ชวนทำความรู้จักผดร้อนทารกว่าความแตกต่างระหว่างผดดร้อนทารกกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอะไรบ้าง และจะมีวิธีรักษาผดผื่นบนใบหน้าทารกอย่างไร? ไม่ว่าใครที่เคยเห็นต่างก็ต้องหลงรักผิวของทารกที่เราเห็นขาว ๆ นุ่ม ๆ หยุ่น ๆ กันมาแล้วทั้งนั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าผิวของทารกแรกเกิดนั้นบอบบางกว่าผิวหนังของผู้ใหญ่ถึงกว่าร้อยละ 20 แต่ผิวหนังส่วนนี้ก็ยังทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิ ขับเหงื่อ และปกป้องร่างกายของทารกจากอันตรายภายนอกไม่ต่างจากผิวหนังของผู้ใหญ่ ทำให้ต้องเผชิญกับสิ่งระคายเคืองที่มาพร้อมกับสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน แสงแดด ฝุ่นละออง ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังจนทำให้กลายเป็นผดร้อนทารกได้
และเนื่องจากผดร้อนทารกเป็นอาการที่พบได้ในทารกปกติทั่วไป คราวนี้เราจึงจะชวนคุณแม่มือใหม่มาคุยเรื่องนี้กัน รวมถึงแนะนำวิธีแก้ปัญหาผดร้อนทารกนี้ด้วย ตามมาดูกันเลย
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ผดร้อนทารกคืออะไร?
เนื่องจากผิวของทารกเป็นผิวที่บอบบางและไวต่อสิ่งรบกวน การเกิดผื่นหรือตุ่มขึ้นบนผิวของทารกจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ผื่นหรือตุ่มที่ขึ้นบนผิวทารกอาจมีที่มาได้จากหลายสาเหตุและกลายมาเป็นอาการบนผิวได้แตกต่างกัน
ผดร้อนทารกเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากพัฒนาการของต่อมเหงื่อและผิวหนังของทารกที่ยังเจริญได้ไม่เต็มที่ ทำให้ต่อมเหงื่อเกิดการอุดตันและเกิดความผิดปกติของผิวหนัง มักเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน
- หากเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังกำพร้าหรือผิวชั้นนอกจะมีอาการเป็นผดสีแดงและจะแดงมากขึ้นในอากาศที่ร้อน
- หากความผิดปกตินี้เกิดขึ้นในผิวหนังชั้นตื้นจะทำให้เกิดผดใสเม็ดเล็ก ๆ ที่ลอกเป็นขุยได้ง่าย
- หากเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังระดับลึกก็จะทำให้เป็นผดสีขาวเหมือนมีตุ่มหนอง
ซึ่งอาการนี้สามารถพบบ่อยบริเวณ หน้าผาก คอ หน้าอก หลัง รักแร้ ข้อพับ รวมถึงบริเวณที่เสียดสีกับเสื้อผ้าบ่อย ๆ ด้วย
ผดร้อนทารกมักพบบ่อยในทารกแรกเกิดที่มีอายุในช่วง 1-2 สัปดาห์ และเมื่อทารกเจริญวัยขึ้น ต่อมเหงื่อและชั้นผิวเจริญเต็มที่มากขึ้น อาการเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลงไปได้เอง
ผื่นขึ้นหน้าทารกจะดูยังไงว่าใช่ผดร้อนทารกรึเปล่า?
ผื่นที่ขึ้นบนใบหน้าของทารกนั้นมีหลากหลายรูปแบบ และแต่ละแบบก็มีสาเหตุที่มารวมถึงลักษณะให้สังเกตแตกต่างกันไป เช่น
- ผื่น Milia เป็นผื่นที่เกิดขึ้นจากเคอราตินที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของหนังกำพร้า เล็บ และเส้นผม ทำให้ส่วนต่าง ๆ มีความเป็นมันลื่น เมื่อมีการฝังตัวตกค้างอยู่บนใบหน้าหรือชั้นของหนังกำพร้าก็จะทำให้เกิดเป็นจุดหรือตุ่มเล็ก ๆ ละเอียดเหมือนผดสีขาวหรือเหลืองขึ้นตามบริเวณ แก้ม จมูก คาง มักจะหายไปได้เองใน 1 – 2 เดือน
- ผื่นแพ้ต่อมไขมัน เกิดจากต่อมไขมันบริเวณผิวหนังของทารกที่ยังเจริญได้ไม่เต็มที่ทำให้มีสะเก็ดสีเหลืองของไขมันปกคลุมผิวหนังพร้อมกับผื่นแดง มักเป็นอาการที่พบบ่อยในทารกอายุ 3 – 12 สัปดาห์ซึ่งส่วนใหญ่ก็สามารถหายไปได้เองเช่นกัน
สำหรับอาการของผดร้อนทารกนั้นให้สังเกตผื่นขึ้นหน้าทารกจะเป็นตุ่มใสเม็ดเล็ก ๆ ที่มักมาพร้อมกับผื่นแดง และจะแดงมากขึ้นหากทารกอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนอบอ้าว ซึ่งวิธีดูแลผื่นขึ้นหน้าทารกแต่ละแบบนั้นก็แตกต่างกันไปตามสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักหายไปได้เองเมื่อทารกเจริญวัยขึ้น
ความแตกต่างระหว่าง ผดร้อนทารก กับ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
อีกหนึ่งอาการที่มีความคล้ายคลึงหรือทำให้คุณแม่สับสนกับผดร้อนทารกได้ง่ายก็คือ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ที่อาการของโรคมักจะมาพร้อมกับผื่นอักเสบคล้ายผดร้อนทารก โดยเฉพาะชอบขึ้นบริเวณแก้ม หน้าผาก คอ แขนขาด้านนอก รวมถึงข้อมือและข้อเท้า แต่โรคผิวหนังทั้งสองมีสาเหตุและความรุนแรงที่แตกต่างกัน คุณแม่จึงควรสังเกตให้ดีว่าลูกน้อยเป็นแค่ผดร้อนทารก หรือมีอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ที่ผิวหนัง เพื่อให้สามารถรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
อาการของโรคผื่นภูมิแพ้ในทารกนั้นจะมีผื่นแดงที่มีอาการคันตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่เฉพาะที่ใบหน้าเท่านั้น และมีการอักเสบของผิวหนังแบบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นภูมิแพ้ ลูกน้อยก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรคผื่นภูมิแท้ในทารกได้มากขึ้น
โรคผื่นภูมิแพ้ในทารกนั้นจะไม่ได้อยู่กับตัวลูกน้อยแค่เฉพาะในช่วง 1 – 2 สัปดาห์แรกเหมือนโรคผดร้อนทารก แต่สามารถอยู่กับลูกน้อยได้นานถึงอายุ 2 ปีทีเดียว โดยโรคนี้เกิดจากพันธุกรรมที่ทำให้ผิวหนังของทารกไวต่อสารบางชนิดในสิ่งแวดล้อมจนเกิดเป็นการอักเสบของผิวหนังขึ้นมา และอาจเกิดการแทรกซ้อนด้วยการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสซ้ำ ดังนั้นการค้นพบและรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้โรคไม่ทวีความรุนแรงและควบคุมได้ง่าย
วิธีรักษาผดผื่นบนใบหน้าทารกและผดร้อนทารก
เนื่องจากผดผื่นบนใบหน้าและผดร้อนทารกมักมีสาเหตุมจากอากาศที่ร้อนจนทำให้ต่อมเหงือและผิวของลูกน้อยต้องทำงานในการขับเหงื่อออกมา ซึ่งนอกจากผิวของทารกยังเจริญไม่เต็มที่แล้ว เหงื่อที่ขับออกมาก็ยังทำให้เหนอะหนะไม่สบายตัว ดังนั้นวิธีรักษาผดผื่นบนใบหน้าทารกและผดร้อนทารกจึงสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วย 5 วิธีนี้
1. หลีกเลี่ยงอากาศร้อน อยู่ในที่ถ่ายเทอากาศได้ดี ใส่เสื้อผ้าโปร่งสบาย
2. อาบน้ำ หากวันไหนอากาศร้อนให้อาบน้ำหรือเช็ดตัวให้บ่อยขึ้นเพื่อลดความร้อน และล้างเอาเหงื่อที่ติดบนผิวของลูกน้อยออก
3. ดูแลเสื้อผ้า พยายามใช้เสื้อผ้าที่โปร่งเบาระบายความร้อนได้ดี
4. เลี่ยงแดด อย่าพยายามพาลูกน้อยออกไปเดินข้างนอกโดยถูกแดดจัดเกินไป เนื่องจากจะทำให้ลูกน้อยต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น
5. เลือกผ้าอ้อมแบบบาง เพื่อลดโอกาสที่ผิวจะอับชื้นและระบายความร้อนได้ไม่ดีจนทำให้เกิดผดร้อนได้
แต่หากทำทั้งหมดนี้แล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
แน่นอนว่าลูกน้อยในวัยทารกนั้นน่ารักน่าชังทั้งยังบอบบางต้องการการดูแลเป็นที่สุด และการดูแลอย่างใส่ใจโดยหลีกเลี่ยงการต้องให้ลูกน้อยเผชิญกับปัจจัยที่ทำให้ร้อนโดยไม่จำเป็นก็สามารถช่วยให้ลูกน้อยหลีกเลี่ยงสาเหตุของการเป็นผดร้อนทารกที่จะทำให้ไม่สบายตัวได้ แม้โรคผิวหนังชนิดนี้จะเป็นโรคธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทารกทั่วไปและสามารถหายได้เอง แต่การดูแลของคุณแม่ที่ช่วยให้อาการนี้เบาบางลงก็จะช่วยให้ลูกน้อยสบายตัวและเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงไร้สิ่งรบกวนได้
Feature Image credit : Freepik