ร่างกายของมนุษย์มีหลาย ๆ ส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ รวมถึงอาการน่าหงุดหงิดอย่าง “อาการสะอึก” เป็นอีกหนึ่งอาการเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง ซึ่งอาการสะอึกเป็นอาการที่รบกวนการใช้ชีวิต วันนี้เรามาดูว่าสะอึกเกิดจากอะไร วิธีแก้อาการสะอึกของทั้งผู้ใหญ่ รวมถึงวิธีแก้ทารกสะอึก ไม่รอช้ามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลย
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
สะอึกเกิดจากอะไร
อาการสะอึกเป็นภาวะการหายใจผิดปกติชนิดหนึ่ง เป็นเพียงอาการชั่วคราวไม่ใช่โรค ซึ่งการสะอึกเกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติบริเวณกล้ามเนื้อกระบังลมในขณะที่หายใจออก ทำให้กระบังลมหดตัวผิดจังหวะ ดันลมจากปอดขึ้นไปกระทบกับกล่องเสียง จึงเกิดเป็นเสียงสะอึกนั่นเอง
สาเหตุของการสะอึก
อย่างที่เรารู้ว่าการสะอึกเกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ แล้วอะไรคือสาเหตุที่ไปกระตุ้นระบบประสาทให้เกิดการสะอึกบ้าง…ไปดูกันเลย
1.ทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ดจัด
2.หายใจเอาควันเข้าไป อย่างการสูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้เตาเผาและเผลอสูดควันเข้าไป
3.ทานอาหารเร็วเกินไป มากเกินไป หรือทานจนอิ่มเกินไป
4.ดื่มเครื่องดื่ม หรืออาหารที่ทำให้เกิดก๊าซมากเกินไป เช่น เบียร์ น้ำอัดลม โซดา ฯลฯ
5.อุณหภูมิในกระเพาะมีการเปลี่ยนฉับพลัน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเครื่องดื่มร้อนจัด หรือเย็นจัด
6.เกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น ซีสต์ในท้องไประคายเคืองกระบังลม หรือโรคเส้นเลือดในสมองตีบ (จะมีอาการสะอึกต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือสะอึกบ่อย ๆ)
7.ปัญหาทางจิตและอารมณ์ เป็นอีกสาเหตุของการสะอึก เช่น เครียด เศร้า กลัว ฯลฯ
8.การทานยาบางตัวก็เป็นสาเหตุของการสะอึกได้
วิธีแก้สะอึกอย่างเห็นผล
1. วิธีแก้สะอึกด้วยการกลั้นหายใจ
ให้หายใจเข้ายาว ๆ แล้วกลั้นหายใจไว้ประมาณ 10-20 วินาทีแล้วค่อยหายใจออก หากยังไม่หายให้ทำการกลั้นหายใจซ้ำ
2. วิธีแก้สะอึกโดยการหายใจในถุงกระดาษ
ขั้นแรกให้นำถุงกระดาษครอบจมูกและปากไว้ หลังจากนั้นหายใจเข้าออกช้า ๆ ให้ถุงกระดาษหุบเข้าออก (ไม่ควรใช้ถุงพลาสติก)
3. วิธีแก้สะอึกด้วยการนั่งกอดเข่า
เริ่มต้นโดยการนั่งลงบนพื้นราบให้ตัวเองรู้สึกสบาย หลังจากนั้นให้ขดขาเข้ามา แล้วเอามือกอดเข่าทั้งสองข้างให้แนบชิดกับอก ทำค้างไว้ 2 นาที
4. วิธีแก้สะอึกด้วยการนอนราบ
หาพื้นที่ไม่แข็งหรือนุ่มเกินไป แล้วให้นอนราบลงไปกับพื้น วิธีนี้จะทำให้เกิดแรงกดลงบริเวณช่องอกและกระบังลม จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่แก้สะอึกได้
5. วิธีแก้สะอึกด้วยการดึงลิ้น
การดึงลิ้นจะเป็นการกระตุ้นประสาทและกล้ามเนื้อในลำคอ ให้แลบลิ้นแล้วดึงลิ้นหรือแลบลิ้นออกมายาว ๆ หนึ่งหรือสองครั้ง
6.วิธีแก้สะอึกด้วยการกดจุด
การกดจุดจะเป็นการเบี่ยงเบนระบบประสาทจากการสะอึก จึงเป็นวิธีแก้สะอึกที่ได้ผลมีอยู่ 2 วิธีด้วยกันคือ เอานิ้วชี้และนิ้วโป้งกดบริเวณเนินเนื้อนิ้วโป้ง อีกวิธีคือกดบริเวณรอยหยักของริมฝีปากบน
7. วิธีแก้สะอึกด้วยน้ำส้มสายชูหมักแอปเปิล
กลืนน้ำส้มสายชูหมักแอปเปิ้ล 1 ช้อนชา วิธีนี้เป็นการทำให้ปุ่มรับรสทำงานหนักขึ้น เพื่อเบี่ยงเบนระบบประสาท แต่คนที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารควรเลี่ยงวิธีนี้
8. วิธีแก้สะอึกด้วยการดื่มน้ำเย็น
การดื่มน้ำเย็นจัดเข้าไปโดยการค่อย ๆ จิบ เป็นอีกวิธีแก้สะอึกที่เข้าไปกระตุ้นประสาทให้กลับมาทำงานปกติ
9. วิธีแก้สะอึกด้วยก้อนน้ำแข็ง
เป็นอีกหนึ่งวิธีแก้สะอึกง่าย ๆ ด้วยการอมก้อนน้ำแข็งไว้ ให้ก้อนน้ำแข็งละลายเล็กจนสามารถกลืนได้ แล้วจึงกลืนก้อนน้ำแข็งลงไป
10. วิธีแก้สะอึกการกลืนน้ำตาล
เครื่องปรุงในครัวก็เป็นอีกวิธีแก้สะอึก โดยตักน้ำตาลเล็กน้อยอมไว้ในปากประมาณ 5-10 วินาที แล้วจึงกลืนลงไป
11. วิธีแก้สะอึกด้วยการอมมะนาว
ให้หั่นมะนาวเป็นชิ้นบาง ๆ หรือบางคนอาจจะใส่เกลือลงไปเล็กน้อย อมไว้ในปากประมาณ 15 วินาที หลังจากคายทิ้ง และอย่าลืมล้างปากเพื่อป้องกันไม่ให้กรดในมะนาวทำลายเคลือบฟัน
12. วิธีแก้สะอึกด้วยการดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหย
วิธีแก้สะอึกนี้จะเป็นการแก้ระบบการหายใจให้กลับมาทำงานเป็นปกติ แต่ควรเลือกน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นไม่ฉุนมากเกินไป
13. วิธีแก้สะอึกด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจ
อาการสะอึกเป็นเพียงอาการชั่วคราว สามารถแก้สะอึกได้ด้วยการหันไปสนใจสิ่งอื่นแทน หรือถูกทำให้โฟกัสอย่างอื่นโดยไม่ตั้งใจ อย่างการถูกตั้งคำถาม เพราะการคิดหาคำตอบ จะช่วยให้เราหายสะอึกได้
ทารกสะอึก แก้อย่างไร
อย่างที่บอกไปว่าอาการสะอึกสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย หากเกิดอาการสะอึกในผู้ใหญ่เราก็คงจะวิธีแก้สะอึกได้ทันที แต่หากทารกสะอึกซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังการทานอาหารหรือดื่มนม ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้จะต้องช่วยเหลือ
1.หากป้อนอาหาร หรือให้ดื่มนมแล้วทารกสะอึก ให้หยุดป้อนอาหารหรือนมก่อน รอจนอาการสะอึกหายไป หรืออุ้มทารกขึ้น เปลี่ยนท่าทาง และลูบหลังไล่ลมให้เด็กเรอออกมา
2.ให้ลูกดื่มนมจากเต้าแทนเป็นการลดอาการทารกสะอึกได้ เพราะการดื่มนมจากขวดนม เด็กจะดูดลมในขวดเข้าไปด้วยจึงทำให้ทารกสะอึกได้บ่อยกว่า
3.ห้ามใช้วิธีแก้สะอึกโดยการหยุดหายใจ หรือเอามือไปบีบจมูกเหมือนผู้ใหญ่เด็ดขาด
จะเห็นได้ว่าอาการสะอึกเป็นเพียงอาการชั่วคราวที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย หากรู้สึกว่ารบกวนการใช้ชีวิตก็สามารถนำวิธีแก้สะอึกหลากหลายวิธีไปใช้ได้ แต่วิธีแก้สะอึกที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดการสะอึกได้ ทั้งการปรับพฤติกรรมการกิน ฝึกการหายใจ และป้องกันทารกสะอึกได้ด้วยการดูแลเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิดนั่นเอง