สำหรับการผ่าตัดคลอด จะมีเหตุผลที่ทางการแพทย์มีการวินิจฉัยแล้วว่าจำเป็นสำหรับหญิงมีครรภ์แต่ละราย แต่สำหรับบางครอบครัวก็สามารถจะเลือกวิธีการคลอดเองได้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีความเสี่ยงหรือความผิดปกติใด ๆ ที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อการคลอดบุตรได้ โดยส่วนมากก็จะมีเหตุผลหลาย ๆ อย่าง ที่ทำให้เลือกการผ่าตัดคลอดลูกแทนการคลอดแบบธรรมชาติ
การผ่าคลอด เป็นขั้นตอนการคลอดโดยวิธีผ่าตัดคลอดบุตรจากบริเวณหน้าท้องของคุณแม่ ซึ่งคุณหมอเจ้าของไข้จะมีการพิจารณาแล้วว่าควรจะให้มีการผ่าคลอดด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- ขนาดของทารก หากมีขนาดตัวใหญ่ซึ่งคุณแม่มีอุ้งกระดูกเชิงกรานเล็ก อาจจะคลอดลำบากหรือคลอดยาก คุณหมอจะพิจารณาให้ผ่าคลอด เพื่อป้องกันจากการคลอดธรรมชาติที่อาจจะเป็นอันตรายกับทั้งแม่และเด็ก
- ทารกไม่กลับหัว ท่านอนขวาง ซึ่งจะไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้
- เกิดความผิดปกติกับทารก ซึ่งเป็นอันตรายมีโอกาสเสียชีวิต
- รกเกาะต่ำ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ไม่สามารถจะคลอดแบบธรรมชาติได้ โดยรกเคลื่อนลงมาปิดปากมดลูก
- คุณแม่มีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ หรือมีโรคประจำตัวที่แพทย์จะวินิจฉัยให้ผ่าคลอดได้
- กรณีท้องแฝดที่มีทารกมากกว่า 2 คน แพทย์จะพิจารณาให้มีการผ่าคลอด เพื่อป้องกันเหตุอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นขณะคลอดแบบธรรมชาติ
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
การเตรียมตัวก่อนเข้าผ่าคลอด
การผ่าตัดคลอดบุตร แพทย์จะกำหนดวันไว้ให้ล่วงหน้า โดยคุณแม่จะมีโอกาสได้เตรียมตัวก่อนจะผ่าคลอดโดยจะมีขั้นตอนการเตรียมตัวดังนี้
- ต้องงดน้ำและงดอาหาร 6-8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักอาหารเข้าปอดในระหว่างผ่าตัด โดยเฉพาะหากต้องดมยาสลบ และขณะที่คุณแม่ใส่ท่อช่วยหายใจ
- ให้มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อผิวหนังหน้าท้อง โกนขนบริเวณที่ใกล้กับจุดที่ผ่าตัด (แล้วแต่แพทย์พิจารณา) และใส่สายสวนปัสสาวะ
ขั้นตอนการระงับความรู้สึกก่อนผ่าตัดคลอด
- ให้ยาชาหรือยาสลบ เพื่อให้คุณแม่ไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะผ่าตัดคลอด และให้ยาแก้ปวดเพื่อลดความเจ็บปวดหลังจากหมดฤทธิ์ยาชาหรือยาสลบ
- เมื่อถูกระงับความรู้สึกแล้ว แพทย์จะเริ่มลงมีดที่ผนังหน้าท้อง ไปจนถึงมดลูกเพื่อนำลูกน้อยและรกในมดลูกออกมา
แผลในการผ่าคลอด มี 2 ลักษณะ คือ
- ผ่าคลอดแนวตั้ง ตั้งแต่ใต้สะดือลงมาถึงช่วงกลางหัวหน่าว
- ผ่าคลอดแนวนอน ตามแนวบิกินี จะเจ็บน้อยกว่าและรอยแผลสวยกว่า
หลังผ่าคลอดควรดูแลตัวเองอย่างไร
- หลังผ่าตัดคลอดวันแรก คุณแม่ควรจะพลิกตัวบ่อย ๆ และพยายามลุกนั่งให้เร็วจะช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายกลับมาทำงานปกติได้ไว เลือดลมเดินได้สะดวก
- หลังผ่าตัดคลอดวันที่ 2 ควรจะเริ่มนั่งหรือยืนเองได้แล้ว หากมีอาการไอควรใช้มือหรือหมอนกดเอาไว้ที่แผลแล้วค่อยไอออกมา จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บแผลตอนไอได้
- ควรจะปัสสาวะได้เองใน 6 ชั่วโมง เมื่อเอาสายสวนปัสสาวะออกและการถ่ายหนักควรถ่ายได้เองในวันที่ 3 หลังผ่าตัดคลอด ถ้ายังไม่ถ่ายจำเป็นต้องใช้ยาถ่ายช่วย
- การนอนควรปรับหัวเตียงให้สูงกว่าปลายเท้า แผลที่หน้าท้องจะได้ไม่ตึงเกินไป เวลาจะลุกให้ใช้วิธีตะแคงตัวก่อน แล้วใช้มือค่อย ๆ ยันตัวลุกขึ้นมา
- แผลผ่าตัดคลอดไม่ควรโดนน้ำ จะต้องไม่ให้โดนน้ำหลังผ่าคลอดโดยประมาณ 7 วัน และไปพบแพทย์ตามนัด
วิธีดูแลแผลผ่าคลอด
การเดินจะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีและลดการเกิดพังผืดที่บริเวณมดลูกได้ การเดินขึ้นหรือลงบันไดก็ช่วยได้ แต่จะต้องมีความระมัดระวังให้มากกว่าเดิม และควรจะเดินช้า ๆ เพื่อไม่ให้แผลผ่าตัดคลอดบุตรปริแตกได้
- ห้ามเปิดแผล และจะต้องไม่ให้แผลโดนน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิทจริง ๆ
- ควรใช้วิธีเช็ดตัว หลังจากนั้นโดยประมาณ 1 สัปดาห์ก็สามารถอาบน้ำได้โดยใช้ฝักบัวจะดีที่สุด ให้ใช้สบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน ไม่ควรถูสบู่บริเวณที่เป็นแผลและไม่ต้องทาแป้ง
- ควรจะซับแผลให้แห้งด้วยผ้าสะอาด หลังจากอาบน้ำ
- ในช่วง 3 เดือนแรก งดการยกของหนักหรือเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง
- ก่อนสัมผัสแผลควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- เลือกใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดรูป เพื่อป้องกันการเสียดสีโดนแผล และควรใช้ผ้ารัดหน้าท้องจะทำให้ไม่ค่อยเจ็บแผล
- เมื่อแผลเริ่มปิดสนิทและแห้งแล้ว ให้เลือกทาครีมที่มีวิตามินอี เพราะวิตามินอีจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับแผล ช่วยลดการเกิดแผลเป็น
- ต้องรับประทานยาที่คุณหมอสั่งให้ครบตามกำหนด
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีน เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเหลือง และถั่วเมล็ดแห้ง ผักและผลไม้ ที่มีผลต่อร่างกายหลังการผ่าคลอด
- หลังผ่าตัดคลอดลูกไม่ควรขับรถในช่วง 45 วัน
ปัญหาของแผลผ่าตัดคลอดที่พบได้บ่อย
สำหรับการเกิดรอยแผลเป็นจากการผ่ารคลอดจะมีหลายปัจจัย เช่นคนที่อายุน้อยร่างกายจะมีโอกาสที่จะสร้างพังผืดได้เยอะกว่าคนที่อายุมาก รวมถึงลักษณะของผิวหนังก็เช่นกันคนเอเชียก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลเป็นนูนได้ คุณแม่จึงต้องคอยดูแลรักษา พร้อมกับสังเกตลักษณะแผลผ่าคลอดว่านูนแดงที่เรียกว่า คีลอยด์ ไหม หรือมีอาการเจ็บหรือคันหรือไม่
เหตุผลที่คุณแม่มักเลือกการผ่าคลอด
การผ่าคลอดจะผ่านการวางแผนร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมพร้อมและป้องกันหากเกิดเหตุฉุกเฉิน จึงมีความปลอดภัยสูง
- เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 38 คุณแม่สามารถเลือกวันผ่าตัดคลอดลูกได้ โดยจะต้องมีการปรึกษาแพทย์เพื่อกำหนดวันคลอดให้ได้อย่างปลอดภัย
- การผ่าคลอดจะใช้เวลาโดยประมาณไม่เกิน 1 ชั่วโมง
- ผ่าคลอดเจ็บไหม จะเป็นความกลัวในการคลอดจึงเลือกที่จะผ่าตัดคลอดจากการใช้ยาสลบหรือการบล็อกหลัง
- เพื่อเป็นการลดการหย่อนคล้อยของอุ้งเชิงกราน ซึ่งเกิดจากการเบ่งคลอดตามธรรมชาติ
คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการผ่าคลอด
ผ่าคลอด น้ำคาวปลากี่วันหมด
คำตอบ : ใช้เวลา 3-4 สัปดาห์หลังคลอด น้ำคาวปลาก็จะหมดไป แต่ยังมีบางรายที่อาจมีน้ำคาวปลานานไปถึง 6 สัปดาห์หลังคลอด
หลังผ่าคลอด ประจําเดือนจะมาตอนไหน
คำตอบ : ประจำเดือนจะมาหลังจากคลอดแล้วประมาณ 6-8 สัปดาห์
ผ่าคลอด ต้องโกนขนไหม
คำตอบ : คุณแม่ไม่จำเป็นต้องโกนขนอวัยวะเพศก่อนไปคลอดลูก เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อได้ ให้คุณหมอและพยาบาลเป็นคนรับผิดชอบเร่ืองนี้เอง
ผ่าคลอด ใช้เวลาเท่าไหร่
คำตอบ : ผ่าตัดคลอดใช้เวลาประมาณ 45 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง
ข้อควรรู้ของการผ่าคลอด
- เมื่อมีการผ่าคลอดในท้องแรก ท้องถัดไปก็จะต้องผ่าคลอดอีกครั้ง และการผ่าคลอด ทำได้ไม่เกิน 3 ครั้ง เท่านั้น
- ภายหลังการผ่าคลอด คุณแม่ควรจะฟื้นตัวได้รวดเร็วภายใน 12 ชั่วโมง และสามารถจะกลับบ้านได้เร็วที่สุดไม่เกิน 5 วัน
- แผลผ่าคลอดจะต้องไม่โดนน้ำและห้ามคุณแม่ยกของหนัก
- แผลผ่าตัดคลอด ควรจะแห้งปิดสนิทและหายดีภายในเวลาไม่เกิน 6 สัปดาห์
- แผลผ่าคลอดทำให้ร่างกายของแม่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ช้ากว่าการคลอดธรรมชาติ
ปัจจุบันสามารถเลือกได้ว่าจะคลอดบุตรกับการผ่าตัดคลอดบุตรได้ ซึ่งเป็นความต้องการของคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยมีหลาย ๆ เหตุผลทั้งทางด้านการฟื้นฟูร่างกาย ความกลัวหากจะต้องเบ่งคลอดแบบวิธีธรรมชาติ หรือกลัวต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น สำหรับคุณแม่ท้องแรกส่วนมากจึงเลือกที่จะใช้วิธีผ่าคลอดมากกว่าการคลอดแบบธรรมชาติ