หน้าหนาวแล้วหลายคนคงเริ่มมีอาการตึง ๆ ผิวที่เกิดจากอากาศแห้ง ซึ่งแค่นั้นก็รู้สึกไม่สบายตัวจนต้องหาผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมาช่วยเยียวยา แต่ถ้าหากอาการผิวแห้ง ๆ ตึง ๆ ที่ว่านั้นมาเกิดที่บริเวณมุมปาก ซึ่งเป็นบริเวณที่ผิวอ่อนบางทั้งยังต้องมีการขยับแทบจะตลอดวันด้วยแล้ว ก็คงเป็นเรื่องที่เจ็บปวดและน่ากังวลทีเดียว ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นอาการเริ่มแรกของ โรคปากนกกระจอก แต่โรคปากนกกระจอกไม่ได้เกิดจากอากาศแห้งจึงรักษาไม่ได้ด้วยการเติมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และหลายคนคงเคยได้ยินว่าปากนกกระจอกขาดวิตามินอะไรสักอย่าง แต่นั่นจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้องหรือไม่? ถึงตรงนี้แล้วก็คงไม่ต้องสงสัยนานเพราะบทความนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับอาการนี้ให้มากขึ้นกัน
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ปากนกกระจอก ภาษาอังกฤษ
โรคปากนกกระจอง ภาษาอังกฤษ คือ Angular cheilitis – AC
อาการปากนกกระจอกเป็นอย่างไร
โรคปากนกกระจอก หรือเรียกในภาษาอังกฤษว่า Angular Cheilitis คืออาการที่ผิวบริเวณมุมปากมีลักษณะแห้งรู้สึกตึงเป็นสะเก็ด อาจมีอาการบวมแดงซึ่งเป็นลักษณะของผิวหนังอักเสบร่วมด้วย บางรายที่มีอาการมากอาจมีตุ่มพองและมีเลือดออกทำให้รู้สึกเจ็บมาก ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นได้ที่บริเวณมุมปากด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน
ด้วยอาการเหล่านี้ผนวกกับผิวบริเวณริมฝีปากที่มีลักษณะอ่อนบางและเป็นบริเวณที่ต้องใช้งานตลอดวัน ต้องสัมผัสสารต่าง ๆ ทั้งอาหาร และเครื่องดื่ม ทำให้เมื่อเกิดโรคนี้ขึ้นแล้วมักเป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญไปจนถึงเจ็บปวดได้ และเนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ในระยะสั้น เมื่อเป็นแล้วจึงต้องใช้เวลารักษาและจำเป็นต้องทนอยู่กับอาการนี้ไปเป็นระยะเวลาหนึ่งเลยทีเดียว การศึกษาสาเหตุและดูแลป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงมีความสำคัญมาก
ปากนกกระจอกเกิดจากอะไร
หลายคนอาจเคยได้ยินว่าการขาดวิตามินบีทำให้เป็นโรคปากนกกระจอก แต่จริง ๆ แล้วปากนกกระจอกเกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย และในผู้ป่วยบางรายก็อาจมีหลายสาเหตุประกอบกัน ทำให้การวินิจฉัยและรักษาต้องทำอย่างครบถ้วน ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคปากนกกระจอก ได้แก่
- เกิดจากการติดเชื้อรา สาเหตุจากเชื้อราเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยโดยเกิดจากเชื้อราแคนดิดา (Candida) ซึ่งเป็นเชื้อราตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคผื่นผ้าอ้อมในเด็กทารก ซึ่งการหมักหมมของน้ำลายบริเวณริมฝีปากจะทำให้ปากแห้งแตก และเชื้อราที่อยู่บริเวณนั้นจะใช้สารอาหารจากน้ำลายมาแบ่งตัวและเจริญเติบโตบนผิวหนังบริเวณนั้นจนนำไปสู่การติดเชื้อและอักเสบได้
- เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus Aureus การหมักหมมของน้ำลายที่บริเวณริมฝีปากยังทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำลายฝังตัวลงบนผิวหนังและเกิดการติดเชื้อจนผิวหนังบริเวณมุมปากเกิดการอักเสบได้เช่นกัน
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่มุมปากอย่าง เริม (Herpes Simplex) เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผิวบริเวณมุมปากเกิดการอักเสบจนกลายเป็นปากนกกระจอกได้
สาเหตุการเกิดโรคปากนกกระจอกอื่น ๆ
จะพบว่าการอักเสบของผิวบริเวณมุมปากจะเกิดจากสาเหตุโดยตรงอย่างเชื้อจุลชีพเป็นหลัก แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคปากนกกระจอกได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น
- ผู้ที่มีเชื้อราในช่องปาก เช่น เด็กหรือผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่ใช้ยาบางประเภท
- ผู้ที่มีการจัดฟัน เนื่องจากการจัดฟันจำเป็นต้องสวมใส่อุปกรณ์ที่ทำให้รูปปากเปลี่ยนไปจนอาจมีน้ำลายล้นออกมาหมักหมมบริเวณมุมปากได้ง่ายกว่าปกติ
- ผู้ที่มีผิวอ่อนบางแพ้ง่าย จะทำให้ผิวได้รับการระคายเคืองและบาดเจ็บจนเกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ
- ผู้ที่ขาดสารอาหารและวิตามินบางประเภท สาเหตุของปากนกกระจอกวิตามินที่จำเป็นอย่างบีสอง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผิวอ่อนแอและบาดเจ็บจนเกิดการอักเสบได้ง่าย
- ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ เช่น เอดส์ ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อจุลชีพน้อย และก่อให้เกิดการติดเชื้ออักเสบได้ง่ายกว่าปกติ
วิธีป้องกันโรคปากนกกระจอก
จากสาเหตุของโรคปากนกกระจอกที่ได้กล่าวมาแล้ว วิธีป้องกันโรคปากนกกระจอกก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย โดยเริ่มจาก
- หลีกเลี่ยงการหมักหมมของน้ำลายที่มุมปาก เพื่อลดโอกาสที่เชื้อราหรือแบคทีเรียในน้ำลายจะเกิดการเติบโตจนเกิดเป็นการติดเชื้อบริเวณนั้น
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดแผลที่มุมปาก การเกิดแผลที่มุมปากจะทำให้ผิวบริเวณนั้นบอบบางกว่าปกติและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ทางที่ดีควรดูแลรักษาให้ดี และหากเป็นแผลหรือรู้สึกแสบตึงควรรีบรักษาให้หายตั้งแต่เนิ่น ๆ
- รับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินที่จำเป็น เช่น วิตามินบีสอง ธาตุเหล็ก และโปรตีน ที่มีประโยชน์ในการบำรุงผิวให้แข็งแรง จะช่วยลดโอกาสการเป็นปากนกกระจอกได้
- ใช้ผลิตภัณฑ์เติมความชุ่มชื้นให้ริมฝีปาก เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวและเป็นการลดปัจจัยที่จะทำให้ผิวบาดเจ็บ อย่างวาสลีนเจล หรือลิปมัน
ปากนกกระจอกรักษาได้อย่างไร
สำหรับวิธีรักษาปากนกกระจอกเมื่อรู้สาเหตุที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่การเป็นปากนกกระจอกนั้นเกิดจากเชื้อจุลชีพที่ต้องใช้เวลาในการรักษา จึงอาจต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่องและใส่ใจเป็นพิเศษ
- ใช้ยาต้านเชื้อเพื่อลดการอักเสบ ซึ่งแพทย์จะต้องนำตัวอย่างไปวินิจฉัยว่าการเกิดโรคปากนกกระจอกนั้นเป็นเพราะสาเหตุจากเชื้อจุลชีพตัวใด ก็จะมีการจ่ายยาต้านเชื้อเป็นการเฉพาะไปเพื่อให้รักษาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยเป็นโรคปากนกกระจอกอาจใช้การดูแลรักษาอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและลดการอักเสบได้ด้วย
- วิตามินกับการรักษาโรคปากนกกระจอก วิตามินที่มีผลกับโรคนี้คือวิตามินบีสอง ซึ่งอาจรับประทานเป็นวิตามินเสริมเพื่อให้เห็นผลได้เร็วขึ้น
- การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ โดยใช้ทาบริเวณผิวหนังเพื่อเสริมการทำงานของยาที่รับประทาน
- การใช้ยาทาปากนกกระจอก มักใช้เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเสตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของผิว
- ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น อย่างยาทาปากนกกระจอกในเซเว่นที่อาจใช้ได้เช่น ลิปมัน วาสลีน หรือน้ำมันมะพร้าว ที่จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและยืดหยุ่นให้ผิวแข็งแรงขึ้น
ด้วยวิธีการรักษาโรคปากนกกระจอกด้วยการฆ่าเชื้อต้นเหตุจากยาที่รับประทาน ควบคู่ไปกับการรักษาแผลภายนอก ก็จะทำให้แผลจากโรคปากนกกระจอกรักษาให้หายได้เร็วขึ้น
วิธีรักษาปากนกกระจอกด้วยสมุนไพรทางเลือก
นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรไทยที่อาจนำมาช่วยรักษาโรคปากนกกระจอกได้ เช่น
- ต้นตองแตก (Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh) ใช้ได้โดยนำน้ำยางจากยอดอ่อนมาทาบริเวณที่เป็นแผล
- ต้นอัคคีทวาร (Rotheca serrata (L.) Steane & Mabb.) ใช้ได้โดยนำใบสดอังไป แล้วนำมาขยี้พอกลงบนแผล
- ต้นน้ำนมราชสีห์ใหญ่ (Euphorbia hirta L.) ใช้น้ำยางสดทาแผล
- ต้นสบู่ดำ (Jatropha curcas L.) ใช้ยางจากก้านใบมาป้ายแผล
- ต้นมะขามเทศ (Pithecellobium dulce (Roxb.) Benth.) ใช้เปลือกชั้นใน 15 กรัม ผสมเกลือป่น 1 ช้อนชา ต้มกับน้ำแล้วนำน้ำมาอมหลังจากแปรงฟันจะช่วยทำให้แผลค่อย ๆ บรรเทาลง
คราวนี้เราก็ได้มาทำความรู้จักกับโรคปากนกกระจอกกัน ซึ่งบางอย่างอาจไม่เหมือนกับที่เคยได้ยินมา แต่ที่แน่นอนคือการเป็นโรคนี้นั้นไม่สนุกและเจ็บมาก ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการดูแลผิวบริเวณริมฝีปากอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงกับการเป็นโรคนี้ได้
แหล่งข้อมูล : pobpad, thaijobsgov
Feature Image Credit :freepik