไร
เมื่อเด็กมีไข้สูงมากต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเนื่องจากการมีไข้สูงเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยจะต้องมีตรวจเช็กและมีการรักษาเพื่อไม่ให้มีโรคแทรกซ้อนหากได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ สำหรับโรคส่าไข้นี้จัดเป็นโรคที่หายได้เอง เนื่องจากเกิดจากเชื้อไวรัสจึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรงการรักษาจึงเป็นเพียงแต่การให้การรักษาไปตามอาการ ดังนี้
- ระวังอย่าให้มีไข้สูงมากเพราะเด็กอาจเกิดอาการชักจากไข้ได้ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ โดยให้เช็ดย้อนรูขุมขน
- ในระยะที่มีไข้สูงให้รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ร่วมกับการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ
- ผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด (ชนิดเม็ด 500 มิลลิกรัม) รับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมงแต่ไม่ควรเกิน 8 เม็ด ต่อวัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน เนื่องจากมีโอกาสเกิดพิษต่อตับ
- เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี ให้ใช้ในขนาด 19-15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่เกินวันละ 5 ครั้ง โดยควรรับประทานเฉพาะเวลาที่มีอาการ
- เด็กที่มีประวัติชักหรือมีพี่น้องเคยชักมาก่อน แพทย์จะให้ยากันชักร่วมกับยาลดไข้จนกว่าไข้จะลด
- ควรดื่มน้ำทีละน้อยแต่บ่อย ๆ โดยอาจเป็นน้ำ นม หรือน้ำหวานก็ได้ เพื่อช่วยระบายความร้อนในร่างกายหรือให้ปัสสาวะบ่อย ๆ
- ถ้าเด็กร้องงอแงคุณพ่อคุณแม่อาจพาอุ้มเดินและตบหลังเบา ๆ เพื่อช่วยปลอบโยน
- หากมีอาการชักร่วมด้วยควรรีบพาไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยอาการจากไข้เพื่อหาสาเหตุของการชัก
- จับเด็กนอนหงายโดยตะแคงศีรษะไปด้านในด้านหนึ่ง หรือจับเด็กนอนตะแคง ควรให้นอนบนพื้นที่โล่งมีอากาศถ่ายเท
- ถ้ามีน้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหารในปากหรือใบหน้า ให้เช็ดหรือดูดออกเพื่อไม่ให้เด็กสำลัก
- ควรถอดหรือปลดเสื้อผ้าเพื่อให้รูขุมขนได้ระบายความร้อนอย่างเต็มที่ แล้วรีบใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวครั้งละ 15 นาทีหรือจนกว่าไข้จะลดและวัดไข้เรื่อย ๆ
- ควรรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันทีถ้าเด็กมีอาการชักนานเกิน 5 นาที
- เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด สังเกตลักษณะการชักและจับระยะเวลาของการชักเพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ
- อย่าผูกหรือมัดตัวเด็ก หรือใช้แรงฝืนอย่าจำกัดการเคลื่อนไหวของเด็ก
- อย่าใช้วัตถุ เช่น ด้ามช้อน ไม้ สอดใส่ปากเด็ก เพราะอาจจะทำให้ปากหรือฟันได้รับบาดเจ็บ
- อย่าให้เด็กรับประทานอะไรหลังชักใหม่ ๆ เพราะอาจจะทำให้เด็กสำลักได้
- ในระยะที่มีไข้สูงก่อนผื่นขึ้นแพทย์จะตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน เพื่อตรวจสอบว่าเด็กเป็นไข้จากสาเหตุอื่นหรือไม่
- ประมาณ 3-5 วัน เมื่อผื่นเริ่มขึ้นและเด็กมีไข้ลดลง เด็กมีท่าทางที่สบายขึ้นร่าเริงขึ้น ก็ไม่ต้องให้ยาแก้ไข้อีก
มีวิธีป้องกันอาการส่าไข้อย่างไร
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคส่าไข้ ซึ่งเด็กหรือผู้ป่วยบางรายหากอาการดีขึ้นแล้วไม่มีภาวะแรกซ้อนที่จะเกิดจากโรคอื่นแพทย์ก็อาจจะให้ออกมารักษาตัวต่อที่บ้านได้ ดังนั้นหากมีเด็กในบ้านเป็นโรคนี้ก็ยังจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและไม่ต้องตกใจหากมีผื่นขึ้นตามตัว และจะควรปฏิบัติดังนี้
- แยกผู้ป่วยออกต่างหากจนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ 2 วันก่อนมีไข้จนถึง 2 วันหลังไข้ลด
- อย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ห้ามดื่มน้ำแก้วเดียวกับผู้ป่วย
- หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่อยู่บ่อย ๆ เพื่อขจัดเชื้อที่อาจติดอยู่ที่มือออกไป
ส่าไข้เด็ก หรือหัดกุหลาบพบได้บ่อยรวมไปถึงผู้ใหญ่ก็สามารถจะเป็นได้ ซึ่งเมื่อพบว่ามีผู้ป่วยในบ้านควรจะปฏิบัติตามข้อแนะนำต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น หากพบในเด็กเล็กสิ่งที่สำคัญคืออย่าปล่อยให้เด็กมีไข้สูง ในบ้านควรจะมีเครื่องวัดอุณหภูมิติดไว้ด้วย และคุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องตั้งสติและควรจะเรียนรู้วิธีเช็ดตัวเด็กอย่างถูกต้อง
บทความแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ;