ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทยำ แกงจืด หรือเมนูผัด วัตถุดิบอย่างหนึ่งเลยที่ขาดไปไม่ได้ก็คือต้นหอม ไม่ว่าจะเป็นต้นหอมหั่นท่อนหรือต้นหอมซอย ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มสีสันให้กับจานอาหารให้ดูน่ารับประทานแล้ว ก็ยังมีส่วนช่วยในการลดไขมันในเลือดและเพิ่มใยอาหารให้กับร่างกายได้ด้วย และหากเราไม่ต้องการซื้อหอมแบ่งทีละเล็กทีละน้อย ใช้หมดบ้างไม่หมดบ้าง คราวนี้เราจึงลองมาชวนเพื่อน ๆ มาปลูกต้นหอม ด้วยวิธีปลูกต้นหอมแบบง่าย ๆ บนพื้นที่จำกัดในแบบที่ไม่ว่าใครก็ปลูกได้มาฝากกัน
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
1. ทำความรู้จักกับต้นหอม
หอมแบ่ง หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ต้นหอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium cepa var. aggregatum อยู่ในตระกูล Amaryllidaceae ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับต้นพลับพลึง พบได้ทั่วไปในประเทศแถบเอเชียกลางและเมดิเตอร์เรเนียน
ต้นหอมเป็นพืชที่มีลำต้นใต้ดินและมีระบบรากฝอย ส่วนใบที่เรารับประทานจะมีลักษณะเรียวแหลมสีเขียวสด ส่วนโคนใบมีลักษณะกลวงตรงกลางแตกออกมาจากฐานที่ส่วนหัวที่อยู่ใต้ดิน นิยมนำใบมาทำอาหารได้หลากหลาย
2. ธรรมชาติของต้นหอมหรือหอมแบ่ง
ต้นหอมชอบสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นและมีความชื้นแบบสม่ำเสมอ ชอบน้ำ อุณหภูมิที่เหมาะสมจึงอยู่ที่ประมาณ 13-24 องศาเซลเซียส และชอบดินทรายที่อุ้มน้ำได้ดีแต่ก็ระบายน้ำได้ไม่ปล่อยให้น้ำขัง ดังนั้นฤดูที่เหมาะสำหรับการปลูกหอมแบ่งจึงเป็นเช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงธันวาคมของแต่ละปี
นอกจากนี้ต้นหอมยังชอบดินที่มีความเป็นกรดเล็กน้อย ให้ค่า pH ประมาณ 6.0-6.5 และชอบดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูง จะสามารถเติบโตได้งอกงามอย่างที่ต้องการ
3. วิธีปลูกหอมแบ่งด้วยหัว
สำหรับวิธีปลูกหอมแบ่ง หรือ วิธีการปลูกต้นหอม นั้นมีวิธีปลูกที่ไม่ยาก ซึ่งเราได้รวบรวมวิธีปลูกหอมสำหรับการปลูกจำนวนมากเอาไว้ แต่หากเพื่อน ๆ ต้องการปลูกในมุมเล็ก ๆ ของบ้าน หรือที่ระเบียงห้อง ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ปลูกได้เหมือนกัน ทั้งนี้วิธีการปลูกหอมควรเริ่มต้นจาก
การเตรียมดิน
ควรเริ่มจากการไถและตากดินทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 วันเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่มีอยู่ในดินรวมถึงกำจัดศัตรูพืชทิ้งไป จากนั้นปรับความเป็นกรดด่างของดินด้วยการโรยปูนขาวให้ทั่ว จากนั้นผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงในดินแล้วยกร่องดินเป็นแปลงกว้าง 1 เมตร ยาวตามต้องการ และเกลี่ยหน้าดินให้เรียบ เท่านี้แปลงดินสำหรับการปลูกหอมแบ่งก็พร้อมสำหรับการลงปลูกแล้ว
วิธีปลูกหอมแบ่งด้วยหัว
จริง ๆ แล้วเรามีวิธีปลูกหอมแบ่งหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่มักใช้วิธีปลูกหอมแบ่งด้วยหัว ซึ่งสามารถทำได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ
1) แบบตัดใบและรากทิ้ง วิธีนี้ทำได้โดยนำส่วนหัวมาตัดรากบางส่วนออกไป และตัดส่วนใบของหัวทิ้งไปเพื่อกระตุ้นให้เกิดการงอกใหม่ที่เร็วขึ้น วิธีนี้เมื่อทิ้งหัวไว้ประมาณ 2 – 3 วันก็จะเริ่มแตกรากและใบใหม่ก็สามารถนำไปลงแปลงต่อได้ทันที
2) แบบตัดส่วนบนของหัวออก 1/3 วิธีนี้ใช้การกระตุ้นการงอกใหม่ของต้นหอมด้วยการตัดส่วนบนของหัวออก 1/3 เมื่อทิ้งไว้ไม่นานก็จะเริ่มมีการงอกส่วนหัวกลับขึ้นมาใหม่ และพร้อมสำหรับการลงแปลงเช่นกัน
3) แบบผ่าหัว วิธีนี้ทำได้โดยการผ่าส่วนหัวของต้นหอมให้เป็นรูปกากบาทลึกราว 2/3 ของขนาดหัว ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กระตุ้นการงอกใหม่ของต้นหอมได้ดีเช่นเดียวกัน
เพื่อน ๆ ที่อยากลองปลูกต้นหอมด้วยจำนวนไม่มากอาจเริ่มจากการนำต้นหอมที่ซื้อมารับประทาน แล้วเก็บส่วนหัวและรากไว้เพื่อนำมาเลี้ยงเป็นต้นใหม่ได้เช่นกัน
เมื่อได้หัวที่เป็นต้นอ่อนแล้วให้เลือกเอาเฉพาะหัวที่สมบูรณ์ไปปลูก โดยรดน้ำในแปลงให้ชุ่มก่อนที่จะนำหอมลงปลูก และต้องระมัดระวังไม่กดหัวต้นหอมให้ลึกจนมิดและไม่ทำให้หัวของต้นหอมช้ำ เนื่องจากจะเป็นช่องทางให้เกิดการติดเชื้อและเน่าตายได้ หลังจากนั้นรดน้ำซ้ำอีกครั้งแล้วคลุมด้วยฟางเพื่อรักษาความชื้นไว้กับผิวดิน
4. การดูแลรักษา
สำหรับการดูแลรักษาต้นหอม เราควรดูแลทั้งเรื่องการรดน้ำ การให้ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช และการคลุมดิน
- การให้น้ำ ต้นหอมชอบน้ำแต่ไม่ชอบน้ำขังที่จะทำให้หัวเน่าได้ ดังนั้นควรรดน้ำให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในระยะที่ต้นหอมงอกใหม่ที่จำเป็นต้องใช้น้ำในการเจริญเติบโต และเราจะหยุดให้น้ำได้ก็ต่อเมื่อต้นหอมเริ่มแก่และต้องการจะเก็บหัวของต้นหอมนั้นไว้ทำพันธุ์ต่อไป
- การให้ปุ๋ย เราสามารถให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักกับต้นหอมได้ตั้งแต่ตอนปรับดินเตรียมแปลงปลูกตั้งแต่แรก หลังจากนั้นใช้ปุ๋ยสูตร 20-10-10 หรือ 12-8-8 ใส่โรยข้างแถวต้นหอมเมื่ออายุได้ 30 วัน นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตเพิ่มได้ด้วย
- การกำจัดวัชพืช เนื่องจากต้นหอมเป็นพืชที่มีทรงเตี้ยติดหน้าดินและมีระบบรากฝอยตื้น ซึ่งมักถูกแย่งอาหารจากวัชพืชได้ง่าย ทั้งยังถูกวัชพืชบังแสงได้ง่าย ทำให้ต้นแคระเกร็นกว่าที่ควรเป็น ดังนั้นเพื่อให้ต้นหอมเจริญงอกงามได้ดี เราควรหมั่นจัดการวัชพืชเพื่อไม่ให้มาแย่งสารอาหารและแสงแดดกับหอมแบ่งที่เราปลูกเอาไว้ด้วย
ต้นหอมมักมีอายุเก็บเกี่ยวหลังจากลงปลูกประมาณ 40 – 50 วัน และแก่จัดจนสามารถนำมาทำพันธุ์ต่อไปได้เมื่ออายุ 90 วันขึ้นไป ดังนั้นหากต้องการมีต้นหอมรับประทานตลอดปี ก็อาจต้องขยันลงต้นหอมทุกเดือนเพื่อให้มีเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ
ต้นหอมนับเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารและเรามักเห็นอยู่ทั่วไปในเมนูอาหารหลากหลายชนิด ต้นหอมยังมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการหวัด ต้านมะเร็ง บรรเทาอาการท้องผูกและโลหิตจาง ลดความเสี่ยงจากโรคกระดูกพรุน และยังมีประโยชน์อีกหลากหลายด้านซึ่งเป็นเหตุผลที่ดีสำหรับการรับประทานต้นหอมให้มากขึ้น
และเหล่านี้ก็คือวิธีการปลูกต้นหอมหรือวิธีปลูกหอมแบ่งด้วยหัวที่เรานำมาฝากกันเพื่อเป็นแนวทางในการปลูกต้นหอมแบบง่าย ๆ เพื่อน ๆ อาจนำมาประยุกต์ใช้ปลูกด้วยการปักหัวพันธุ์ลงในกระถางหรือถาด/ตะกร้าตื้น ๆ เพื่อให้ต้นหอมงอกและเจริญเติบโตจนสามารถเก็บเกี่ยวได้ต่อไป หรือว่าจะซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกก็ได้ และหวังว่าวิธีการเหล่านี้จะช่วยให้เราได้มีต้นหอมรับประทานกันได้ง่าย ๆ ในครัวเรือนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเลย