เคยสังเกตกันไหม ว่าทำไมริมถนนและเกาะกลางถนนจึงต้องมีการปลูกดอกไม้ ต้นไม้ แน่นอนว่าให้ความงดงามแล้วหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วนั้นเราปลูกต้นไม้สองริมข้างถนน เพื่อให้คนขับรถรับรู้ถึงความกว้างของถนนนั่นเอง ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนน กะระยะได้ถูก แถมสร้างจิตสำนึกสั่งการสมองตัวเองขับรถให้ช้าลงแบบอัตโนมัติอีกด้วย ส่วนที่เกาะข้างถนน ก็มีไว้เพื่อแบ่งเลนแยกให้ชัดเจน นอกจากจะเป็นเครื่องมือทำให้การขับขี่เป็นไปอย่างปลอดภัย ลดอุบัติเหตุจากการขับรถข้ามเลน ความสดใสของสีเขียวจากต้นไม้ ยังทำให้ถนนดูสะอาดสะอ้าน ทำให้จิตใจของเราปลอดโปร่ง ลดความตึงเครียดจากการขับขี่ได้อย่างน่าอัศจรรย์!
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ไม้นนทรี
ต้นนนทรีเป็นไม้ยืนต้นที่โตเร็ว ที่ปลูกง่าย มีอายุยืนยาวนาน มีความแข็งแรง ทนแดด ทนได้ทุกสภาพอากาศของเมืองไทยแน่นอน แต่แนะนำให้ระวังช่วงหน้าฝน ด้วยความที่เป็นต้นไม้ใหญ่ ในช่วงที่มีลมแรงมาก กิ่งก็อาจหักลงได้ ส่วนรูปทรงของต้นและดอกมีความสวยงาม ใบเขียวตลอดทั้งปี พร้อมดอกสีเหลืองมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จึงเหมาะสำหรับนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ สวนสาธารณะ หรือที่จอดรถ ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาและป้องกันลมได้ดี ใช้เป็นร่มเงาในสวนกาแฟได้ดีมาก เพราะเป็นไม้ตระกูลถั่ว จึงช่วยบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นได้อีกด้วย
ลักษณะของไม้นนทรี
- ใบ : ใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น เรียงสลับถี่ตามปลายกิ่ง
- ผล : ผลนนทรี เรียกเป็นฝัก ฝักมีรูปหอก แผ่นฝักแบน และเป็นขอด 1 – 8 ขอด
- ดอก : นนทรี ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอด แตกก้านช่อดอกแขนงออกโดยรอบ
- ลำต้น : มีลำต้นสูงประมาณ 25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มรูปทรงกลม
ประโยชน์และสรรพคุณของไม้นนทรี
เนื้อไม้นนทรี ส่วนมากถูกนำมาทำเป็นพื้นกระดาน ฝาบ้าน เครื่องมือการเกษตร และของใช้ในบ้าน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน ลวดลายสวยงามเหมือนไม้ประดู่ ส่วนเปลือกถ้านำไปต้มจะมีสีน้ำตาลปนเหลือง สามารถนำไปย้อมผ้าฝ้ายบาติกหรือใช้พิมพ์ผ้าปาเต๊ะได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้รักษาโรคท้องร่วงได้ เพราะมีสารแทนนินสูง หรือนำไปเคี่ยวกับน้ำมันนวดคลายกล้ามเนื้ออักเสบได้
ต้นนนทรีป่า
ต้นนนทรีป่า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอะราง เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Caesalpiniaceae เปลือกเรียบ สีเทาอมน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนก ดอกช่อออกตามปลายกิ่งแล้วห้อยลง ลักษณะคล้ายนนทรีแต่ต่างกันที่ช่อดอกของอะรางห้อยลงแต่นนทรีชี้ขึ้น เนื่องจากต้นนนทรีป่า เป้นไม้โตเร็ว จึงเหมาะสำหรับการปลูกเพื่อฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม หรือจะปลูกเพื่อสร้างความร่มเย็น ให้ร่มเงาตามข้างทาง สวนสาธารณะ และริมถนน ก็จะได้รับฟิลลิ่งเหมือนซากุระสีเหลืองโปรยปราย
ลักษณะของต้นนนทรีป่า
- ใบ : ช่อใบมีความยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะมีใบย่อยเล็ก ๆ ออกตรงข้ามกันคล้ายกับใบกระถิน
- ผล : มีผลเป็นฝักแบน ผิวเรียบ ผลเมื่อแห้งจะเป็นสีน้ำตาลแดงและแตกออกเป็นสองซีก เมล็ดมีลักษณะแบนเรียงตัวตามขวางของฝัก
- ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบห้อยระย้าลงสู่พื้นดิน ดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีลักษณะตูมเป็นรูปไข่
- ลำต้น : มีความสูงของต้นได้ถึง 30 เมตร ต้นเล็กมักจะแตกกิ่งต่ำ
ประโยชน์และสรรพคุณของต้นนนทรีป่า
ต้นนนทรีป่า สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ ด้วยลักษณะพุ่มสีเหลืองสง่า ช่อดอกพวงที่ห้อยลงมาอย่างสวยงาม กลายเป็นไม้ประดับที่สีสันสดใส เจริญหูเจริญตามากเลยทีเดียว สำหรับสรรพคุณ คนนิยมเลือกส่วนเปลือกต้น มารับประทานรักษาโรคเกี่ยวกับโลหิต หรือโรคที่เกี่ยวกับเสมหะ ยังสามารถช่วยแก้ท้องร่วง ท้องเสียได้อีกด้วย แถมใช้เป็นสีย้อม ให้สีน้ำตาลแดงอีกด้วย เปลือกต้นที่มีอายุมากรับประทานได้ โดยขูดผิวด้านในออกมาแล้วสับละเอียด รสชาติของเปลือกต้นจะมีรสฝาดนิด ๆ
ความแตกต่างของต้นนนทรีกับต้นนนทรีป่า
ความแตกต่างของต้นนนทรีกับต้นนนทรีป่า ให้ดูที่ดอก ดอกของนนทรีธรรมดาจะมีสีที่เข้มกว่าดอกของนนทรีป่า ดอกของนนทรีป่าจะมีลักษณะที่เป็นดอกสีเหลืองเป็นช่อห้อย ยาว 10-20 ซม. ฝักมีเมล็ดแบน เรียงตัวตามขวาง 1-8 เมล็ด แต่ดอกของนนทรีธรรมดา จะออกดอกตั้งตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 20-30 ซม. ฝักภายในมีเมล็ดแบน เรียงตัวตามยาวของฝักจำนวน 1-4 เมล็ด และเรือนยอดนนทรีป่าจะเป็นมีรูปทรงกลม ส่วนนนทรีบ้านอาจเป็นทรงกลมหรือมีรูปร่างไม่แน่นอน นอกจากนั้น นนทรีป่าจะมีลักษณะเด่นอื่น ๆ อาทิ กิ่งอ่อนนนทรีย์ป่าจะมีขนสีนํ้าตาลแดง ส่วนเปลือกนอกของนนทรีป่าต้นยังเล็กมีสีเทา ผิวเปลือกค่อนข้างเรียบ
ความสวยงาม เหลืองอร่ามของต้นนทรี ไม่ได้มีแค่ไว้เพื่อความสวยงามสบายตาเท่านั้น แต่ยังให้ร่มเงา ลดอุณหภูมิบนท้องถนนให้เย็นลงจากการคายระเหยน้ำ และเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การขับขี่บนท้องถนนเป็นไปด้วยดีอีกด้วย แต่แน่นอนว่าการปลูกต้นไม้ริมถนน ก็มีสิ่งที่ต้องพึงระวังเช่นกัน นั่นคือ การเลือกพันธุ์ไม้ ฤดูกาล และการเติบโตของพันธุ์ที่จะไม่กระทบต่อการใช้รถใช้ถนน สิ่งสุดท้ายคือ ความมีสติที่จะระมัดระวังในการขับขี่ เพราะมีอาจจะเกิดอุบัติเหตุชนต้นไม้ข้างทางได้ กันไว้ดีกว่าแก้ดีกว่า
Feature Image Credit : pixabay