แนะนำวิธีปลูกฟักทองว่าวิธีการปลูกฟักทองทำได้อย่างไรบ้าง และวิธีการปลูกฟักทองให้ลูกใหญ่นั้นมีเคล็ดลับอย่างไร มีวิธีปลูกฟักทองลายข้าวตอกแบบไหนบ้าง
สำหรับคนไทยฟักทองถูกนำมาใช้ประกอบอาหารมากมายไม่ว่าจะเป็นเมนูแกงเผ็ด แกงคั่ว แกงจืด ผัด เรารู้จักอาหารชนิดนี้กันตั้งแต่วัยเด็กจากเมนูสุดคลาสสิคอย่างฟักทองบด นอกจากนี้ฟักทองยังเป็นคาร์บที่ให้เส้นใยสูงและเป็นแหล่งของสารอาหารอย่างเบต้าแคโรทีนที่มีสรรพคุณช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระและบำรุงสายตา เรียกได้ว่าเป็นอาหารที่นอกจากให้พลังงาน ปรุงง่ายประรับประทานง่ายแล้ว ก็ยังให้คุณค่าต่อร่างกายอย่างมากมายอีกด้วย
และสำหรับใครที่กำลังมองหาวิธีปลูกฟักทองให้ลูกใหญ่ รวมถึงวิธีการปลูกฟักทองอย่างไรให้ได้ผลดี คราวนี้เรารวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาให้แล้ว
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
1. ทำความรู้จักกับฟักทอง
ฟักทองเป็นไม้เถาล้มลุก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cucurbita moschata Decne. จัดอยู่ในสกุลเดียวกับแตง เช่น แตงโม แตงกวา แตงร้าน และเมล่อนแตงไทย
ลักษณะของต้นฟักทองที่เรามักคุ้นตาคือเป็นไม้เถาเลื้อยไปตามดิน มีลำต้นอวบน้ำที่มีมือยึดเกาะ ส่วนใบเป็นรูปแฉกห้าเหลี่ยม ดอกสีเหลืองรูปกระดิ่ง ส่วนผลที่เรานิยมรับประทานมีได้ตั้งแต่ผลทรงเกือบกลมไปจนถึงกลมแป้น มีผิวด้านนอกขรุขระ ใช้ผลหรือยอดในการประกอบอาหาร
ฟักทองมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบอเมริกาซึ่งคาดว่ามีการปลูกฟักทองมาแล้วหลายพันปี ซึ่งเราจะพบฟักทองสายพันธุ์ใหญ่ ๆ ในโลกได้ 2 ตระกูลคือ ฟักทองอเมริกัน หรือ Pumpkin ที่มีขนาดผลใหญ่ เนื้อผลยุ่ย มีจุดเด่นคือเปลือกด้านนอกจะเคลือบด้วยเพกติให้ความมันที่มีสีเหลืองส้ม ขณะที่ฟักทองอีกตระกูลคือ ฟักทองสควอช หรือ Squash เป็นฟักทองที่พบมาทางฝั่งญี่ปุ่นรวมถึงไทย จะมีรูปร่างกลมแป้น ผิวขรุขระ เปลือกด้านนอกเมื่อดิบจะมีสีเขียวเข้มพอสุกแล้วจึงเป็นสีเหลืองอมส้ม
สำหรับประเทศไทยยังสามารถแบ่งแยกสายพันธุ์ของฟักทองที่นิยมปลูกและรับประทานออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
- ฟักทองพันธุ์หนัก เป็นฟักทองพันธุ์ที่ผลของฟักทองที่มีขนาดใหญ่ ฟักทองแต่ละลูกให้น้ำหนักมาก เช่น ฟักทองทองอำไพ ให้น้ำหนักผล 6-8 กิโลกรัม, ฟักทองทองอำพัน ให้น้ำหนักผล 5-7 กิโลกรัม, ฟักทองประกายเพชร ให้น้ำหนักผล น้ำหนักผล 5-7 กิโลกรัม และ ฟักทองลายข้าวตอกลูกใหญ่ ให้น้ำหนักผล น้ำหนักผล 5-7 กิโลกรัม
- ฟักทองพันธุ์เบา เป็นฟักทองที่ให้ผลผลิตของฟักทองในขนาดที่เล็กลงมา และให้น้ำหนักที่เบาลง เช่น ฟักทองอัสนี ให้น้ำหนักผล 2-3 กิโลกรัม, ฟักทองศรีเมือง ให้น้ำหนักผล 2-3 กิโลกรัม, และฟักทองลายข้าวตอกลูกกลาง ให้น้ำหนักผล 2-3 กิโลกรัม
- ฟักทองพันธุ์เล็ก เป็นฟักทองพันธุ์ที่ให้ผลผลิตขนาดเล็กลงมา โดยมีน้ำหนักผล 0.8-1.2 กิโลกรัม เช่น ฟักทองบึงกาฬ นิยมนำไปทำฟักทองสังขยา หรือขนมหวาน
2. ธรรมชาติของฟักทอง
ฟักทองเป็นพืชที่ปลูกได้กับดินแทบทุกชนิด แต่ชอบที่สุดคือดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีการระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขัง มีค่าความเป็นกรดด่างของดินค่อนข้างเป็นกรดอยู่ที่ราว 5.5-6.8 เป็นพืชที่ขาดน้ำไม่ได้และต้องอาศัยน้ำในการเจริญเติบโต ส่วนใหญ่จึงมักปลูกได้ดีในช่วงปลายฤดูฝนต้นหนาวอย่างเดือนกันยายน – ตุลาคม ปลูกได้ดีที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ แต่สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกตลอดปีก็สามารถเริ่มปลูกได้ตั้งแต่หลังฤดูทำนาอย่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม
3. วิธีปลูกฟักทองให้ลูกใหญ่
สำหรับการปลูกฟักทองให้ลูกใหญ่นั้น การดูแลที่สำคัญต้องเริ่มตั้งแต่การคัดเมล็ดพันธุ์ การเตรียมดินปลูก การลงปลูก เรื่อยไปจนถึงวิธีการดูแลรักษาเลยทีเดียว แต่ขั้นต้นนั้นเราคงต้องมาดูกันที่วิธีคัดพันธุ์ การปลูกและเตรียมแปลงกันก่อน
วิธีคัดเมล็ดพันธุ์
ส่วนใหญ่แล้วเรามักมีเมล็ดพันธุ์ให้เลือก 2 รูปแบบ คือ เมล็ดพันธุ์เปิด ที่เมื่อปลูกแล้วสามารถนำเมล็ดมาเพาะพันธุ์ต่อได้ กับ เมล็ดพันธุ์แบบลูกผสม ที่ไม่สามารถนำเมล็ดไปปลูกเองต่อได้ เนื่องจากมีการตัดต่อพันธุกรรมของเมล็ดมาแล้ว เพื่อให้ผลผลิตสูง มีการเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ขายอยู่ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบนี้ ซึ่งหากใครที่ไม่ต้องการก็ควรสังเกตและสอบถามให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
การเตรียมดินสำหรับวิธีการปลูกฟักทอง
การเตรียมดินสำหรับปลูกฟักทอง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการปลูกฟักทองทั่วไป หรือแม้แต่วิธีปลูกฟักทองลายข้าวตอกทำได้ไม่ต่างกัน นั่นคือเริ่มจากการขุดไถดินให้ลึกประมาณ 25-30 ซม. ตากดินเอาไว้ 5-7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค วัชพืช และศัตรูพืชที่อาจปะปนมากับดิน หลังจากนั้นเริ่มนำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงผสมเพื่อเพิ่มสารอาหารให้กับดิน แล้วไถแปรเตรียมพื้นที่สำหรับการลงปลูก
การลงปลูก
ส่วนใหญ่วิธีการปลูกฟักทองมักใช้การหยดเมล็ด โดยให้หยอดลึกราว 3 – 5 เซนติเมตร ห่างกัน 3 x 3 เมตร โดยให้หยอดหลุมละ 2 – 3 เมล็ด แล้วกลบหลุม คลุมดินด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้งเพื่อเก็บความชื้นเอาไว้ในดิน หลังจากนั้นเมล็ดจะสามารถงอกเป็นต้นกล้าได้โดยอาศัยระยะเวลาไม่นาน
4. วิธีดูแลและเก็บเกี่ยวฟักทอง
เราสามารถเริ่มการดูแลต้นฟักทองได้ตั้งแต่เมื่อเริ่มแตกใบจริงได้ประมาณ 2 – 3 ใบ ซึ่งในช่วงนี้ควรเริ่มถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ออกเพื่อไม่ให้แย่งสารอาหารจากต้นหลักที่ต้องการ โดยถอนต้นที่ไม่ต้องการออกจนเหลือหลุมละ 1 ต้น
- เมื่อต้นกล้าเริ่มแตกใบจริงได้ราว 4 – 5 ใบ ให้เริ่มใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 โดยใช้ละลายน้ำรดต้นทุกวัน
- เมื่อเริ่มออกดอกให้เปลี่ยนสูตรปุ๋ยเป็น 15-15-15 หรือ 13-13-21 โดยใช้การโรยรอบ ๆ โคนต้น และใส่ซ้ำเมื่อเริ่มติดผลอ่อน
- การรดน้ำ ฟักทองเป็นพืชที่ชอบน้ำจึงจำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน แล้วค่อยหยุดเมื่อคาดว่าอีก 15 วันจะเริ่มเก็บผลผลิตได้
- การเก็บเกี่ยว เราสามารถเริ่มเก็บได้เมื่อผลของฟักทองเริ่มเป็นสีนวลตั้งแต่ขั้วไปจนถึงก้นผล ซึ่งแสดงว่าผลเริ่มแก่จัดพร้อมเก็บเกี่ยวแล้ว โดยตัดให้เหลือขั้วเอาไว้เพื่อให้เก็บผลผลิตไว้ได้นานขึ้น
ได้เคล็ดลับการปลูกฟักทองแล้ว ก็เริ่มปลูกกันได้เล้ยย
เหล่านี้ก็เป็นเทคนิคง่าย ๆ สำหรับผู้ที่สนใจอยากลงมือปลูกฟักทองเพื่อส่งขายสักครั้ง หรือแม้แต่ผู้ที่ต้องการเอาจริงเอาจังกับการทำเงินจากการทำสวนฟักทองก็ไม่มีปัญหา ส่วนผู้ที่ต้องการปลูกเอาไว้รับประทานเองที่บ้านก็สามารถลดขนาดการปลูกและการดูแลลงได้มาก และน่าจะเป็นเรื่องสะดวกสำหรับการปลูกพืชผักสวนครัวเอาไว้รับประทานเองที่บ้านเช่นเดียวกัน เนื่องจากผลผลิตอย่างฟักทองเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วสามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน จึงดูเป็นเรื่องที่คุ้มค่าเหนื่อยกับการลงปลูกอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ต้องขยันหมั่นให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเท่านั้นเอง