ซิงค์ล้างจาน แน่นอนว่าเป็นคู่หูคู่ใจกับห้องครัวแสนรักของเราอยู่แล้ว แถมยังเป็นเหมือนหน้าตาให้ห้องครัวอีก จะสวย จะเลิศแค่ไหนมองเข้าไปก็ต้องเห็นซิงค์เป็นอย่างแรกแน่นอน! ฉะนั้นเราควรเอาใจใส่ในการเลือกซื้อซิงค์ล้างจานให้ดี ควรคำนึงถึงอะไร แล้วซิงค์ล้างจานยี่ห้อไหนดี วันนี้ก่อนที่ทุกคนจะเริ่มลงมือตกแต่งห้องครัวกัน เราเลยมีทริกเกี่ยวกับการซื้อซิงค์ล้างจานมาฝากกัน จะมีอะไรบ้างไปดูกัน!
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ปัจจัยที่ควรคิดก่อนติดตั้งซิงค์ล้างจาน
ก่อนถามว่าซิงค์ล้างจานยี่ห้อไหนดี อันดับแรกควรดูการใช้งานห้องครัวในชีวิตประจำก่อน ว่าเข้าครัวบ่อยแค่ไหน ได้ใช้ครัวทำอะไรบ้าง พอตอบคำถามข้อนี้ได้แล้ว ก็ไปสู่อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคิดคือ โครงสร้างขนาดพื้นที่ของครัว ถ้าพื้นที่เล็กขนาดซิงค์ล้างจาน1หลุมกำลังดี หรือถ้าใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย ซิ้งล้างจาน2หลุม มาพร้อมเพิ่มที่วางจานก็ตอบโจทย์เช่นกัน และวัสดุที่ต้องการอยากได้แบบไหน มีหลายประเภทมาก ๆ ซึ่งแต่ละประเภทก็จะดีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป อยู่ที่ความชอบของแต่ละบุคคล
คุณสมบัติของซิงค์ล้างจานที่ควรคำนึง
1. รูปแบบซิงค์ล้างจาน
ซิงค์ล้างจานหลุมเหลี่ยม – เป็นซิงค์ที่มีหลายขนาด นิยมติดตั้งในครัวบ้าน เนื่องจากมีพื้นที่ว่างให้วางอุปกรณ์เสริมได้
ซิงค์ล้างจานหลุมกลม – เหมาะกับครัวขนาดเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่จำกัด จึงเหมาะกับเคาน์เตอร์เล็ก ๆ อย่างแพนทรี่หรือเคาน์เตอร์บาร์ มักมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 400-500 มม.
2. จำนวนหลุมซิงค์ล้างจาน
สำรวจดูพื้นที่ก่อนว่าห้องครัวใหญ่หรือไม่ แล้วจากนั้นพิจารณาการใช้งานของตัวเองว่าเหมาะกับแบบไหน เช่น ขนาดซิงค์ล้างจาน1หลุม จะเหมาะกับการอยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียม ที่มีพื้นที่จำกัด ใช้งานแบบเล็กน้อย ล้างจาน ล้างภาชนะได้สะดวกพอ แต่หากเลือกซิ้งล้างจาน2หลุม ก็จะเหมาะกับห้องครัวที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย บ้านทั่วไปมักเลือกใช้แบบนี้ เพราะจะพอดีกับพื้นที่ และตอบโจทย์การใช้งานที่มากขึ้นด้วย หรือจะแบบสุดท้าย ซิงค์ล้างจาน 3 หลุม จะเหมาะกับพวกงานเชฟ ร้านอาหารต่าง ๆ เพราะเขาต้องทำงานอย่างหลายพร้อม ๆ กัน
3. น้ำหนัก
เนื่องจากซิงค์ล้างจานมีหลากหลายรูปแบบมาก วัสดุต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ทำให้น้ำหนักแตกต่างกันเช่นกัน ฉะนั้นต้องดูว่าน้ำหนักที่เคาร์เตอร์ในครัวของเรา ว่าจะรับน้ำหนักได้ขนาดไหน รวมถึงคำนวณถึงตอนใช้งานด้วย เช่น น้ำหนักของจาน ชาม และอุปกรณ์เครื่องครัว
4. วัสดุที่ใช้ผลิตซิงค์
กว่าจะเป็นซิงค์ล้างจานให้เราได้ซักซิงค์หนึ่ง ก็ผ่านกระบวนการมามาก ทั้งการเลือกใช้วัสดุส่วนประกอบ ราคา คุณภาพการใช้งาน ซึ่งแต่ละวัสดุก็จะมีความแข็งแรงทนทานแตกต่างกันออกไป บางตัวทำจากวัสดุสังเคราะ์คุณภาพสูง ราคาก็จะสูงตามไปด้วย วันนี้เลยมาบอกข้อดีของแต่ละวัสดุว่าแบบไหนมันดีอย่างไร แบบไหนตอบโจทย์ จะได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ดังนี้
สเตนเลส : แบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะแข็งแรงทนทาน ดูแลรักษาได้ง่าย และไม่เป็นสนิม มีให้เลือกหลายเกรด ทั้งแบบขัดเงาและขัดด้าน ส่วนราคาก็ขึ้นอยู่กับเกรดและความหนาของแผ่นสเตนเลส ซึ่งจะมีผลต่อการยุบและคืนตัวในการใช้งาน ฉะนั้นควรเลือกใช้สแตนเลสที่มีส่วนผสมของโครเมี่ยม 18% และนิกเกิล 8% จะช่วยให้ไม่บุบหรือยุบง่าย
อะลูมิเนียม : ราคาจะถูกกว่าแบบสแตนเลส และไม่เป็นสนิม ส่วนข้อเสียคือ หากใช้งานไปนาน ๆ พื้นผิวจะดูหมอง ดูเก่าเร็ว เป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย และทำความสะอาดยาก
เหล็กชุบโครเมียม : ราคาไม่แพง แข็งแรงและค่อนข้างหนัก ใช้งานได้ประมาณ 2- 3 ปี เพราะสีที่ชุบจะเกิดการหลุดร่อน เมื่อโครเมี่ยมลอกออกมาแล้วก็จะทำให้เนื้อเหล็กด้านในเป็นสนิมได้
วัสดุสังเคราะห์คุณภาพสูง : ประเภทหินธรรมชาติ เป็นวัสดุที่หลายบ้านนิยมใช้เช่นกัน เพราะสวยงาม หรูหราหมาเห่า ดูแลรักษาง่าย ทนต่อรอยขีดข่วน รวมถึงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีข้อเสียเช่นกันคือ หนัก ทำให้การติดตั้งจะค่อนข้างลำบาก แถมราคาก็สูงมาก
พลาสติก : น้ำหนักเบา ติดตั้งได้ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก เหมาะกับผู้ที่พักอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ แต่ข้อเสียคือ ไม่ทนทานเท่าไหร่นัก เกิดรอยขีดข่วนและแตกหักได้ง่าย ไม่ทนต่อความร้อน ยิ่งเวลามีคราบน้ำมัน จะทำให้เกิดคราบฝังตัว ทำความสะอาดได้ยาก
5. ความลึกความตื้น
พิจารณาจากการใช้งานอุปกรณ์ในครัวเป็นหลัก เช่น เวลาต้องล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ในครัว หรือภาชนะต่าง ๆ ดูว่าขนาดความลึกความตื้นของหลุม ตอบโจทย์ขนาดกับอุปกรณ์เครื่องครัวหรือไม่ อ่างล้างจานที่เหมาะสมควรมีความลึกโดยวัดจากขอบอยู่ที่ 10 นิ้วขึ้นไป จึงจะใช้งานได้พอดี
6. ระบบท่อน้ำ
ตัวช่วยสำคัญของการติดตั้งซิงค์ล้างจาน ให้หมั่นสังเกตเสียงระบายน้ำ หากมีเสียงดังมาก แปลว่าอาจจะมีความแข็งแรงไม่มากนัก หรือมีลักษณะที่บอบบางจนเกินไป ทำให้ใช้งานได้ไม่นาน จะต้องเปลี่ยนระบบท่อน้ำใหม่
วิธีดูแลรักษาซิงค์ล้างจาน ให้ใช้งานได้ยาว ๆ
- ใช้ผ้าหรือฟองน้ำทำความสะอาดซิงค์ล้างจาน
- กรณีที่เกิดคราบฝังลึก ให้ผสมน้ำอุ่นกับน้ำยาล้างจาน (หรือน้ำส้มสายชู) จากนั้นใช้ฟองน้ำเช็ดล้างทำความสะอาดบริเวณที่เป็นคราบ
- ล้างออกด้วยน้ำเปล่า และใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์เช็ดออกจนแห้งสนิท
- การกำจัดกลิ่น ทำได้โดยใช้จุลินทรีย์ EM ราดลงไป ต่อเนื่องประมาณหนึ่งอาทิตย์ แค่นี้ก็จะไม่มีกลิ่นมารบกวนใจคุณแล้ว!
ข้อควรระวัง! ในการทำความสะอาดซิงค์ล้างจาน
- ห้ามใช้ฝอยเหล็ก แปรงลวด แผ่นฟองน้ำขัดถู หรือพวกวัสดุหยาบ ๆ ทำความสะอาดเด็ดขาด
- ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ประกอบด้วยคลอไรด์ (สารฟอกขาว) ในการทำความสะอาดซิงค์ล้างจาน
- ไม่ควรใช้ของมีคม เช่น มีด ขูดคราบสิ่งสกปรกต่าง ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดรอยขีดข่วนบนซิงค์ล้างจานได้
- ห้ามเก็บภาชนะบรรจุที่เปิดทําความสะอาดแล้วหรือสารเคมี เช่น กรด สารฟอกขาว โซเดียมคลอไรด์ น้ำด่าง น้ำยาทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ น้ำยาทำความสะอาดท่อระบายน้ำ หรือผลิตภัณฑ์กำจัดคราบสกปรกใต้ซิงค์ล้างจาน
- กรณีที่ท่ออุดตันไม่ควรเอาไม้ หรือเหล็กไปแหย่ เพราะจะทำให้ท่อแตกได้ แต่ให้ใช้โซดาไฟในการล้างท่อแทน
- ห้ามใช้ของแข็งทุกชนิดทุบ หรือกระแทกอาจก่อให้เกิดรอยบุบ หรือแตก