วันหยุดยาวได้หมดลงไป การได้ใช้เวลาพักผ่อน ท่องเที่ยว ใช้เวลากับตัวเอง คนรัก เพื่อน หรือครอบครัว ดูจะแสนสั้นและหมดลงไวเหลือเกิน สำหรับบางคน การกลับจากวันหยุดอาจจะราบรื่น และพวกเขาอาจปรับตัวให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันตามปกติได้อย่างรวดเร็ว คนอื่นๆ อาจพบว่าต้องใช้การปรับตัวกลับมา จนทำให้คุณมีอารมณ์ที่ไม่ดี เศร้า ไม่อยากทำงาน วิตกกังวล เครียด แสดงว่าคุณมีภาวะหดหู่หลังหยุดยาว มีแนวโน้มมีอาการคล้ายซึมเศร้า แต่เจ้าอาการนี้คืออะไร สาเหตุ คนที่เสี่ยง และวิธีป้องกันหรือบรรเทาอาการซึมเศร้าหลังเที่ยว จะทำอย่างไรได้บ้าง Shopee รวมข้อมูลไว้ให้แล้วในบทความนี้
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ภาวะหดหู่หลังหยุดยาว (Post-holiday blues) คือ
ภาวะหดหู่หลังหยุดยาว หรือ อาการซึมเศร้าหลังเที่ยว หลังวันหยุดยาว วันหยุดพักร้อน (post vacation blues หรือ post holiday blues) เป็นปรากฏการณ์ที่บุคคลจะประสบกับความรู้สึกเศร้า ความเกียจคร้าน ไม่อยากทำงาน เบื่องาน เบื่ออาหาร ใจลอย หรือวิตกกังวลเมื่อกลับมาทำกิจวัตรประจำวันตามปกติหลังจากไปเที่ยวพักผ่อน ความหดหู่ทางอารมณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และปัจจัยที่แตกต่างกัน อาการหรือความหนักของความเศร้าอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ความเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ รวมถึงบุคลิกภาพ ระดับความเครียด การรักษาสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ธรรมชาติของการลาพักร้อน และกลไกการรับมือของแต่ละบุคคล ภาวะนี้สามารถพบในคนมากมายทั่วโลกและเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ส่วนมากอาจเป็นอยู่ซัก 2-3 วันหลังจากหยุดยาวเสร็จแล้วกลับมาทำงานหรือเรียน แต่แม้ว่านี่จะเป็นปรากฏการณ์ทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเผชิญกับอาการซึมเศร้าหลังวันหยุด
สาเหตุของ post holiday blues หรือ post vacation blues
การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรกะทันหัน
การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจากตารางวันหยุดที่ผ่อนคลายไปสู่ความต้องการในชีวิตประจำวันอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลับมาจากท่องเที่ยววันหนึ่งตอนดึก และวันรุ่งขึ้นต้องตื่นไปทำงานตามปกติทันที นอกจากจะมีโอกาสเกิดภาวะภาวะหดหู่หลังหยุดยาว แล้ว ยังเสี่ยงต่ออาการ Jet Lag คือร่างกายปรับเวลาตาม time zone ใหม่ไม่ทันด้วยทำให้เพิ่มโอกาสการเป็น post holiday blues ก็เป็นไปได้
ความคาดหวังที่ไม่บรรลุผล
หากวันหยุดไม่เป็นไปตามความคาดหวัง มีแรงกดดันระหว่างการเดินทาง ยังพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือกลับมาเจองานที่หนักเกินความคาดหมาย อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังเที่ยวหรือหลังวันหยุดได้
ความเครียดจากการทำงาน
ความคาดหมายในการกลับไปทำงาน ติดตามอีเมล และการเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับงานสามารถเป็นปัจจัยหนึ่งในการกระตุ้นภาวะหดหู่หลังหยุดยาวขึ้นได้
ขาดความสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตด้านอื่นๆ
บุคคลที่มีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานไม่ดีอาจต้องต่อสู้กับอาการซึมเศร้าหรือเครียดหลังวันหยุดมากขึ้นเพราะจดจ่ออยู่กับงานและไม่ได้พักสมองไปทำอย่างอื่นเท่าไรนัก
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกับ post vacation blues คือ
บุคคลที่มีความเครียดสูง
ผู้ที่มีระดับความเครียดสูงอาจพบว่าการเปลี่ยนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเป็นเรื่องที่ท้าทาย
ผู้ชอบความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)
คนที่มีแนวโน้มชอบความสมบูรณ์แบบ หรือ เพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ อาจรู้สึกกดดันที่ต้องทำงานให้ทันและบรรลุความคาดหวังที่สูงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมายและกดดันตัวเอง หรือรับความคาดหวังจากคนอื่นด้วยมาตรฐานที่ทำดีมาเสมอ
คนบ้างาน
บุคคลที่หมกมุ่นอยู่กับงานอย่างลึกซึ้งและตัดขาดการเชื่อมต่อจากงานในช่วงวันหยุดยาก จะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเป็น holiday blues เนื่องจากเมื่อกลับมาจากวันหยุดท่องเที่ยว จะต้องกลับมาโฟกัสและตามงามอย่างเต็มที่โดยที่ช่วงวันหยุดก็อาจจะไม่ได้หยุดคิดหรือเอาคอมไปทำงานมาด้วย ตอนพักก็พัก่อนไม่เต็มที่ กลับมาก็ทำงานหนักเหมือนเดิม นอกจากจะเสี่ยงจาก vacation blues แล้วยังเสี่ยงที่จะ burnout หรือมีภาวะหมดไฟในการทำงานได้อีกด้วย
สัญญาณของอาการซึมเศร้าหลังเที่ยว
- อารมณ์แปรปรวน: อารมณ์เปลี่ยนแปลงกะทันหัน เช่น หงุดหงิดหรือเศร้า
- ความเหนื่อยล้า: รู้สึกเหนื่อยหรือขาดพลังงานแม้จะได้หยุดพักมาแล้วก็ตาม
- มีสมาธิยาก: มีปัญหาในการโฟกัสไปที่งานหนึ่งๆอย่างจดจ่อได้ยาก หรือรู้สึกไม่มีสมาธิ
- กระสับกระส่าย: ไม่สามารถผ่อนคลายหรือรู้สึกไม่สบายใจอย่างต่อเนื่อง
- ความเครียดที่เพิ่มขึ้น: ระดับความเครียดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหรือความรับผิดชอบในแต่ละวัน
10 วิธีป้องกันหรือบรรเทาภาวะหดหู่หลังหยุดยาว
1. วางแผนชีวิตล่วงหน้า
กำหนดเวลาหนึ่งหรือสองวันหลังจากวันหยุดของคุณเพื่อค่อยๆ กลับไปสู่กิจวัตรประจำวันของคุณ อย่ากลับมาจากเที่ยวหรือพักผ่อนในวันสุดท้ายก่อนเปิดทำงานหรือเปิดเทอม และเก็บวันแรกในการทำงานเพื่อตามงานต่างๆให้ทันเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ อย่านัดประชุม นัดลูกค้า หรือพรีเซ้นต์งานสำคัญในวันแรกที่กลับมาเนื่องจากคุณอาจจะเครียดเพราะเวลาการเตรียมตัวและเนื้อหาที่เร่งรีบเกินไป
2. ตั้งความคาดหวังที่สมจริง
มีความคาดหวังที่สมจริงสำหรับช่วงวันหยุดพักผ่อนของคุณ ทำใจยอมรับว่าหลังวันหยุดยาวคุณจะต้องกลับมาเจองานที่ต้องยุ่งและมากขึ้นกว่าปกติสักหน่อย แต่คุณก็จะค่อยๆทำเสร็จไปทีละงาน หลีกเลี่ยงการกดดันตัวเองมากเกินไป
3. รักษาสมดุลระหว่างงานและชีวิตด้านอื่นๆ
จัดลำดับความสำคัญของสมดุลระหว่างงานและชีวิตด้านอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความเหนื่อยหน่ายและความเครียด อย่าทุ่มเทเคลียร์งานที่คั่งค้างทั้งหมดหลังหยุดยาวในทันทีหากคุณพบกว่าตัวเองเครียดหรือวิตกกังวลใจเกินไป พยายามลดทอนงานหรือเลื่อนวันส่งงานบางส่วนหากทำได้ และทำกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่ด้านงานเพื่อคลายเครียด
4. จดบันทึกสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลง
บันทึกสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ชีวิตมีเป้าหมายมากขึ้น อาจปรับจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงปีใหม่ก็ได้เช่นกัน ทำสิ่งนี้เพื่อลองให้ตัวคุณเองได้คิดให้ดีถึงเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว ทั้งเป้าหมายด้านงานหรือโปรเจ็คต์ที่อยากทำให้สำเร็จ หรือเป้าหมายในชีวิตอย่างการมีสุขภาพและหุ่นที่ดีขึ้น เมื่อบันทึกเป้าหมายเหล่านี้เขียนลงกระดาษคุณก็จะได้สร้างแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่างๆและไม่ซึมเศร้าหลังเที่ยวอีกต่อไป
5. พูดคุยกับคนรอบข้าง
พูดคุยกับคนรอบข้าง ถึงความสุขที่ผ่านมาในช่วงวันหยุด หรือปรึกษาเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับงานหรือความกังวลใจที่จะต้องกลับมาทำงาน เพื่อรับทราบข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องงาน จัดการหรือลดงานในมือเมื่อกลับมาให้ได้อย่างเป็นระบบและไม่เครียดเกินไป หากมีหลายงานที่ต้องส่งในระยะอันสั้นหลังคุณกลับมาจากหยุดยาวอาจลองปรึกษาหัวหน้างานดูเพื่อบอกขีดจำกัดและลองจัดลำดับความสำคัญของงาน
6. ไม่เทียบตัวเองกับคนอื่น
ไม่เทียบตัวเองกับคนอื่น เพราะแต่ละคนมีกิจกรรมและความชอบที่แตกต่างกัน ความสุขจึงเป็นสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้
7. เขียนแผนการทำงานหลังวันหยุดยาว
แบ่งงานในช่วง 1-2 สัปดาห์ ออกเป็นขั้นตอนที่สามารถจัดการได้ และจัดลำดับความสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกหนักใจ เพราะหากสิ่งที่คุณต้องทำคือ 10 คุณอาจจะรู้สึกว่าเยอะและรู้สึกเครียด ในขณะที่ถ้าคุณเขียนว่าต้องทำให้ได้วันละ 2 เป็นเวลา 5 วันลงปฏิทิน และโฟกัสที่ทำให้เสร็จทีละ 2 ความเครียดจะน้อยกว่ามองเป้าหมายใหญ่แบบแรก หลังจากผ่านวันหยุดยาวไปสักวันสองวัน ให้ร่างแผนระยะยาวขึ้นว่าคุณอยากจะทำงานอะไรให้สำเร็จ เพื่อลดความสับสนและความกังวลใจถึงภารกิจที่ต้องทำหลังจากกลับมารับผิดชอบต่อจนสิ้นปี
8. ฝึกฝนการดูแลตนเอง
รวมกิจกรรมการดูแลตนเองเข้ากับกิจวัตรประจำวันของคุณ เช่น การออกกำลังกาย การทำสมาธิ ทำงานเสริม หรืองานอดิเรก การจดจ่ออยู่กับกิจกรรมอื่นนอกจากงาน อาจทำให้จิตใจคุณปลอดโปร่งและแข็งแรงขึ้นโดยไม่รู้ตัว
9. คิดถึงประสบการณ์และความประทับใจดีๆ
มุ่งเน้นไปที่การคิดถึงด้านบวกหรือประสบการณ์ดีๆของวันหยุดของคุณและนำความรู้สึกเหล่านั้นไปใช้ในชีวิตประจำวันของคุณ หรือจะคิดว่าเราควรตั้งใจทำงานหาเงิน เพื่อไปใช้จ่ายหรือท่องเที่ยวอย่างมีความสุขและสบายใจในครั้งต่อไปก็ยังได้!
10. หาความตื่นเต้นใหม่ ๆ เสมอ
หาความตื่นเต้นใหม่ ๆ เสมอ เช่น การเรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยเรียนมาก่อน ทำกิจกรรมที่สนุกและตื่นเต้น หรือวางแผนการเดินทางครั้งถัดไป เพื่อให้ชีวิตมีสีสันและสภาพจิตใจพร้อมรับมือกับทุกปัญหาในอนาคต รู้หรือไม่ว่าเราจะมีความสุขจากวันหยุดยาวไม่ใช่ตั้งแต่วันหยุดวันแรกแต่เป็นจากวันวางแผน ดังนั้นเมื่อคิดถึงกิจกรรมช่วงหยุดยาวที่ผ่านไป ก็มองไปข้างหน้าแล้ววางแผนสำหรับหยุดยาวใหม่เลยดีกว่า
สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าการประสบกับภาวะหดหู่หลังหยุดยาวในระดับหนึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่หากความรู้สึกเหล่านี้ยังคงมีอยู่หรือส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของคุณ การขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตก็เป็นทางเลือกที่ดี อย่าลืมว่าผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะวิริจฉัยและหาทางแก้ให้คุณได้ดีที่สุด หรือจะลองวางแผนทริปในวันหยุดยาวถัดไปก็ช่วยได้ จะได้ไม่เป็นซึมเศร้าหลังเที่ยว นานเกินไป ขอให้ท่องเที่ยวเดินทางและพักผ่อนอย่างสนุก สบายใจ และปลอดภัย ส่วนใครที่คิดว่าเพื่อนหรือคนใกล้ตัวเราต้องการกำลังใจ ก็ลองไปดูบทความให้กำลังใจในวันหมดไฟ ที่ Shopee Blog ได้เลย!
Credit: โรงพยาบาลรามา