สาว ๆ เคยสงสัยกันไหมว่าการท้องนอกมดลูกคืออะไร ? แล้วถ้าท้องนอกมดลูกจะต้องทำยังไง มีความเสี่ยงอันตรายต่อแม่และเด็กในท้องมากน้อยแค่ไหน สาเหตุเกิดจากอะไร ทำไมถึงตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ การท้องนอกมดลูกตรวจเจอกี่สัปดาห์ และอาการท้องนอกมดลูกจะมีอะไรบ้าง สารพัดคำถามที่ผู้หญิงหลายคนสงสัยและอยากรู้ Shopee Blog ก็เลยจัดให้ นำข้อมูลที่เกี่ยวกับการท้องนอกมดลูกมาฝาก เป็นอาการคนท้องที่ต้องใส่ใจมาก ๆ รายละเอียดมีอะไรบ้าง สาว ๆ ทุกคนปักหมุดนั่งอ่านรอได้เลยจ้า
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ท้องนอกมดลูกอาการเป็นยังไง สาเหตุจากอะไร และอันตรายไหม
ท้องนอกมดลูกคืออะไร ?
การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือเรียกง่าย ๆ ว่าท้องนอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ที่มีความผิดปกติ เนื่องจากการตั้งครรภ์โดยปกติจะเกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ ทำให้เกิดตัวอ่อน ซึ่งเจ้าตัวอ่อนนี่ล่ะจะวิ่งไปฝังตัวอยู่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก จะเริ่มแบ่งตัวและพัฒนาเป็นอวัยวะต่าง ๆ และเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไป แต่ถ้าเป็นการท้องนอกมดลูกเจ้าตัวอ่อนที่ได้จากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ จะไปฝังตัวอยู่นอกโพรงมดลูก มักจะไปเกิดขึ้นตรงบริเวณท่อนำไข่หรือปีกมดลูก ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตไปเป็นทารกได้ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงก็มีน้อยมาก ๆ หรือเพียงแค่ 1-2% และใครที่เคยท้องนอกมดลูกมาก่อนก็อาจจะเกิดขึ้นซ้ำได้ ฉะนั้นใครที่คิดว่าตัวเองอาจจะเสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูกแนะนำให้รีบไปปรึกษากับแพทย์
ท้องนอกมดลูกกี่เดือนถึงรู้
ใครที่อยากรู้ว่าท้องมดลูกตรวจเจอกี่สัปดาห์ ขอตอบเลยว่าเพียงแค่ 7 – 8 สัปดาห์ หรือตั้งครรภ์ไม่ถึง 2 เดือน ก็สามารถตรวจได้แล้วว่าตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่ นอกจากนี้แล้วยังสามารถสังเกตตัวเองได้ เพราะคนที่ท้องมดลูกอาการจะแสดงออกมาให้เห็นชัดเจน
อาการท้องนอกมดลูก
อาการท้องนอกมดลูกในช่วงแรก ๆ ก็จะเหมือนคนตั้งครรภ์ปกติทั่วไป คือ ประจำเดือนไม่มา มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเล็กน้อย มีความเปลี่ยนแปลงของหน้าอก เช่น เต้านมคัด เจ็บหน้าอก และยังมีอาการที่เวียนหัว คลื่นไส้ และอาเจียน ซึ่งถ้าดูผิวเผินก็จะไม่มีอะไร แต่ถ้าเข้าช่วงสัปดาห์ที่ 7 ขึ้นไป ให้คอยสังเกตอาการของตัวเองว่าจะมีอาการตามนี้ไหม
- ปวดท้องเฉียบพลัน หรือปวดท้องอย่างรุนแรง จะมีลักษณะการปวดแบบบีบรัดเป็นช่วง ๆ อาจจะเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง อาจหายไปหรือปวดอยู่ตลอดเวลา
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานมากกว่าปกติ
- เลือดไหลออกจากช่องคลอดเป็นจำนวนมาก
- ปวดไหล่ ปวดคอ ปวดบริเวรทวารหนัก
- รู้สึกปวดหัว เวียนหัวอย่างรุนแรง อาจจะทำให้หน้ามืดเป็นลมได้
- มีความดันต่ำ อาจทำให้เกิดภาวะช็อคหมดสติได้
10 สาเหตุที่ทำให้เกิดการท้องนอกมดลูก
หลายคนที่กำลังวางแผนจะมีลูกอาจจะเป็นกังวลว่าจะตั้งครรภ์นอกมดลูก ในเบื้องต้นก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโอกาสที่ผู้หญิงจะตั้งครรภ์นอกมดลูกอาจจะเกิดขึ้นไม่บ่อย ซึ่งจะพบในผู้หญิงร้อยละ 1 แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นกับคุณ ซึ่งสาเหตุและปัจจัยความเสี่ยงหลัก ๆ ที่จะทำให้การเกิดการท้องนอกมดลูก คือ ท่อรังไข่อุดตันอาจเกิดจากการติดเชื้อ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีสาเหตุและปัจจัยอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย ฉะนั้นใครที่กำลังวางแผนจะมีลูกก็ลองดูสาเหตุต่าง ๆ เพื่อที่จะไปรักษาให้หายก่อนที่จะมีวางแผนมีลูก
- ท่อนำไข่ได้รับความเสียหาย มีลักษณะผิดรูปผิดร่าง หรือท่อรังไข่อุดตันอาจเกิดจากการติดเชื้อ
- มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ มดลูกอักเสบ ท่อนำไข่อักเสบ รังไข่เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ ข้อนี้ก็สำคัญเพราะจะมีโอกาสที่จะทำให้ท่อนำไข่อุดตันและนำไปสู่การท้องนอกมดลูก ฉะนั้นจะต้องรักษาให้หายดี
- เคยเป็นแผลจากการผ่าตัดก่อนหน้าที่บริเวณอุ้งเชิงกราน หรือเป็นพังผืดดึงรั้งในช่องท้องกับรังไข่และท่อนำไข่ ปัญหาเหล่านี้ก็อาจทำให้การเคลื่อนตัวไปยังโพรงมดลูกไม่สะดวก
- เคยผ่านตัดที่ท่อนำไข่ เช่น การทำหมันหญิง หรือการผ่าตัดแก้หมันหญิง
- เคยมีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะท้องนอกมดลูกได้อีกครั้ง
- เกิดจากการใช้ยา เช่น ยากระตุ้นการตกไข่ หรือการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน หรือเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก ทำเด็กหลอดแก้ว หรือทำกิฟท์มาก่อน
- ความผิดปกติของการพัฒนาภายในไข่หลังการปฏิสนธิ
- เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ เคยติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน
- คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสท้องนอกมดลูกสูงกว่าคนปกติมากถึง 5 เท่า เพราะสารนิโคตินจะเข้าไปกระตุ้นให้ท่อนำไข่บีบรัดตัวทำให้ตีบตัน ยากแก่การที่ตัวอ่อนจะเดินทางโดยสะดวกไปยังโพรงมดลูก
- ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ถือว่ามีความเสี่ยงในการท้องนอกมดลูก เพราะความเสี่ยงที่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือทำงานด้อยประสิทธิภาพ
ท้องนอกมดลูกอันตรายไหม
หากถามว่าการท้องนอกมดลูกอันตรายไหม ขอตอบให้เลยว่า อันตรายมากและเสี่ยงอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ ใครที่มีอาการท้องนอกมดลูกตามที่เราได้บอกไว้ข้างต้น แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตแล้วสร้างความเสียหายแก่ท่อนำไข่ ทำให้อวัยวะภายในฉีกขาด จนมีเลือดออกจำนวนมาก และเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การรักษาการท้องนอกมดลูก
วิธีรักษาการท้องนอกมดลูก มีแนวทางการรักษาได้หลายอย่าง จะต้องดูจากอาการของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ว่าเป็นอย่างไร และการพัฒนาการของตัวอ่อนที่ฝังตัวไปแล้วว่ามีการเจริญเติบโตแค่ไหน โดยวิธีการรักษามีดังนี้
- รักษาด้วยการใช้ยา จะใช้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการปวดท้องไม่มากและไม่มีเลือดออกภายในช่องท้อง โดยแพทย์จะฉีดยาเข้าที่กล้ามเนื้อ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของตัวอ่อน เมื่อฉีดยาเข้าไปแล้วก็จะคอยสังเกตดูอาการอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งตัวที่ใช้จะเป็น ยาเมโธเทรกเซท ซึ่งตัวยานี้จะมีผลข้างเคียงคล้ายกับอาการแท้งลูก จะมีอาการตัวชาหรือปวดเกร็งหน้าท้อง มีเลือดและเนื้อเยื่อไหลออกจากช่องคลอด หลังจากทำการรักษาด้วยยาตัวนี้คุณแม่อาจจะไม่สามารถตั้งครรภ์สักระยะหนึ่ง
- รักษาด้วยการผ่าตัด วิธีนี้จะใช้กับคุณแม่ท้องนอกมดลูกอาการหนัก มีเลือดภายในช่องท้อง หรือเนื้อเยื่อบริเวณท่อนำไข่เกิดความเสียหายมาก โดยการผ่าตัดนั้นอาจจะตัดปีกมดลูกบางส่วน ตัดปีกมดลูกทั้งหมด หรือดูเอาเฉพาะส่วนที่ตั้งครรภ์ออกก็ได้ขึ้นอยู่กับอาการท้องนอกมดลูกของแต่ละคนการผ่าตัดจะมีด้วยกัน 2 วิธี
- ผ่าตัดด้วยกล้อง เรียกว่าผ่าตัดเล็ก ๆ จะใช้กล้อง laparoscope ผ่านรูเล็ก ๆ ทางหน้าท้องแล้วนำเครื่องมือชนิดพิเศษสอดเข้าไปในรู แล้วแพทย์จะส่องภายในแล้วผ่าตัดด้วยภาพจากกล้องตัวนี้
- ผ่าตัดด้วยการเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดใหญ่กับคนตั้งครรภ์เสียเลือดมากหรือมีอาการช็อก การผ่าตัดแบบนี้จะเป็นการเปิดแผลให้กว้างทำให้ผ่าตัดได้สะดวกและรวดเร็ว
กรณีที่เคยท้องนอกมดลูกมาก่อนแล้วจะมีลูกได้หรือไม่
เชื่อว่าคนที่ตั้งครรภ์นอกมดลูกจะต้องเกิดคำถามนี้ในใจและกังวลว่าจะมีลูกได้อีกไหม แล้วถ้ามีลูกโอกาสจะท้องนอกมดลูกอีกไหม ซึ่งตอบได้เลยว่า คุณสามารถมีลูกได้อีก และอาจจะมีโอกาสท้องนอกมดลูกได้เช่นกัน แต่ถ้าคุณดูแลรักษาสุขภาพแข็งแรงและรักษาอาการต่าง ๆ ที่เป็นเหตุทำให้เกิดการท้องนอกมดลูกให้หายขาด ก็จะกลับมาตั้งครรภ์ได้ตามปกติ และหากอนาคตจะมีลูกแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการมีลูกด้วยน้า
แม้ว่าการท้องนอกมดลูกจะไม่สามารถป้องกันได้อย่างเด็ดขาด แต่อย่างน้อยคุณก็ยังพอรู้สาเหตุที่มีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดโรคนี้ได้ สิ่งสำคัญสำหรับใครที่กำลังวางแผนจะมีลูกน้อยที่น่ารัก แนะนำให้ตรวจสุขภาพทั้งคุณพ่อและคุณแม่ก่อนจะมีลูก เผื่อว่ามีโรคหรือความเสี่ยงอะไรจะได้รักษาได้ให้หายขาดก่อนที่จะตั้งครรภ์ เพื่อที่ลูกน้อยของคุณจะได้ออกมาอย่างสมบูรณ์และแข็งแรงเป็นครอบครัวที่น่ารัก
ที่มาข้อมูล : paolohospital , pobpad , mamaexpert
Feature picture credit: Image by Freepik