ชวนทำความรู้จักกับระบบปั๊มน้ำในบ้านว่ามีแบบไหนบ้าง การเลือกปั๊มน้ำมีปั๊มน้ำแบบไหนดี มีแบบไหนให้เลือกบ้าง และมีวิธีเลือกปั๊มน้ำน้ำอย่างไร รวมทั้งการติดตั้งปั๊มน้ำควรระวังอะไรบ้าง
ระบบน้ำถือเป็นระบบสาธารณูปโภคสำคัญของบ้านอย่างหนึ่ง ซึ่งหากวันไหนที่น้ำรั่ว น้ำไม่ไหล น้ำไหลอ่อน ไม่ได้ดั่งใจแล้วอะไร ๆ ก็ดูเหมือนจะไม่เข้าที่เข้าทางไปเสียหมด ดังนั้นเพื่อให้ระบบน้ำในบ้านเข้าที่เข้าทาง มีแรงดันสูงเพียงพอต่อการใช้งานในหลาย ๆ จุดของบ้านพร้อมกัน เพื่อน ๆ คงต้องหาปั๊มน้ำสักตัวมาไว้ใช้ในบ้านบ้างแล้ว แต่หากใครยังไม่มีไอเดียว่าควรจะเลือกปั๊มน้ำอย่างไร ควรวางระบบปั๊มน้ำในบ้านแบบไหน หรือแม้แต่การติดตั้งปั๊มน้ำในสวนควรทำอย่างไรบ้าง คราวนี้เราเตรียมคำตอบไว้ให้เพื่อน ๆ แล้ว
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ทำความรู้จักกับระบบปั๊มน้ำในบ้าน
สำหรับอุปกรณ์ที่เรียกว่า ปั๊มน้ำ นั้น เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มแรงดันน้ำในบ้าน ซึ่งโดยปกติแล้วน้ำที่มาจากท่อประปาก็มักจะมีแรงดันมาอยู่ก่อนแล้ว แต่ในบางครั้งที่มีการใช้น้ำในบ้านพร้อมกันหลาย ๆ จุด หรือการใช้นำบนที่สูงเช่น ชั้นสองหรือชั้นสามของตัวบ้าน ทำให้แรงดันเดิมที่มาพร้อมกับท่อประปานั้นไม่เพียงพอ ทำให้น้ำไหลอ่อน ไม่พอต่อการใช้งาน ดังนี้แล้ว สำหรับบ้านที่ซีเรียสเรื่องนี้เราก็ควรต้องมาติดตั้งระบบปั๊มน้ำในบ้านกัน แต่ว่าจะเลือกปั๊มน้ำแบบไหนดี?
สำหรับระบบปั๊มน้ำในบ้านนั้นจะประกอบด้วยสามส่วนหลัก ๆ คือ ท่อเมน ถังเก็บน้ำ และปั๊มน้ำ
ท่อเมนเป็นท่อประปาหลักที่ส่งน้ำประปามาจากส่วนกลาง ที่ส่วนใหญ่แล้วจะมีแรงดันน้ำไม่ค่อยคงที่นัก เพื่อขจัดปัญหานี้เราจึงต้องติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อเพิ่มแรงดันของน้ำประปาที่ใช้ในบ้าน แต่การต่อปั๊มน้ำเข้ากับท่อเมนเลยนั้นผิดกฎหมาย และเป็นการรบกวนการใช้น้ำของบ้านอื่น เพราะปั๊มน้ำจะไปดึงน้ำจากท่อเมนมาโดยตรง ดังนั้นก่อนที่จะต่อปั๊มน้ำเข้ากับท่อเมน เราจึงจำเป็นต้องมีถังเก็บน้ำเป็นแหล่งพักน้ำคั่นกลางเสียก่อน
ด้วยระบบนี้ น้ำประปาที่มีแรงดันอ่อนจากท่อเมนจะถูกนำมารวมพักไว้ในถังเก็บน้ำ และจะถูกปั๊มน้ำดึงไปใช้ในบ้านเมื่อมีการใช้งานต่อไป ทั้งนี้แต่ละบ้านก็มักจะมีท่อ by pass ติดไว้ด้วย ในกรณีที่ระบบปั๊มน้ำเสียก็จะยังสามารถรับน้ำจากท่อเมนได้โดยตรง
ประเภทของปั๊มน้ำในบ้าน ใช้ปั๊มน้ำแบบไหนดี
สำหรับปั๊มน้ำในบ้านที่นิยมใช้ในปัจจุบันก็มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
1. ปั๊มน้ำถังกลม หรือ ปั๊มน้ำแรงดัน
เป็นปั๊มน้ำที่ใช้หลักการดึงน้ำให้ไปแทนที่อากาศที่ถูกสูบออกไป โดยเมื่อมีการใช้น้ำในบ้าน ปั๊มน้ำจะดึงน้ำเข้าไปในถังความดัน และอัดอากาศให้น้ำไหลไปยังส่วนต่าง ๆ ของบ้านได้ ซึ่งปั๊มน้ำประเภทนี้มักมีราคาย่อมเยาว์ ดูแลรักษาง่าย และทนทานต่อการใช้งานมากกว่าปั๊มน้ำแบบอื่น ๆ แต่เนื่องจากปั๊มน้ำชนิดนี้บางรุ่นมีการใช้เหล็กเคลือบกันสนิมภายใน ทำให้การใช้ระยะยาวอาจมีปัญหาสนิม และหากรุ่นที่มีการใช้เหล็กแผ่นบางเป็นวัสดุก็จะทำให้เกิดเสียงดังได้
สรุปข้อดี
- ระบบให้แรงดันน้ำสูง จ่ายน้ำได้แรง
- ตัวเครื่องปั๊มน้ำมมีราคาย่อมเยาว์ รวมทั้งค่าอุปกรณ์และการดูแลรักษาไม่แพง
- ตัวเครื่องปั๊มน้ำทำจากเหล็ก ทำให้วางไว้กลางแดดหรือในที่แจ้งได้แบบไม่มีปัญหา
- ตัวเครื่องแข็งแรงทนทานต่อการใช้งานเป็นเวลานาน
สรุปข้อเสีย
- ระบบอัดอากาศทำให้แรงดันน้ำไม่สม่ำเสมอ เดี๋ยวแรงเดี๋ยวค่อย บางครั้งอาจทำให้หงุดหงิด
- ระบบปั๊มน้ำทำงานเสียงดัง อาจไม่เหมาะกับการติดตั้งไว้ในบ้านหรือใกล้บ้าน
- เนื่องจากตัวเครื่องเป็นเหล็กทำให้อาจมีปัญหาสนิมกินตัวเครื่องเมื่อใช้
- ตัวปั๊มน้ำมีขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่ติดตั้งมาก
2. ปั๊มน้ำถังเหลี่ยม หรือ ปั๊มน้ำแรงดันคงที่
จะมีการควบคุมการทำงานด้วยอุปกรณ์ควบคุมแรงดัน ซึ่งเมื่อในบ้านเปิดใช้น้ำทำให้ความดันลดลง ปั๊มน้ำจะทำงานขึ้นอัตโนมัติ ทำให้ปั๊มน้ำชนิดนี้สามารถสร้างแรงดันน้ำได้อย่างอย่างสม่ำเสมอ มีรอบการอัดอากาศที่คงที่
สรุปข้อดี
- ตัวเครื่องมีระบบทำงานสม่ำเสมอ ช่วยให้สามารถจ่ายแรงดันน้ำได้สม่ำเสมอตลอดการใช้งาน
- มีการทำงานเงียบกว่าปั๊มน้ำถังกลมหรือปั๊มน้ำแรงดัน
- ไม่มีปัญหารั่วซึมหรือการเป็นสนิมของวัสดุเมื่อใช้งานไปเป็นเวลานาน
สรุปข้อเสีย
- ตัวเครื่องมักทำด้วยพลาสติกจึงไม่เหมาะกับการวางไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้พลาสติกเสื่อมสภาพได้เร็ว
- เมื่อตัวเครื่องทำงานหนักขึ้นจะเกิดความร้อน ส่งผลต่อวัสดุที่ใช้เป็นพลาสติก จึงควรระวังการใช้งานและไม่ตั้งไว้ในที่ที่ร้อนจัด
- ตัวเครื่องมีราคาสูง อะไหล่หายาก ทำให้การใช้งานต้องมีงบประมาณสูงตามไปด้วย
3. ปั๊มน้ำอินเวิร์ทเตอร์
มีระบบตรวจจับการใช้งานน้ำแบบอัตโนมัติ เมื่อมีการใช้น้ำมากจะมีรอบทำงานของมอเตอร์สูง แต่หากมีการใช้น้ำน้อยก็จะมีรอบการทำงานของมอเตอร์ต่ำ ทำให้สามารถช่วยควบคุมความดันได้อย่างคงที่ จ่าายน้ำได้อย่างสม่ำเสมอ
สรุปข้อดี
- ด้วยระบบอินเวอร์ทเตอร์ช่วยควบคุมตัวเครื่องให้ทำงานสม่ำเสมอเป็นอัตโนมัติ ช่วยให้สามารถจ่ายแรงดันน้ำได้สม่ำเสมอตลอดการใช้งาน
- มีการทำงานเงียบกว่าปั๊มน้ำแรงดัน เสียงใกล้เคียงกับปั๊มน้ำแรงดันคงที่
- ประหยัดไฟ
สรุปข้อเสีย
- มีราคาสูง และมีราคาสูงกว่าปั๊มน้ำปกติทั่วไปประมาณ 2 – 3 เท่าได้เลย
- เมื่อเสียต้องส่งเข้าศูนย์ซ่อมเพื่อซ่อมแซมโดยเฉพาะเท่านั้น…
วิธีเลือกปั๊มน้ำในบ้าน เลือกขนาดปั๊มน้ำแบบไหนดี
เมื่อเราทำความรู้จักประเภทของปั๊มน้ำในบ้านไปแล้ว เราลองมาดูกันต่อเลยว่าแล้ววิธีการเลือกปั๊มน้ำในบ้านนั้น เราควรจะใช้ปั๊มน้ำแบบไหนขนาดเท่าไหร่ดี และมีวิธีหาขนาดของปั๊มน้ำที่เหมาะกับการใช้งานในบ้านได้อย่าไร
ก่อนอื่นการเลือกขนาดปั๊มน้ำแบบไหนดีนั้นเป็นปัญหาแรก ๆ ที่ผู้ใช้งานต้องคำนึงถึง เนื่องจากหากเลือกขนาดปั๊มน้ำต่ำกว่าการใช้งานก็จะมีผลให้น้ำประปาไหลอ่อน ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ หรือทำให้ปั๊มน้ำต้องทำงานหนักเกินไป ขณะที่การเลือกปั๊มน้ำในขนาดที่ใหญ่เกินไปก็เป็นการสิ้นเปลืองทั้งค่าเครื่องที่แพงขึ้น ค่าบำรุงรักษา รวมทั้งค่าไฟที่จะต้องใช้กับมอเตอร์ปั๊มน้ำอีกด้วย
ดังนั้นการเลือกปั๊มน้ำแบบไหนดีให้เหมาะกับการใช้งานในบ้าน มีหลักที่ต้องพิจารณา คือ ขนาดของบ้าน และจำนวนจุดใช้น้ำ
- ขนาดของปั๊มน้ำ 150 วัตต์ เหมาะกับการใช้งานในบ้าน 1-2 ชั้น และมีจุดใช้งานประมาณ 4 จุด
- ขนาดของปั๊มน้ำ 200-250 วัตต์ เหมาะกับการใช้งานในบ้าน 2 ชั้น และมีจุดใช้งานประมาณ 5-6 จุด
- ขนาดของปั๊มน้ำ 300-350 วัตต์ เหมาะกับการใช้งานในบ้าน 3 ชั้น และมีจุดใช้งานประมาณ 6-7 จุด
- ขนาดของปั๊มน้ำ 400 วัตต์ขึ้นไป เหมาะกับการใช้งานในบ้าน 3-4 ชั้น
ซึ่งนี่เป็นวิธีคำนวณเพื่อให้สามารถกะขนาดของปั๊มน้ำที่เหมาะกับการใช้งานในแต่ละบ้านได้อย่างคร่าว ๆ เลยค่ะ
…
การติดตั้งระบบปั๊มน้ำในบ้าน
สำหรับการติดตั้งระบบปั๊มน้ำในบ้านมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง 4 ด้าน คือ
1. ชนิดของปั๊มน้ำที่จะนำมาใช้
ก่อนหน้านี้เราได้แจกแจงวิธีเลือกประเภทและขนาดของปั๊มน้ำว่าจะเลือกปั๊มน้ำแบบไหนดีไปแล้ว กล่าวคือจะต้องเลือกปั๊มให้เหมาะกับความต้องการ และขนาด/ปริมาณน้ำที่จะใช้สำหรับแต่ละบ้าน ไม่เลือกปั๊มที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่กว่าความต้องการมากจนเกินไป
2. จุดที่ติดตั้งปั๊มน้ำ
ข้อนี้มีส่วนช่วยยืดอายุการใช้งานของปั๊มน้ำออกไปได้ดีทีเดียว นั่นคือ ควรติดตั้งปั๊มน้ำให้ห่างจากกำแพงไม่ต่ำกว่า 15 เซนติเมตร และมักใช้ 30 เซนติเมตรเป็นหลัก เพื่อช่วยในการระบายความร้อนของมอเตอร์ นอกจากนี้ยังต้องระวังไม่ให้จุดติดตั้งมีน้ำท่วมขังเพราะอาจเกิดอันตรายจากกระแสไฟฟ้าและส่งผลให้ตัวเครื่องที่เป็นเหล็กผุกร่อนได้เร็ว นอกจากนี้ยังไม่ควรติดตั้งปั๊มน้ำไว้กลางแจ้ง หรือแม้แต่ชายคาหลังบ้าน เพราะน้ำฝนบนหลังคาจะตกลงบนปั๊มน้ำได้โดยตรง
3. การวางระบบท่อน้ำ
ควรเลือกท่อดูดที่มีขนาดใหญ่กว่าสเป็ก 1 ขนาดและมีจุดหักงอน้อยที่สุด ช่วยให้ปั๊มน้ำทำงานได้ดี และควรวางปั๊มน้ำใกล้ถังพักน้ำให้ได้มากที่สุด ส่วนท่อด้านจ่ายควรมีการแยกเมนต์การใช้งานและมีวาลว์เปิดปิดเพื่อความสะดวกในการตรวจเช็กการรั่วซึมได้ง่าย
4. การวางระบบไฟฟ้า
ควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานเป็นหลัก ควรมีการติดตั้งเบรคเกอร์ และระบบสายดินเพื่อป้องกันการเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว และต้องมั่นใจว่าระบบไฟจะไม่เปียกชื้นหรือถูกน้ำท่วมขังจนเกิดอันตรายได้ และไม่เป็นจุดที่น้ำฝนกระเด็นถึง
ด้วยการคำนึงถึงขั้นตอนง่าย ๆ น่าจะทำให้เพื่อน ๆ พอเห็นภาพการติดตั้งระบบปั๊มน้ำในบ้านกันบ้างแล้วว่าต้องไปเกี่ยวข้องกับระบบไหน มีปัจจัยใดที่ควรระวังกันบ้าง เพื่อให้สามารถใช้งานปั๊มน้ำได้เป็นปกติ ทนทานใช้ได้นานและปลอดภัยต่อการใช้งานในบ้าน
การติดตั้งปั๊มน้ำในสวน
การติดตั้งปั๊มน้ำในสวนมักเป็นไปเพื่อใช้สำหรับการรดน้ำต้นไม้เป็นหลัก ซึ่งปกติแล้วบ้านที่มีพื้นที่ไม่มากมักใช้น้ำจากปั๊มน้ำปกติในบ้านได้อยู่แล้ว แต่หากสวนที่มีพื้นที่เป็นบริเวณกว้างและจำเป็นต้องใช้การจ่ายน้ำพร้อม ๆ กันหลายจุด ก็จำเป็นต้องมีการติดตั้งปั๊มน้ำในสวนเพิ่มเติม เพื่อให้แรงดันน้ำเพียงพอต่อการใช้งาน
ในสวนขนาดใหญ่มักเลือกใช้งานปั๊มแบบหอยโข่ง ซึ่งสามารถนำไปต่อเข้ากับสปริงเกอร์สำหรับการรดน้ำแบบอัตโนมัติได้ ซึ่งวิธีการเลือกปั๊มน้ำแบบไหนดีก็ไม่ต่างกับการเลือกปั๊มน้ำที่ใช้ในบ้าน คือ ต้องมีกำลังมอเตอร์เพียงพอและเหมาะสมต่อการใช้งาน และควรเน้นเรื่องความปลอดภัย ทนทานต่อการใช้งานเพิ่มขึ้นไปอีก
โดยทั่วไปการติดตั้งปั๊มน้ำในสวนมักเริ่มต้นที่กำลังมอเตอร์ 200 วัตต์ ที่จะสามารถจ่ายน้ำได้ 150 ลิตร ใน 1 นาที และเมื่อติดตั้งลงในสวนก็มีขั้นตอนที่ต้องระวัง 2 ขั้นตอน คือ
1. การติดตั้งปั๊มน้ำในสวน
ควรติดตั้งปั๊มน้ำไว้ในที่ร่ม ไม่โดนแดดไม่โดนฝน เพื่อความปลอดภัยและความทนทานในการใช้งาน ซึ่งอาจมีการทำหลังคาไว้เป็นการเฉพาะ แต่ให้อากาศถ่ายเทเพื่อระบายความร้อนได้ดี นอกจากนี้ยังควรติดตั้งปั๊มบนฐานรองที่มีความมั่นคงแข็งแรง ยกสูงจากพื้นเล็กน้อยเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วมขัง และการติดตั้งข้อต่อท่อประปาควรให้ได้ระดับ ได้แนว ไม่บิดงอ เพื่อให้แรงดันน้ำโฟลวได้ดี และมอเตอร์ไม่ทำงานหนักจนเกินไป
2. การต่อสายไฟเข้ากับปั๊ม
ขั้นตอนนี้ควรใช้ความระมัดระวังเพราะอาจเกิดอันตรายจากไฟฟ้ารั่วได้ง่าย การติดตั้งจึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยการเลือกสายไฟที่ใช้ควรพอเหมาะกับปริมาณกระแสไฟที่ปั๊มต้องใช้ หากใช้สายเล็กเกินไปจะเกิดความร้อนและละลายจนเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ยังไม่ควรตัดปลายปลั๊กแล้วต่อสายเอง แต่ควรใช้การเสียบปลั๊กในจุดต่อสายไฟในตัวปั๊มโดยตรง และควรมีเบรกเกอร์ รวมทั้งเดินสายดินเพื่อความปลอดภัย และป้องกันการเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วได้
เมื่อการติดตั้งปั๊มน้ำในสวนเรียบร้อยแล้ว การต่อท่อประปาเพื่อส่งน้ำต่อไปยังสปริงเกอร์ หรือจุดจ่ายน้ำต่าง ๆ ในสวนก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และปั๊มน้ำที่เลือกไว้ดีแล้ว ติดตั้งไว้อย่างดีและปลอดภัยแล้วจะช่วยจ่ายน้ำได้อย่างเพียงพอสำหรับการใช้น้ำในสวน ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องการใช้น้ำในปริมาณมากต่อไปได้
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ระบบน้ำเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญสำหรับบ้านเรือนรวมถึงสวนและแปลงเกษตร เราคงไม่อยากที่จะเจอสถานการณ์ที่กำลังใช้น้ำอยู่แล้วจู่ ๆ น้ำก็ไหลค่อยลงจนไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็ทำให้คนใช้หงุดหงิดเนื่องจากต้องใช้เวลารอคอยอย่างที่ไม่ควรจะเป็นเลย
เป็นอย่างไรบ้างคะกับวิธีการติดตั้งปั๊มน้ำในสวนไม่ยากเกินเอื้อมใช่ไหม ?
การติดตั้งปั๊มน้ำในสวน รวมทั้งระบบปั๊มน้ำในบ้าน จึงเป็นตัวเลือกที่จำเป็นสำหรับหลาย ๆ บ้าน และการเลือกปั๊มน้ำให้เหมาะสมก็ช่วยให้เราเลือกปั๊มน้ำแบบไหนดีได้แบบตรงความต้องการ เมื่อบวกรวมกับการติดตั้งระบบปั๊มน้ำในบ้าน/ระบบไฟที่ดี ก็จะสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของปั๊มน้ำออกไปได้นานแสนนาน ในแบบที่ติดตั้งครั้งเดียวใช้ไปได้ตลอด ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่คุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาวสำหรับหลาย ๆ บ้านนะคะ สำหรับใครที่สนใจคอนเทนท์อื่นอย่างเช่น การแต่งบ้านหลากสไตล์ ทั้งสไตล์มินิมอลที่เป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ในการแต่งห้องแล้ว ยังมีสไตล์อื่นๆที่น่าสนใจให้เพื่อนๆเลือกแต่งอีกเยอะมาก ทั้งสไตล์ลอฟท์ โบฮีเมียน ฯลฯ แล้วจะมีทริกอะไรที่ทำให้ห้องเล็ก ๆ ดูสว่างและกว้างขึ้นได้ ตามกันไปดูต่อที่ 10 สไตล์ไอเดียแต่งห้องนอนขนาดเล็ก เนรมิตห้องให้น่าอยู่กว่าเดิม! ได้เลย